posttoday

งานว่าด้วยอนุรักษนิยมไทยในทศวรรษ 1970

26 พฤศจิกายน 2564

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

อาจารย์ศิบดี นพประเสริฐนำดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์เรื่อง “อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ 2516 - พ.ศ. 2521)” ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือในชื่อว่า ขวาพิฆาต(?)ซ้าย : อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น (สำนักพิมพ์มติชน 2564) ขอนำมาแนะนำท่านผู้สนใจช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของไทย และการเปลี่ยนแปลงในการเมืองระหว่างประเทศทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค

พลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของไทยในทศวรรษที่เป็นรอยต่อสำคัญนี้ ก่อตัวขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใน 2 ทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งรัดพัฒนาให้ทันสมัยเมื่อไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร วิชาการ รวมทั้งตัวแบบการจัดการพัฒนาและจัดการความมั่นคงภายใน อีกส่วนหนึ่งได้พลังสนับสนุนทางความคิด อุดมการณ์ และแนวทางจัดตั้งมวลชนจากขบวนการปฏิวัติภายในประเทศและอิทธิพลที่ส่งเข้ามาจากจีนและจากประเทศเพื่อนบ้าน

อาจารย์ศิบดีตัดเวลาศึกษาที่ปี 2516 - 2521/ 1973 - 1978 คนติดตามการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในไทยคงไม่มีใครสงสัยที่อาจารย์เลือกวางขอบเขตการศึกษาไว้ในระยะเวลาที่ศัพท์วิชาการเรียกว่าเป็น critical juncture อันเป็นช่วงเวลาที่เมื่อเกิดขึ้นมาในสังคมไหน จะเป็นจังหวะที่สังคมนั้นจะพบกับพลังกดดันการเปลี่ยนแปลงไหลรวมชุมนุมกัน และบีบคั้นส่วนย่อยที่ประกอบกันและขัดแย้งกันอยู่นั้น ไปในทางผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรื้อโครงสร้างความสัมพันธ์เดิม หรือหาทางปรับการจัดอำนาจให้ลงตัวกันใหม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา

ช่วงเวลาแบบนี้เปิดประตูแห่งโอกาสของความเปลี่ยนแปลงออกมาหลายบาน แต่มิได้มีอะไรเป็นสิ่งกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่ต้นว่าใครฝ่ายไหนจะได้รับผลสำเร็จแน่ชัดแบบใด การเคลื่อนไหว และการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของทุกๆ ฝ่ายต่างมีผลและส่งผลเป็นปฏิกิริยาต่อกัน และเมื่อผสมกับเหตุปัจจัยทั้งจากภายนอกและภายในที่สะสมมา กับเหตุประจวบเหมาะที่จรเข้ามาสมทบในช่วงเวลานั้น ทั้งหมดนั้นก็จะพาเหตุการณ์และสถานการณ์เคลื่อนเข้าหาประตูบานหนึ่งในหลายๆ บานที่เป็นไปได้ และประตูบานอื่นๆ ก็จะถูกปิดลงไป

อาจารย์ศิบดีเลือกศึกษากลุ่มพลังฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ซึ่งในดุษฎีนิพนธ์ อาจารย์จำแนกออกมาให้เห็นบทบาทและการเคลื่อนไหวในช่วงเวลานั้นว่ามีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ในลักษณะที่เป็นจุดร่วมของฝ่ายนี้ที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากฝ่ายอื่นๆ  ยังมีความแตกต่างกันภายในฝ่ายอนุรักษนิยมเอง ซึ่งถ้าดูจากชื่อหนังสือที่บ่งไปในทางว่ามี “ขวาพิฆาต?ซ้าย” แต่หลายคนที่อยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยในเวลานั้นก็มิได้รอดพ้นจากการถูก “ฝ่ายขวา” ที่ว่านี้เล่นงาน และหนทางรอดของพวกเขาจากการถูกเล่นงานก็มีแตกต่างกัน

ข้าพเจ้าจะขอชวนท่านติดตามอนุรักษนิยมไทยที่อาจารย์ศิบดีนำเสนอ โดยใช้แนวคิด securitization ของทฤษฎีความมั่นคงศึกษาสำนัก Copenhagen (Buzan, Waever and Wilde 1998) แนวคิดดังกล่าวเสนอว่าการที่เรื่องหนึ่งจะกลายเป็นปัญหาและเป็นประเด็นวาระด้านความมั่นคงขึ้นมาได้ ต้องอาศัยกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ปัญหาหนึ่งที่สังคมนั้นเผชิญอยู่ ถูกจัดความหมายออกมาในทางที่ชี้ให้เห็นภัยอันตรายที่คุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ ของระบอบการเมือง ต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

ในบริบทของการเมืองภายในไทยและการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคในทศวรรษ 1970 มีเงื่อนไขชุมนุมพร้อมกันหลายประการในทางที่ทำให้ภัยอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อระบอบการเมืองการปกครอง ต่อวิถีชีวิตของคนไทย ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมบางกลุ่มจัดความหมายออกมาเป็นที่ปรากฏประจักษ์ในความเข้าใจของสังคมก่อความหวั่นวิตกทั่วไปได้ไม่ยาก ในกระบวนการเปลี่ยนปัญหาในสังคมให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง อนุรักษนิยมฝ่ายขวาใช้กลไกทางสังคมในการสร้างให้ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่เป็นอุดมการณ์หลักของรัฐ แต่ยังเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงสุดที่ต้องปกปักรักษาไว้ให้มั่นคง มิให้ล้มไปตามทฤษฎีโดมิโน ที่เป็นฐานคิดรองรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคและการทำสงครามในเวียดนาม ก่อนที่สหรัฐฯ จะตัดสินใจถอนตัวออกไป และเมื่อ 3 ประเทศในอินโดจีนเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518/ 1975 ภัยอันตรายที่คุกคามต่อความมั่นคงที่ว่านี้ก็ยิ่งเห็นความหมายเด่นชัดขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นว่าคนที่ยึดถือตรงกันเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นคุณค่าหลัก และความสำคัญในการปกป้องรักษาสิ่งที่เป็นคุณค่าหลัก จะมีความเห็นพ้องกันเสมอในการจัดความหมายออกมา ว่าปัญหาไหน จากแหล่งที่มาใด ที่กำลังเป็นภัยอันตรายคุกคามต่อความมั่นคง  หรือถึงแม้ว่าอาจเห็นภัยคุกคามตรงกัน ก็มิใช่ว่าพวกเขาทุกฝ่ายจะสนับสนุนทางเลือกเดียวกันในการรับมือกับภัยคุกคามนั้น

ความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างทางความคิดในเรื่องแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศและการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคและมหาอำนาจ เป็นที่มาของความขัดแย้ง ซึ่งสร้างความตึงเครียดภายในฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่ไม่น้อย ความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องในภายหลังในการปรับตัวด้านการต่างประเทศของไทยในเวลานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบนทางของการเมืองภายในที่ราบเรียบหรือได้รับฉันทามติอย่างเต็มที่จากอนุรักษนิยมทุกฝ่าย งานของอาจารย์ศิบดีจะให้ความเข้าใจในส่วนนี้แก่เราได้เป็นอย่างดี

ในทางกลับกัน สำนัก Copenhagen ยังมีแนวคิดว่าด้วย de-securitization อันเป็นกระบวนการทางสังคมในด้านตรงข้าม ที่พาประเด็นปัญหาหนึ่งเปลี่ยนออกมาจากการถูกจัดความหมายว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ด้วยการเปลี่ยนความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับปัญหานั้นในมิติอื่น ในความหมายแบบอื่น และเสนอการจัดการแก้ไขปัญหานั้นด้วยแนวทางอื่น และด้วยเครื่องมือนโยบายอื่น ที่ไม่ใช่แนวทางและเครื่องมือของฝ่ายความมั่นคง         

ในแง่นี้ อนุรักษนิยมไทยก็มีหลายฝ่ายให้เห็นเช่นกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยที่มีความจัดเจนชำนาญในการผดุงรักษาระเบียบการเมืองให้มีเสถียรภาพหรือพาคืนกลับเข้าสู่การมีเสถียรภาพได้ใหม่ พวกเขาจะรู้วิธีถอดสลักภัยคุกคามและเปลื้องความหมายที่แวดล้อมเรื่องหนึ่งด้วยปัญหาความไม่มั่นคง ให้คืนสู่ความเป็นปกติ แต่ไม่ใช่ทุกคนในฝ่ายนี้จะรู้ และบางทีพวกที่ไม่รู้ก็มักสร้างปัญหาให้พวกที่รู้มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ออกจะเป็นปริศนาอยู่สักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนท่านที่สนใจลองติดตามหาหนังสือของอาจารย์ศิบดีมาพิจารณา การแนะนำหนังสือนั้น ท่านแต่ก่อนสอนข้าพเจ้าว่า อย่าเปิดเผยส่วนสำคัญให้คนที่ยังไม่ได้อ่านเขาเสียอรรถรส ข้าพเจ้าจึงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะให้เบาะแส โดยไม่เผยอะไรเลย.