posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบ): กระบวนการการปรับสมการทางการเมืองหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง

14 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

“การรวมอำนาจกลับมาสู่พระมหากษัตริย์ ได้กระทำในหลายๆทางด้วยกัน”ชัยอนันต์ สมุทวนิช

การพยายามดึงอำนาจนำทางการเมืองให้กลับคืนมาอยู่ที่ฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงประกาศยกเลิกการหมอบกราบในการเข้าเฝ้า ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากชาวต่างชาติและคนรุ่นใหม่ในสยามเป็นอย่างมาก การยกเลิกการหมอบกราบในการเข้าเฝ้าเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระราชดำริบางประการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สอดรับกับแนวคิดสมัยใหม่ของตะวันตกที่เรียกว่า “ยุคแห่งแสงสว่าง” (the Enlightenment)

ในขณะนั้น ด้วยธรรมเนียมการหมอบคลานได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากคณะทูตต่างชาติ และคำวิจารณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการติดต่อคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก เพราะนโยบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติของพระมหากษัตริย์ไทย คือ การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อมิให้ชาวตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตระหนักพระทัยถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมหมอบคลานอันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งชาวตะวันตกถือเป็นเรื่องสำคัญของเหล่ามนุษยชาติที่ทุกชีวิตจะต้องมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน

ซึ่งแตกต่างจากพระมหากษัตริย์พม่าที่ไม่สามารถเข้าใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมดังกล่าวนี้จนเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งบาดหมางทางการทูตกับต่างชาติและลงเอยด้วยสงครามและการเสียเอกราชในที่สุด (ดู “การทำแผนที่สยาม (ตอนที่เจ็ด): พม่ากับปัญหาเรื่องรองเท้า (This land is not the land of compromise. ?!” https://www.posttoday.com/politic/columnist/650997 )

แม้ว่าการประกาศยกเลิกการหมอบคลานจะไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสมการสัมพันธภาพแห่งอำนาจทางการเมืองของฝ่ายสมเด็จพระยาฯโดยตรงแต่อย่างไร แต่การยกเลิกธรรมเนียมที่สืบทอดกันมายาวนานนี้ถือเป็นสัญญาณของศักราชการแห่งเปลี่ยนแปลงและการท้าทายระเบียบแบบแผนโครงสร้างทางวัฒนธรรมอำนาจแบบเก่า โดยเริ่มจากจุดตั้งต้นการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป

การยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานนี้อาจจะไม่ได้สร้างความรู้สึกช็อกต่อเจ้านายขุนนางที่มีหัวสมัยใหม่อยู่ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกสยามเก่า ย่อมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแบบแผนความสัมพันธ์ต่ำสูงของผู้คนในชีวิตประจำวัน ในแง่นี้ถือได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเป็นผู้นำ-ต้นแบบความเป็นสมัยใหม่ของการเปลี่ยนแปลงในหมู่ชนชั้นนำสยาม จากผู้ที่อยู่สูงสุดที่จะได้รับการเคารพยำเกรงจากธรรมเนียมการหมอบคลานกลับเป็นผู้ริเริ่มรื้อทำลายธรรมเนียมดังกล่าวนี้เสียเอง อันทำให้เจ้านายขุนนางอื่นๆไม่สามารถคัดค้านขัดขืนได้

ต่อจากการเป็นผู้นำ “ธรรมเนียมสมัยใหม่” ทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งสมาคมคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “สมาคมสยามหนุ่ม” (the Young Siam) และตั้งหนังสือพิมพ์ “ดรุโณวาท” ขึ้น

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบ): กระบวนการการปรับสมการทางการเมืองหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง

อย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ แม้ว่าในฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะมิได้ประกอบไปด้วยคนรุ่นหนุ่มหัวสมัยใหม่เท่านั้น แต่คนรุ่นหนุ่มในฝ่ายของพระองค์ได้มีการจับกลุ่มเคลื่อนไหวกันจนกระทั่ง พ.ศ. 2416 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษา และหลังจากที่พระองค์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองแล้ว กลุ่มดังกล่าวก็มีความชัดเจนเข้มแข็งพอสมควรจนสามารถจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นในนามของ “สมาคมสยามหนุ่ม” (The Young Siam Society) ที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2417 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้มีพระราชหัตถเลขาไปแสดงความยินดีในการก่อตั้งสมาคม และแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นนายกสมาคม แม้ว่าจะเป็นขุนนางในตระกูลบุนนาค แต่ก็ได้มีการอภิปรายเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ให้เขาเป็นนายกสมาคมไปในตอนก่อนๆแล้ว และมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ (13 พรรษา) เป็นอุปนายก และมีพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดและข้าราชการหัวสมัยใหม่เป็นสมาชิกสมาคม และมีผู้กล่าวว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ (16 พรรษา) เป็นมันสมองสำคัญ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบ): กระบวนการการปรับสมการทางการเมืองหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง

              พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์                                   พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ

พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์มีพระชนมายุน้อยกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ 7 ปี ทรงศึกษาวิชาการทหารในสำนักกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในปี พ.ศ. 2415 และทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษในสำนักของมิสเตอร์ เอฟ.ยี. แปตเตอร์ซัน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมประตูพิมานไชยศรีชั้นนอกภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มเติมจากสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) รวมทั้งศึกษาแบบอย่างราชการพระราชประเพณีในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

สำหรับ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) แม้ว่าจะไม่ได้ทรงศึกษาในต่างประเทศ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า ความรู้ภาษาอังกฤษของพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษอยู่ในขั้นดีมาก ซึ่งต่อมาภายหลัง พระองค์ได้ทรงแปลบทสนทนาของเพลโตเรื่อง “Lysis” ซึ่งถือเป็นคนไทยพระองค์แรกที่แปลบทสนทนาของเพลโต

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบ): กระบวนการการปรับสมการทางการเมืองหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง

สมาคมสยามหนุ่มมีเป้าหมายสำคัญสองประการที่แยกจากกันไม่ออก นั่นคือ การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเพื่อรับมือกับชาติมหาอำนาจตะวันตก และดึงอำนาจจากฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์และปกป้องพระองค์จากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่คาดหวังที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยการสนับสนุนจากเซอร์โทมัส น็อกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษ

ขณะเดียวกัน สมาชิกในสมาคมได้รับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆในการบริหารราชการแผ่นดินและการเมืองที่เป็นการท้าทายระเบียบเดิมและกลุ่มอำนาจเก่าต่างๆด้วยในเวลาเดียวกัน

สมาคมสยามหนุ่มได้เริ่มออกหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท เป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารต่างประเทศตลอดจนความเห็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปต่างๆที่กลุ่มสยามหนุ่มเห็นว่าควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยมีพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ (18 พรรษา) เป็นบรรณาธิการ

การตั้งชื่อว่า “ดรุโณวาท” เพื่อต้องการสื่อความหมายถึง “โอวาทหรือคำสอนของคนหนุ่ม” หรือ “โอวาทของเด็ก สื่อความหมายแฝงว่าเป็นคำสอนของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการให้คนรุ่นเก่าได้รับรู้ไว้บ้างว่าโลกไปถึงไหนๆกันแล้ว”

“ดรุโณวาท” จึงมีบทความที่สนับสนุนชื่นชมสถาบันพระมหากษัตริย์, ความเป็นสมัยใหม่และความเจริญก้าวหน้าตามแบบตะวันตก และมีข้อเขียนทางการเมืองที่ล้อเลียนเสียดสีติเตียนฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯและกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญอยู่มากในรูปของนิทาน เพราะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองท่านนี้ได้โดยตรง โดยเสียดสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่า โลภ ใฝ่สูงเกินศักดิ์และไม่สำนึกในบุญคุณ ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้ามว่า “แม้กลุ่มวังหลวงจะยังเป็นผู้เยาว์อยู่ แต่อย่ามาปรามาสกันเลย นอกจากนี้...ยังย้ำว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้นแก่และเชื่องช้า จนมักถูกเด็กรังแกได้ง่ายๆด้วย”

ต่อจากนั้น การรุกคืบดึงอำนาจทางการเมืองคืนผ่านการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเป็นทางการได้เกิดขึ้นตามมาทันที จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาสองสภาขึ้น อันได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินหรือ เคาน์ซิลออฟสเตท (Council of State) และสภาที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์หรือ ปรีวี เคาน์ซิล (Privy Council) และสมาคมสยามหนุ่มและ “ดรุโณวาท” ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนการตั้งและการปฏิบัติการของสภาทั้งสองและรับมือกับกระแสต่อต้านของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯและกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

คำถามคือ การปฏิบัติการของสภาที่ปรึกษาทั้งสองนี้เป็นการดึงอำนาจจากฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯและวังหน้า พร้อมไปกับการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเพื่อรับมือกันการคุกคามของตะวันตกได้อย่างไร ?

(แหล่องอ้างอิง: David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn; ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, “พระราชดำรัส ร.5 ทรงยกเลิก “หมอบคลาน” ปรับธรรมเนียมครั้งใหญ่ช่วงต้นรัชสมัย” ศิลปะวัฒนธรรม, วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2563. https://www.silpa-mag.com/history/article_10739 ; ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม,

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์: 2551); http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=709986 ;กรมหลวงเทวะวงษวโรปกระการ, แปล, “ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน” ของปเลโต, วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 37 ฉบับที่ 1-2 มกราคม-ธันวาคม 2549; ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, “ดรุโณวาท: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. 1868-1885),” ใน 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 21,

สยาม ภัทรานุประวัติ, ศุภการ สิริไพศาล, อรพินท์ คำสอน และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, (กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 2555); หม่อมหลวง ชัยนิมิต นวรัตน, เรื่องกระซิบเล่าของชาววังหน้า, (กรุงเทพฯ: 2560); “นิทานการเมือง..มุ่งกระแนะกระแหนติเตียนผู้แก่เฒ่าซึ่งอยู่ในตำแหน่งราชการสูงมานมนานแล้ว” ดู ขจร สุขพานิช, “ดรุโณวาท หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย พ.ศ. 2417-2418” ใน ขจร สุขพานิช, ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางชิต ชุ่มไพโรจน์, พ.ศ. 2514)