posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (๘)

27 พฤศจิกายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************************

ความเป็นมิตรเกิดจากการให้เกียรติกัน และความรักคือความเคารพในกันและกัน ผมสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งถึง “ความพิเศษ” ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คือการที่ท่านสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้อย่างลึกซึ้งในเวลาอันรวดเร็ว อย่างที่คนทั่วไปเรียกว่า “อ่านใจผู้คนได้” นั่นเอง

จึงพยายามหาคำตอบ ทั้งโดยคอยดูสิ่งที่ท่านทำกับผู้อื่น และจากการสอบถามเมื่อมีจังหวะ จนได้คำตอบอย่างที่โปรยหัวไว้ข้างต้นนี้ ใครที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ คงจะรู้สึกได้ว่าท่านจะชอบพูดคุยในเรื่องส่วนตัวอยู่ด้วย เช่น ถามเรื่องพ่อแม่พี่น้อง เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ที่บ้านทำอะไร ชอบกินหรือชอบเที่ยวที่ไหน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นวิธีที่คนโบราณเขาใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน คือทำให้เกิดความสนิทชิดเชื้อ สร้างความคุ้นเคย ให้เกิดความเป็นญาติกัน ดังพุทธวจนะที่กล่าวว่า “วิสสาสะ ปะระมา ญา-ติ” ที่แปลได้ว่า “ความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” ตอนที่ผมพบท่านครั้งแรกใน พ.ศ. 2519 นั้น ท่านถามว่าผมเป็นคนที่ไหน ผมบอกว่าพ่อแม่ของผมเป็นคนอีสาน ท่านก็ไม่ค่อยเชื่อเพราะหน้าผมออกตี๋ๆ และผิวขาวๆ จึงถามเรื่องอาหารการกินของคนอีสาน ผมก็อธิบายได้ชัดเจน เพราะผมเติบโตอยู่ในท้องไร่ท้องนาบนดินแดนที่ราบสูงนั้นหลายปี จากนั้นท่านก็ให้ลอง “เว้า” ภาษาอีสาน ผมก็เว้าได้อย่างคล่องแคล่ว จนในตอนหลังๆ เวลาที่ท่านจะเขียนอะไรเกี่ยวกับคนอีสาน ท่านก็มักจะคอยสอบถามบางสิ่งบางเรื่องที่ท่านอยากเขียนเกี่ยวกับคนอีสานนั้นจากผมอยู่เสมอ เหมือนกับในสมัยที่ท่านไปนั่งเขียนบทความที่โรงพิมพ์สยามรัฐ บนถนนราชดำเนิน เมื่อสมัยก่อน ท่านก็จะมี “กูรูอีสาน” ที่ท่านคอยสอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับคนอีสานนี้อยู่โดยตลอด คือคุณจำรัส ดวงธิสาร ที่ท่านเรียกว่า “มหาจำรัส” ซึ่งก็แสดงถึงนิสัยในความสนใจใฝ่รู้ของท่าน ที่ต้องได้รู้จากผู้รู้ที่แท้จริง

เรื่องการเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้คน อันเป็นความสามารถที่เป็นสุดยอดของท่านอาจารย์คึกฤทธินี้ ทำให้ผมนึกถึงนวนิยายชุด “หลายชีวิต” ที่ท่านเอาชีวิตของผู้คนต่างๆ มาเล่า ที่ในท้ายที่สุดก็ต้องมาประสบเคราะห์กรรมสิ้นชีวิตไปด้วยกัน ในอุบัติเหตุเรือเมล์ล่มลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยท่านเริ่มต้นด้วยชีวิตของ “ไอ้ลอย” มหาโจรที่ฆ่าได้แม้แต่ผู้มีพระคุณ จากนั้นก็มีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายอีกสิบกว่าชีวิต เป็นต้นว่าโสเภณี ลิเก หมอยา พระ คนพิการ เชื้อพระวงศ์ และนักเขียนขี้เมา (คือชีวิตของ “โนรี” ที่ผมได้ยกมาในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน) ที่บางชีวิตท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อาจจะมีความคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่พอเราได้อ่านเข้าไปในรายละเอียดในชีวิตของแต่ละคน เราก็ “ทึ่ง” เป็นอย่างมากว่า “ท่านรู้ถึงปานนั้นได้อย่างไร” ซึ่งก็โดยการที่ท่านใช้ “เอ็นไซโคลปีเดียที่มีชีวิต” คือเอามาจากชีวิตจริงๆ ของผู้คนที่ท่านได้สนทนาพูดคุย หรือสอบถามเอาจาก “ผู้รู้” ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นจริงๆ เรื่องนิสัยชอบ “ถามซอกถามแซก” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ ถ้าคนที่ไม่สังเกตอาจจะไม่รู้สึกตัว เพราะท่านไม่ได้ตั้งใจถามแบบที่ทำให้เราอึดอัดหรือรำคาญใจ คนไหนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยากคุยด้วยแล้ว ท่านจะเปลี่ยนสรรพนามเรียกขานทันที เช่น แต่เดิมเรียกคนที่คุยด้วยว่า “คุณ” พอคุ้นเคยกันดีแล้ว(ในเวลาไม่นาน) ท่านก็จะเรียกว่า “พี่” ในทันที ทั้งที่คนที่คุยด้วยนั้นจะมีอาวุโสน้อยกว่า ทำให้รู้สึกเป็นกันเองและใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น มีคนเคยถามท่านว่า ทำไมท่านต้องเรียกทุกคนว่าพี่ ท่านตอบว่าก็เขาอาจจะมีความรู้เหนือกว่าเราในบางเรื่อง การที่เขาให้ความรู้กับเรา เช่น เล่าประสบการณ์ต่างๆ ก็ถือว่าเขาเป็นผู้มีพระคุณ เราก็สามารถเรียกเขาว่าพี่ได้ เพราะคำว่าพี่นี้ถือเป็นการให้เกียรติ และการให้เกียรติแก่กันคือการสร้างความรู้สึกที่เป็นมิตร คนที่เป็นมิตรคือคนที่มองกันและกันในแง่ดี การยกย่องสรรเสริญจึงสร้างมิตรได้อย่างมาก

หลายคนคงจะทราบว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในสมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 ท่านเป็นผู้ที่ไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเหมาเจ๋อตุงนี้ถูกฝ่ายประเทศประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่าเป็น “ผู้ร้ายอันดับหนึ่งของโลก” เพราะเป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ที่กำลังต่อสู้กับโลกประชาธิปไตยอย่างดุเดือด ซึ่งไทยเราก็เชื่อตามที่สหรัฐอเมริกามาโดยตลอด และร่วมกับสหรัฐอเมริกาปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือเป็นศัตรูกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั่นเอง แต่ในตอนนั้นประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ได้ถูกคอมมิวนิสต์ยึดครอง ไทยเราจำเป็นจะต้องปรับตัวไปขอความช่วยเหลือจากจีน ซึ่งจีนก็ให้ความช่วยเหลือด้วยดี

โดยเฉพาะการต้อนรับจากผู้นำของจีน คือเหมาเจ๋อตุง ที่ได้พูดคุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกือบ 1 ชั่วโมง ด้วยถูกอัธยาศัยที่เกิดจากความสามารถของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในการสร้างความเป็นมิตรให้เกิดขึ้นได้อย่างดีในเวลาอันจำกัดนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงการพบปะกับเหมาเจ๋อตุงในวันนั้นว่า ท่านใช้สรรพนามเรียกเหมาเจ๋อตุงว่า “เตี่ย” ซึ่งประธานเหมาก็ออกจะพอใจมาก และเรียกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “ตี๋” กลับมาด้วย การพูดคุยเริ่มด้วยการที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถามถึงสุขภาพของประธานเหมา ซึ่งประธานเหมาก็ตอบว่า ไม่ค่อยแข็งแรง สามวันดีสี่วันไข้ (การที่ได้พบปะกับประธานเหมานั้นแต่เดิมถูกยกเลิกไปเพราะท่านป่วย)

ต่อมาในภายหลังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ลงนามเปิดสัมพันธ์กับจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยฝ่ายจีนมีนายกรัฐมนตรี โจวเอนไหล เป็นผู้ลงนาม ก่อนกลับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ขอไปท่องเที่ยวในบางเมืองของจีน ระหว่างที่กำลังเที่ยวอยู่อย่างเพลิดเพลินนั้น กระทรวงการต่างประเทศของจีนก็แจ้งว่า ประธานเหมาต้องการพบนายกฯ คึกฤทธิ์โดยด่วน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จับเครื่องบินไปปักกิ่งในทันที) จะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้เลย พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ฟังอย่างนั้นก็น้อมตัวไปพูดใกล้ๆ ว่า “ท่านตายไม่ได้หรอก โลกนี้ไม่อาจขาดผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งคนนี้ไปได้” พอล่ามแปลจบ ประธานเหมาก็ตบเข่าหัวเราะออกมาดังๆ เหมือนจะชอบใจมาก นี่ก็แสดงว่าประธานเหมาก็รู้ว่าท่านเป็นอย่างไรในสายตาของคนทั่วโลก แต่เมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นำมากล่าวแม้จะถูกแทงเข้ากลางใจ แต่ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตรและ “รัก” ในตี๋คึกฤทธิ์นี้เสียแล้ว จึงหัวเราะออกมาดังๆ ด้วยความเอ็นดู

ประโยคนี้ได้ถูกพาดหัวโดยหนังสือพิมพ์ที่ฮ่องกง และเป็นพาดหัวที่จดจำกันได้ดีในตอนนั้น การสนทนาระหว่าง “เตี่ยกับตี๋” ดำเนินไปได้ด้วยดี รวมถึงที่ประธานเหมาได้ให้ “คาถาปราบคอมมิวนิสต์” กับท่านอาจารคึกฤทธิ์ไว้ด้วย คาถานี้มี 3 ข้อ คือ 1. อย่าไปฆ่ามัน ยิ่งฆ่ามันยิ่งชอบเพราะได้เป็นฮีโร่ แบบตายสิบเกิดแสน 2. อย่าไปเห็นว่ามันเป็นศัตรู เพราะมันก็เป็นลูกหลานของเรา และ 3. กลับไปทำให้คนไทยมีกินมีใช้ พอมันมีเงินมันก็เลิกเป็นคอมมิวนิสต์ไปเอง คาถาข้อ 1 และ 2 คือคำสั่ง 66/2523 หรือการใช้การเมืองนำการทหาร เพื่อให้คอมมิวนิสต์เลิกเป็นศัตรูกับรัฐบาล และคาถาข้อ 3 ก็คือนโยบายประชานิยมทั้งหลาย ที่รัฐบาลทุกชุดต่อมาได้ใช้ในการสร้างฐานการเมืองให้กับพวกของตน แต่ผู้ที่ทำทั้ง 3 ข้อมาก่อนใคร ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงทำไว้เป็นแบบอย่างมาตั้งแต่แรกที่ทรงขึ้นครองราชย์ และพระองค์ท่านทรงพระปรีชากระทำได้ยอดเยี่ยมกว่าผู้ใด ดังที่คนไทยทุกคนเรียกขานพระองค์ว่า “พ่อของแผ่นดิน” นั้น