posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

22 พฤศจิกายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                         

****************************

     

ภายใต้ข้อตกลงปารีสในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 ยอมรับลาวในฐานะที่เป็นรัฐเอกราชภายใต้สหภาพฝรั่งเศส และต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่กำหนดให้ลาวปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ต่อจากนั้น การเมืองลาวก็ได้ดำเนินไปภายใต้ความขัดแย้งระหว่างขั้วอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นั่นคือ ฝ่ายขวาที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์กับฝ่ายซ้ายที่นิยมคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายแรกได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในตอนแรกและต่อมาคือสหรัฐอเมริกา ส่วนฝ่ายหลังได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่อยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดตามที่มีองค์กรคอมมิวนิสต์สากลของสหภาพโซเวียตสนับสนุน

แต่เดิมทีทั้งฝ่ายขวาและซ้ายในลาวต่างร่วมมือกันต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อความเป็นอิสระ และแน่นอนว่าหลังจากขจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสไปได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ย่อมต้องช่วงชิงอำนาจทางการเมืองการต่อสู้โดยกองกำลังระหว่างฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลกับฝ่ายซ้ายที่ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลยังคงดำเนินไปในบางพื้นที่  ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงกันและกันภายใต้การรับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างชาติ             ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ เจ้าสุวรรณภูมาแห่งพรรคชาติก้าวหน้า ผู้ซึ่งสามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากพรรคต่างๆจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้น อาจจะเคลื่อนตัวไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ  เขาจึงประกาศนโยบายปรองดองและจุดยืนความเป็นกลางที่พร้อมจะยอมรับให้นักการเมืองฝ่ายซ้ายเข้ามาร่วมบริหารประเทศโดยผ่านการเลือกตั้ง เพื่อหวังให้การต่อสู้ทางการเมืองจำกัดอยู่ในเวทีรัฐสภา และลดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธตามพื้นที่ต่างๆลง โดยมีคำขวัญว่า ““หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

หลังการเลือกตั้ง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 นักการเมืองฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งเข้าสภามากขึ้น เจ้าสุวรรณภูมายอมให้ผู้นำฝ่ายซ้ายเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี ซึ่งสร้างความไม่พอใจและความหวาดระแวงจากนักการเมืองฝ่ายขวาที่ร่วมรัฐบาลอยู่ จนมีเหตุให้เกิดการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของเจ้าสุวรรณภูมา  ขณะเดียวกัน หลังจากนั้น รัฐสภาลาวถึงทางตัน เพราะไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายใดสามารถรวบรวมเสียงได้ถึงสองในสามเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พระมหากษัตริย์ลาวขณะนั้นคือ  สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ได้ทรงให้อำนาจแก่ “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” ที่มีสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นภายใต้การนำของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และต่อมาได้มีการลงมติให้นายผุย ชนะนิกรเป็นนายกรัฐมนตรี

ความฝันของเจ้าสุวรรณภูมาที่จะดำเนินนโยบายทางสายกลางทางการเมืองต้องมลายไป เมื่อรัฐบาลนายผุยมีนโยบายยืนยันความเป็นกลางในทุกๆเรื่อง แต่ไม่สามารถยอมรับคอมมิวนิสต์ได้ และประกาศภาวะฉุกเฉินในการบริหารราชการแผ่นดินโดยปราศจากรัฐสภา ด้วยต้องการตัดทอนอำนาจอิทธิพลของนักการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าสุภานุวงศ์หัวหน้าพรรคลาวรักชาติเป็นผู้นำ

นอกจากจะปฏิเสธให้นักการเมืองฝ่ายซ้ายที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นรัฐบาลแล้ว นายผุยยังแต่งตั้งสมาชิกของ “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอเข้าเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยหนึ่งในนั้นคือ นายพันเอกภูมี หน่อสวรรค์ ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในลาว

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลนายผุยได้ส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ภายใต้กลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า “กลุ่มประเทศลาว” โดยยื่นคำขาดให้กลุ่มประเทศลาวยอมเข้าอยู่ภายใต้รัฐบาล สมาชิกกลุ่มประเทศลาวส่วนหนึ่งยอมจำนน อีกส่วนหนึ่งลี้ภัยไปเวียดนามเหนือ ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์และผู้นำพรรคลาวรักชาติถูกกักบริเวณอยู่ในเวียงจันทน์  ต่อมาในเดือนกรกฎาคม กลุ่มประเทศลาวได้ใช้กำลังตอบโต้จนเกิดเป็นภาวะสงครามภายในประเทศขึ้น

นักวิเคราะห์ความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐอเมริกา (RAND) ให้ความเห็นว่า สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในลาวมีสาเหตุจากความล้มเหลวในนโยบายเป็นกลางของรัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมา โดยได้รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ในลาวขณะนั้นไว้ว่า

“เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปก่อนจะเกิดสงคราม เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลนายผุยก่อให้เกิดวิกฤตครั้งสุดท้ายอันนำไปสู่สงครามกลางเมืองในลาว และปรากฏชัดเจนด้วยว่าในขณะที่รัฐบาลนายผุยก็ตระหนักดีว่า รัฐบาลกำลังสุ่มเสี่ยงอย่างร้ายแรงในการเปิดความขัดแย้งกับ ‘กลุ่มประเทศลาว’ และผู้สนับสนุนในฮานอย ขณะที่ก่อนหน้าเดือนพฤษภาคม พวกคอมมิวนิสต์ในลาวยังไม่มีปฏิบัติการอะไรที่รุนแรงถึงขนาดที่มีความจำเป็นที่รัฐบาลนายผุยต้องใช้มาตรการรุนแรงในการส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว การปฏิบัติการส่วนใหญ่ของพวกคอมมิวนิสต์เป็นเพียงการรณรงค์ผ่านการสื่อสารเท่านั้น”

แต่ในอีกมุมหนึ่ง นักวิชาการอย่าง เลน เอคแลนด์ (Len E. Ackland ขณะนั้นเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอบกินส์ที่ทำวิจัยในเวียดนามให้ RAND  และต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยโคโรลาโด โบลเดอร์) ได้ชี้ว่า จริงๆแล้ว สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมาต้องล้มไปคือสหรัฐอเมริกาเอง จากการที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯในลาวได้มีนโยบายต่อต้านรัฐบาลผสมโดยการตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากการที่เจ้าสุวรรณภูมาเปิดให้นักการเมืองฝ่ายซ้ายเข้าร่วมรัฐบาล  หลังจากรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาต้องหมดสภาพไป และเกิดทางตันในสภา เป็นการเปิดทางให้มีการตั้งรัฐบาลขวาจัดของนายผุยขึ้นโดยการสนับสนุนของ “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองก็ดูจะช่วยเหลือให้รัฐบาลผุยละเลยข้อตกลงเจนีวาที่จำกัดการรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ กล่าวโดยสรุปได้ว่า นโยบายและการปฏิบัติการต่างๆของสหรัฐฯในลาวเกิดจากการที่สหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมรับแนวทางการปิดให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการปิดทางเลือกต่างๆให้เหลือเพียงมาตรการทางการทหารเท่านั้น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

เลน เอคแลนด์รายงานท่าทีของจีนและเวียดนามเหนือในขณะนั้นว่า แม้ว่าทั้งสองจะมีปัญหากับบริเวณพื้นที่พรมแดนของลาวที่ติดกับประเทศของตนก็ตาม

แต่ทั้งสองก็ไม่ต้องการที่จะปะทะกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รัฐบาลลาวและสื่อมวลชนอเมริกันที่ไร้ความรับผิดชอบก็ได้บิดเบือนสร้างภาพของความก้าวร้าวรุกรานของคอมมิวนิสต์ให้เกินความเป็นจริง  โดยรายงานข่าวว่า ในช่วงพฤษภาคม มีการระดมกองกำลังทหารจีนเข้ามาบริเวณชายแดน และกองกำลังทหารเวียดมินห์จำนวนมากกำลังเดินทางมายังลาว และทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็กลับยอมรับข่าวนี้อย่างไม่ตั้งข้อสงสัยใดๆ  ส่วนการต่อสู้ระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลลาวและกองกำลังกลุ่มประเทศลาวอยู่ในสภาพที่ยันกันไว้เท่านั้น และเมื่อองค์การสหประชาชาติได้ส่งคณะกรรมาธิการหาข้อเท็จจริงเข้าไปในลาว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความชัดเจนใดๆ  จากความคลุมเครือดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯถือโอกาสส่งที่ปรึกษาทางการทหารนับร้อยคนไปยังองค์กรโครงการประเมินความช่วยเหลือ (PEO) ที่สหรัฐฯให้กับกองทัพรัฐบาลลาว และเพิ่มกำลังพลในกองทัพอากาศลาวเป็นจำนวนถึง 29,000 คน และให้งบประมาณความช่วยเหลือทางการทหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองภายในยังคงดำเนินต่อไปในเวียงจันทน์   “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ”  ได้กดดันให้รัฐบาลนายผุยใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการทำลายกลุ่มประเทศลาวให้ได้ แต่นายผุยมีความลังเลเพราะการทำเช่นนั้นหมายถึงการผลักให้ประเทศจมดิ่งไปสู่สงครามกลางเมืองมากขึ้น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หก): ลาว พ.ศ. 2502 ไม่มีที่ให้ความเป็นกลาง-รัฐประหาร  

ดังนั้น ในวันที่ 16  ธันวาคม พ.ศ. 2502 นายผุยตัดสินใจปลดรัฐมนตรีที่มาจาก  “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ”  เพราะคนเหล่านี้พยายามที่จะมีอิทธิพลต่อเขามากเกินไป และหนึ่งในนั้นก็คือ นายพลภูมี หน่อสวรรค์   ฝ่ายอเมริกันในลาวอันได้แก่องค์กรโครงการประเมินความช่วยเหลือและซีไอเอไม่ยอมให้รัฐบาลลาวหันกลับไปมีนโยบายประนีประนอม และตัดสินใจแนะนำให้นายพลภูมี หน่อสวรรค์ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายผุย ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังจากลาวได้เอกราชและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีการบาดเจ็บเสียเลือดเนื้อใดๆ

ขณะนั้น นายพลภูมีอายุได้ 39 ปี เขามีศักดิ์เป็นหลานจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งขณะนั้นอายุ 51 ปี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

หลังรัฐประหารวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2502 นายพลภูมีได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเห็นว่า ประชาชนลาวส่วนใหญ่ยังขาดความรู้การศึกษา ดังนั้น เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน แนวทางการปกครองของประเทศจึงต้องเป็นไปภายใต้ประชาธิปไตยที่ชี้นำโดยผู้นำ