posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (41)

16 พฤศจิกายน 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************

ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับบลิว. บุช ผู้พ่อ เพาเวลล์ได้เลื่อนเป็นนายพลสี่ดาว เป็นนายพลสี่ดาวคนที่สาม นับจากสงครามโลกครั้งที่สอง และประธานาธิบดีได้เลือกเพาเวลล์เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งเป็นตำแหน่งนายทหารสูงสุดในกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

เพาเวลล์ในวัย 52 ปี ดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2532 – 30 กันยายน 2536 นับเป็นนายทหารที่มีอายุน้อยที่สุดที่ก้าวถึงตำแหน่งนี้ โดยเป็นคนผิวสีด้วย และเป็นคนแรกที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้โดยตั้งต้นจากหน่วยฝึกทหารกองหนุน มิได้มาจากโรงเรียนนายร้อย เวสพอยนท์

ในตำแหน่งดังกล่าว เพาเวลล์เผชิญกับวิกฤตการณ์รวม 28 ครั้ง ตั้งแต่การบุกเกรนาดาในปี 2532 เพื่อโค่นล้มนายพลนอริเอกา และที่สำคัญคือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพายุทะเลทราย ในสงคราม อ่าวเปอร์เซีย ปี 2534

ในฐานะนักยุทธศาสตร์ทางทหาร เพาเวลล์เป็นฝ่ายมุ่งให้เกิดความสำเร็จสูงสุดและลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด วิธีการคือ “โหมใช้กำลังให้มากที่สุด” ที่เพาเวลล์นำมาใช้ในแผนปฏิบัติการพายุทะเลทราย หลักการดังกล่าวถูกตั้งฉายาในเวลาต่อมาว่า “ลัทธิเพาเวลล์”

เพาเวลล์ยึดหลักการ จะไม่ใช้การแทรกแซงทางทหารในกรณีที่มิใช่เรื่องที่กระทบผลประโยชน์ของสหรัฐ ทำให้เขาต้องขัดแย้งกับนางเมดเดลีน อัลไบรท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติในกรณีวิกฤตบอสเนีย ต่อมายังขัดแย้งกับรัฐมนตรีกลาโหมเลสลี แอสพิน ทำให้เพาเวลล์ลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็เกิดโศกนาฏกรรมในยุทธการโมกาดิชชู ในช่วงวันที่ 3-4 ตุลาคม 2536 ที่มีการเข้าจับกุมขุนศึกโมฮัมหมัด ฟาริราห์ ไอดิด แต่เกิดโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ “แบล็คฮอว์คร่วง” 2 ลำ ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไป 19 คน ซึ่งคนจำนวนมากเห็นว่าความผิดพลาดเกิดจากรัฐมนตรีกลาโหมแอสพินและรัฐบาลคลินตันไม่เชื่อเพาเวลล์ที่ให้เพิ่มกำลังทั้ง ทางบก คือ รถถัง และทางอากาศ คือ เครื่องบินโจมตีให้มากพอ กรณีดังกล่าวทำให้คลินตันเสียชื่อเสียงและรัฐมนตรีกลาโหมแอสพิน ต้องลาออกในปี 2537 เรื่องราวดังกล่าวฮอลลีวูดได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2547

ช่วงก่อนหน้านั้น มีการพิจารณาเลื่อนเพาเวลล์เป็นนายพลห้าดาว แต่รัฐบาลคลินตันตัดสินใจไม่เลื่อน

ประสบการณ์ด้านการทหารของเพาเวลส์ทำให้เป็นที่ชื่นชอบจากพรรคการเมืองทั้งสองพรรค พวกเดโมแครตจำนวนมากชื่นชอบท่าทีกลางๆ ทางทหารของเขา ขณะที่พวกรีพับลิกันมองเขาในฐานะเป็นทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่ในความสำเร็จของรัฐบาลรีพับลิกัน เขาเริ่มถูกมองให้เป็นผู้ลงแข่งขันในตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2535 หรืออาจเข้าแทนที่รองประธานาธิบดีแดน เควล ของฝ่ายรีพับลิกัน แต่เพาเวลล์ประกาศว่าเป็นริพับลิกันและจะลงแข่งในนามรีพับลิกันในการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนพรรคปี 2538 เขาถูกรบเร้าให้ลงแข่งกับบิล คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2539

แต่สุดท้ายเพาเวลล์ประกาศถอนตัว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าพอ (passion) ในทางการเมือง และหันไปทำงานด้านสังคม โดยในปี 2540 เพาเวลล์ให้ทุนองค์กร “สัญญาอเมริกา” (America’s Promise) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเด็กยากจน และยังได้ก่อตั้ง “ศูนย์คอลิน แอล. เพาเวลล์ เพื่อสร้างภาวะผู้นำและบริการ” (Colin L.Powell Center for Leadership and Service) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างผู้นำรุ่นใหม่จากกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสในการเป็นตัวแทนในด้านบริการสาธารณะและวงการนโยบาย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเข้าร่วมของพลเมืองที่ซิตี้คอลเลจ ที่เขาเรียนจบปริญญาตรีมา

เพาเวลล์ถูกกล่าวถึงในฐานะผู้เข้าชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2543 แต่เขาตัดสินใจอีกครั้งที่จะไม่ลงสนาม ต่อมาเมื่อจอร์จ ดับบลิว บุช ผู้ลูก ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐเทกซัสได้รับเลือกเป็นผู้แทนพรรค รีพับลิกัน เพาเวลล์ประกาศสนับสนุนและเป็นผู้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมใหญ่เพื่อประกาศผลการเลือกผู้แทนลงแข่งขันประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของพรรครีพับลิกัน ซึ่งบุชชนะเลือกตั้ง เพาเวลล์ได้รับเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2544 ซึ่งเขาได้รับการรับรองจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเอกฉันท์ เพราะเป็นที่ชื่นชอบจากทั้งสองพรรค

จากชีวิตทหารเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง เพาเวลล์พลาดครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน

เริ่มจากการแถลงข่าวเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เขาประกาศว่าการลงโทษแซงก์ชันอิรักสามารถขัดขวางการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของซัดดัม ฮุสเซน โดยเขาต้องการที่จะเข้า “บุกรุก” (invasion) อิรัก โดยให้นานาชาติเข้าร่วม แทนการที่สหรัฐจะ “บุกเดี่ยว” เข้าไป

บทบาทหน้าที่สำคัญของเพาเวลล์ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ คือการเชิญชวนให้นานาชาติสนับสนุนการบุกอิรัก ทำให้เขาสร้าง “รอยด่าง” ในชีวิตโดยการปราศรัยต่อที่ประชุมใหญ่ของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 เขาอ้างหลักฐานจาก “ผู้เอาใจออกห่าง” จากอิรักจำนวนมาก โดยไม่ระบุชื่อ เพื่อบอกว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า ซัมดัม ฮุสเซน มีอาวุธชีวภาพ และมีขีดความสามารถที่จะผลิตขึ้นอีกมากมายอย่างรวดเร็ว” และประกาศยืนยันว่าเขาไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า ซัดดัมกำลังเร่งหา “กุญแจสำคัญ” ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

คนจำนวนมากชื่นชมในทักษะ “การแสดงโวหาร” ของเพาเวลล์ เขาฉายภาพจำนวนมากสนับสนุนการบรรยาย รวมทั้งโชว์ขวดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ แต่โทรทัศน์ช่องข่าวที่ 4 (Channel 4 News) ของอังกฤษออกข่าวตามมาติดๆ ว่าเอกสารข่าวกรองที่เพาเวลล์นำมาเสนอโดยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเป็น “เอกสารที่ผ่านการตรวจสอบมาอย่างดี” (Fine paper) เพื่อประกอบการปราศรัยต่อที่ประชุมสมาคมมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น เป็นเอกสารเก่าที่ “ลอก” (plagiarize) มาจากบทเรียงความของนักศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาชาวอเมริกันชื่อ อิบราฮิม อัล-มาราชี

ม่น่าเชื่อว่า คนอย่างเพาเวลล์ เมื่อต้องมารับตำแหน่งทางการเมืองของรัฐบาลที่เป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐ ยังใช้เอกสารที่ “ลอก” มาอย่างน่าละอาย ไป “โกหกคนทั้งโลก” ในที่ประชุมอย่างสหประชาชาติได้เช่นนี้

**************************