posttoday

การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสถาบันฯ

12 พฤศจิกายน 2564

โดย...โคทม อารียา

*************

ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในทางการเมือง ก่อนหน้านี้ศาลฯเคยยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง เคยตัดสิทธิ์การเลือกตั้งของผู้บริหารพรรคการเมืองและทำให้รัฐบาลต้องล้ม เคยลงมติให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสถาปนาอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งส่งผลให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ให้มี สสร. ต้องตกไปในวาระที่สาม

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญก็แสดงบทบาทอีกครั้ง โดยมีคำวินิจฉัยดังนี้:

ศาลมีมติด้วยเสียง 8 ต่อ 1 ว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 (คือนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลในการชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง.” (การขีดเส้นใต้เป็นของผมเอง)

เหตุผลโดยย่อว่าเป็นการล้มล้างการปกครองคือ “ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ ... เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ โดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม

ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ... โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่อง

... โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

... ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

มาตรา 49 วรรคสองของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้...(และ) การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำตามวรรคหนึ่ง”

ข้อสงสัยของผมคือ “ผู้กระทำตามวรรคหนึ่ง” หมายถึงผู้ถูกร้อง 3 คน หรือรวม “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ซึ่งเป็นคำที่กว้าง

ข้อเรียกร้องคือ “ผู้ถูกร้องอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ ... เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถ้าผู้ใดเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 10 ประการ ไม่ว่าจะเป็นบางประการ หรือทุกประการ จะถือว่าเป็น “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?

ผู้ถูกร้องยืนยันว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อเป็น “ข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ล้วนแต่เป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการจะให้สถาบันกษัตริย์ของไทย มีความชอบธรรมและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสง่างาม ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล” เพื่อพิจารณาว่าระบอบประชาธิปไตยอย่างสากลนั้นเป็นฉันใด น่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในบางประเทศ ในที่นี้ จะขอพิจารณาเฉพาะข้อเรียกร้องที่สำคัญคือข้อ 1. และ ข้อ 2. ดังนี้

ข้อ 1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ

ข้อ 2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

มาตรา 6 เขียนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ส่วนมาตรา 112 เขียนว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

ผมได้ค้นหาตามเว็บไซต์อย่างไว ๆ และได้ผลลัพธ์ดังนี้

ความผิดฐาน Lèse Majesté มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นเครื่องมือเปลี่ยนบุคคลธรรมดาให้เป็น Majesty และถูกนำไปใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น Montesquieu เขียนไว้ในหนังสือชื่อ L’Esprit des Lois ว่า การกำหนดความผิดฐาน Lèse Majesté ไว้อย่างกว้าง ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ ได้ Cesare Beccaria เสนอว่าโทษต้องได้สัดส่วนกับลักษณะของการกระทำที่เป็นความผิด ผู้โง่เขลาได้ใช้ Lèse Majesté ในลักษณะที่แตกต่างกันไป ทำให้มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของคำคำนี้

ขอยกตัวอย่างของบางประเภทที่มีกฎหมายทำนองมาตรา 6 และมาตรา 112 ดังนี้

1.ญี่ปุ่น

*เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ศาลใด ๆ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายเหนือ "สมเด็จพระจักรพรรดิ" เพราะว่าพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน

*คนสุดท้ายที่ถูกลงโทษฐานดูหมิ่นพระจักรพรรดิ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นชื่อนายโชทาโร่ มัทซึชิมะ เนื่องจากเขาทำการรณรงค์ต่อต้านการขาดแคลนอาหาร และกล่าวพาดพิงถึงระบบพระจักรพรรดิ จึงถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษทันที

2.สหราชอาณาจักร

*ในปี ค.ศ. 1947 มีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีได้ในคดีแพ่งเท่านั้น หรือพลเมืองคนใดคนหนึ่งจะร้องเรียนด้วยการถวายฎีกาขอที่ดินคืนได้ แต่ไม่มีอำนาจใดจะจับกุมใครในสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือใครในเขตพระราชฐาน หรือจะปรับไหมหรือยึดทรัพย์ส่วนพระองค์มิได้

*ไม่มีกฎหมาย Lèse Majesté จึงใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ค.ศ. 1996 ซึ่งไม่ปรากฏว่ากำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์แยกออกจากบุคคลธรรมดา ความผิดตาม พ.ร.บ. นี้มีโทษปรับเท่านั้น

3. เบลเยียม (ผมหาข้อมูลได้เฉพาะกรณี Lèse Majesté)

*พระราชบัญญัติ ค.ศ. 1847 กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ไว้ที่ จำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับ 300 ฟรังค์ ถึง 3,000 ฟรังค์ และกำหนดโทษฐานหมิ่นประมาทสมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ไว้ที่ จำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับ100 ถึง 2,000 ฟรังค์ แต่แทบไม่เคยนำกฎหมายนี้มาใช้

4. เนเธอร์แลนด์ (เฉพาะกรณี Lèse Majesté)

* ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตามอัตราลำดับที่สี่ ความผิดฐานหมิ่นประมาทคู่สมรสกษัตริย์ รัชทายาท คู่สมรสของรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับตามอัตราลำดับที่สี่ กฎหมายนี้แทบไม่ได้นำมาใช้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 2007 ศาลพิพากษาลงโทษชายคนหนึ่งที่ด่าพระราชินีด้วยการปรับเป็นเงิน 400 ยูโร

5. เดนมาร์ก

*พระมหากษัตริย์ จะถูกละเมิดและกล่าวหาฟ้องร้องไม่ได้ (Sacrosanct) และต้องเป็นที่เคารพสักการะ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์ตามกฎหมาย

*ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 กำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 4 เดือน ในกรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 115 กำหนดว่า อัตราโทษอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และในกรณีหมิ่นประมาทพระราชินี หรือรัชทายาท มาตรา 116 กำหนดว่า อัตราโทษอาจเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ มาตรา 115 และมาตรา 116 ไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้

6. นอร์เวย์

*พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ จะถูกกล่าวหาฟ้องร้องมิได้ เว้นแต่คดีทางแพ่ง

*ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี การ ร้องทุกข์กล่าวโทษจะริเริ่มได้แต่โดยคำสั่งของกษัตริย์หรือด้วยความยินยอมของกษัตริย์ แต่กฎหมายนี้แทบไม่เคยนำมาใช้

7. สวีเดน (เฉพาะกรณี Lèse Majesté)

*การหมิ่นประมาทกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษปรับ แต่ถ้าหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง มีโทษปรับ หรือโทษจำคุกไม่เกิน 6 ปี

8. สเปน

*พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพ จะละเมิดมิได้ และไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะรัฐบาลต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

*ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ปรับเทียบเท่าอัตรา 6-12 เดือน แต่ถ้าเป็นกรณีร้ายแรงจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 ศาลพิพากษาให้ยึดหนังสือพิมพ์ El Jueves และสั่งปรับ 3,000 ยูโร จากกรณีวาดการ์ตูนล้อมกุฎราชกุมารร่วมเพศกับเจ้าหญิง วันที่ 15 มีนาคม 2011 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวินิจฉัยว่าการที่ศาลสเปนพิพากษาให้นาย Otegi Mondragon ถูกจำคุก 1 ปีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ให้รัฐสเปนชดใช้ค่าสินไหมให้แก่นาย Otegi Mondragon เป็นจำนวนเงิน 20,000 ยูโร และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินคดีในศาลเป็นจำนวนเงิน 3,000 ยูโร

9.โมร็อกโก (เฉพาะ Lèse Majesté)

*การหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือรัชทายาท มีโทษจำคุก 1 ปีถึง 5 ปี หรือ ปรับ 200 ถึง 1,000 ดีร์แฮม หากกระทำต่อทายาทหรือญาติ มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับ 200 ถึง 500 ดีร์แฮม

10. ภูฏาน (เฉพาะการฟ้องร้อง)พระมหากษัตริย์จะถูกกล่าวหา ฟ้องร้องมิได้

11. มาเลเซีย (เฉพาะการฟ้องร้อง)

*สมเด็จพระราชาธิบดีจะได้รับการปกป้อง ใครจะละเมิดมิได้ และไม่มีอำนาจใดสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้

เมื่อได้ลองเปรียบเทียบกับบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว ผมมีความเห็นว่า มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญควรจะมีไว้ แต่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้เพื่อเปิดช่องทางให้มีการฟ้องพระมหากษัตริย์ในทางแพ่ง เผื่อมีการโต้แย้งเกี่ยวกับพระราชทรัพย์กับราษฎร ก็อาจขอให้กระบวนการยุติธรรมช่วยวินิจฉัย โดยไม่ถือเป็นการเสื่อมพระเกียรติแต่ประการใด

ส่วนมาตรา 112 ก็ควรมีไว้ แต่อาจ/ควรแก้ไขเพิ่มเติมโดย

1.มีการกลั่นกรองก่อนเริ่มตั้งข้อหา

2. ลดโทษจำคุก โดยมีเหตุผลดังนี้ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงสองสัปดาห์ คณะรัฐประหารได้เพิ่มโทษจากโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี เป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ขณะนี้ประเทศไทยมีโทษจำคุกสูงกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ มาก แต่ก็ไม่มีผลในเชิงป้องปรามหรือมีผลต่อการวิพากษ์วิจารณ์ที่ “ไกลเกินเหตุจน นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึง อันที่จริงไม่ควรมีโทษต่ำสุด แต่ควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรลงโทษสถานใด แต่ผู้กระทำผิดไม่ควรติดคุกนานเกินกว่าเหตุ เช่นไม่เกิน 3 ปี

รัฐไทยกำลังขมวดปมทางการเมืองเข้าเรื่อย ๆ กำลังกดทับมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนเห็นตรงกับผู้มีอำนาจ ผมคิดว่าหากรัฐผู้มีอำนาจเหนือ หันมาใช้อำนาจร่วม และเปิดช่องทางให้มีการถกแถลงเพื่อการเปลี่ยนแปลงเสียเอง ในการนี้ ควรพิจารณาว่าจะแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 และมาตรา 112 หรือไม่ ผมเชื่อว่ารัฐมีความเข้มแข็ง ไม่ต้องกลัวการล้มสถาบัน จึงควรพลิกเกมกลับ เพื่อให้ไปต่อจากศาลรัฐธรรมนูญได้โดยการชักฟืนออกจากไฟนั่นเอง