posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สี่: เลือกตั้ง ลาว พ.ศ. 2501) “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

08 พฤศจิกายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                        

*******************

การเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2501 พรรคลาวรักชาติได้ที่นั่งสูงสุด (เป็นการเลือกตั้งพิเศษ เพราะได้มีการประกาศเขตเลือกตั้งใหม่เพิ่มขึ้น)  ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอิทธิพลทางการเมืองในระบบรัฐสภาของพรรคแนวร่วมคอมมิวนิสต์ในลาว ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องทำการแทรกแซงโดยการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาขึ้นเพื่อทัดทานพรรคแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่กำลังเติบโตทางการเมืองภายใต้นโยบายปรองดองและเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมาและพรรคชาติก้าวหน้า

และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า หลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้นอีกประมาณปีกว่า ได้เกิดรัฐประหารในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2502 ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังจากลาวได้เอกราชและมีการประกาศการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2492

แต่หลังจากการเลือกตั้งเพิ่มวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2501 เจ้าสุวรรณภูมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เพียงเดือนเดียวก็ต้องมีอันหมดสภาพไป เพราะอะไร ?

ก่อนจะเฉลย ขอเท้าความการเมืองลาวกลับไปในปี พ.ศ.2498  โดยตั้งแต่ พ.ศ.2498 ที่ปรึกษาฝรั่งเศสได้เริ่มต้นฝึกกองกำลังทางอากาศของลาวขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อรับมือกับการรุกของกองกำลังของเวียดนามเหนือหรือพวกเวียดมินห์ที่ต้องการกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสให้หมดไปจากอินโดจีน การฝึกกองกำลังดังกล่าวนี้ ทางลาวและฝรั่งเศสได้รับความร่วมมือจากฝ่ายไทยด้วย

นอกจากฝรั่งเศสแล้ว สหรัฐอเมริกาเองก็ได้เริ่มจัดตั้งปฏิบัติการขึ้นในลาวตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2498 หลังจากที่ลาวได้เอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2497 สหรัฐฯได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับราชอาณาจักรลาว และได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตขึ้น และในปฏิบัติการดังกล่าวนั้น สหรัฐฯได้ให้งบประมาณคิดเป็นร้อยละร้อยของงบประมาณทางการทหารทั้งหมดของรัฐบาลลาว โดยร้อยละแปดสิบเป็นการสนับสนุนยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันประเทศให้แก่รัฐบาลลาวในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  แต่ทางสถานทูตสหรัฐฯไม่ได้สามารถเข้าไปกำกับดูแลโครงการนี้ได้ เพราะมีข้อห้ามในสนธิสัญญาที่ทางสหรัฐฯได้ลงนามไว้ เมื่อมีปัญหาที่ไม่สามารถเข้าไปควบคุมปฏิบัติการที่ทางสหรัฐฯให้การสนับสนุนทางการทหารแก่รัฐบาลลาว  ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์จึงแก้ปัญหานี้โดยจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่ประเมินโครงการ (Programs Evaluation Office/PEO) ขึ้นในปลายปี พ.ศ.2498

คณะเจ้าหน้าที่ประเมินโครงการนี้ไม่ใช่คณะนายทหาร แต่เป็นคณะเจ้าหน้าที่พลเรือนที่เคยมีประสบการณ์ทางการทหารที่นำโดย พันเอกรอทเวล บราว์น (Rothwell H. Brown) อดีตทหารผ่านศึกที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ (Silver  Medal Star) จากการเป็นผู้บัญชาการกองพันทหารราบ (1st Provisional Tank Group) ในปฏิบัติการรบในพื้นที่จีน-พม่า-อินเดียในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คณะเจ้าหน้าที่โครงการเหล่านี้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศจริงจัง  โดยในเรื่องกิจการการทหาร คณะดังกล่าวนี้จะรายงานไปยัง “หน่วยบัญชาการอินโดแปซิฟิกสหรัฐ” (Commander in Chief Pacific Command ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490) ขณะเดียวกันก็ส่งข้อมูลให้ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯด้วย ส่วนเรื่องที่ไม่ใช่กิจการทางการทหาร จะรายงานโดยตรงต่อเอกอัครราชทูต  

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สี่: เลือกตั้ง ลาว พ.ศ. 2501) “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

                                          

ในปี พ.ศ.2498 รัฐบาลลาวจึงสามารถส่งปฏิบัติการทางการทหารไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือ นั่นคือ  “ซำเหนือ” เมืองเอกของแขวงหัวพันและ “พงสาลี” เมืองเอกของแขวงพงสาลี ซึ่งทำให้ “กลุ่มประเทศลาว” ที่เป็นกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ไม่พอใจอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันทางฝ่ายปฏิบัติทางการทหารของคอมมิวนิสต์ลาวและผู้สนับสนุนจากเวียดนามเหนือได้รณรงค์ระดมมวลชนลาวจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งกองกำลังให้ได้ถึงเก้ากองพัน  มวลชนที่ระดมมาได้นั้นได้ถูกส่งไปอบรมทางการเมืองและฝึกทหารในเวียดนาม ทำให้สหรัฐฯมีความกังวลว่ากองทัพรัฐบาลลาวจะมีอุปกรณ์และการฝึกอบรมที่ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะในขณะนั้นมีเพียงปฏิบัติการทางการทหารของฝรั่งเศสในระดับที่น้อยมากที่ทำงานร่วมกับกองทัพอากาศของรัฐบาลลาว

หลังจากที่เจ้าสุวรรณภูมาดำรงตำแหน่งมาจนครบวาระ (พ.ศ. 2494-2498) ก็ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2498 เจ้าสุวรรณภูมาชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลผสมสมัยที่สองในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2499 ส่วนนักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ประท้วงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนั้น

และจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดทั้งการเมืองบนดินและใต้ดินในขณะนั้น ทำให้เจ้าสุวรรณภูมาเปิดการเจรจากับผู้นำพรรคประเทศลาว เจ้าสุภานุวงศ์ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดา

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2499 ทั้งสองได้ตกลงประกาศเจตนารมณ์หยุดยิงและรวมพื้นที่ภายใต้การครอบครองของพรรคประเทศลาวให้อยู่ภายใต้รัฐบาลลาว แต่พรรคประเทศลาวได้อ้างสิทธิ์ขอบริหารจัดการเมืองต่างๆในพื้นที่ของตนต่อไป

ขณะเดียวกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 เจ้าหน้าที่ประเมินโครงการสหรัฐฯได้เริ่มสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกกองกำลังให้กับปฏิบัติการทางการทหารของฝรั่งเศสในการฝึกอบรมกองทัพรัฐบาลลาวเพื่อปรับปรุงการรักษาความมั่นคงของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น และในการเข้าไปสนับสนุนดังกล่าวนี้ รัฐบาลสหรัฐฯถึงกับจ่ายเงินเดือนทั้งหมดให้กับกองทัพของรัฐบาลลาว ต่อมาในเดือนมีนาคม กองทัพรัฐบาลลาวได้ส่งอาวุธให้กับกองโจรม้ง เพื่อให้ร่วมกับรัฐบาลลาวในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2500  เจ้าสุวรรณภูมาได้เล็งเห็นถึงเงื่อนไขที่อาจจะนำประเทศไปสู่สงครามกลางเมือง จึงได้รณรงค์นโยบายปรองดองโดยประกาศจุดยืนความเป็นกลางของตนและของพรรคชาติก้าวหน้าและได้กำหนดให้มีเขตเลือกตั้งใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเปิดให้นักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาต่อสู้ในเวทีการเมืองของรัฐสภาและยินดีที่จะให้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมของตนด้วย

โดยให้มีการกำหนดเขตเลือกตั้งเพิ่ม และให้มีการเลือกตั้งพิเศษขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2501 สำหรับ ส.ส. ใหม่ในเขตดักล่าวและเจ้าสุวรรณภูมาได้ออกคำขวัญในการรณรงค์นโยบายปรองดองและเป็นกลางในการเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2501 ว่า  “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนให้ฝ่ายซ้ายเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง”  ("one vote to the right, one vote to the left to prevent civil war") สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าสุวรรณภูมาเชื่อว่า การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาต่อสู้กันในเวทีรัฐสภา จะทำให้ลดหรือยุติการต่อสู้นอกสภาหรือการใช้กองกำลังได้

ในการเลือกตั้งพิเศษวันที่ 4 พฤษภาคม 2501 นักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนถึงหนึ่งในสามของจำนวน ส.ส. ใหม่ทั้งหมด ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสภามีจำนวน 16 (บางแหล่งว่า 13) คนในจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 60 คน และจากการที่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในสภาทำให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีปัญหา เพราะแต่เดิมเสียงในสภาทั้งหมดมี 39 คน เมื่อมีจำนวน ส.ส.เปลี่ยนเป็น 60 คน  เสียงในการจัดตั้งรัฐบาลเดิมจึงมีปัญหา

เพราะก่อนหน้าที่จะมีจำนวน ส.ส. ในสภาเพิ่มหลังจากการเลือกตั้ง 4 พฤษภาคม 2501  จำนวนทั้งสิ้นของ ส.ส. ในสภามี 39 คน และเกณฑ์การจัดตั้งรัฐบาลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 คือ จะต้องได้เสียงสองในสามของ ส.ส. ในสภา ซึ่งหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 เจ้าสุวรรณภูมาและพรรคชาติก้าวหน้าได้เสียงข้างมาก และได้เสียงสองในสาม สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ แต่หลังจากการเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม 2501 ตัวเลข ส.ส.ทั้งสิ้นในสภาเปลี่ยนไปจาก 39 เป็น 60  ทำให้ส.ส. ฝ่ายคอมมิวนิสต์ 16 คนรวมกับ ส.ส. อิสระที่มีจำนวน 5 คนเป็น 21 คน มีเสียงมากพอในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลผสมของพรรคพรรคชาติก้าวหน้าที่มีจุดยืนกลางขวาของเจ้าสุวรรณภูมาได้ เพราะในการดำเนินการเป็นรัฐบาลผสมภายใต้พรรคชาติก้าวหน้าของเจ้าสุวรรณภูมาต้องการเสียงสองในสามของสภา นั่นคือ 40 เสียง ทำให้รัฐบาลผสมเดิมของเจ้าสุวรรณภูมามีอันต้องหมดสภาพไป นอกจากเจ้าสุวรรณภูมาจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับนักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ และยอมให้มีบทบาทมากขึ้นในรัฐบาล ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายขวาไม่ยอม ทำให้เจ้าสุวรรณภูมาต้องถูกลงมติไม่ไว้วางใจและต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาล                                                                           

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สี่: เลือกตั้ง ลาว พ.ศ. 2501) “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สี่: เลือกตั้ง ลาว พ.ศ. 2501) “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สี่: เลือกตั้ง ลาว พ.ศ. 2501) “หนึ่งคะแนนให้ฝ่ายขวา และหนึ่งคะแนนในฝ่ายซ้ายเพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมือง”

                                                                                                

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลอีกแหล่งกล่าวว่า จากการที่เจ้าสุวรรณภูมาจะให้เจ้าสุภานุวงศ์เข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รวมทั้งนายภูมี วงศ์วิจิตร อีกหนึ่งผู้นำพรรคประเทศลาวเป็นรัฐมนตรีด้วย ส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาไม่พอใจและถอนเสียงสนับสนุนรัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมาซ้ำเข้าไปด้วย สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ พระมหากษัตริย์ ประมุขของราชอาณาจักรลาวทรงยอมรับการลาออกของเจ้าสุวรรณภูมาและลงพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการโปรดให้เจ้าสุวรรณภูมาและคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

ดังนั้น แนวคิดการปรองดองที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยเปิดให้นักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาร่วมบริหารประเทศของเจ้าสุวรรณภูมาจึงเป็นอันต้องล้มเหลวไป

สภาวะการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความระแวงกันและกัน เพราะรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาก็รับการสนับสนุนจากทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐฯในการจัดการกับคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวในปฏิบัติการทางการทหาร  และแม้ว่ากองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวจะอ้างเป้าหมายว่าต้องการกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสให้หมดสิ้นไปจากอินโดจีน ขณะเดียวกัน แน่นอนว่า ก็ต้องการสร้างอิทธิพลคอมมิวนิสต์ให้เกิดขึ้นในอินโดจีนด้วย ซึ่งทำให้สหรัฐฯจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสกัดกระแสคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและในลาวด้วยเช่นกัน

เมื่อเจ้าสุวรรณภูมาต้องลาออก รัฐบาลผสมภายใต้พรรคชาติก้าวหน้าก็ต้องหมดสภาพไป และในกรณีที่นายกรัมนตรีลาออก ตามกติกาของระบอบรัฐสภา จึงต้องมีรัฐบาลใหม่ แต่ไม่มีฝ่ายใดสามารถได้เสียงถึงสองในสามของ ส.ส. ของสภา ทำให้สภาลาวขณะนั้นอยู่ในสภาวะทางตัน (deadlock)

อันเป็นที่มาของการเกิดรัฐบาลรักษาการขึ้น ใครแต่งตั้ง ? และใครเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ความขัดแย้งไม่ลงตัวในสภา ?