posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (7)

20 พฤศจิกายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

มีสุภาษิตละตินกล่าวว่า “In Vino Veritas” แปลเป็นไทยว่า “ในเหล้ามีความจริง”

หน้าที่อย่างหนึ่งของเลขานุการบ้านซอยสวนพลูก็คือ “สั่งเหล้า” อย่างที่ผมได้เล่าให้แล้วว่า ตอนที่ผมไปขอทำงานช่วงปิดเทอม ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ถามผมว่า “ชงเหล้าเป็นไหม” ซึ่งผมก็ไม่ได้ตอบเพราะไม่เข้าใจว่าท่านต้องการอะไร แต่พอได้มาทำงาน ก็ถึงบางอ้อว่า เราไม่ได้ต้องคอยชงเหล้าให้ใครต่อใคร เพียงแต่ต้องคอยจดจำว่า แขกไปใครมาที่บ้านสวนพลูคนนั้นคนนี้ชอบดื่มหรือไม่ดื่มอะไรบ้าง ไม่เฉพาะแต่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่รวมถึงเครื่องดื่มอื่น ๆ สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นด้วย

โดยส่วนตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ การดื่มของท่านเป็นแบบที่น่าจะเรียกว่า “ดื่มเก่ง” แต่ไม่ใช่พวก “คอทองแดง” ที่หมายถึงพวกที่ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่เมา หรือดื่มได้ทั้งวันทั้งคืน และไม่ได้เลวร้ายถึงขั้น “แอลกอฮอลิค” ที่ขาดเหล้าหรืออดดื่มไม่ได้ เพราะท่านดื่มเป็นและดื่มอย่างระมัดระวัง อย่างที่ท่านสอนพวกผมในตอนที่ดื่มเหล้ากับท่านครั้งแรก ๆ ว่า “เหล้านั้นจะแสดงนิสัยตั้งแต่ครั้งแรกที่เราดื่ม ขึ้นอยู่กับว่าเราดื่มกับใคร และดื่มเพื่ออะไร”

โดยท่านเล่าถึงประสบการณ์ในการดื่มของท่านว่า ท่านดื่มเหล้าโดยบังเอิญตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก ตอนนั้นท่านอายุราว 5-6 ขวบ มีพี่เลี้ยงอย่างที่สมัยก่อนนั้นเรียกว่าแม่นม แม่นมของท่านชอบเล่นหวย วันไหนที่ถูกหวยก็จะแอบซื้อเหล้ามาดื่มกับพวกคนรับใช้ด้วยกัน บางวันเมามายก็วางขวดเหล้าเหลือทิ้งไว้ ท่านไม่รู้ก็เผลอไปลองดื่ม แต่ก็สังเกตเห็นว่าแม่นมและคนที่ดื่มเครื่องดื่มนี้ ดื่มแล้วร้องเพลงเฮฮา บางคนก็ลุกขึ้นรำ ความรู้สึกของท่านในตอนนั้นก็คือดื่มสิ่งนี้แล้ว “สนุกดี” อันเป็นสิ่งแรกที่ท่านได้รับรู้เกี่ยวกับการดื่มเหล้า

จนกระทั่งท่านได้ไปเรียนที่อังกฤษ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็มีการรับน้องด้วยการดื่มเหล้า คือเหล้าอังกฤษที่คนอังกฤษเรียกว่า “เอล” (Ale มีลักษณะคล้ายเบียร์ แต่ไม่ผสมฮอปส์ที่ใช้กับเบียร์ทั่วไป มีสีเข้มและมีดีกรีของแอลกอฮอล์แรงกว่าเบียร์) แต่ละแก้วที่ดื่มเรียกว่า “ไปนท์ - Pint” มีปริมาณราวครึ่งลิตรกว่า ๆ ซึ่งมีการแข่งกันว่าจะดื่มได้กี่ไปนท์ ซึ่งท่านก็จำไม่ได้ว่าท่านดื่มได้กี่ไปนท์ รู้แต่ว่าชนะฝรั่งที่พอดื่มก็หลับไปหลายคน

ส่วนท่านเองก็ยังร้องรำเฮฮาไปได้จนเช้า ท่านบอกว่าท่านโชคดีที่ถูกอบรมบ่มนิสัยในการดื่มอย่าง “เข้มงวด” จากวงสังคมอังกฤษ ที่ค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนและจารีตประเพณีต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่นในการเข้าสังคมและรับประทานอาหาร ก็จะสอนเรื่องการดื่มการกินไว้อย่างเรียบร้อย สอนความเป็นสุภาพบุรุษ การให้เกียรติผู้อื่น และการรักษากริยามารยาทต่าง ๆ

ซึ่งการดื่มจนเมามายนั้นถือว่าเป็น “ความต่ำทราม” อย่างยิ่ง และมักจะถูกกีดกันออกจากสังคม ไม่เฉพาะแต่ในสังคมของคนชั้นสูง แต่ในสังคมทั่ว ๆ ไปของชาวบ้านคนอังกฤษก็ยึดถือธรรมเนียมของความสุภาพเรียบร้อยนั้นด้วย ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ออกไปดื่มตามผับ (Pup) ก็ได้เห็นทั้งผู้ชายผู้หญิงดื่มเหล้าด้วยความสนุกสนาน แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องวุ่นวายเสียหายอะไร เว้นแต่ที่มีคนมาก่อเรื่องกัน หรือการกระทบกระทั่งกันของคนที่เมามายจนไม่ได้สติ และคน ๆ นั้นก็จะไม่ได้รับการต้อนรับในสถานที่ดื่มกินนั้นอีก

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านชอบสังเกตและเรียนรู้คนจากการดื่มเหล้า โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่คน ๆ นั้นเมามาย ซึ่งก็จะแสดง “อาการ” ต่าง ๆ ออกมา บางคนพอเมาแล้วจะเงียบขรึม บางคนก็พูดมากไม่หยุด บางคนก็ชอบขวาง ๆ ขัด ๆ พูดแทรก พูดกวนคนอื่น บางคนก็แสดงความรู้ข่มท่าน บางคนก็ตลกโปกฮา จนถึงพูดจาเลอะเทอะ และบางคนก็เศร้าซึมจนถึงร้องไห้ออกมา ซึ่งท่านบอกว่าใครที่มีอาการเป็นอย่างไร ก็มักจะมีอาการเช่นนั้นในการดื่มทุกครั้ง น่าจะเรียกได้ว่า “เหล้านั้นบอกสันดาน” ก็ได้

ซึ่งพอสืบสาวพูดคุยกันภายหลังในตอนที่คุยกันรู้เรื่อง ก็ทำให้เห็นถึงที่มาที่ไปของความเมาในแบบต่าง ๆ ที่มาจากชีวิตที่ได้ผ่านประสบการณ์มาในแบบต่าง ๆ ของแต่ละคนนั้น จึงทำให้ท่านเชื่อว่า “ในเหล้ามีความจริง” ซึ่งท่านได้นำแง่คิดนี้ไปเขียนไว้ในนิยายชุดเรื่อง “หลายชีวิต” (เรื่องที่หลาย ๆ คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำชีวิตของคนเหล่านั้นจำนวนหนึ่งมาเล่าความเป็นมาของแต่ละคน อ่านแล้วก็เกิดความเข้าใจและเห็นใจในชีวิตของทุกคนเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง) โดยให้ “โนรี” นักเขียนขี้เมาเป็นตัวแทนของคนที่ดื่มหนัก และสะท้อนความเป็นไปของคนชอบดื่ม จนกระทั่งต้องมาจบชีวิตในขณะที่กำลังจะนั่งเรือไปรักษาอาการแอลกอฮอลิคนั้น

ผู้คนที่เข้าออกบ้านซอยสวนพลูในแต่ละวันมีจำนวนมากมาย แต่ที่เป็นขาประจำและชอบที่จะมาพูดคุย “ดื่มกิน” ที่บ้านซอยสวนพลูและมีพฤติกรรมอันที่ที่จดจำก็มีอยู่หลายคน เอาเฉพาะที่เป็นนักการเมืองใหญ่ ๆ ก็เช่น คนหนึ่งที่มาบ้านซอยสวนพลูจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ทราบว่าพออยู่ในหมู่เพื่อนฝูงข้างงนอกก็ดื่มจัด ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าคนแบบนี้คบไม่ได้แบบที่เรียกว่า “หน้าไหว้หลังหลอก”

อีกคนหนึ่งดื่มจัด นั่นดื่มแต่หัวค่ำจนทานข้าวเสร็จตอนสามทุ่ม กระทั่งเมามาก พูดจ้าอ้อแอ้ฟังไม่รู้เรื่อง พอเจ้าของบ้านจะขอตัวขึ้นนอนก็ไม่ยอมลากลับ จนท่านต้องด่าคนในบ้าน โดยเฉพาะผมที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ว่า “ไอ้นี้ทำไมมันไม่กลับบ้านกลับช่องไปหาลูกเมีย มาหน้าด้านหน้าทนอยู่ได้” จนที่สุดท่านก็ต้องลุกหนีขึ้นไปข้างบน และผมก็ไปเรียกลูกน้องให้มาหิ้วปีกขึ้นรถกลับไป หรืออีกคนหนึ่งเป็นนักการเมืองภูธร พอเมาแล้วก็จะชอบ “สนทนาธรรม” แสดงโวหารอย่างกับบวชมาได้หลายสิบพรรษา และไม่ยอมให้ใครพูดขัดคอ จนกระทั่งท่านเจ้าของบ้านขอลาไปนอนก่อน แล้ววางเทปอัดเสียงให้แกพูดต่อไปทั้งคืน โดยมีผมนั่งเฝ้าให้แกพูดจนจบและส่งตัวขึ้นรถ

สำหรับสุภาษิตละตินที่ผมยกมาข้างต้น ผมได้อ่านจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงแปลมาจากสุภาษิตของฝรั่งชาติต่าง ๆ อย่างที่เรารู้จักกันก็เช่น สุภาษิตฝรั่งเศสที่แต่งเป็นโคลง และรัชกาลที่ 6 ทรงแปลเป็นโคลงที่ไพเราะมาก ๆ ด้วยเช่นกันว่า “มโนมอบพระผู้เสวยสวรรค์ แขนมอบถวายทรงธรรม์เทิดหล้า ดวงใจมอบเมียขวัญและแม่ เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว” ซึ่งได้มีผู้นำมาใส่ทำนองและแต่งเป็นเพลงอันอมตะ และใช้เป็นเพลงปลุกใจสำหรับบรรดาเหล่าชายชาติทหารทั้งหลาย

ในประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง เมื่อนึกถึง “In Vino Veritas” แล้วก็ทำให้นึกถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และใต้ถุนบ้านซอยสวนพลูขึ้นมาทันที เพราะผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมในการดื่มกินที่ดีที่นั่น แม้บางทีก็เคยเมามายก็ประคองตัวให้อยู่ได้อย่างพอเหมาะพอสมเรื่อยมา

ชีวิตของผู้คนแม้บางทีจะไม่ได้เมาเหล้า แต่ก็เมามายอยู่ในปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร หรือจะต้อง “เมามาย” กับปัญหานั้นไปจนตลอดชีวิต

******************************