posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (1)

09 ตุลาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********

ชีวิตของคนที่เป็นตำนาน ไม่ใช่แค่มีคนอื่นเอาไปเล่าขาน แต่ต้องเป็นตำนานที่น่าสนใจ

ด้วยมีผู้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้จำนวนหนึ่ง อยากทราบว่า ผม นายทวี สุรฤทธิกุล ครั้งที่อยู่กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีอะไรที่ผมได้เรียนรู้มาจากท่านบ้าง หรือเป็นแค่ “ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง” แม้จะได้อยู่ใกล้ชิด “ปราชญ์ใหญ่” ก็ไม่สามารถตักตวงเอา “รสชาติ” คือความรู้ต่าง ๆ เอาไว้ได้

ผมรู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2519 ปีนั้นประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง คือเพิ่งมีการรัฐประหาร “ฆ่านักศึกษา” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่6 ตุลาคม ผมเองก็เพิ่งเข้าเป็นนิสิตในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังช่วยพรรคจามจุรีหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ เมื่อตอนเย็นวันที่ 6ตุลาคม2519 นั้น ก็ยังได้ไปดู “ซากประวัติศาสตร์” คือรอยเผาศพนักศึกษาที่ถูกนำมาแขวนคอที่ต้นมะขาม ริมสนามหลวง รวมถึงกองไฟที่เผาศพนักศึกษาที่ถูกฆ่าตาย ที่มีคนเอาออกมาเผาที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพิ่งแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน ต้นปี 2519 นั้น ว่ากันว่าเป็นไปตาม “ใบสั่ง” คือท่านได้ท้าทายทหารในช่วงที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี โดยทหารได้พยายามคืนสู่อำนาจ ภายหลังจากที่สูญเสียอำนาจไปในเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 พอมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2518 ทหารก็เข้ามายุแยกพรรคร่วมรัฐบาลให้แตกแยกกัน ท่ามกลางปัญหาบ้านเมืองที่วุ่นวายโกลาหล มีการประท้วงของผู้คนกลุ่มต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

สุดท้ายนายกฯคึกฤทธิ์ก็ต้องประกาศยุบสภาในต้นปี 2519 นั่นเอง และด้วยทิฐิมานะของท่านๆ ก็ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในเขตดุสิต ที่เป็นเขตทหาร แล้วก็ต้องพ่ายแพ้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่ากันว่าทหารให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ (เพราะหลังการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทหารได้แต่งตั้งให้นายสมัครได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระทรวงที่มีอำนาจมากรองจากกระทรวงกลาโหมเท่านั้น)

วันที่ผมได้รู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น ผมกับเพื่อนนิสิตปี1 อีก 3 คน เดินทางไปพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพื่อเรียนเชิญท่านไปเป็นองค์ปาฐก ในการหาทุนไปปลูกป่าของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ผมเป็นรองประธานชมรม แม้ว่าท่านจะไม่สะดวกที่จะไปพูดให้แก่พวกเรา แต่ท่านก็ให้เงินสนับสนุนกิจกรรมการปลูกป่ามาส่วนหนึ่ง จนเราสามารถพานิสิตไปร่วมปลูกป่าที่ปราจีนบุรีได้ถึง 2 คันรถบัส ซึ่งในวันที่เราไปพบกับท่านๆ ก็พาพวกเราชมบ้านเรือนไทยและสวนรอบตัวบ้านด้วยตัวท่านเอง ทั้งยังบอกด้วยว่าถ้าใครอยากจะหางานทำตอนปิดเทอม ก็ให้มาสมัครงานกับท่านได้

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด พอปิดเทอมในปลายเดือนมีนาคม 2520 ก็ไม่รู้จะทำอะไร จึงนึกถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดไว้ ผมจึงเดินเข้าไปในบ้านที่ซอยสวนพลูอีกครั้ง โดยได้โทรศัพท์นัดหมายผ่านพ่อบ้านไว้ล่วงหน้า ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสี่โมงเศษๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน กำลังทานน้ำชายามบ่ายแบบผู้ดีอังกฤษ เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยไปเรียนอยู่ที่ประเทศนั้น ตั้งแต่ชั้นมัธยมจนจบมหาวิทยาลัย ท่านถามว่าผมมีธุระอะไรหรือ ผมก็ตอบว่ามาขอทำงานช่วงปิดเทอมตามที่ท่านเคยบอก ท่านถามผมว่า “ชงเหล้าเป็นไหม” ผมอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ได้ยินเสียงท่านหัวเราะขึ้นมาเบา ๆ พร้อมกับพูดว่า “ที่นี่แขกไปใครมาเยอะ ส่วนมากก็มากินเหล้ากินข้าวกันที่นี่ อยู่บ้านนี้ต้องช่วยกันดูแลว่า แขกคนไหนดื่มอะไร จะได้ไปบอกให้เด็กๆ ชงได้ถูก” แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “ถ้าจะทำก็มาพรุ่งนี้เลย งานก็ไม่มีอะไรมากหรอก รับโทรศัพท์ เปิดจดหมาย และกินข้าวเป็นเพื่อนกัน”

แม้ว่าท่านอาจารคึกฤทธิ์จะเป็น “ส.ส.สอบตก” แต่ท่านก็มีงานประจำอื่นต้องทำอีกหลายอย่าง ที่เป็นรายได้หลักของท่านก็คือตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ รองลงมาคือเจ้าของหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ นอกนั้นก็มีรายได้จากบริษัทที่ท่านมีหุ้นอยู่บ้างเล็ก ๆ น้อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทของเครือญาติ เช่น น้ำมันพืชทิพย์ น้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง และโรงแรมแถวประตูน้ำ เป็นต้น รวมถึงตำแหน่งที่คนอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งให้ท่านในตอนนั้นว่า “ปรอทและเข็มทิศ” ของการเมืองและสังคมไทย อันเกิดจากอิทธิพลบนปลายปากกาของท่านที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์และการไปพูดในโอกาสต่างๆ ซึ่งสื่อมวลชนก็ยังถือว่าท่านเป็น “แม่เหล็ก” ของการดึงดูดความสนใจในประเด็นสาธารณะต่างๆ คือเมื่อท่านพูดอะไรแล้วมักจะเป็นข่าวหรือสร้างกระแสข่าวได้อยู่เรื่อยๆ

ดังนั้นนอกจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและญาติมิตรของท่าน ที่ไปมาหาสู่ท่านอยู่เป็นประจำแล้ว ก็มีบรรดานักข่าวทั้งหลายนั่นเอง ที่วนเวียนเข้าออกเพื่อสัมภาษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เป็นประจำ

ว่ากันว่า “บ้านซอยสวนพลู” คืออีกศูนย์กลางหนึ่งของการเมืองไทยในยุคนั้น อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดประชดด้วยอารมณ์ขันของท่านว่า “ใครกินไม่ได้ถ่ายไม่ออกก็ต้องวิ่งมาบ้านนี้ บางทีถ้าใกล้ตาย หามมาให้ผมเป่าหัวก็อาจจะฟื้นได้”

ซึ่งตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผมทำงานอยู่ที่นั่น ก็ได้เห็นความจริงในเรื่องนี้จริงๆ พอดีกันกับที่ที่ทำงานของผมก็คือ “ใต้ถุนบ้านสวนพลู” เพราะต้องคอยต้อนรับแขกไปใครมาที่นี่ รวมถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ทำงานของท่าน คือ เขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ คุยธุรกิจ รับแขก ทานข้าว และแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่ใต้ถุนนี้เช่นกัน

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลูจึงมีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ชีวิตส่วนตัวของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่รวมถึงความเป็นไปต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีบ้านสวนพลูเป็นศูนย์กลางนี้อยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ผมจึงได้เอามาเป็น “หัว” ของบทความชุดนี้ ที่คงจะเขียนไปเรื่อย ๆ สักระยะ แต่เพื่อให้พอเป็นที่เข้าใจและสามารถเชื่อมโยงเข้ากับคนรุ่นใหม่ ๆ ในทุกวันนี้ ก็คงจะต้องพยายามเขียนให้เกี่ยวข้องเข้ามากับปัจจุบัน แม้ว่าหลาย ๆ เรื่องจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่ผ่านไปนานแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แบบที่ผมเรียกว่า “คิดลึกอย่างคึกฤทธิ์” ก็จะเห็นว่า “ทุกเหตุการณ์นั้นเกี่ยวข้องกันเสมอ”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 เสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 นับถึงวันที่ 9 ตุลาคมปีนี้ ท่านก็เสียชีวิตมาแล้ว 26 ปี เมื่อ พ.ศ. 2554 ที่ท่านอายุ 100 ปี รัฐบาลไทยได้เสนอชื่อท่านไปยังยูเนสโกขององค์การสหประชาชาติ ประกาศให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ใน 4 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม และสื่อสารมวลชน แต่ในประเทศไทยท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปรมาจารย์ ปราชญ์รัตนโกสินทร์ และเสาหลักประชาธิปไตย” บทความนี้จึงอาจจะต้องกล่าวถึงบทบาทของท่านในหลายๆ ด้านนั้นด้วย นอกเหนือจากทางด้านการเมือง ที่เป็นขอบข่ายหลักของคอลัมน์นี้ ทั้งนี้ก็เพื่อมองให้เห็นคนๆ หนึ่งอย่างรอบด้าน แต่ที่สำคัญก็คือจะได้มองเห็นสังคมไทยในหลายๆ ด้าน และสร้างความคิดความหวังเพื่อสร้างชาติบ้านเมือง อย่างที่คนไทยอย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ทำมาทั้งชีวิตนั้น

ดั่งบทเพลงของเพลิน พรหมแดน ที่ว่า “คึกฤทธิ์เป็นคนคิดลึก กลางคืนดื่นดึกนั่งนึกนอนคิด คิดช่วยคนยากคนจน ให้สภาตำบลสร้างถนนเชื่อมติด พวกเราก็ไปรับจ้าง พวกเราก็ไปรับจ้าง ขุดคลองสร้างทางเอาสตางค์คึกฤทธิ์”

******************************