posttoday

รำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม

08 ตุลาคม 2564

โดย...โคทม อารียา

***********

ในการจัดงาน 6 ตุลาปีนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากให้จัดแบบออนไลน์ เพราะกริ่งเกรงเรื่องโรคระบาดโควิด – 19 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการจัดงานยืนยันที่จะจัดพิธีระลึกในโอกาสครบรอบ 45 ปี ที่ลานสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ท้ายที่สุด ฝ่ายบริหารก็ยอมให้ใช้สถานที่แม้มีความฉุกละหุกในการประสานงานกับฝ่ายอาคารสถานที่บ้างเล็กน้อย ในปีนี้ ประธานกรรมการจัดงานได้แก่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชนผู้รับว่าความในคดี “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “ทะลุฟ้า” เป็นต้น นอกจากนี้ เขาได้รับเลือกเป็น “นายก อมธ.” ในปี 2520 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

นายกฤษฎางค์ กล่าวปาฐกถาในวันงานมีใจความว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มิใช่อุบัติเหตุทางการเมือง หากเป็นการจงใจของกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนั้น ที่ต้องการกวาดล้างสังหารนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย การจัดงานมิใช่เพื่อรำลึกถึงความโหดร้ายอย่างเดียว แต่ต้องการให้นำคนผิดมาลงโทษด้วย โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้

1.วีรชนที่เสียชีวิต รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบ เช่น อาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดี มธ. ในขณะนั้น ยังไม่ได้รับการชดใช้ในเกียรติภูมิที่สูญเสีย

2.การสังหารหมู่เมื่อ 45 ปีที่แล้ว เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของนานาชาติแล้วว่าเป็นอาชญากรรมทางการเมือง

3.การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ จะทำให้ลูกหลานเราไม่ถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมอีก ผู้บงการควรถูกนำไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าการสังหารหมู่ผู้นำของขบวนนักศึกษาประชาชนไม่หมดอายุความ

อนึ่ง นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวถึงเยาวชนที่ถูกกักขังอย่างไร้ความยุติธรรมในขณะนี้ และขอมอบคุณงามความดีของการจัดงานแด่เยาวชนที่กำลังต่อสู้อยู่ และขอเป็นกำลังใจให้มีอิสรภาพโดยเร็ว

นายสุรชาติ บำรุงสุข ในบทความ “หกตุลารำลึก” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ได้วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการ “ล้อมปราบใหญ่” ที่กลุ่มขวาจัดตัดสินใจยุติบทบาทของขบวนนักศึกษาประชาชนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งแสดงถึงการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษา แม้ต่อมากระแสนี้จะมีทิศทางแบบ “เอียงซ้าย” ก็ตาม ประกอบกับสงครามคอมมิวนิสต์ ทั้งในและนอกบ้าน ทำให้ชนชั้นนำ โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายทหาร มีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง คงจำกันได้ว่า เวียดนามและกัมพูชา “แตก” ในความหมายว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะในเดือนเมษายน 2518 ต่อมาในช่วงปลายปี การปกครองเก่าของลาวก็สิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน

สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มความกลัวในหมู่ชนชั้นนำไทยด้วยทฤษฎีโดมิโนที่ว่า โดมิโนสามตัวได้ล้มลง ในอินโดจีน ตัวที่สี่ก็คือไทย ประกอบกับขบวนนิสิตนักศึกษาเริ่มเอียงซ้ายไปกับกระแส “ต่อต้านอเมริกา” สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเมืองจึงเปลี่ยนเป็นการต่อต้านขบวนนิสิตนักศึกษาโดยตรง วิธีการคือการใส่ร้ายป้ายสีในรูปแบบต่าง ๆ ยิ่งปลุกระดมมากเท่าไร สังคมไทยก็ยิ่งแตกแยก-แบ่งขั้วมากขึ้นเท่านั้น ชนชั้นนำมีความเชื่อว่า การสร้าง “มวลชนฝ่ายขวา” และการตั้งรัฐบาลเผด็จการบนฐานของมวลชนฝ่ายขวาจะประกันเสถียรภาพทางการเมือง และผลสำเร็จในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์

นี่คือที่มาของการ “สังหารกลางเมือง” ที่ผู้นำไม่กังวลว่าจะกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะถือว่าเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในบ้านอย่างเอาจริงเอาจัง เหตุการณ์ล้อมปราบครั้งนั้น มีฝ่ายประชาชนเสียชีวิต 40 ราย ฝ่ายปราบปราม 5 ราย มีผู้บาดเจ็บ 145 คน ผู้ถูกจับกุม 3094 คน ผู้ถูกดำเนินคดี 18 คน และมีผู้หนีเขาป่าเพื่อจับอาวุธขึ้นต่อสู้อีกจำนวนหนึ่ง โชคดีที่ผู้นำฝ่ายทหารไม่เห็นดีเห็นงามไปกับฝ่ายขวาจัดเสียทั้งหมด จึงมีการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และมีการเปลี่ยนนโยบายจาก “ทหารนำการเมือง” มาเป็น “การเมืองนำการทหาร” ดังปรากฏเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้นำนิสิตนักศึกษาในคดี 6 ตุลา ตามด้วยการประกาศ “ยุทธศาสตร์ใหม่” โดยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 และฉบับที่ 65/2525 ซึ่งทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยลดระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลประกาศชัยชนะในสงครามนี้ในปี 2526

45 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา จริงหรือไม่ที่ผู้นำฝ่ายขวาจะย้อนกลับไปใช้ยุทธศาสตร์ “การทหารนำการเมือง” และถือว่าการปราบปรามคือชัยชนะ บทเรียน 6 ตุลาชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามว่า ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” คือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง และการสร้างประชาธิปไตยคือหนทางหลักในการสร้างความปรองดองและปลดปล่อยศักยภาพสร้างสรรค์ของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการเสวนาออนไลน์จัดโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในชื่องาน “สสส. เสวนาทัศนะ” ในหัวข้อ “บทเรียน 6 ตุลา 19 : สังคมไทยจะก้าวข้ามความรุนแรงทางการเมืองได้อย่างไร” นอกจากผมแล้ว มีวิทยากรอีกสองคนคือ นางสาวภัคจิรา นุชบัว นักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สถาบันเอเซียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมขอสรุปเนื้อหาที่วิทยากรทั้งสองนำเสนอโดยสังเขป ถ้าสรุปผิดพลาดไปบ้างก็ขออภัย

น.ส.ภัคจิรา มีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการ “แขวน” ที่หอประชุมธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมทั้งเหตุการณ์จุดชนวนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ที่มีการซ้อมและแขวนคอช่างไฟฟ้าสองคนที่ “ประตูแดง” จังหวัดนครปฐม เธอมีความคิดที่จะก้าวข้ามความรุนแรงโดยการทำความจริงให้ปรากฏ เช่น จัดให้มีพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา อีกทั้งไม่ปล่อยให้ผู้ทำความผิดลอยนวล

นายดุลยภาค กล่าวถึงการสังหารหมู่ในสเกลที่ใหญ่โตมโหฬาร เช่น ที่กัมพูชา และที่อินโดนีเซียในปี 2508 ที่มีคนตายนับแสน นับล้าน อย่างไรก็ดี แม้การสังหารหมู่ในกรณีประเทศไทยจะมีสเกลที่เล็กกว่า แต่ก็เป็นการสังหารหมู่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เขามองเหตุที่มาของความรุนแรงในสองมุมมอง มุมมองที่หนึ่งคือกรณีที่รัฐใช้ความรุนแรงในลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังนี้

ก.รัฐเสนาธิปไตยมีกองกำลังที่ฝึกมาเพื่อปกป้องชนชั้นสูง เหมือน praetorium guard ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทำหน้าที่ทั้งกองกำลังและฝ่ายข่าวกรอง

ข.รัฐศาสตราที่พึ่งพาทหารรับจ้าง หรือ mercenary รัฐจะใช้ผู้เชี่ยวชาญความรุนแรง ในกรณีของเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้อาศัยส่วนหนึ่งของตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อการนี้

ค.รัฐมีภยาคติและอคติอื่น ๆ เป็นเจ้าเรือน และอาจใช้กลไกของรัฐโดยตรงเพื่อกระทำความรุนแรง หนึ่งใดอคติสำคัญในช่วงเวลานั้นคือความกลัวคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน

ในมุมมองที่สอง ความรุนแรงอาจมาจากฝ่ายทหาร ซึ่งอาจมีแนวคิดหนึ่งแนวคิดใดดังนี้

1.ทหารเป็นผู้ประนีประนอม คือจะใช้อำนาจอิทธิพลเพื่อไกล่เกลี่ยหรือควบคุมให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยไม่รวบอำนาจเสียเอง

2.ทหารเป็นผู้พิทักษ์รัฐ เมื่อเห็นว่าความขัดแย้งในสังคมการเมืองมาถึงขีดที่ยากจะประนีประนอมกันได้ ทหารอาจแสดงบทบาทคุ้มครองมิให้รัฐตกต่ำลงไปอีก จึงเข้ามายึดอำนาจรัฐเป็นการชั่วคราว แล้วคืนอำนาจแก่ประชาชนผ่านการเลือกตั้งโดยเร็ว ตามที่สัญญาไว้

3.ทหารอยากทำหน้าที่ปกครองโดยตรงแบบอยู่ยาว จึงใช้อำนาจทางกฎหมายที่ตนมีส่วนกำหนด และใช้อิทธิพลผ่านทางเครือข่ายต่าง ๆ และการ “เล่นการเมือง” โดยมีอรรถาธิบายหรือวาทกรรมอย่างไม่แหนงหน่าย เพื่อให้อยู่ได้ยาวเท่าที่จะอยู่ได้

ความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ที่กระชับอำนาจตั้งแต่ปี 2501 เรื่อยมา ก็น่าจะอยู่ภายในกรอบความคิดของรัฐที่พร้อมใช้ความรุนแรงหรือของทหารที่ไปไกลเกินกว่าการประนีประนอมดังกล่าวข้างต้น วิธีที่จะก้าวข้ามความรุนแรงคือการพัฒนาสถาบันของรัฐที่เป็นประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งจำกัดบทบาทของทหารให้อยู่ใต้สถาบันที่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว

ผมคิดว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นผลจากนโยบาย “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่กำหนดขึ้นอย่างจงใจ และมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ความพยายามใช้ทหารนำการเมืองไม่ประสบความสำเร็จ ผู้นำฝ่ายทหารจึงยอมรับที่จะใช้การเมืองนำการทหารเพื่อที่จะระงับความรุนแรง นั่นคือ ใช้นโยบายประชาธิปไตยนั่นเอง อย่างไรก็ดี บาดแผลทางจิตใจของผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังไม่ได้รับการเยียวยา หลายคนคิดว่าเรื่องได้ผ่านไปนานแล้ว การเยียวยาเหยื่อน่าจะหมดเวลาลงแล้ว

แต่ผมคิดว่าการเยียวยาจิตใจไม่น่าจะมี “อายุความ” เราทำความจริงให้สังคมยอมรับได้เสมอ เราชักชวนให้สังคมรำลึกหรือมีอนุสรณ์เตือนใจถึงการสูญเสียได้เสมอ เมื่อใดที่ฝ่ายกระทำออกมารับผิด ออกมาขอโทษ เมื่อนั้นจิตใจของผู้ถูกกระทำตลอดจนลูกหลานจะได้รับการปลอบประโลมใจ เรามีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 เรามีอนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม 2535 สักวันหนึ่ง เราจะมีอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์ 6 ตุลา เช่นกัน มิใช่เพื่อเอาชนะหรือประณามใคร เพียงแต่ให้เกิดการก้าวข้ามความรุนแรงด้วยการให้อภัยแต่ไม่ลืม

ขอเล่าเรื่องบางเรื่องเพื่อบอกว่าไม่สายเกินไปสำหรับการเยียวยา เรื่องแรกคือการสืบสวนอย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศสถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ถึงปัจจุบัน ผลจากการสืบสวนพบว่า มีพระสงฆ์คาทอลิกกว่าสามพันคนล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะต่อเด็ก มีเหยื่อการละเมิดกว่าสามแสนคน คริสต์จักรกำลังหาทางเยียวยาเขาเหล่านั้นด้วยเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็ยังดี อีกเรื่องหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น (นายบารัค โอบามา) มาวางพวงหรีดที่อนุสรณ์สถานฮิโรชิมา

อีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่นานมานี้นายกรัฐมนตรีคานาดาได้กล่าวขอโทษ และเดินไปปักธงเล็ก ๆ ตามสนามหญ้าใกล้สถานที่ที่เคยเป็นโรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่งในคานาดา ที่เคยรับเด็กชาวพื้นเมืองมาเป็นนักเรียนประจำโดยไม่เหลียวแล มีเด็กตายฝังไว้ในสนามหญ้าหลายที่หลายแห่ง รวมแล้วจำนวนนับพันราย พลเอกสรยุทธ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และกล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่ตากใบ แม้สื่อมวลชนจะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการกล่าวคำขอโทษครั้งนั้น แต่ผมได้คุยกับชาวมลายูมุสลิมบางคน พวกเขาซาบซึ้งใจกับการกล่าวคำขอโทษนั้น แม้ความรุนแรงใน จชต. จะดำเนินต่อไป แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์เช่นกรณีตากใบอีก สำหรับผม การขอโทษเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการเปิดทางสู่สันติภายในได้ไม่มากก็น้อย

แต่เราต้องทำมากกว่านั้น ในกรณี 6 ตุลา เครื่องมือปลุกระดมของฝ่ายขวาคือวิทยุ โดยเฉพาะวิทยุยานเกราะ ในปัจจุบัน เครื่องมือการสื่อสารมีประสิทธิภาพมากกว่านั้น การยุยงให้ใช้ความรุนแรงผ่านทางสื่อออนไลน์น่าจะผิดกฎหมาย แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นห่วงเรื่องมาตรา 112 มากกว่า อีกทั้งมีหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณให้ใช้ในการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) ดูเหมือนว่างบประมาณสำหรับ IO ที่เกี่ยวกับ จชต. จะมากกว่างบประมาณสำหรับการพูดคุยสันติภาพด้วยซ้ำไป

เพื่อก้าวข้ามความรุนแรง นอกจากจะขอให้รัฐเป็นนิติรัฐแล้ว ยังต้องขอให้ทหารเลิกเป็นทหารการเมือง และกลับเข้ากรมกองเพื่อทำหน้าที่ของทหาร ทหารควรทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยทางการเมืองบ้างยามจำเป็น แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองที่ขออยู่ยาว! ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย อาจรับฟังความไม่พอใจและความปรารถนาของฝ่ายทหารและฝ่ายขวาด้วย อย่างน้อยเพื่อความเข้าใจว่าพวกเขามีอะไรเป็น “พื้นที่สงวน” และถ้ารักษาน้ำใจได้ ก็ไม่ควรตั้งหน้าตั้งตารุกส่วนที่เป็นพื้นที่สงวนของพวกเขา

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ราคาแพง จึงน่าจะให้บทเรียนแก่ทุกฝ่าย ผมคิดว่าเราไม่มีทางออกจากวังวนความรุนแรง หากไม่พัฒนาความอดกลั้นและความเมตตาต่อกัน