posttoday

รั้วจามจุรี : คำเตือนจากรุ่นพ่อถึงรุ่นลูก

01 ธันวาคม 2564

โดย... ประสาร  มฤคพิทักษ์      

*******************************

ผมเข้าจุฬา ปี 2510  นับถึงวันนี้ก็ 54 ปีมาแล้ว ตั้งแต่วันแรกเข้ารู้สึกความภาคภูมิใจยิ่งนัก มีหัวเข็มขัดและมีเนคไทรูปพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระราชทานไว้เป็นการสนองพระราชปณิธานของการศึกษาต่อล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระราชบิดา

ผมเป็นเด็กบ้านนอกลูกแม่ค้าขายของชำ พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เข้าเรียนร่วมรั้วจามจุรีเดียวกันกับเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งมีทั้งลูกครูประชาบาล มีลูกชาวนา ลูกแม่ค้า ลูกข้าราชการ ลูก ผวจ. ลูกปลัดกระทรวง  ลูกของเชื้อพระวงศ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น

แม้ว่าคณะรัฐศาสตร์ จะมีระบบโซตัสที่เข้มข้นพอสมควร เช่นต้องประชุมเชียร์ตอนเที่ยง   ห้ามน้องใหม่เดินขึ้นบันไดหน้าของตึกหนึ่ง  ห้ามไปนั่งโต๊ะซีเนียร์ในโรงอาหาร ผมเป็นน้องใหม่ที่ออกอาการแข็งขืนกับรุ่นพี่พอสมควร แต่ผมไม่ได้เอามาเป็นปัญหาของผม สิ่งเหล่านี้ก็เลือนลางไปตามกาลเวลา

ผมมีปู่กับตาเป็นจีนอพยพ แต่ย่ายายผมเป็นไทย ผมเรียนรู้ว่าทวดเทียด ยายย่า พ่อแม่ ต่อเนื่องมาถึงผม ถึงลูกและหลานเหลนผม มีความเป็นไทแก่ตัว ไม่ต้องเป็นไพร่ทาส  ไม่ต้องถูกสักเลขข้อมือ  ไม่ตกเป็นทาสในเรือนเบี้ย ไม่ต้องถูกเฆี่ยนตีทารุณกรรม  ไม่ต้องเป็นสมบัติของนายทาสไปจนตายเพราะ รัชกาลที่ 5  ท่านทรงเลิกทาส ตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีล่วงมาแล้ว

ตลอด 4 ปี ที่ผมเรียนรัฐศาสตร์จุฬา ผมตั้งตารอคอย วันที่ 20 กันยายน วันนั้นพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และครอบครัวของพระองค์ เสด็จมาทรงดนตรีที่หอประชุม ใหญ่  พระองค์ทรงแซกโซโฟน  บางเพลงก็ทรงเปียโน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงร้องเพลง เพื่อนผมคนหนึ่งชื่อ ม.ร.ว.เบญจาภา จักรพันธุ์ ได้ขึ้นเวทีไปร้องเพลงด้วย

มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนในโลกที่ทรงให้ความรื่นรมย์กับพสกนิกรของตนเองอย่างนี้

เมื่อถึงวันพระราชทานปริญญาบัตร ท่านทราบไหมว่า มีข้าพระองค์เห็นว่า ปริญญาบัตร ใส่ปกด้วย 10 ชุด จะมีน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม วันหนึ่งพระราชทานเป็นพันๆ ชุด  ทรงรับน้ำหนักมาก จึงเสนอให้เปลี่ยนวิธีการ ไม่ต้องให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องนี้ พระองค์ทรงยืนยันที่จะพระราชทานด้วยพระองค์เองต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2493 ถึงปี 2540 รวมเวลากว่า 50 ปี ทรงอธิบายกับ ม.ล.พีระพงศ์ เกษมศรี  ราชเลขาธิการว่า ขณะพระราชทานปริญญาบัตรนั้น พระหัตถ์ของพระองค์กับมือของบัณฑิตจับอยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน  ถ้าสองมือทำงานไม่พร้อมกัน กระดาษก็จะร่วงหล่นลงพื้น

เห็นไหมครับว่าการพระราชทานปริญญาบัตร มีความหมายมากกว่ากระดาษแผ่นเดียว

ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่า เรียนจุฬา 4 ปี จะมีอะไรมามากดทับ หรือมีใครมากดขี่ผม

ผมมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ เหมือนเพื่อนๆ ทุกคน ผมชอบไปค่ายอาสาพัฒนา ผมไปถึง 7 ครั้ง ทั้งค่ายคณะและค่ายชาวเขา  ของชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี ผมได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2513 มีกิจกรรมกีฬา วิชาการ กิจกรรมสังคมต่างๆ ดำเนินไป  ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตของผู้บริหารบางคนในยุคนั้น ตั้งแต่การเขียนจดหมายเปิดผนึกเปิดโปงการทุจริต และร่วมเดินขบวนของชาวจุฬาราว 2,000 คนไปพบนายกรัฐมนตรี และเข้าไปในบริเวณรัฐสภา คือพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน  เมื่อวันที่ 9 และ 10 ก.ย.2513

ล่วงมาอีก10วัน เป็นวันทรงดนตรี ในฐานะนายก สจม.ผมกราบบังคมทูลพระกรุณา ว่าได้เข้าไปในเขตพระราชฐาน เป็นเรื่องอาชญาไม่พ้นเกล้า ที่รู้สึกสำนึกในการกระทำอันไม่เหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า “ถ้าตามโบราณ คนที่เดินทางมา ไม่ใช่เดินขบวนผ่านไปที่ไหน ถ้าหิวก็เข้าไปในบ้าน แล้วเขาก็เลี้ยง คือเขาแบ่งให้ แต่ว่าการที่วันนั้น เดินทางเฉียดสวนจิตรไปก็นึกว่าจะแวะเข้ามาเยี่ยมกันบ้าง แต่ว่าหาได้มาเยี่ยมไม่” (เสียงปรบมือ)

ทรงมีพระบรมราโชวาทต่ออีกว่า

 “แต่ที่เห็นประจักษ์ได้ชัดคือ ทั้งวันที่ 9  ทั้งวันที่ 10 ที่ไปถึงทำเนียบก็ได้ออกกำลังดี และขากลับก็กลับมาด้วยรถบัส ก็ไม่เหนื่อยดี  คือว่าใช้สมอง ว่าขากลับมาจะเดินกลับก็ป่วยการ เพราะไม่ได้เป็นการแสดงอะไรแล้ว กลับรสบัสก็ดีแล้ว”  (เสียงฮา)

นี่เป็นความทรงจำ เฉพาะเรื่องที่เป็นประสบการณ์ตรง

จากปี 2514 เป็นต้นมา ผมได้เห็นการเคลื่อนไหวรณรงค์ใช้เสื้อผ้าดิบ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มจากคุณธีรยุทธ บุญมี หนุ่มวิศวะจุฬา ที่เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย  ขยายออกไปนอกรั้วจามจุรี  จุฬาเรายังชุมนุมคัดค้านการลบชื่อ 9 นักศึกษารามคำแหง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อเนื่องไปถึงการก่อเกิดกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเลือดเนื้อเชื้อไขจุฬาเราเป็นสารตั้งต้น ที่นำไปสู่เหตุการณ์ ลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษาประชาชน เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ทำให้การเมืองไทยไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เพียงนักการเมือง และนักการทหารไม่เกิน 3,000 คนอีกต่อไป หากแต่มวลประชาชนสามารถใช้ประชาธิปไตยทางตรงเป็นพลังต่อรองกับกลุ่มปกครองได้อย่างมีนัยยะ โดยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพอย่างทรงความหมาย แม้ว่าจะมีเผด็จการสลับฉากเข้ามาเป็นระยะ แต่ก็ใช่ว่าจะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนได้

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทยที่นักศึกษาประชาชนกว่า 3,000 คน ต้องเข้าไปสู้รบในเขตป่าเขา ผมเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นเช่นเดียวกับ ธีรยุทธ บุญมี พิรุณ ฉัตรวนิชกุล  จิรนันท์ พิตรปรีชา ชัยวัฒน์ สุรวิชัย และชาวจุฬาอีกหลายร้อยคน

ในยุคก่อนและหลัง 14 ตุลา นั้น พวกเราจำได้ดีว่าการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเป็นขบวนการที่ดำเนินไปอย่างมีอารยะ และรับผิดชอบต่อสังคม ดังเช่นสะท้อนเป็นบทกวี “ดอกไม้ จะบาน” ของจิรนันท์ พิตรปรีชา ว่า

เป็น“ดอกไม้บานให้คุณค่า จุดไฟศรัทธา ยื่นให้มวลชน”

เป็นดอกไม้ที่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาการเมือง และทุกข์สุขของประชชน

หรือก่อนหน้านั้น ในยุคค่ายอาสาสมัคร วิทยากร เชียงกุล เขียนบทกวีไพเราะว่า

“จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า

มาเป็นอาหารให้คนไร้สิ้น

ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชั้น

เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเผื่อคนจน”

จะเป็นเพราะผม เป็นคนรุ่นเก่าเกินแกงหรืออย่างไร  ผมจึงไม่เข้าใจว่า  คนรุ่นใหม่เขามีวิถีทาง ที่แปลกต่างไปจากประสบการณ์ของผม

ทำไมเขาถึงพยายามชักธงดำขึ้นไปแทนธงชาติ  ณ  เสาธงจุฬา

ทำไมเขาจึงแจกกล้วยให้ประธานรัฐสภา  และยังแจกผ่าน FB.  เมื่อไม่กี่วันมานี้

ทำไมเขาต้องสาดสีใส่รั้วศาลอาญา  ระบายสีด้วยถ้อยคำต่ำทรามที่ฐานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ทำไมเขาถึงรังเกียจการเชิญพระเกี้ยว ในวันฟุตบอลประเพณี  โดยถือว่าเป็นการกดขี่  เป็นการเน้นย้ำความไม่เท่าเทียม

ทำไมเขาต้องเผาพระบรมฉายาลักษณ์

ทำไมเขาต้องเผาป้อมตำรวจ เผารถเจ้าหน้าที่ ทำลายป้อมจราจร ก่อเหตุรุนแรงรายวันต่อเนื่องกันนานนับเดือน

ทำไมเขาต้องมุ่งร้ายหมายขวัญไปถึงสถาบันเบื้องสูง

ตอนชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น อย่างมากที่สุดบนเวที นิสิตนักศึกษาก็แค่เขียนและปราศรัยล้อเลียนว่า

“หากถนอม ยังอยู่ยั้ง         ยืนยง

ประภาสก็เหมือน             อยู่คง ชีพด้วย

ถนอมประภาสพินาศลง      ณรงค์อยู่ได้ฤา”

จึงต้องถามคนยุคใหม่ว่า พวกเขาเข้าใจไหม ในคำว่า “เสรีภาพ” ที่ต้องมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ”

เสรีภาพ ไม่ได้เป็นสิ่งล่องลอยอยู่ในอากาศ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด

เขาชุมนุมโดยสงบได้ แต่ทำไมต้องเผา ต้องสาดสี ต้องชักธงอื่นแทนธงชาติ ต้องด้อยค่าคนอื่น ด้วยความกักขฬะ เขากระทำต่อคนอื่นในสิ่งที่ตัวเขาเองก็ไม่ต้องการถูกกระทำเยี่ยงนั้น

สิทธิ คู่กับ หน้าที่ ซึ่งจะต้องไปด้วยกัน

เขามีสิทธิใช้ถนน แต่เขาก็มีหน้าที่ต้องเคารพกฎจราจร

เสรีภาพ คู่กับ ความรับผิดชอบ ที่แยกจากกันไม่ได้

ผมพยายามจะไปเข้าใจว่าคนยุคใหม่  สัมผัสกับโลกกว้างโดยผ่านอุปกรณ์สื่อสารดิจิตัลที่สามารถตอบสนองความสนใจใคร่รู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เขาเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ เขาโตขึ้นมาพร้อมกับการรัฐประหาร เมื่อ 7 ปีที่แล้ว  เขาต้องการความยุติธรรม เขาอยากได้ความเสมอภาค อยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขากล้าออกมากลางถนน เขาไม่กลัวการติดคุก

แต่เขาควรทบทวนตนเองด้วยว่า การใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต ทำให้เขาถูกจองจำ สิ้นอิสรภาพที่จะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้

เมื่อ 13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 นั้น มีผู้คน 5 แสนคนชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 คน อย่างไม่มีเงื่อนไข

ขณะนี้พวกเขาติดคุก ถูกดำเนินคดีหลายร้อยคน แต่ละคนต้องคดีคนละหลายคดี มีมวลประชาชนกี่คนที่ยืนเคียงข้างพวกเขา

ผมมีแง่คิด ดังนี้ว่า

1.สถาบันกษัตริย์ของไทย ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา บางยุคอาจมีปัญหา แต่ด้วยคุณลักษณะพิเศษของสังคมไทย ที่เป็นราชประชาสมาศัย  คือการพึ่งพาและแนบแน่นอยู่กับประชาชนมาโดยตลอด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้ว่า “บางครั้งประเทศเราไม่มีประชาธิปไตย ทหารหายหน้าไป บางครั้งเรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่เคยมีแม้แต่วินาทีเดียวที่เราขาดพระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาลอาจไม่ต่อเนื่อง แต่พระเจ้าอยู่หัวอยู่กับเราต่อเนื่อง  บ้านเมืองจึงสงบ ร่มเย็น มั่นคงมาโดยตลอด”

ผมเห็นว่าความตั้งใจที่จะเป็นอริกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย คนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ความผูกพันระหว่างบุคคล 800 ปีมานี้ ประชาชนกับสถาบันนั้นเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ขอย้ำว่า ประชาชนกับสถาบันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว

2.การเคลื่อนไหวที่รุนแรง และไปไกลสุดกู่ ถึงขั้นปฏิวัตินั้น เป็นหนทางตีบตัน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย มีทั้งทฤษฎีการปฏิวัติของ มาร์กซ  เลนิน  เหมาเจอตง มีการนำ มีกองกำลังอาวุธ และมีแนวร่วม  ยังพ่ายพังมาแล้ว เพราะสิ่งที่วาดหวังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทย

ในวันนี้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ระบบศักดินานั้น ไม่ใช่ปัญหาของคนไทย คนไทยเดือดร้อนกับปัญหาการฟื้นตัวจากผลของโควิดระบาด ปัญหาการหาอยู่หากิน ปัญหาความเลวร้ายของทุนนิยมเสรีแบบเสรีของหมาป่าในดงลูกแกะ  ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติที่ไทยติดอันดับหนึ่งในสามประเทศของโลก  

3.ทุกการเคลื่อนไหว ย่อมปรารถนาพลังร่วมของผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ แต่วิถีแห่งการทะลุฟ้าทะลุแก๊ส ทะลุวิถีวัฒนธรรม ทะลุกตัญญุตาธรรม ทะลุสถาบันครอบครัว โดยใช้ความหยาบช้าต่ำทราม และความรุนแรงเป็นเครื่องมือนั้น เดินหน้าไปไม่ได้หรอก จะมีใครเปลืองตัวเข้ามาสุ่มเสี่ยงกับพฤติกรรมที่ไร้วุฒิภาวะอย่างนี้

4.ขอปิดท้ายด้วยบทกลอนที่เขียนไว้เมื่อ  26  ตค. 64   นี้ว่า

ไม่มีหรอก“ชั้นชน” คนกดขี่         ไม่ได้มี“ศักดินา”ตามเรียกขาน

ไม่มี“อำนาจนิยม”มาระราน          มีแต่“จินตนาการ”อันล้นเกิน 

ล้นเกินไปในทางที่คลั่งบ้า                   เป็นแยกนายแยกขี้ข้าไม่ขัดเขิน

เป็นแยกเจ้าแยกไพร่อย่างเพลิดเพลิน   ไม่สรรเสริญกลับซ้ำเติมกตัญญุตา

รู้ไหมใครสร้างและใครทำ                   ใครพากเพียรน้อมนำการศึกษา

ให้บ่าวไพร่นายพ้นพันธนา                  ได้ร่วมรั้วเรียนจุฬาฯอย่างเป็นธรรม

แบกเสลี่ยงนั่งเสลี่ยงเพียงหน้าที่           ไม่ได้มีนัยเนื่องเรื่องเหนือต่ำ

ปัญหาคือมัวเมาเงื่อนเงางำ                  ในกับดักหลุมดำจิตกันดาร

หมายเหตุ เป็นคำอภิปรายผ่าน Zoom  ในรายการ “จุฬาฯ รวมใจ :  ลุ่มลึกในรากเหง้า  เข้าใจในปัจจุบัน  รู้เท่าทันอนาคต” เมื่อวันที่ 29 พย.64