posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ห้า): ลาว: สภาถึงทางตัน รัฐบาลรักษาการ พ.ศ. 2501

16 พฤศจิกายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                        

****************************

การเลือกตั้งในลาววันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 เป็นการเลือกตั้งพิเศษอันเกิดจากการเพิ่มเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้จำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรของลาวต้องเปลี่ยนแปลงไป และ ส.ส. ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในสภานั้น ส่วนใหญ่เป็น ส.ส. จากพรรคลาวรักชาติซึ่งเป็นพรรคสายคอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกัน จุดยืนทางการเมืองของเจ้าสุวรรณภูมาหัวหน้าพรรคชาติก้าวหน้าคือเป็นกลางระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยต้องการให้เกิดการประนีประนอมปรองดองกัน เพื่อเปิดให้การเลือกตั้งและสภาเป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ มีการใช้กำลังความรุนแรงต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในบางพื้นที่ของลาว โดยฝ่ายรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มประเทศลาว” นั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนหรือจริงๆแล้วก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนั่นเอง โดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้รับการสนับสนุนกำกับชี้แนะจากองค์กรคอมมิวนิสต์สากลหรือที่เรียกว่าโคมินเทิน (Comintern) และต่อมาคือคอมมินฟอร์ม (Comnform)

จากจุดยืนที่เป็นกลาง เจ้าสุวรรณภูมายินยอมให้ผู้นำของพรรคลาวรักชาติเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาในสภาไม่พอใจ ขณะเดียวกัน จากจำนวน ส.ส. ที่เพิ่มมากขึ้น และท่าทีของ ส.ส. สายคอมมิวนิสต์และ ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคฝ่ายไหน ทำให้เสียงของเจ้าสุวรรณภูมาไม่ถึงสองในสามของสภา อันเป็นเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เจ้าสุวรรณภูมาไม่ได้รับความไว้วางใจ และทำให้รัฐบาลของเขาต้องพ้นสภาพไป  และไม่มีผู้นำพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียงได้ถึงหนึ่งในสามที่จะจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปได้  ส่งผลให้สภาถึงทางตัน

หลังผลการเลือกตั้งดังกล่าวที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าไปมีที่นั่งในสภาได้สร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่า ส.ส. ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะไม่ได้มีจำนวนมากนัก แต่เห็นได้ว่า กระแสนิยมได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว  ด้วยเหตุนี้ภายใต้สถานการณ์ทางตันที่จะต้องมีการหาทางจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ซีไอเอ (CIA) จึงรีบสนับสนุนฝ่ายขวาในลาวจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” (the Committee for the Defense of National Interest/ CDNI) ขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 หนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง  โดยมีนายทหารชื่อ ภูมี หน่อสวรรค์เป็นบุคคลสำคัญในคณะกรรมาธิการ  ภูมีเป็นเสนาธิการทหารที่เคยไปศึกษาที่วิทยาลัยการสงครามของฝรั่งเศส (École de Guerre) และได้มีโอกาสรู้จักนายจอห์น เฮซีย์ หรือ “แจ๊ค”  (John F. "Jack" Hasey)  เจ้าหน้าที่ซีไอเอในกรุงปารีส

ขณะเดียวกัน ในสภาวะทางตันดังกล่าวนี้  หลายคนอาจคิดว่า ทำไมถึงไม่หาทางออกโดยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เสีย ?  คำตอบคือ ตามหลักการและประเพณีการปกครองแบบรัฐสภา อำนาจยุบสภาจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี (หรือคณะรัฐมนตรี ดังในกรณีของอังกฤษในช่วงก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยลำพังและล่าสุดที่เปลี่ยนมาเป็นว่า นายกรัฐนตรีจะต้องได้เสียงสองในสามของสภาถึงจะสามารถยุบสภาก่อนวาระได้)  ในกรณีที่เกิดทางตันในสภาของลาว พ.ศ. 2501  คือ สภาขณะนั้น ไม่สามารถหานายกรัฐมนตรีใหม่ได้ เมื่อไม่สามารถยุบสภาได้ ก็ต้องหันกลับไปที่การตั้งรัฐบาลขึ้นมา ซึ่งตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ หากไม่มีพรรคใดสามารถได้เสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการอยู่จะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ในการเชิญบุคคลอื่นให้จัดตั้งรัฐบาล (“A Government must be able to command a majority in the House of Commons on votes of confidence and supply. This majority can be all of one party, or include support from other political parties even if there is no formal coalition arrangement. If they cannot, the Prime Minister must ask the monarch to invite someone else to form a government.” https://www.parliament.uk/about/how/elections-and-voting/general/hung-parliament/)   ซึ่งรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้เสียงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นั่นคือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพื่อจะให้การเมืองพ้นทางตัน และทำให้สามารถเกิดการยุบสภาตามมาได้โดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ซึ่งในกรณีของทางตันของสภาลาว พ.ศ. 2501 สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ พระมหากษัตริย์ลาวได้ทรงให้อำนาจแก่ “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” ที่มีสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นภายใต้การนำของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์                                                                          

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ห้า): ลาว: สภาถึงทางตัน รัฐบาลรักษาการ พ.ศ. 2501

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ห้า): ลาว: สภาถึงทางตัน รัฐบาลรักษาการ พ.ศ. 2501

                 

            

เจ้าบุญอุ้มเป็นกษัตริย์และเจ้าครองนครจำปาสักองค์สุดท้าย ได้รับยกย่องจากประชาชนลาวในฐานะผู้ยินยอมสละราชบัลลังก์กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาสักเพื่อให้แผ่นดินลาวรวมเป็นประเทศเดียว ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์สูงเป็นลำดับ 3 ของพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและสมเด็จเจ้าฟ้าชายองค์มงกุฎราชกุมาร และต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 จากการสนับสนุนของเจ้าบุญอุ้มและ “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” ส่งผลให้นายนายผุย ชนะนิกร นักการเมืองฝ่ายขวาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

สาเหตุที่นายผุยได้ขึ้นเป็นายกรัฐมนตรี เพราะสหรัฐฯได้งดการช่วยเหลือทางการเงินแก่ลาวชั่วคราว ส่งผลให้สภาแห่งชาติต้องยืนยันสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายขวาจัดอย่างผุยให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล รวมทั้งสนับสนุนสมาชิกจาก “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” สี่คนให้เป็นรัฐมนตรี โดยที่ทั้งสี่คนนี้มิได้ผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในสภา

ผุย ชนะนิกรมาจากหนึ่งในตระกูลใหญ่ที่บทบาททางสังคมเศรษฐกิจการเมืองมากที่สุดของลาว เขาเกิดที่เวียงจันทน์ จบการศึกษาจากฝรั่งเศส ในตอนสอบเข้ารับราชการในรัฐบาลเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในลาว เขาสามารถทำคะแนนได้สูงสุด  หลังจากนั้น ได้เข้าสู่เส้นทางทางการเมืองโดยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการของรัฐบาลในปี พ.ศ.2490  หลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของเมืองปากเซ  (เมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์ที่เจ้าบุญอุ้มมีอิทธิพลอยู่) เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2493 เขาและอดีตสมาชิกลาวอิสระ (กลุ่มการเมืองที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวจากฝรั่งเศส ที่มีทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายรวมอยู่) ได้ก่อตั้งพรรคอิสระขึ้น (the Independent Party) และต่อมาได้รวมตัวกับพรรคชาตินิยม

ผุยได้ประกาศนโยบายความเป็นกลางทางการเมืองในทุกๆเรื่อง ยกเว้นในทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขายืนยันว่า รัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อมา เดือนธันวาคม พ.ศ.2501 ผุยได้ให้สมาชิกอีกสามคนจาก “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ” เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยหนึ่งในนั้นคือ นายพันเอกภูมี หน่อสวรรค์  ทำให้รัฐบาลของเขาได้มียความขวาจัดมากขึ้นและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินให้รัฐบาลของเขามีอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่มีสภาแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่า เขากำลังหาทางที่จะตัดกำลังนักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสภา ซึ่งหลังประกาศภาวะฉุกเฉิน ปรากฏว่า สมาชิกพรรคลาวรักชาติระดับรองหัวหน้าพรรคจำนวนหนึ่งได้เดินทางออกไปจากเวียงจันทน์ แต่เจ้าสุภานุวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าพรรคยังอยู่                                                                                                        

                  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ห้า): ลาว: สภาถึงทางตัน รัฐบาลรักษาการ พ.ศ. 2501

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ห้า): ลาว: สภาถึงทางตัน รัฐบาลรักษาการ พ.ศ. 2501

       

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 นายผุยได้ประกาศยกเลิกบางหมวดในข้อตกลงเจนีวา (the Geneva Accords) พ.ศ.2490 ที่จำกัดการรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติของลาว ส่งผลให้ลาวสามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมหาศาล และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้สนับสนุนการประกาศดังกล่าวของนายผุยโดยจัดตั้งหน่วยฝึกอบรมขึ้นในลาวภายใต้สำนักงานประเมินโครงการ (Programs Evaluation Office/PEO)  ทำให้ฝ่ายสหภาพโซเวียตที่สนับสนุนองค์การคอมมิวนิสต์สากลและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนออกมาประท้วงที่สหรัฐฯเข้ามามีอิทธิพลทำให้รัฐบาลลาวละเมิดข้อตกลงเจนีวา

จากข้อตกลงเจนีวา พ.ศ. 2490 ที่รับรองเอกราชของลาวนั้น มีจุดประสงค์ที่จะให้ลาวปลอดจากอิทธิพลแทรกแซงของมหาอำนาจต่างชาติ และมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ในขณะที่ จริงๆแล้ว มหาอำนาจทั้งสองค่ายหลังสงครามโลกต่างกำลังเข้าสู่การช่วงชิงต่อสู้ในสงครามเย็นระหว่างอุดมการณ์เสรีทุนนิยมและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ข้อตกลงเจนีวาก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงเศษกระดาษ เพราะในความเป็นจริง ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของลาว โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์อ้างการต่อสู้ขับไล่ฝรั่งเศสให้หมดไปจากอินโดจีน ซึ่งแยกไม่ออกจากการพยายามเข้าครอบงำลาว กัมพูชาโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนหรือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่อยู่ภายใต้อิทธิพลโคมินเทินของสหภาพโซเวียต ส่วนสหรัฐฯอเมริกาในฐานะมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ไม่สามารถยอมให้คอมมิวนิสต์มีอิทธิพลในภูมิภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากประเด็นที่ต้องการรักษาทะลจีนใต้ให้เป็นเส้นทางเสรี การเข้าถึงทรัพยากรและตลาดและควบคุมการขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์

ความสับสนอลหม่านทางการเมืองในลาวจึงมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่กลุ่มการเมืองในลาวที่มีความขัดแย้งกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองต่างเต็มใจที่จะตกเป็นเครื่องมือรับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างชาติ สภาพการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้ในตอนแรก (45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วย สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน https://www.posttoday.com/politic/columnist/664773)   นั่นคือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั่วโลกอยู่ภายใต้ยุคสงครามเย็น อันเป็นการประชันขันแข่งกันระหว่างกลุ่มประเทศทุนนิยมที่มีสหรัฐฯและยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำ และกลุ่มประเทศสังคมนิยมที่เป็นโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของทั้งสองค่ายนี้ทำให้เกิดศึกแย่งชิงประเทศต่างๆในโลก  เมื่อทั้งสองฝ่ายแย่งชิงการครองอำนาจนำในประเทศต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่ายของผู้คนภายในประเทศนั้นๆ โดยแต่ละฝ่ายสนับสนุนแต่ละอุดมการณ์และได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจแต่ละฝ่าย ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สงครามตัวแทน” (proxy war) คือ คนแต่ละฝักฝ่ายในประเทศต่อสู้กันและกันภายใต้อุดมการณ์และการได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยที่ประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งไม่ได้ทำสงครามกันและกันเอง และมี “ตัวแทน” ของแต่ละฝ่ายต่อสู้กันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างนักการเมือง กองกำลังใต้ดินหรือกองกำลังในป่ากับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล หรือการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ฝักฝ่ายอุดมการณ์ต่างกัน

และความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในลาวได้ทวีความเข้มข้นขึ้นหลังในเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 ที่นายผุยได้เริ่มรวมกำลังในการกวาดล้างทำลายพรรคลาวรักชาติให้หมดไปและบูรณาการพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของกองกำลัง “กลุ่มประเทศลาว” ให้อยู่ภายใต้รัฐบาลลาว

กล่าวได้ว่า ภายใต้รัฐบาลนายผุย ชนะนิกร ลาวจึง “ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นกลาง” อย่างที่เจ้าสุวรรณภูมา หัวหน้าพรรคชาติก้าวหน้าลาวเคยหวังว่าจะเป็นทางรอดจากการเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ

(แหล่งอ้างอิงหลัก: Len E. Ackland, “No Place for Neutralism: The Eisenhower Administration of Law,” ใน Laos: War and Revolution, edited Nina S. Adams and Alfred W. McCoy, 1970).