posttoday

กรรมเริ่มทำงาน

18 พฤศจิกายน 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

****************

เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกเช่นนี้ ทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรกับพวกที่จาบจ้วง ล่วงละเมิด บ่อนเซาะสถาบันพระมหากษัตริย์สักที ทั้งที่การกระทำดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย แล้วกลับมาบอกว่า รัฐบาลชุดนี้จงรักภักดี พร้อมจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่กลับเฉยเมยปล่อยให้อีกฝ่ายจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์แทบจะทุกวัน

บางคนสงสัยต่อไปว่า ผู้นำรัฐบาลซึ่งเป็นทหารที่ได้สาบานว่าจะจงรักภักดี ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เห็นกันชัด ๆ ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่ประกาศตนและมีการกระทำอย่างเปิดเผย ต่อเนื่อง เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับไม่ทำอะไร คนไทยเสียอีกที่กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะออกมาเอง แต่เพราะไม่ต้องการทำผิดกฎหมายป้องกันการแพร่กระจายโควิด 19

ความอึดอัดนี้ขยายตัวกว้างขวางมากทุกที สังเกตได้จากการบ่น การรำพึงรำพัน การพูดคุยระหว่างเพื่อนฝูง คนรู้จัก การถ่ายทอดผ่านบุคคลที่สาม แต่หลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่เพิ่งผ่านมา คงทำให้คนไทยใจเย็นขึ้นบ้าง

นับตั้งแต่ นายณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อ 18 สิงหาคม 2563 ขอให้วินิจฉัยการกระทำของแกนนำม็อบแปดคนที่เกี่ยวข้องกับคำประกาศ 10 ข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยศาลรับฟ้องเพียงสามคนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เพราะก่อนมีคำวินิจฉัยออกมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาในการหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายฯลฯ เป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งถือเร็วที่สุดแล้ว

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นของ นายจรัล ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการส่งทั้ง “ การเตือน การปราม “ ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ท่านเตือนสติว่า ถ้าไม่พอใจรัฐบาล ก็โค่นล้มรัฐบาลไป ไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับประมุขของชาติ คำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นโดยตรงมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ส่วนกับบุคคลนั้น มีผลเฉพาะผู้กระทำผิด 3 คนดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันคนอื่น

แกนนำพรรคการเมืองที่มีสภาพ “กินปูนร้อนท้อง” ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกยุบหากมีคนยื่นคำร้องต่อ ก็รีบออกมาชี้แจงเป็นพัลวัน อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร ก็ต้องติดตามดูต่อไป

การวินิจฉัยแต่ละคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลาพอสมควร ในกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมนั้น อาจใช้เวลามากกว่านี้เนื่องจากมีกระบวนการตั้งแต่จับกุม ส่งฟ้อง การประกันตัว ฯลฯ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ยังมีกระบวนการอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ

สำหรับคนไทยที่อึดอัดใจต่อการก่อความวุ่นวายของบรรดาม็อบต่างๆ ก็ขอให้ใจเย็นสักนิด เพราะตำรวจซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นไม่ได้อยู่เฉย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาแถลงผลงานที่เกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดีกับม็อบที่ก่อความรุนแรง ที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อให้คนไทยได้สบายใจว่าตำรวจสมัยนี้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองที่จะมาสั่งให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้

ตำรวจซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมไมได้อยู่เฉยๆ แต่ติดตามคดี จับกุม ส่งฟ้องผู้กระทำผิดมาโดยตลอด ล่าสุด ตำรวจแถลงว่า ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมไปแล้ว 732 คดี สอบสั่งฟ้องแล้ว 341 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 391 คดี ออกหมายจับผู้กระทำผิดไปเรื่อย ๆ ส่วนศูนย์ทนายความ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้กระทำผิดมาตรา 112 รวม 157 คดี ผู้ต้องหา 153 คน แกนนำม็อบมีคดีติดตัวอย่างน้อย 3 คดี สูงสุด 21 คดี ส่วนศาลยุติธรรมก็ได้รับคดีไว้แล้วหลายคดี ให้ประกันตัวผู้ต้องหาไปแล้วหลายคน และถอนประกันอีกหลายคนเพราะให้ประกันไปแล้วยังก่อความวุ่นวาย ไม่เข็ดหลาบ ผิดสัญญาประกัน

แกนนำแต่ละคนที่มีชื่อติดปากคนทั่วไป ต่างก็มีคดีติดตัวคนละหลายคดี จนคนสงสัยว่า อาจต้องใช้ชีวิตที่เหลือเดินขั้นลงศาลเป็นว่าเล่น ไม่มีเวลาทำมาหากินอย่างอื่น เงินสนับสนุนที่มีผู้ส่งเข้ามาบัญชีก็หายไป นักการทูตต่างชาติและบรรดา เอ็น.จี.โอ.ต่าง ๆ ที่เคยออกมาหนุนหรือเคยเชียร์ก็หายหน้าหายตาไป ฝรั่งที่เคยบอกว่าจะส่งไปเรียนต่อเมืองนอก หรืออนุญาตให้ลี้ภัยในต่างประเทศ ก็หายหน้าหายตาไป ในขณะที่เวลาก็เดินหน้าไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลานั้นซึ่งเป็นผู้ใหญ่ขึ้น หรือแก่ตัวลง ต้องมานั่งในคุกทบทวนการกระทำที่ผ่านมา

แกนนำที่ทำตัวเป็น “ วีรบุรุษ “ ที่กำลังปลาบปลื้มกับคำสรรเสริญเยินยอของนักการเมือง กำลังภูมิใจกับภาพและข่าวที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสังคมนำไปลง บางคนมีเงินในบัญชีเพิ่มเป็นหลายล้านบาทโดยอ้างว่ามาจากคนที่สนับสนุนการต่อสู้โอนเข้าบัญชีมาให้ ตั้งแต่นี้ก็ถึงเวลาที่แกนนำจะต้อง “จ่าย” ที่ไม่ใช่ในรูปของเงินทอง แต่อาจเป็น “เสรีภาพ” ที่ต้องเสียไปหากถูกศาลพิพากษาว่าทำผิดจริง

กระบวนการทางยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะตำรวจ อัยการ ศาล ต่างก็มีบุคคลากรจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เข้ามา นอกจากทำคดีความมั่นคงแล้ว คดีปกติก็ต้องทำให้เรียบร้อย

ดังนั้น ประชาชนต้องใจเย็น ๆ และต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่เพียงตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาเท่านั้นที่มีงานคดีทั่วไปมากมายอยู่แล้ว ยังมีคดีความมั่นคงเพิ่มเข้ามาอีก ในขณะที่จำนวนบุคลากรก็ยังมีเท่าเดิม ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญคงมีงานเข้ามาเรื่อย ๆ

คนที่ทำผิดไปแล้วไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ตนทำได้ นอกจากจะยอมรับผลที่เกิดขึ้น

นักการเมืองที่เป็นกองเชียร์ให้เด็กทำผิด ก็ต้องพร้อมรับผลที่จะเกิดกับตนต่อไป

รัฐบาลมีงานใหญ่ที่จะต้องทำหลายด้านทั้งการบริหารจัดการโควิด 19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเปิดประเทศ การทำให้คนไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวจากโควิด 19 อีกทั้งต้องทำให้บ้านเมืองสงบสุข หากใครไม่พอใจรัฐบาล ก็ขอให้วิจารณ์รัฐบาล อย่าไปจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์เหมือนอย่างที่คนกลุ่มหนึ่งได้ทำมา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นทั้ง “คำเตือน” และเป็นการ “ป้องปราม” การกระทำของคนบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวผิดกฎหมาย ไม่มีขอบเขต ร้ายแรง แต่ถ้ายังไม่เชื่อและยังขืนทำต่อ พวกเขาก็ต้องพร้อมจะรับผลทางกฎหมายและทางสังคมที่ตามมา เมื่อถึงเวลานั้นก็อย่าร้องโอดโอย

อย่างไรก็ดี คนที่ตกเป็นเหยื่อมักเป็นมวลชน ส่วนคนที่อยู่เบื้องหลังมักเอาตัวรอดไปได้เสมอ

******************