posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

18 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                     

*******************

สงครามเย็นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  อย่างที่กล่าวไปในตอนที่สองว่า สงครามเย็นนั้นเย็นในความหมายที่มหาอำนาจคู่ขัดแย้งไม่ได้ทำสงครามกันเอง  มหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งในสงครามเย็น คือ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร กับ โซเวียตรัสเซีย-จีนและพันธมิตร แต่มหาอำนาจทั้งสองนี้มีอิทธิพลให้ “ตัวแทน”ของตนทำสงครามกันเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตัวแทน” ที่อยู่ภายในประเทศต่างๆทั่วโลก  ดังนั้น สงครามเย็นจึงเป็นเรื่อง “ร้อน” ของประเทศต่างๆเหล่านั้น  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา  และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตกอยู่ภายใต้ “สงครามตัวแทน” ที่ว่านี้ด้วย

ในลาว หลังจากที่ประกาศเอกราช ตัวละครทางการเมืองสำคัญตัวหนึ่งคือ นายพลภูมี หน่อสวรรค์ เขาได้ไปสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ชื่อ นายจอห์น เฮซีย์ หรือ “แจ๊ค”  (John F. "Jack" Hasey) ในช่วงที่เขาไปศึกษาที่ฝรั่งเศส  หลังจากที่เขากลับลาว กระแสคอมมิวนิสต์กำลังเติบโตทางการเมืองในลาว เพราะในการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมี ส.ส. ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 21 คน  ปรากฏว่า นักการเมืองจากพรรคแนวร่วมรักชาติ (Lao Patriotic Front) ที่เป็นพรรคนิยมคอมมิวนิสต์ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดเป็นจำนวน 9 ที่นั่ง

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

ผลการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกามีความกังวล ต้องหาทางลดอิทธิพลกระแสคอมมิวนิสต์ โดยให้การสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่มีชื่อว่า  CDNI  “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ”  (the Committee for the Defense of National Interest/ CDNI) ขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 โดยมีนายพลภูมี หน่อสวรรค์เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง และมีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลาวและเจ้าหน้าที่ซีไอเอเป็นผู้ให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ

เป้าหมายของ CDNI คือ สกัดนักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์และทำให้นักการเมืองฝ่ายที่นิยมสหรัฐฯได้รับเลือกตั้งเข้าสภามากที่สุด

ก่อนหน้าการเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 พรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดคือ พรรคแนวชาติก้าวหน้า (National Progressive Party) มี ส.ส. 22 คน  รองลงมาคือ พรรคอิสระ (Independent Party) มี 7 คน ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 5 คน  พรรคประชาธิปัตย์ (Democratic Party) 3 คน พรรคเอกภาพชาติลาว (Lao National Union Party)  2 คน

พรรคแนวชาติก้าวหน้าจัดเป็นพรรคที่มีจุดยืนกลางๆ ไม่ซ้ายไม่ขวา โดยมีหัวหน้าพรรค คือ เจ้าสุวรรณภูมา

เจ้าสุวรรณภูมาเกิดปี พ.ศ. 2444 ทรงเป็นโอรสของเจ้ามหาอุปราชบุญคง มหาอุปราชองค์สุดท้ายแห่งหลวงพระบาง  และมีพระอนุชาคือ เจ้าเพชรราช รัตนวงศา และเจ้าสุภานุวงศ์เป็นพระเชษฐาต่างมารดา  เจ้าสุวรรณภูมาได้รับการศึกษาตามหลักสูตรของฝรั่งเศสที่ฮานอย เวียดนาม และไปศึกษาต่อที่ด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมศาสตร์ที่ปารีสและเกรอนอบ (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส เขากลับลาวในปี พ.ศ. 2474  และได้แต่งงานกับลูกครึ่งฝรั่งเศส-ลาว และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอินโดจีนภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

ต่อมา เจ้าสุวรรณภูมาได้เข้าร่วมกับแนวร่วมลาวอิสระต่อสู้ฝรั่งเศสเพื่อเอกราชของลาว และได้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย และทำปฏิบัติการต่อต้านฝรั่งเศสโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐาน โดยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  แต่เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้เกิดรัฐประหารในประเทศไทย ที่ต่อมา ส่งผลให้จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และจากการสนับสนุนของบุคคลทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ทำให้จอมพล ป. ต้องหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และทำการยุบฐานของแนวร่วมลาวอิสระในไทย  ทำให้แนวร่วมลาวอิสระต้องไปปฏิบัติการจากบริเวณชายแดนที่อยู่ในความดูแลของคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งสร้างปัญหาอย่างยิ่งต่อผู้นำแนวร่วมอิสระลาวที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์อย่างเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าเพชรราช                                                                                       

              

     

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

           

จากสถานการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว แม้ว่าจะมีการก่อตั้งแนวร่วมลาวอิสระเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสออกไป แต่แนวร่วมอิสระก็ประกอบไปด้วยปีกที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์และปีกคอมมิวนิสต์  ปีกที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในแนวร่วมลาวอิสระคือ เจ้าลาวอย่างเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าเพชรราชที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์พอใจที่จะมาปฏิบัติการในไทยมากกว่าบริเวณชายแดนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์เวียดนาม  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป้าหมายร่วมกันเฉพาะหน้า ทั้งปีกฝ่ายขวาและซ้ายย่อมต้องร่วมมือกันต่อสู้กับฝรั่งเศส

ส่วนพรรคแนวลาวฮักซาด (Lao Patriotic Front) ที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดจาการเลือกตั้งวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางการเมืองที่มีชื่อว่า “พรรคประชาชนลาว” หรือ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” (Lao People's Revolutionary Party) ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2498 พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมาก่อน  พรรคประชาชนปฏิวัติหรือกลุ่มคอมมิวนิสต์ลาวมีรากฐานย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และถือกำเนิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ต่างจากการเกิดกลุ่ม “เขมรอิสระ” ในกัมพูชาและกลุ่ม “เวียดมินห์” ในเวียดนาม นั่นคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวมีพื้นฐานมากจากกลุ่มลาวอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2488  โดยเป็นขบวนการชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศสและยังไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 นายไกรสร พรหมวิหาร คอมมิวนิสต์ลาวได้ตั้งกองกำลังประชาชนลาวปลดแอก(the Lao People’s Liberation Army) ขึ้นในเวียตนาม ซึ่งอยู่ภายใต้คอมมิวนิสต์เวียตนาม

นายไกรสรเกิดเมื่อ พ.ศ.2463  มีบิดาเป็นชาวเวียตนาม และแม่เป็นชาวลาว เขาได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยอินโดจีนในฮานอย เวียตนาม และในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษา เขามีแนวคิดคอมมิวนิสต์และได้เคลื่อนไหวในฐานะนักปฏิวัติต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน  และยังไม่ทันที่จะเรียนจบ ก็ได้ออกมาร่วมขบวนการต่อสู้กับพวกฝรั่งเศสในฮานอย และต่อมาได้เข้าร่วมกับชบวนการประเทศลาว (กลุ่มลาวอิสระเดิม แต่เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มประเทศลาว)  และจัดตั้งกองกำลังประชาชนลาวปลดแอก (the Lao People’s Liberation Army) ดังที่กล่าวไป                                                                                         

                        

                               

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สาม: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน): ลาว

กองกำลังดังกล่าวนี้ ในฉากหน้ายอมอยู่ภายใต้รัฐบาลลาวอิสระผลัดถิ่น แต่ในความเป็นจริงอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน   ขณะเดียวกัน เจ้าสุภานุวงศ์ พี่ชายต่างมารดาของเจ้าสุวรรณภูมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ของนายไกรสรในการคุมกองกำลังประชาชนลาวปลดแอก    และนำกลุ่ม “ประเทศลาว”  เข้าร่วมกับกลุ่มเวียดมินห์ของเวียตนามในการต่อต้านฝรั่งเศส และการเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนของเจ้าสุภานุวงศ์ทำให้กลุ่มลาวอิสระเกิดการแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายขี้นทันที

การที่เจ้าสุภานุวงศ์เข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวที่อยู่ใต้พรรรคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่นำโดยเวียตมินห์หรือคอมมิวนิสต์เวียตนาม มีสาเหตุไม่ต่างจากนายไกรสรมากนัก  นั่นคือ ในขณะที่นายไกรสรมีบิดาเป็นเวียตนาม และไปศึกษาที่ฮานอย เจ้าสุภาณุวงศ์เองได้ใช้เวลาอยู่ในเวียตนามนานถึงสิบหกปี เขามีโอกาสได้พบโฮจิมิน และได้แต่งงานกับสตรีชาวเวียตนาม ทำให้เขาได้รับอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์กับเวียตนามอย่างแนบแน่น และได้รับการสนับสนุนจากเวียตมินห์ในการก่อตั้งกองกำลังกองโจรลาวขึ้น ( กองกำลังประชาชนลาวปลดแอก)  ต่อมาเขาได้เป็นหัวหน้ากลุ่มประเทศลาว และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยอ้างว่าเป็นการรวมตัวจากกลุ่มต่างๆที่ไม่ฝักใฝ่แนวทางหรืออุดมการณ์ใดเป็นพิเศษ แต่จริงๆแล้วเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ และสองในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มประเทศลาวนี้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งสนับสนุนการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกับการขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากอินโดจีน

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า จุดเปราะบางของลาวคือ การตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เริ่มเกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าจนถึง พ.ศ. 2496 เป็นเวลา 60 ปี ทำให้ลาวขาดสถาบันทางการเมืองการปกครองที่เป็นของตัวเอง   แม้ว่าจะยังมีพระมหากษัตริย์ แต่ก็เพียงแต่ในนาม เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของผู้ว่าการรัฐฝรั่งเศสในลาวที่อยู่ภายใต้ผู้ว่าการอินโดจีนฝรั่งเศสอีกทีหนึ่ง  ในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครองลาว และมีพระมหากษัตริย์แต่ในนาม ได้เกิดการก่อกบฏต่อการปกครองของฝรั่งเศสโดยชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้ของลาวขึ้นในปี พ.ศ. 2444 ในทางตอนใต้ของลาว นำโดย “องค์แก้ว” ที่ประกาศตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ที่จะปลดปล่อยผู้คนจากทุกข์เข็ญการกดขี่ของฝรั่งเศส องค์แก้วสามารถนำการกบฏต่อต้านฝรั่งเศสได้นานถึงเก้าปี จนในที่สุดถูกปราบและองค์แก้วถูกฆ่าตาย  ซึ่งในปี พ.ศ. 2444  ในประเทศอย่างลาวและไทย ยังไม่มีอุดมการณ์อื่นใดในการต่อต้านอำนาจที่ปกครองอยู่นอกเหนือไปจากอุดมการณ์พระศรีอาริย์

ต่อมา การต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสโดยชนชั้นนำลาวที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงเวลาที่ได้เกิดอุดมการณ์และประเทศคอมมิวนิสต์ขึ้นแล้ว อันได้แก่ โซเวียตรัสเซียในปี พ.ศ.  2460   และสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2492  ซึ่งมีอิทธิพลต่อชนชั้นนำลาวที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ

และหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองและต่อด้วยสงครามเย็น ขบวนการการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศที่เป็นอาณานิคมอย่างลาวย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชนชั้นนำในขบวนการจะแตกแยกทางความคิด นั่นคือ เมื่อร่วมกันต่อสู้ได้เอกราชมาแล้ว ในสภาพที่จะเริ่มปกครองตัวเองอีกครั้ง จะปกครองประเทศด้วยระบอบและอุดมการณ์อะไร ? ระหว่างฝ่ายที่ต้องการและไม่ต้องการเป็นคอมมิวนิสต์

ในสภาพการณ์ดังกล่าว สงครามตัวแทนภายใต้สงครามเย็นจึงเริ่มร้อนระอุทันทีหลังจากลาวได้เอกราชและทำการปกครองตนเอง