posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (39)

02 พฤศจิกายน 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

คณะกรรมการที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกได้ประชุมแล้ว สรุปว่า (1) การใช้วัคซีนนี้มีความเป็นไปได้ (Feasible) สามารถเพิ่มพูนสุขภาพ ช่วยชีวิต โดยสามารถดำเนินการได้แม้ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (2) ประชากรในพื้นที่ศึกษาซึ่งเด็กกว่า 2 ใน 3 ไม่ได้นอนในมุ้ง ได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้

(3) มีการฉีดวัคซีนในโครงการไปแล้ว 2.3 ล้านโด๊ส พบว่าปลอดภัย (4) การให้วัคซีนไม่ก่อผลกระทบในทางลบต่อการใช้มุ้ง, การรับวัคซีนอื่น, และการไปรับบริการอื่นเมื่อมีไข้ (5) การให้วัคซีนในโครงการนำร่อง สามารถลดอัตราการป่วยด้วยมาลาเรียที่รุนแรงลงได้ 30% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่ในท้องที่ที่มีการใช้มุ้งชุบยาฆ่าแมลงอย่างกว้างขวาง และสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาโรคได้ดี และ (6) โครงการนี้มีความคุ้มค่าสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรียในระดับปานกลางถึงสูง

วัคซีนนี้ ฉีดให้แก่เด็กเล็ก ช่วงอายุ 5-17 เดือน จำนวน 3 โดส และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 หลังจากเข็มสามราว 18 เดือน

องค์การอนามัยโลก ให้ดำเนินการติดตามโครงการวิจัยนำร่องใน 3 ประเทศดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์โดยเฉพาะของการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 4 และให้สามารถวัดผลกระทบระยะยาวต่อไปด้วย

มาลาเรีย มีลักษณะเป็นโรคประจำถิ่น และไม่มีลักษณะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข อย่างโควิด-19 การศึกษาวิจัย พัฒนา หาข้อสรุป และข้อเสนอแนะต่างๆ จึงดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่เร่งร้อน และการอนุมัติให้ใช้วัคซีน ก็ไม่เป็นไปแบบ “อนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉิน” เหมือนวัคซีนโควิด-19

โรคมาลาเรีย มีหลายชนิด ที่แพร่ระบาดอยู่ในท้องที่ต่างๆ ได้แก่ (1) มาลาเรียฟัลซิปารุม (falciparum) เป็นมาลาเรียที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากที่สุด คือ มาลาเรียขึ้นสมอง และทำให้เสียชีวิตได้มาก (2) ชนิดไวแวกซ์ (vivax) (3) ชนิดมาลาเรียอี (Malariae) และ (4) ชนิดโอวาเล่ (ovale) ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดแรก วัคซีนชนิดแรกนี้ใช้ป้องกันตัวที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงที่สุด คือ ฟัลซิปารุม เท่านั้น

วัคซีนนี้ ชื่อรหัสคือ อาร์ทีเอส, เอส (RTS, S) สร้างจากโปรตีน (protein construct) โดยบริษัทแกล็ก โซสมิธไคลน์เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมสร้างขึ้นจากยีนส่วนหนึ่งของเชื้อมาลาเรีย นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อรหัสนี้ เพราะสร้างจากโปรตีนของเชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียมฟัลซิปารุมที่เจริญเติบโตในวงจรชีวิตก่อนเข้าสู่เม็ดเลือดแดง (pre-erythrocytic circumsporozoite protein : CSP)

โดยสร้างจากยีน “รีพีท” (repeat : R) และอีพิโทป (epitope : “T”) ของเซลล์ที (T-cell) จึงมีชื่อรหัสว่า อาร์ที (RT) ตัวเอส (S) มาจากการนำแอนติเจนจากผิว (surface antigen : “S”) ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus : HBsAg) โปรตีนที่สร้างขึ้นนี้ นำไปผสมกับส่วนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อเพิ่มความบริสุทธิ จึงมีรหัส เอส (S) อีกตัวข้างท้าย ส่วนผสมของโปรตีนทั้งสองส่วนนี้ประกอบเข้าไปในอนุภาคคล้ายไวรัส (virus-like particle) ที่คล้ายคลึงกับเปลือกนอกของไวรัสตับอักเสบ บี

เพื่อให้วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้เติมสารกระตุ้นซึ่งเป็นสารเคมี (chemical adjuvant) ชื่อ เอเอส 01 อี (AS01E) ทำให้วัคซีนสามารถกระตุ้นได้ทั้งภูมิคุ้มกันในสารน้ำและในเซลล์ (humoral and cellular immunity)

จะเห็นว่า เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาก ทั้งนี้มีวัคซีนมาลาเรียที่มีการวิจัยและพัฒนามาแล้วมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมี “ความหวัง” ว่าจะสามารถป้องกันโรคได้ด้วย แนวคิด ทฤษฎี และหลักฐานต่างๆ กัน แต่สุดท้าย แทบทั้งหมดล้วน “ตกม้าตาย” ระหว่างทางทั้งสิ้น วัคซีนชนิดนี้ ก็ต้องผ่านการ “ลองผิด ลองถูก” และปรับปรุง ทดสอบ ตามขั้นตอน และขบวนการต่างๆ มามากมาย

กว่าจะ “พิสูจน์” ว่าปลอดภัย และได้ผลในมนุษย์ในโครงการวิจัย “ทางคลินิก” ซึ่งเป็นขั้นตอน “สุดท้าย” ของวัคซีนโดยมาก แต่สำหรับวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งต้องมีการนำไปใช้กับคนยากจนในที่ห่างไกล ทุรกันดาร จึงต้องใช้เวลาทดลองในพื้นที่จริงอีก 5 ปี จนมาถึงบทสรุปสุดท้าย จึงต้องใช้เวลาในการศึกษา วิจัย พัฒนา ทดสอบ และทดลอง ยาวนานกว่า 30 ปี

เป็นอีกตัวอย่างของความงดงามของมนุษยชาติ ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ร่วมมือกันทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ที่ยากจนในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกล

เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานที่ทำให้ “จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือดีที่ บิล เกตส์ ซื้อแจกนักศึกษาจบใหม่ทุกคนในสหรัฐ เพื่อสร้าง “สัมมาทิฐิ” ให้แก่ บัณฑิตใหม่ให้รับ “ข้อมูลข่าวสาร” ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ คานกับข่าวเท็จ ข่าวลวง และข้อมูลที่ถูกบิดเบือนโดยสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ ที่แม้จะจบการศึกษาขั้นเป็น “บันฑิต” จากมหาวิทยาลัย ก็กลายเป็น “เหยื่อ” ดังในยุคหนึ่งที่เยาวชนพากัน “สิ้นหวัง” จากสังคมและค่านิยมเก่าๆ ตั้งแต่ยุค “บีทนิก” และ “ฮิปปี้ส์” ในยุค “ซิกตี้ส” และ “เซเวนตี้ส์” และสะท้อนออกมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง เดอะแกรดดูเอต (The Graduate) ที่เพลง “เสียงแห่งความเงียบ” (Sound of Silence) และ “เทศกาลสการ์บอโรห์” (Scarborough Fair) ในหนังเรื่องนี้ โด่งดังข้ามทศวรรษ

หนังสือ “จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน” แปลจากภาษาอังกฤษคือ Factfulness นำเสนอข้อมูล “ความเจริญ” ของโลก เช่น (1) แม้ในประเทศที่มีรายได้น้อย เด็กหญิงที่เรียนจบประถมราว 60% แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลก แม้ในประเทศเจริญแล้ว ตอบผิดว่า แค่ 20% หรือ 40% (2) ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าอยู่ในประเทศยากจน (3) 20 ปีที่แล้วมา สัดส่วนประชากรโลกที่อยู่อย่างยากจน ข้นแค้น ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ตอบผิดว่ายังคงใกล้เคียงของเดิมหรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

(4) อายุขัยเฉลี่ยของคนในโลกอยู่ที่ 70 ปี แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าอยู่ที่ 60 หรือ 50 ปี (5) จำนวนคนเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ลดลงเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ตอบว่าใกล้เคียงของเดิม หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว (6) มีเด็กอายุ 1 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานราวร้อยละ 80 แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีแค่ 20 และ 50% เป็นต้น

สำหรับโควิด-19 นับถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ 244,961,913 คน เสียชีวิต 4,971,322 คน จากประชากรโลกมากกว่า 7 พันล้านคน ซึ่งคนจำนวนไม่น้อย คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวแย่กว่าครั้งที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อราวร้อยปีมาแล้ว ความจริงไข้หวัดใหญ่สเปนทำให้ประชากรโลกเวลานั้น ติดเชื้อและป่วยราว 500 ล้าน และเสียชีวิตราว 50 ล้าน ขณะนี้ประชากรโลกในเวลานั้นมีเพียง 1,840 ล้านคน

**************