posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (3)

23 ตุลาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************

ทำไมต้องอยู่บ้านไทย? บ้านไทยเหมาะกับชีวิตสมัยใหม่หรือไม่?

2คำถามใหญ่ๆ ข้างต้น เป็นคำถามที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องคอยตอบคำถามทั้งสองนั้นอยู่ตลอดมา ซึ่งท่านก็มีคำตอบที่น่าสนใจ แต่ว่าอาจจะยากสำหรับคนในสมัยนี้ที่จะทำแบบนั้น

ตอนที่สร้างเรือนไทยในซอยสวนพลู ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คิดในตอนนั้นว่า คงเป็นได้แค่ “บ้านสวน” ที่สร้างไว้สวยๆ งามๆ เพื่อการพักผ่อนเป็นหลัก แต่ระหว่างที่มาดูการก่อสร้างอยู่เป็นระยะนั้น ท่านก็บอกว่ามันเหมือนเกิด “แรงบันดาลใจจากบรรพบุรุษ” คือเริ่มมีความรู้สึกถึง “ความเป็นไทย” ที่ค่อยๆ หลั่งไหลเข้ามา แม้ว่าตั้งแต่เด็กท่านจะอยู่แบบสมัยใหม่ คือเติบโตมาในบ้านแบบฝรั่ง ที่วังถนนพระอาทิตย์ พอเข้าสู่วัยรุ่นก็ไปเรียนที่อังกฤษจนจบมหาวิทยาลัย กลับมาเมืองไทยทุกอย่างก็เป็นฝรั่งไปหมดแล้ว แต่เหตุไฉนจึงมีความรู้สึกอยากกลับไปอยู่ในบ้านเรือนไทยแบบที่บรรพบุรุษของท่านเคยอยู่มา

ในปี 2534 เป็นปีที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อายุ 80 ปี บรรดาลูกศิษย์ลูกหาได้ตั้งมูลนิธิขึ้นในต้นปีนั้น คือ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 (ซึ่งต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์) พร้อมกับจัดงานเฉลิมฉลองที่ดุสิตธานี ที่จำได้แม่นเพราะในงานนั่นได้เชิญ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดังแห่งยุคมาร่วมร้องเพลงและโชว์ในงานด้วย

และได้มีการจัดทำหนังสือที่ระลึกเป็นเล่มพิเศษชื่อ “คึกฤทธิ์ 80” ที่มีผู้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มากมาย และผมก็เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเขียนอยู่ด้วย โดยผมตั้งชื่อเรื่องของผมว่า “ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู” (ที่เอามาเป็นชื่อบทความชุดนี้แหละ) มีความยาวสัก 10 หน้ากระดาษ เอ 4 โดยเริ่มเรื่องว่า

ใครจะว่าใต้ถุนบ้านทรงไทยเก่าแก่หลังนี้ จะมีเรื่องหลากหลายเกิดขึ้น และสร้างตำนานกล่าวขานที่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองไทยมากมาย อะไรคือสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ และส่งอิทธิพลให้เกิดเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ผีบ้านผีเรือนที่อยู่คู่มากับบ้านหลังนี้ หรือเจ้าที่เจ้าทางก็อาจเป็นไปได้ หรือว่าเพราะตัวเจ้าของบ้านหลังนี้เท่านั้น” ส่วนในรายละเอียดต่อมาก็จะเป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของบ้านหลังนี้ พร้อมกับความเป็นไปของผู้คนนานารูปแบบที่เข้าออกในบ้านหลังนี้ ที่ผมสรุปในตอนท้ายว่า “นาฏะของชีวิตหลากหลายมีให้เห็นได้ที่นี่ หลากรูปแบบแห่งอารมณ์และความเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้คนจำนวนหนึ่งมีใต้ถุนบ้านนี้เป็นที่เก็บบันทึก ประวัติศาสตร์ของหลายๆ เหตุการณ์มีที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ หลายคนมีอนาคตเกิดขึ้นที่นี่ และหลายคนมีที่นี่เป็นที่ดับสูญ”

หลังวันเกิดในปีนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เขียนบทความลงคอลัมน์ซอยสวนพลูในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ท่านเล่าถึงความเป็นมาของบ้านทรงไทยของท่านอย่างละเอียด ซึ่งท่านบอกว่าเป็นเพราะว่า ที่ผมเขียนไว้ในหนังสือคึกฤทธิ์ 80 นั้นยังไม่ละเอียดพอ โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า ทำไมท่านจึงสร้างบ้านทรงไทยหลังนี้ขึ้น ซึ่งพอมาถึงตอนนี้ท่านจึงได้คำตอบที่มั่นใจ นั่นก็คือ ท่านต้องการ “อยู่อย่างไทย” อยากรักษาจิตวิญญาณของความเป็นไทย ดังที่บรรพบุรุษเคยอยู่มาเป็นร้อย ๆ ปีนั้น

ท่านบอกว่า “บ้านไทย” สะท้อนความเป็นไทยหลายอย่าง อย่างแรก แน่นอนว่าเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ อย่างที่สถาปนิกทั้งหลายเรียนรู้กัน เมืองไทยเป็นเมืองร้อน มีน้ำท่วมขังตามฤดูกาล ทั้งยังคมนาคมขนส่งเดินทางกันโดยทางน้ำเป็นหลัก บ้านไทยจึงมักปลูกอยู่ริมน้ำ ตัวเรือนสูงโปร่ง มีใต้ถุนโล่ง ข้างบนมีนอกชานไว้ทำกิจกรรมเวลาที่ข้างล่างมีน้ำขัง รวมถึงปลูกต้นไม้ดอกไม้ไว้บริโภคและชื่นชม

ต่อมาเป็นเรื่องของความผูกพัน คนไทยชอบอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ การปลูกเรือนไทยมักจะปลูกเป็นเรือนหมู่ เพื่อให้เชื่อมโยงคนในครอบครัวไว้ในบริเวณเดียวกัน สะท้อนซึ่งวัฒนธรรมของการปกป้องคุ้มครองและเมตตาอาทร และสุดท้ายคือเรื่องของสุนทรียะหรือความงาม ที่อยู่ในสายเลือดของคนไทย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า “มีความงามอยู่ในหัวใจ” โดยธรรมชาติ ดังที่สะท้อนออกมานศิลปะหลายๆ แขนง รวมถึงการก่อสร้างบ้าน ดังที่เราจะเห็นถึงรูปทรงอันสวยงาม และยิ่งเมื่อแต่งเติมด้วยฝีมือช่างในส่วนต่างๆ ตั้งแต่หลังคาจรดลงมาจนถึงโคนเสา เมื่อได้ช่างฝีมือดีๆ ก็ยิ่งจะมีแต่ความสวยงามมากขึ้นๆ ซึ่งสะท้อนความสวยงามในหัวใจคนไทยนั่นเอง

ท่านปรับปรุงบ้านไทยให้เข้ากับชีวิตสมัยใหม่ เช่น ห้องน้ำที่ต่อเติมไว้ในตัวบ้านและห้องนอน ซึ่งถ้าเป็นบ้านไทยแท้ๆ จะถูกแยกออกไปจากตัวบ้าน หรือเป็นห้องเล็กๆ อีกหลังต่างหาก ใส่แอร์คอนดิชั่นในห้องนอนและห้องนั่ง แต่ชีวิตส่วนใหญ่ เช่น การกินข้าว ทำงาน และรับแขก ก็ยังใช้บริเวณใต้ถุนและบนนอกชาน รวมถึงที่ทำส่วนใช้สอยอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างที่บ้านไทยทั่วไปไม่ทำกัน เช่น ดัดแปลงบางห้องเป็นห้องสมุด และสถานที่เพาะชำในตัวบ้าน เป็นต้น แต่ที่สำคัญและจำเป็นที่สุดนั้นก็คือ ครัว ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ใช้บริเวณใต้ถุนเรือนหลังหนึ่ง ขนาด 3 ห้อง เป็นพื้นที่ทำครัวทั้งหมด อย่างที่ฝรั่งให้ความสำคัญกับครัวว่าเป็น “ศูนย์กลางของบ้าน” นั่นเอง

ด้านหลังห้องครัวขนาดใหญ่ ที่ติดกับรั้วบ้านด้านทิศตะวันตก มีโรงเรือนขนาด2 คูณ 4 เมตร ความสูงสัก2 เมตรเศษ หุ้มด้วยพลาสติกใสทั้งหลัง ตรงกลางเป็นแท่นไม้ระแนง เดินได้รอบ บนแท่นมีกระถางดินเผาขนาดปากกว้างสัก 10 นิ้ว อยู่ประมาณ 40 กว่าใบ ตรงมุมโรงเรือนด้านหนึ่งติดเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง เปิดทำงานจนเย็นฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ในปีที่ผมเริ่มทำงานที่บ้านสวนพลู (พ.ศ. 2520 )

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พาผมเข้าไปชม แล้วบอกว่านี่คือ “การเลียนแบบพระเจ้า” คือท่านกำลังทดลองเปลี่ยนอากาศที่บ้านสวนพลูให้เป็นเมืองหนาว ในกระถางเหล่านั้นคือหัวของพืชเมืองหนาว ที่จำได้ก็คือ ไฮยาซินห์ ทิวลิป และแดฟโฟดิล ซึ่งมันจะฝังหัวไว้ในดินตามธรรมชาติอยู่ประมาณ 3-4 เดือนในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไป พอถึงฤดูใบไม้ผลิ คือราว ๆ ปลายเดือนมีนาคม มันก็จะแทงหน่ออกมา แล้วอีกเดือนสองเดือนก็จะทยอยออกดอก และบานต่อ ๆ กันไป จนตลอดฤดูร้อน ที่จะไปสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกรกฎาคม จากนั้นก็เหี่ยวเฉา ฝังหัวลงในดิน เก็บอาหารไว้ในหัวนั้นตลอดฤดูหนาว หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไปแบบนั้น

ตอนที่ผมไปทำงานเป็นช่วงต้นเดือนเมษายน ท่านให้ช่วยเอากระถางออกมาตั้งใน “กรีนเฮาส์” ที่ท่านต่อเป็นห้องกระจกออกมาจากห้องนั่งใต้ถุนเรือนนอนของท่าน แล้วท่านก็เอาบัวใส่น้ำมารดพอหมาดๆ ไปทีละกระถาง อย่างกับมารดาให้นมลูก ผมได้ยินเสียงท่านพูดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ในตอนที่รดน้ำไปทีละกระถางนั้นว่า “Spring is coming” ซึ่งพอท่านเห็นผมทำหน้างง ๆ ก็เลยพูดขึ้นว่า ”ฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้วโว้ย” แล้วก็หัวเราะขึ้นดัง ๆ จากนั้นท่านก็จะมาดูกระถางต้นไม้ของท่านทุกวัน กระทั่งแตกตุ่มดอก ท่านก็นัดญาติมิตรและลูกศิษย์จำนวนหนึ่งมากินเลี้ยง พร้อมกับชื่นชมผลงานของท่านอยู่หลายวัน ท่านทำอย่างนั้นอีกเพียง 2-3 ปีต่อมา เพราะในปี2524 ท่านก็ไปฉลองขึ้นบ้านใหม่ที่ริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่คนทั้งหลายเรียกว่า “บ้านริมปิง” แล้วก็ย้ายสวนเมืองหนาวทั้งหมดขึ้นไปปลูกที่บ้านริมปิงนั้น แต่ก็เน้นไปที่พืชดอกเมืองหนาวที่ปลูกบนแปลงดิน ไม่ใช่ไม้ดอกที่ปลูกในกระถางและฟูมฟักไว้ในห้องแอร์

“เป็นพระเจ้านี่ยากนะ หมดค่าไฟไปกับค่าแอร์เดือนละหลายพัน ใครอยากฉิบหายก็ลองดู” ท่านพูดแล้วก็หัวเราะหึ ๆ ก่อนจะเปิดแคตตาล็อกเพื่อสั่งซื้อเมล็ดดอกไม้มาจากอังกฤษสำหรับปลูกในปีต่อไป

******************************