posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

11 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                    

*******************

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่า สำคัญมากที่สุดคือ ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สงครามเย็น” ที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในของหลายประเทศทั่วโลก

ปัจจัยหรืออิทธิพลจากภายนอกประเทศสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ นั่นคือ ปัจจัยร้อนกับปัจจัยเย็น  ปัจจัยเย็นคือผลกระทบที่เกิดจากความสัมพันธ์การติดด่อระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาอยู่ตลอดเวลา ยกเว้นบางช่วง ที่ประเทศนั้นๆตัดความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด และดำรงอยู่อย่างลำพัง ซึ่งในศัพท์วิชาการเขาเรียกว่า “นโยบายต่างประเทศโดดเดี่ยว” หรือ “ลัทธิโดดเดี่ยว” (Isolationism)  เช่น นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นในสมัยโชกุนโตคุกะวะที่เรียกว่า “Sakoku” (ปิดประเทศ-locked country) และญี่ปุ่นดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้เป็นเวลาถึง 214 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2146-2411  แต่ก่อนที่จะ “ปิดประเทศ”  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงก่อนหน้าจัดอยู่ในประเภท “ปัจจัยร้อน” ที่ประเทศตะวันตกเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา จนทำให้คนญี่ปุ่นหันไปเข้ารีตเป็นจำนวนมากกว่าคนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ในปัจจุบันเสียอีก

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

กล่าวโดยรวมๆ ปัจจัยเย็นคือปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ดำเนินอยู่อย่างปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการค้าและการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือต่างๆที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรุแรงภายในประเทศ

ถ้าปัจจัยเย็นเป็นความสัมพันธ์ปกติ แน่นอนว่า ปัจจัยร้อนคือความสัมพันธ์ไม่ปกติ นั่นคือ นโยบายต่างประเทศของต่างชาติมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงภายในประเทศ อย่างเช่น นโยบายการค้าและการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่มีต่อสยามและประเทศเพื่อนบ้าน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามจนถึงรัชกาลที่ห้า และแผ่วลงไปในสมัยรัชกาลที่หก สืบเนื่องจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ทำให้ประเทศในยุโรปต้องมุ่งสนใจในการทำสงครามกันเอง

ปัจจัยร้อนของการเมืองระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่สามถึงห้าส่งผลต่อกลุ่มการเมืองชนชั้นสยาม ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศ ที่ชัดเจนที่สุดคือ วิกฤตการณ์วังหน้าในปี พ.ศ. 2417                           

โดยปกติ การเมืองสยามในช่วงนั้นก็เป็นการเมืองระหว่างสามกลุ่มอยู่แล้ว นั่นคือ ฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฝ่ายวังหน้าและฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาค ขัดแย้งระหว่างสามกลุ่มนี้เกิดขึ้นชัดเจนเมื่อทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการคลังโดยการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น เพื่อให้มีการเก็บภาษีอากรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อันส่งผลกระทบต่อเครือข่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และรวมทั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญด้วย เกิดความไม่พอใจคุกรุ่นกันอยู่ในทีอยู่แล้ว และยิ่งมีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องอีก การขับเคี่ยวทางการเมืองก็จะยิ่งรุนแรงและแหลมคมมากยิ่งขึ้น และเมื่อเกิดไฟไหม้โรงแก๊สในวังหลวง และฝ่ายวังหน้าจะยกทหารเข้าไปช่วยดับไฟ จากความระแวงที่มีต่อกันและกัน จึงทำให้ฝ่ายวังหลวงไม่ยอมให้ทหารฝ่ายวังหน้าเข้าไป เพราะเข้าใจว่าจะไปก่อการกบฏ เพราะก่อนหน้านี้ จากความขัดแย้งในการปฏิรูปการคลัง และฝ่ายวังหน้ากระด้างกระเดื้องไม่พอใจ ทางพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสยามหนุ่มของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถึงกับเอ่ยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยึดอำนาจ (โดยใช้คำศัพท์ต่างประเทศว่า coup d’etat) เข้าใจว่า คำของพระยาภาสกรวงศ์น่าจะหลุดไปถึงพระกรรณของกรมพระราชวังบวรฯด้วย

เมื่อทางฝ่ายวังหลวงไม่ให้ทหารวังหน้าเข้าไป และยังส่งทหารไปคุมวังหน้า ทำให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหลบไปลี้ภัยที่สถานกงสุลใหญ่อังกฤษ จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่โตลุกลาม จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

แต่ที่กล่าวไป จะเห็นได้ว่า หากการเมืองภายในมีปัญหากันอยู่แล้ว และมีมือที่สามที่ต้องการจะให้สยามเป็นอาณานิคม ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ก็ง่ายที่จะเคลื่อนตัวเป็นวิกฤตการณ์ได้

ขณะเดียวกัน นอกจากการค้าและความสัมพันธ์ทั่วๆไประหว่างประเทศ จะถือเป็นปัจจัยเย็นแล้ว การเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์และแนวคิดการปกครองของตะวันตกก็ถือเป็นปัจจัยทั้งร้อนและเย็นได้ในเวลาเดียวกัน ! ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการเมืองภายในมีเสถียรภาพมั่นคงและความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน  ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไร้เสถียรภาพและความชอบธรรม และอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆก็จะกลายเป็น “ทางเลือกใหม่” สำหรับผู้คนในประเทศและจะกลายเป็นปัจจัยร้อนขึ้นมาทันที แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่แย่ การเมืองมีความชอบธรรม  แนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ก็จะเป็น “ปัจจัยเย็น” ที่ผู้คนในประเทศไม่ค่อยจะสนใจหรือสนใจก็เป็นการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆไป

จากที่กล่าวมานี้  ขอตัดตอนข้ามมาที่ “สงครามเย็น” (the Cold War) ที่ “เย็น” แต่ชื่อ  แต่จริงๆแล้ว ร้อนแรงอย่างยิ่ง

เพราะมหาอำนาจต่างชาติสองฝ่าย (สหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปตะวันตกกับโซเวียตและจีน) ต่างพยายาม “ล่าอาณานิคมแบบใหม่” ที่ไม่ยกทัพไปตีหรือใช้กำลังบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาการค้าที่ฝ่ายตนได้เปรียบเมื่อสมัยก่อน แต่มาในรูปของการพยายามไปมีอิทธิพลในทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศต่างๆเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเป็นพวกตน เมื่อสงครามเย็นเป็น “การล่าอาณานิคม” แบบหนึ่ง  สงครามเย็นจึงเข้าข่ายเป็นปัจจัยร้อน

อีกประการหนึ่งคือ มหาอำนาจสองฝ่ายต่างมีอุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันมาก แม้ว่าจะยืนอยู่บนหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทั้งคู่ก็ตาม แต่ตีความไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นเสรีทุนนิยม อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสังคมนิยม ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายคือ ประชาธิปไตยทั้งคู่ แต่กีอีกนั่นแหละ ทั้งสองฝ่ายตีความประชาธิปไตยต่างกัน และต่างฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์โจมตีประชาธิปไตยของอีกฝ่าย โดยต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็น “ประชาธิปไตยจอมปลอม”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

แต่ใม่ว่าของใครจะจริงจะปลอม เมื่อทั้งสองอุดมการณ์เข้ามาในประเทศต่างๆพร้อมๆกับความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้การเมืองในประเทศนั้นยึดมั่นในอุดมการณ์แบบของตน จึงทำให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนในประเทศนั้นคล้อยตาม และปลุกปั่นให้เกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง  และถ้าเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆไม่ดี และการเมืองก็ยังไม่ตั้งมั่น สงครามเย็นจึงกลายเป็นปัจจัยที่ร้อนระอุในประเทศนั้นๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกิดใหม่ที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนาที่สถานะทางเศรษฐกิจของผู้คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ ทำให้อุดมการณ์ทั้งสองเกิดเป็น “ทางเลือก” หรือ “ความหวัง” ขึ้นมา                                         

โดยส่วนใหญ่แล้ว ประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงการปกครองก็มักจะเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยตามแบบมหาอำนาจตะวันตกในฝั่งเสรีทุนนิยม และเมื่อเศรษฐกิจต้องรอการพัฒนาและการเมืองก็ยังไม่ตั้งมั่น  อุดมการณ์แนวคิดสังคมนิยมจึงกลายเป็น “ความหวังใหม่” ขึ้นมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะในช่วงนั้น อุดมการณ์หลักๆที่มีอิทธิพลไปทั่วโลกก็คือ เสรีทุนนิยมและสังคมนิยมเท่านั้น

อุดมการณ์แนวคิดสังคมนิยมมีเสน่ห์แรงดึงดูดต่อคนจนและคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ เพราะเป้าหมายของอุดมการณ์สังคมนิยมคือ เสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ในสังคมคอมมิวนิสต์

"..ที่ไม่มีใครถูกจำกัดภาระหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในทุกๆ สาขาที่เขาต้องการ เมื่อสังคมกำหนดเป้าหมายการผลิตทำให้มันเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งหนึ่งวันนี้ และทำให้อีกสิ่งในวันพรุ่ง ล่าสัตว์ในตอนเช้า ตกปลาในตอนกลางวัน ต้อนวัวในตอนเย็น และวิจารณ์หลังอาหารค่ำ ดังที่ตัวเองปรารถนา โดยไม่ต้องมีอาชีพเป็นนักล่าสัตว์ ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์และนักวิจารณ์" (จาก “แนวคิดลัทธิของเยอรมัน” [The German Ideology] พ.ศ. 2388) 

และในสังคอมมิวนิสต์นี้จะเป็น “สังคมที่ไร้ชนชั้น ไร้รัฐ และมีมนุษยธรรมที่ยึดกรรมสิทธิ์ร่วมและหลักการพื้นเดิม ‘จากแต่ละคนตามความสามารถ ให้แต่ละคนตามความต้องการ’) (จาก “บทวิจารณ์ของโปรแกรมโกธา”  [Critique of the Gotha Programme] พ.ศ. 2418) 

จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมคอมมิวนิสต์ตามข้อความดังกล่าวของมาร์กซและเองเกล (Marx and Engel) ย่อมเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากจะให้เกิดขึ้น  และโดยเฉพาะผู้คนที่มีชีวิตลำบากยากแค้นทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ไม่สามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้อย่างคนที่มีฐานะดีกว่าตน และแม้แต่คนที่มีฐานะดีก็ตาม แต่ต้องทำงานซ้ำๆซากๆเยี่ยงทาส ไม่มีเสรีภาพที่จะไปทำอะไรอย่างอื่น เพราะกลัวจะเสียงานซ้ำๆซากๆที่รายได้ดี จนไม่เข้าใจว่า ตนทนทำงานแบบนั้นไปเพื่ออะไร

หรือแม้กระทั่งชีวิตรักและชีวิตทางเพศที่เป็นเรื่องของคนทุกชนชั้น ก็จะดีขึ้นกว่า หากเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม (สังคม “สังคมนิยม” เป็นขั้นตอนหนึ่งหลังสังคมทุนนิยม เพื่อจะก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

(ผู้หญิงจะมีเซ็กส์และชีวิตที่ดีกว่าใน สังคมนิยม/  ผู้เขียน: Kristen Ghodess, คริสเตน กอนซี  ผู้แปล : เกศกนก วงษาภักดี  สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน พ.ศ. 2563)

สังคมคอมมิวนิสต์จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อจะต้องเกิดการปฏิวัติโดยใช้กำลังความรุนแรง ซึ่งกระทำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ดังที่ปรากฎในในคำประกาศ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ในปี พ.ศ. 2390  ที่กล่าวว่า 

“ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ต้องการปกปิดอำพรางทรรศนะและความมุ่งหมายของตน พวกเขาประกาศอย่างเปิดเผยว่าจุดหมายของพวกเขาจะบรรลุได้ก็มีแต่ใช้ความรุนแรงโค่นระบอบสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดเท่านั้น ปล่อยให้ชนชั้นปกครองตัวสั่นอยู่เบื้องหน้าการปฏิวัติลัทธิคอมมิวนิสต์ไปเถิด ในการปฏิวัตินี้ชนกรรมาชีพจะไม่สูญเสียอะไรเลยนอกจากโซ่ตรวนเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาจะได้มาก็คือ โลกทั้งโลก”  และคำปิดท้ายของแถลงการณ์ก็คือ  “ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน !”

ส่วนข้อความเปิดในแถลงการณ์ฯคือ“ปีศาจตนหนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังวนเวียนอยู่ในยุโรป อิทธิพลทั้งปวงของยุโรปเก่าทั้งสันตะปาปาและพระเจ้าซาร์ทั้งเมตเตร์นิชและกีโซต์ ทั้งชาวพรรคหัวรุนแรงของฝรั่งเศสและสายลับตำรวจของเยอรมัน ได้รวมกันเข้าเป็นพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อกำจัดปีศาจตนนี้” (“แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” พ.ศ. 2390)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สอง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน):สงครามเย็น ที่เย็นแต่ชื่อ

เมื่อได้ยินคำว่า “ปีศาจ” ในแถลงการณ์ฯ อดคิดถึงนิยายเรื่อง “ปีศาจ” และวาทะของ “สาย สีมา” ใน “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ไม่ได้

สาย สีมา: “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที…” ( “ปีศาจ”  ตีพิมพ์เป็นตอนลงนิตยสารสยามสมัย ปี 2496-2497 จนรวมเล่มครั้งแรกปี 2500)

เมื่ออุดมการณ์ลัทธิดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศด้อย/กำลังพัฒนา โดยหวังจะให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานตาสว่างตื่นรู้ และมีจิตสำนึกทางชนชั้นที่จะเป็นแกนหลักในการปฏิวัติล้มล้างสังคมที่เป็นอยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ ชนชั้นผู้ใช้แรงงานกลับยังไม่มีจิตสำนึกปฏิวัติ  อีกทั้งคนส่วนใหญ่ที่ยากจนในประเทศด้อย/กำลังพัฒนาก็หาใช่กรรมกรไม่ แต่ยังเป็นชาวไร่ชาวนาอยู่  ซึ่งก็ไม่ต่างจากรัสเซียและจีนในช่วงปฏิวัติสังคมนิยม

ดังนั้น บทบาทในการนำการปฏิวัติจึงจำต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเงื่อนไขประวัติศาสตร์ในประเทศโดยเลนิน (นักคิดและนักปฏิวัติชาวรัสเซียและเหมาเจ๋อตุง นักคิดและนักปฏิวัติชาวจีน)  โดยการจัดตั้งพรรคแกนนำปฏิวัติ (vanguard party) ขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมาชีพ แต่เป็นสมาชิกที่ซึมซับแนวคิดคอมมิวนิสม์และจิตสำนึกปฏิวัติ และปฏิบัติการทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ

และหนึ่งในกลุ่มคนที่เป็นแกนนำดังกล่าวที่มีภารกิจในการปฏิวัติขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ให้หมุนไปข้างหน้าก็คือบรรดานิสิตนักศึกษาเยาวชน “หัวก้าวหน้า”

ส่วนในลาว ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า หลังได้รับเอกราช พ.ศ. 2490  ฝ่ายเสรีทุนนิยมโดยสหรัฐอเมริกา ได้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ่านการสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายขวาอย่าง นายพลภูมี หน่อสวรรค์ผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลาวและเจ้าหน้าที่ซีไอเอ

และในตอนต่อไป จะชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยร้อนของสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองในลาวอย่างไรต่อไป