posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (จบ)ประสบการณ์การได้รับวัคซีน

30 พฤศจิกายน 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

************

ผู้เขียนเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ไปลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ลังเล เพราะเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของวัคซีนว่าเหนือความเสี่ยงที่อาจมีอย่างเทียบกันไม่ได้

แม้ว่าจะเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ “รอดปากเหยี่ยวปากกา” มาได้จากวัยเด็กโดยได้เพียงวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษและวัคซีนบีซีจี. ป้องกันกันวัณโรคเท่านั้น ไม่ได้วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และวัคซีนพื้นฐานอีกหลายชนิดที่เพิ่มขึ้นภายหลัง ได้แก่ วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ตับอักเสบ-บี เป็นต้น ประสบการณ์อันขมขื่น คือ พี่ชายคนโตเสียชีวิตในวัย 3 ขวบ จากโรคคอตีบ และน้องสาวเสียชีวิตจากบาดทะยักในเด็กแรกเกิดเมื่ออายุได้เพียง 7 วัน เมื่อได้มาเรียนแพทย์จึงรู้อย่างชัดเจนถึง “ความจำเป็น” และ “ความสำคัญ” ของวัคซีน โดยเฉพาะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างโควิด-19

มีคนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า ถ้าดูแลรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะแล้วจะปลอดภัยจากโควิด-19 เพราะมี “ภูมิคุ้มกัน” โรคอยู่แล้ว บางคน “เสริมภูมิคุ้มกัน” โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาอย่างกว้างขวาง หลายรูปแบบ ยิ่งคิดว่าจะยิ่งป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น บางคนเชื่อว่า ถ้ากินพืชผักสมุนไพรมากๆ จะ “ทำให้เลือดเป็นด่าง” สามารถขจัดโรคนี้ได้ ซึ่งเป็น “มายาคติ” (myth) และเป็นมิจฉาทิฐิที่อันตราย ถึงขั้นทำให้บางคนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

แท้จริงแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ภูมิคุ้มกันทั่วไป (general immunity) และ (2) ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค (specific immunity) โดยทั่วไป เมื่อ “สัมผัส” (contact) หรือ “เผยผึ่ง” (expose) ต่อโรคติดเชื้อ เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายตามขั้นตอน ได้แก่ (1) การติดเชื้อ (2) การเกิดโรค และ (3) การรุนแรงของโรค ภูมิคุ้มกันทั่วไป จะสามารถ “ลดโอกาส” ได้ทั้งการติดเชื้อ การเกิดโรค และการรุนแรงของโรคได้บางส่วนเท่านั้น มากหรือน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค

สำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก อย่างโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) ที่ร่างกายมนุษย์ทุกคนทั่วโลกไม่เคยรู้จักคุ้นเคยมาก่อน เชื้อโรคจึงสามารถ “โจมตี” ได้ทุกคนไม่มีเว้น “ภูมิคุ้มกันทั่วไป” แม้จะมีอยู่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อ การเกิดโรค และการรุนแรงของโรค ได้บ้างบางส่วนเท่านั้น จำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค” ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือ วัคซีน เพราะเป็นไปตามหลักการ คือ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะเจาะจงต่อโรคนี้โดยตรง

ยิ่งผู้เขียนอยู่ในกลุ่ม “เสี่ยงสูง” เพราะ (1) สูงอายุ (2) มีโรคประจำตัว (3) ยังทำงานหลายอย่างที่ต้องสัมผัสผู้คนอยู่ตามสมควร

ตามหลักสากล แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ วัยต้น (60-69 ปี) วัยกลาง (70-79 ปี) และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ผู้เขียนเวลานี้อายุ 74 ปีเต็มย่าง 75 จึงอยู่ในวัยกลาง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติลดลงอยู่แล้ว และยังมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ซึ่งเป็นมากว่า 20 ปี แล้ว อวัยวะต่างๆ ไม่แข็งแรงอย่างคนที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นที่จะต้องรับวัคซีน

ผู้เขียนลงทะเบียนที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งมีระบบการให้บริการที่ดีมาก ทั้งการนัดหมาย การคัดกรอง การตรวจร่างกาย การฉีด การสังเกตอาการหลังฉีด การลงทะเบียน และการนัดหมายครั้งต่อไป

วัคซีนที่ฉีดเป็นของแอสตราเซเนกาที่เข้ามารุ่นแรก ผลิตจากเกาหลี ฉีดแล้วเจ็บที่ต้นแขนบริเวณที่ฉีด 4-5 วัน มีอาการอ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ อยู่ 2-3 วัน ผู้เขียน “แข็งใจ” ไม่กินยาเลย เพื่อ (1) ดู “การตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกัน” (immune response) การมีอาการข้างเคียงบ้างย่อมแสดงว่า วัคซีนมีการออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันและร่างกายก็มีการทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน และ (2) ไม่ต้องการกินยาซึ่งย่อมจะเข้าไปรบกวนการทำงานของร่างกาย ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้น เพียงเล็กน้อย ทนได้ ยังทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ฉีดเสร็จทางโรงพยาบาลออกหลักฐานและใบนัดให้โดยเมื่อลงแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ข้อมูลการฉีดก็ปรากฏเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้น 10 สัปดาห์ ก็ได้เข็มสองตามกำหนดมีอาการข้างเคียงคล้ายคลึงกับเข็มแรก มีบางคนอาการข้างเคียงรุนแรงกว่าเข็มแรก

ระหว่างรอเข็มสอง ความมั่นใจว่าร่างกายมี “ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค” ยังน้อย จึงต้องระมัดระวังป้องกันตนเองอย่าง “เข้มงวด” ตามสมควร ทั้งการล้างมือ ผูกหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ระมัดระวังการสัมผัสต่างๆ ที่จะทำให้หรือเปิดทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

หลังจากนั้นประมาณ 4 เดือน ก็ไปขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้ชนิด 3 สายพันธุ์

เข้าเดือนที่ 6 หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสอง ภูมิคุ้มกันน่าจะลดต่ำลงมากแล้ว เพราะวัยและสังขาร จึงไปลงทะเบียนขอรับการฉีดกระตุ้น (booster dose) ซึ่งทางโรงพยาบาลจัดให้ฉีดชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของไบโอเอ็นเทค-ไฟเซอร์ และได้ฉีดเข็มกระตุ้นไปเรียบร้อยแล้ว หลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 1 เดือนครึ่ง อาการข้างเคียงคล้ายคลึงกับวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะของแอสตราเซเนกา แต่เจ็บบริเวณที่ฉีดหลายวันกว่า และปวดกล้ามเนื้อมากกว่า เป็นอยู่ 2-3 วัน ก็หายเป็นปกติ โดยไม่ได้กินยาเลย มีเพียงใช้ยาหม่องทานวดคลึงเบาๆ บริเวณที่ฉีดเท่านั้น

เป็นไปตามหลักการที่จะใช้ยาเท่าที่จำเป็น เหมือนกรณีที่เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม ที่เคยมีอาการถึงขั้นเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น ก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยา ใช้วิธีการบริหารเข่า งดวิ่ง เปลี่ยนเป็นเดินแทน ใช้รองเท้าที่พื้นนิ่ม และบรรเทาอาการเจ็บ-ปวด ด้วยบริการทางกายภายบำบัด

โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ที่ธรรมชาติของโรค สามารถแพร่ไปได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ หรือยากดีมีจน ดังปรากฏว่า แม้ผู้นำประเทศอย่าง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ติดเชื้อ ป่วย และมีอาการรุนแรงจนต้องเข้าไอซียู เคราะห์ดีที่ยังรอดชีวิตมาได้ และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ติดโรค และป่วยต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล

สมัยนั้น ยังไม่มีวัคซีน คนระดับผู้นำประเทศเจริญแล้วจึงติดโรคและต้องเสี่ยงชีวิต ดังนั้น เมื่อมีวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงและประสิทธิผลดีมาก จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธวัคซีน แม้จะมีผู้รับวัคซีนแล้วบางรายที่ยังติดโรค ล้มป่วย และเสียชีวิตอย่างพล.อ.คอลิน เพาเวลล์ แต่ก็เป็นเพราะอายุมากถึง 84 ปี เป็นผู้สูงอายุวัยปลาย มีโรคประจำตัว คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวและได้ยากดภูมิคุ้มกัน แรงต่อสู้โรคจึงอ่อนแรงลงมาก

ไปฉีดวัคซีนกันเถอะ

**************