posttoday

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

25 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                      

*******************

คนที่ศึกษาความคิดทางการเมืองของมาร์กซและเองเกลส์ย่อมคุ้นเคยดีกับคำว่า proletariat ที่ถูกแปลเป็นไทยว่า กรรมาชีพ อันเป็นคำที่ใช้คู่กันกับคำว่า bourgeois ที่แปลว่า กระฎุมพี   มาร์กซและเองเกลส์มักจะจับคู่คำสองคำนี้ และนักเคลื่อนไหวในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะคุ้นเคยดีกับคำว่า ชนชั้นนายทุนกระฎุมพี และ ชนชั้นกรรมาชีพ

แต่ยังมีอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นนั่นคือคำว่า lumpenproletariat

ซึ่งในบทความเรื่อง “มาร์กซ์และชนชั้นทางสังคม” ในเวปไซต์ไทยที่ชื่อ Blogazine (https://blogazine.pub/blogs/althusser1993/post/6120 )ได้อธิบาย lumpenproletariat ไว้ว่า

“ง.ชนชั้นล่าง (Lumpenproletariat) : มาร์กซ์ได้พูดถึงคนกลุ่มนี้ในฐานะ “ชนชั้นอันตราย” หรือ ส่วนที่ตกต่ำสุดของสังคม หรือก็คือกลุ่มชนชั้นล่าง ซึ่งมาร์กซ์ไม่ได้สนใจหรือมองว่าชนชั้นนี้จะเป็นกลุ่มพลังที่สลักสำคัญในการสร้างสังคมนิยมที่จะเกิดขึ้น ขณะที่นักเขียนและนักวิเคราะห์คนอื่นๆมองว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะเป็นนักปฏิวัติหรือเข้าร่วมการปฏิวัติด้วย เหตุผลหลักประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ก็เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นหยิบใช้คน ทำลายคน และทอดทิ้งผู้คนอย่างไร ระบบทุนนิยมไม่ได้ปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ในฐานะมนุษย์ ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนไร้บ้านนั่นเอง”

จาการสำรวจข้อเขียนของมาร์กซและเองเกลส์ ผู้เขียน (ไชยันต์) พบว่า ในข้อเขียน “the Communist Manifesto” (ตีพิมพ์ 1848)  หรือ “แถลงการณ์คอมมิวนิสต์”  มาร์กซ ได้กล่าวถึง lumpenproletariat ว่าเป็น “ชนชั้นอันตราย กากเดนสังคม มวลชนที่เน่าเสียและไม่ทำอะไร  ที่ถูกเทแม้จากชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคมเก่า คนกลุ่มนี้ดำรงอยู่อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งอาจจะถูกกวาดรวมเข้าไปในการเคลื่อนไหวโดยการปฏิวัติกรรมาชีพได้ในที่สุด  แต่อย่างไรก็ตาม จากสภาพเงื่อนไขชีวิตของ lumpenproletariat  ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือภายใต้อามิสสินจ้างในแผนร้ายของพวกปฏิกิริยามากกว่า”  (The ‘dangerous class’, the social scum, that passively rotting mass thrown off by the lowest layers of old society, may, here and there, be swept into the movement by a proletarian revolution; its conditions of life, however, prepare it far more for the part of a bribed tool of reactionary intrigue.” 

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

ส่วนในข้อเขียน “the Class Struggles in France” (ตีพิมพ์ 1895) มาร์กซได้กล่าวเปรียบเทียบพวกอภิชนทางการเงิน (the finance aristocracy) กับ lumpenproletariat ด้วย

finance aristocracy ในความเข้าใจของมาร์กซ คือกลุ่มคนร่ำรวยที่ไม่ได้ทำการผลิตด้วยตัวเอง  แต่ร่ำรวยจากการ “ล้วงกระเป๋า” คนรวยอื่นๆที่ทำการผลิตค้าขาย ฯ  การสร้างความร่ำรวยของพวก finance aristocracy คือการหาช่องโหว่ในการละเมิดกฎหมายของพวกกระฎุมพีนายทุนเสียเอง  คนพวกนี้จะมีความอยากที่ไร้สาระและไม่เป็นแก่นสาร และไม่เคยพอ คนพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในส่วนบนของสังคมกระฎุมพีนายทุน จากการแสวงหาความมั่งคั่งจากการเสี่ยงหรือ “การพนัน” ทางการเงิน ทำให้คนพวกนี้จะมุ่งใช้เงินที่หามาบำรุงบำเรอความสุขของตัวเองอย่างเต็มที่ มาร์กซกล่าวว่า ความสุขของคนเหล่านี้คือ ส่วนผสมของ เงิน ความสกปรกและเลือด (ซึ่งน่าจะหมายถึงการเอาเปรียบหยาดเหงื่อแรงงานและชีวิตเลือดเนื้อของผู้คนที่ทำมาหากิน น่าจะเข้าข้ายพวกแมงเม่าที่เล่นหุ้นหรือพวกที่โดนโกงแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ)

จากวิธีการได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองโดยไม่ลงแรงและวิถีในการหาความสุขของอภิชนการเงินนี้ทำให้มาร์กซเห็นว่า finance aristocracy ไม่ต่างจาก  lumpenproletariat เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในชั้นล่างสุดของสังคม แต่กลับมาอยู่ในจุดสูงสุดของสังคมกระฎุมพี  (ขณะเดียวกัน ในสังคมกระฎุมพีนายทุน ก็ยังมี lumpenproletariat ในระดับล่างสุดด้วย/ผู้เขียน)

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

เมื่อนำสาระจากข้อเขียนทั้งสองมาบูรณาการเข้าด้วยกันจะพบว่า lumpenproletariat คือกลุ่มคนที่มีสถานะที่ต่ำกว่ากรรมกรในโรงงานที่ยังชีพด้วยค่าจ้างแรงงานเสียอีก นั่นคือ ที่แน่ๆคนเหล่านี้ขาดความรู้การศึกษา และไม่มีครอบครัวที่จะช่วยเหลือจุนเจือ อาจจะอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีทักษะใดๆ เร่ร่อน หรืออาศัยและหากินไปตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง อาจจะเข้าข่ายรับจ้างในงานที่ใช้แรงงานแบบไม่มีทักษะ และเป็นงานแบบครั้งคราว  “ทำงานทุกอย่าง” หรือ “ทำทุกอย่าง” ที่ทำได้ภายใต้ขีดจำกัด ที่จะยังชีพและสนองความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมหรือไม่ก็ตาม

และเหตุผลที่มาร์กซเปรียบอภิชนทางการเงินกับ lumpenproletariat ก็เพราะ โดยส่วนใหญ่ คนทั้งสองกลุ่มนี้จะไม่ทำงานลงแรงอะไรของตัวเองเพื่อให้มาซึ่งค่าจ้างหรือเงิน แต่จะหาทางเอาเงินจากคนอื่นด้วยวิธีการที่ตนไม่ต้องลงแรงอะไร นั่นคือ อภิชนทางการเงินกับ lumpenproletariat ต่างเป็นปรสิตหรือกาฝากสังคมทั้งคู่ เพียงแต่ในสังคมกระฎุมพี อภิชนทางการเงินหรือ lumpenproletariat  ปราฎตัวในอีกคราบหนึ่งอยู่ในส่วนบนของสังคม แต่ lumpenproletariat อยู่ในช่วงชั้นที่ต่ำสุดของสังคม  ที่ต่ำกว่ากรรมกร

ในบริบทขณะที่มาร์กซและเองเกลส์เขียนเกี่ยวกับ lumpenproletariat คือบริบททางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1840  lumpenproletariat ในสายตาของมาร์กซและเองเกลส์ขณะนั้น คือ ผู้คนในช่วงชั้นล่างของสังคมที่ เป็นคนกลุ่มที่ไม่มีความคิด และมักจะถูกใช้หรือหาประโยชน์ทางการเมืองโดยพลังของพวกปฏิกิริยาและพวกต่อต้านการปฏิวัติ โดยเฉพาะการปฏิวัติ ค.ศ.1848 ในฝรั่งเศสที่เป็นการปฏิวัติโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศสอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นคือ พวกที่เป็นปฏิกิริยาและต่อต้านการปฏิวัติดังกล่าวจะใช้ lumpenproletariat เป็นเครื่องมือในการต่อต้านการปฏิวัติผ่านการจ้างและให้สินบนหรือสิ่งตอบแทนต่างๆ ในขณะที่กรรมาชีพ หรือ proletariat จะสนับสนุนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคนจากระบอบเก่าที่ปกครองโดยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่สาธารณรัฐสังคมกระฎุมพี

ต่อมาในการปฏิวัติรัสเซียในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นักคิดนักปฏิวัติรัสเซียอย่างเลนินและทรอตสกี้ก็ยัคงเห็นด้วยกับมุมมองของมาร์กซที่มีต่อ lumpenproletariat นั่นคือ ผู้คนกลุ่มนี้ไม่มีศักยภาพในการปฏิวัติ แต่ในการปฏิวัติของจีน เหมาเจ๋อตงเห็นว่า ถ้ามีผู้นำที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ lumpenproletariat  เป็นประโยชน์ต่อขบวนการปฏิวัติได้

หลายคนคงอยากจะหาคำแปลไทย  เรารู้ว่า proletariat หมายถึง กรรมกร  ส่วนคำว่า lumpen แปลว่า เขรอะ รุ่งริ่ง เก่า ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นระเบียบ  ดังนั้น ถ้าแปลตรงตัว lumpenproletariat ก็น่าจะหมายถึง กลุ่มคนที่ไม่เป็นกรรมกรเต็มตัว เป็นเศษเดนของคนที่จัดประเภททางสังคมชนชั้นไม่ได้ และอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่  แต่ถ้าพัฒนาขึ้นมา ก็จะขึ้นเป็นกรรมาชีพได้

สำหรับการกำเนิดของคำว่า lumpenproletariat ผมคิดว่า มาร์กซและเองเกลส์ยังหาศัพท์เทคนิคมาใช้เฉพาะสำหรับผู้คนกลุ่มนี้ไม่ได้ จึงยึดคำว่า proletariat ไว้ แต่ใส่ lumpen เป็นคำขยายความกำกับไว้ด้วย  นักคิดทางการเมืองหลายคนก็มีปัญหาเช่นนี้ คือยังไม่สามารถหาศัพท์เฉพาะเรียกกลุ่มคนหรือระบอบการเมืองการปกครองที่มีลักษณะพิเศษหรือลักษณะที่จัดประเภทได้ยาก

นักวิชาการสมัยใหม่บางท่านเรียก lumpenproletariat ว่า underclass ก็มี

lumpenproletariat เดินทางมาจากสมัย “มาร์กซ-เองเกลส์และเหมา”  มาถึง “Black Panther” และ “Young Lords” ในปลายศตวรรษที่ยี่สิบจนถึงปัจจบัน กลุ่มหัวรุนแรงอย่างกลุ่ม Black Panther และ Young Lords ในสังคมอเมริกันพยายามที่จะหาทางปลุกระดม lumpenproletariat ให้เข้ามาเป็นแนวร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

กลุ่ม Black Panther เป็นองค์กรของคนผิวดำ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักศึกษาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1966 และเคลื่อนไหวแข็งขันจนกระทั่ง ค.ศ. 1982  โดยกลุ่มมีเป้าหมายให้สมาชิกในกลุ่มทำหน้าที่พลเมืองที่พกพาอาวุธอย่างเปิดเผยและจับตาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และการใช้กำลังรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ กลุ่มยังทำกิจกรรมทางสังคมโดยจัดตั้งโครงการอาหารเช้าสำหรับเด็กเพื่อชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมในเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมทั้งยังมีโครงการคลีนิกชุมชนที่ให้ความรู้ทางสุขภาวะและการดูแลรักษาโรคต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มก็สนับสนุนการต่อสู้ทางชนชั้นตามแนวของมาร์กซิสม์ โดยให้กลุ่มทำหน้าที่เป็นพรรคของแนวร่วมกรรมาชีพ

ที่ผ่านมา สมาชิกของกลุ่มได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธต่อสู้อย่างรุนแรงกับตำรวจอยู่หลายเหตุการณ์ และมีกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

ส่วนกลุ่ม Young Lords เริ่มต้นจากการเป็นแก๊งข้างถนนที่มีฐานอยู่ที่ชิคาโกในช่วง ค.ศ.1960  และต่อมาได้กลายเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนและพลเมือง  มีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อส่งเสริมพลังของความเป็นเพื่อนบ้านในท้องถิ่นและส่งเสริมพลังความสามารถในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีเชื้อสายปอโตริโก ลาติโนและรวมทั้งผู้คนที่มาจากประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นหรือโลกที่สาม  วิธีการในการสร้างสมาชิกของกลุ่ม Young Lords คือ การให้การศึกษาแก่มวลชน การส่งสมาชิกของกลุ่มไปเข้าหาคนเป็นรายตัว และรวมทั้งการเผชิญหน้าโดยตรง

และทั้งกลุ่ม Black Panther และกลุ่ม Young Lords พยายามที่จะดึง lumpenproletariat เข้ามาเป็นแนวร่วมในการต่อสู้ขับเคลื่อนทางการเมืองของพวกตน

ส่วนกลุ่มทะลุแก๊สในบ้านเรานั้น  จากการลงพื้นที่ศึกษาและสัมภาษณ์เยาวชนที่ร่วมชุมนุมแยกดินแดง ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีลักษณะต่างจากการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา เช่น กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่คนที่มาร่วมในจุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นสายช่าง สายอาชีวะ กับเด็กที่มาจากบ้าน หรือชุมชนทั้งใกล้และไกล เช่น สมุทรปราการ รามคำแหง ครอบครัวมีความเปราะบางได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากการบริหารงานของรัฐบาลโดยตรง และจากการสอบถามถึงแนวทางการต่อสู้ ผู้ร่วมชุมนุมยอมรับว่า พวกตนไม่ถนัดตามแนวทางการต่อสู้แบบกลุ่มนักศึกษา เป็นคนปราศรัยไม่เก่ง และเคยเข้าร่วมมาแล้วทั้งสิ้น แต่มองว่าการต่อสู้เช่นนั้นยากที่จะชนะ ต้องสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน นอกจากนี้ เมื่อดูที่ชุมชนโดยรอบมีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเดิมเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จึงมีแนวโน้มเข้าร่วมการชุมนุมของฝั่งตรงข้ามรัฐบาล  อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชามองว่าการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน โดยเฉพาะความรุนแรงที่รัฐใช้จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม จะทำให้เรื่องนี้ไม่มีทางจบ รังแต่จะขยายความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการสร้างความโกรธแค้น สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก และก็ไม่ได้ผล ดังจะเห็นว่าแม้มีการจับกุมจำนวนมาก แต่ผู้ชุมนุมไม่ลดลง ทั้งหมดสะท้อนความล้มเหลวของแนวทางปราบหนัก ดังนั้นข้อเสนอหนึ่งคือ รัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการปราบปราม ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุเช่นนี้ ส่วนข้อเสนอที่ว่า ให้รัฐบาลไปพูดคุยกับเยาวชน ยังนึกไม่ออกว่าจะคุยกับใคร เพราะการชุมนุมเป็นไปแบบต่างคนต่างมา ไม่มีแกนนำจริงๆ

ส่วน ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า มีอดีตเด็กจากบ้านกาญจนาที่คืนเรือนไปแล้วหลายปีมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนหนึ่ง มีหลายกลุ่ม ต่างคนต่างมา อาจจะมีบ้างที่ชวนกัมา แต่สิ่งที่พบคือ

1.เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งกับตัวเอง และครอบครัวมีคนเจ็บป่วย แต่การเข้าถึงสวัสดิการรักษาเกือบศูนย์ ยุ่งยาก ซับซ้อน กระทบกับความรู้สึก ทำให้รู้สึกโกรธ

2. หนี้สินครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้เดิม หนี้ใหม่ งานก็ไม่มีให้ทำ เป็นต้น

ทิชา ณ นคร ยังกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวโดยพื้นฐานเดิมของผู้เข้าร่วมชุมนุมจะถูกเท ถูกทิ้ง อยู่แล้ว แล้วสถานการณ์โควิด ตอกย้ำการไม่มีตัวตน ไม่ถูกยอมรับ ไม่มีกลไกรองรับมากยิ่งขึ้น และด้วยประสบการณ์คนจำนวนมากอดีตเป็นเด็กช่าง เด็กที่หลุดจากการศึกษา ที่รู้สึกว่าอำนาจนิยมเป็นศัตรูร่วมผลักดันให้พวกเขาออกมาต่อสู้ ซึ่งไม่ได้สนใจว่าคนถืออำนาจจะชื่อ ก.หรือ ข.แต่การพาตัวเองมาที่แห่งนี้เหมือนเป็นพื้นที่ปลดปล่อยความโกรธ ความเกลียดชัง จะไปตำหนิความเชื่อมโยงว่าเขาไร้เหตุผลไม่ได้ ใช่ว่าเขาไม่ใช่นักศึกษา ไม่ใช่นักเรียนเลว เขาไม่ใช่เด็กมีแสง แต่มีของ เขาขี่จักรยานยนต์ขั้นเทพ มีระเบิดปิงปองก็เอามา ที่เขาทำก็เหมือนกับที่ คฝ.ทำ ที่วิจารณ์ว่าเขาใช้ความรุนแรง เพียงแต่ใช้อาวุธคนละอย่าง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการที่รัฐไม่ได้มองว่าเด็กแบกปัญหาอะไรมาม็อบ เลยคิดแค่การปราบให้อยู่ ส่วนจะเจ็บ ตาย ก็มองว่ามีเงินเยียวยา ตรงนี้น่ากลัว เสี่ยงใช้อำนาจเกินความจำเป็นกับเด็ก

ทิชา ณ นคร กล่าวสรุปว่า หลายเรื่องอย่ามาถามหาเหตุผล แต่หากทบทวนสิ่งที่เขาแสดงออก จะบอกเราได้ดีว่าอำนาจนิยมเป็นสารตั้งต้นของระเบิดที่ดีมาก เขาบอกว่าเวลาที่ไปที่นั่นไม่ได้เผาบ้านชาวบ้าน แต่เป็นการทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขากระทำต่อรัฐและรัฐกระทำต่อเขาเป็นคนละอย่าง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างความชอบธรรมคนละแบบ แต่เป็นราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายร่วมกัน

ทิชา กล่าวว่า เด็กไม่ใช่นักปฏิวัติ และไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เลยเปิดประเด็นด้วยความทุกข์ ความสูญเสียส่วนตัวที่พาเขามาที่นั่น แต่เมื่อมาถึงแล้ว รัฐใช้ความรุนแรงกับเขา ทำให้ความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทางแก้คือต้องมีการพูดคุยกัน และทำความจริงให้กระจ่าง สื่อสารให้รัฐเข้าใจ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน ทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคประชาชนต้องรีบเข้ามาทำหน้าที่ของตน

บทศึกษาเบื้องต้น:  Lumpenproletariat กับ ม็อบทะลุแก๊ส

ส่วนตัวผู้เขียนเอง ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ระหว่าง ม็อบทะลุแก๊ส กับ lumpenproletariat  แต่ผู้เขียนเริ่มเห็นประโยชน์ในความเชื่อมโยงระหว่าง lumpenproletariat ของมาร์กซ-เองกเกลส์ และของเหมาเจ๋อตง รวมทั้งบริบททางเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไป (และ lumpenproletariat ที่เปลี่ยนแปลงพร้อมๆกับบริบทนั้นๆ)  กับการกำเนิดกลุ่ม Black Panther และ Young Lords ในอเมริกาและกลุ่มทะลุแก๊สในการเมืองในกรุงเทพและปริมณฑล

เพียงแต่มาร์กซ-เองเกลส์-เหมา ไม่ได้กล่าวถึงช่วงวัยของ lumpenproletariat

และผู้เขียนก็ยังติดใจกับคำกล่าวของมาร์กซ-เองเกลส์ที่ว่า lumpenproletariat เป็นกลุ่มที่ไม่มีความคิด และจากเงื่อนไขสภาพชีวิตของพวกเขา ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะรับจ้างเป็นเครื่องมือให้กลุ่มปฏิกิริยาและกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ  แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว คนเหล่านี้จะถูกกวาดเข้าไปสู่ขบวนการปฏิวัติกรรมาชีพอยู่ดี   และที่เหมาฯได้กล่าวว่า หากผู้นำรู้จักใช้ lumpenproletariat ก็สามารถที่จะเป็นประโยชน์ทางการเมืองได้

ในอนาคต กลุ่มทะลุแก๊สจะถูกขับเคลื่อน (ด้วยวิธีการต่างๆ !!)ให้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐที่อยู่ในมือใครก็ตามอย่างที่ ทิชา ณ นคร ว่าไว้หรือไม่ ?

และในม็อบที่ใช้กำลังความรุนแรงที่ผ่านมาในอดีต ที่เป็นด่านหน้าในการลุยใช้ความรุนแรงคือ ผู้คนที่เข้าข่าย lumpenproletariat หรือไม่ ?

และกรณีสังหารโหดที่สนามหลวงในเหตุการณ์  6 ตุลาฯ 2519 คนเหล่านั้นเป็น lumpenproletariat ที่ถูกใช้โดยกลุ่มปฏิกิริยาที่ต่อต้านการปฏิวัติสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยมีการจ้างวานผสมกับกระแสความกลัวที่มีต่อคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ?

ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป

(สำหรับข้อคิดเห็นของ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ ทิชา ณ นคร มาจาก “เปิดปมใต้พรม 'ม็อบแยกดินแดง' พบเป็นเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงสิทธิลำบาก ซ้ำโควิด” https://prachatai.com/journal/2021/09/95052   ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ ทีนี้ด้วย)