posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเก้า):เงื่อนไขทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้า: ก่อน พ.ศ. 2416

07 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

หากพิจารณาในภาพรวม จะพบว่า การเมืองการปกครองสยามในช่วงรัชกาลที่สามจนถึงต้นรัชกาลที่ห้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

หนึ่ง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามเป็นต้นมา กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจนำเหนือฝ่ายเจ้านายและขุนนางอื่นๆ ซึ่งเจ้านายในที่นี้รวมทั้งพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำวังหลวงและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในฐานะผู้นำวังหน้า และการมีอำนาจนำนี้จะสังเกตได้จากที่กลุ่มขุนนางบุนนาคเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์หรือที่เรียกว่า “king-maker” ดังนั้น ไม่ว่าเจ้านายในสายวังหลวงหรือวังหน้าที่ต้องการเป็นผู้สืบราชสมบัติ ย่อมจะต้องอาศัยพึ่งพาและเป็นพันธมิตรกับขุนนางที่เป็นผู้นำในตระกูลบุนนาค

ดังในกรณีการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม สี่และห้าดังที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว

สอง ผู้ที่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ก็จะหาทางรักษาและเพิ่มอำนาจ จึงเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นพันธมิตรกับขุนนางตระกูลบุนนาคมาอยู่ในสถานะของคู่แข่งขันและหาทางลดทอนอำนาจขุนนางตระกูลบุนนาค หรือพยายามรักษาความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

สาม ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์หรือวังหลวงกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (หรือที่เรียกว่าพระมหาอุปราชหรือวังหน้า) ที่ผ่านมาตั้งแต่การเมืองสมัยอยุธยา อำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ และมักจะแต่งตั้งพระราชโอรสหากได้พระชันษา หรือไม่ก็แต่งตั้งพระราชอนุชา และหากแต่งตั้งพระราชอนุชา ก็มักจะจะเกิดปัญหาขัดแย้งกันในช่วงเปลี่ยนรัชกาลที่มีการช่วงชิงบัลลังก์กันระหว่างพระราชโอรสกับผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าซึ่งเป็นพระราชอนุชาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการเข้าแทรกแซงปลุกปั่นหรือเข้าฝักเข้าฝ่ายจากขุนนางผู้มีอำนาจอิทธิพลและขุนนางอื่นๆ

แต่ในการเมืองช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เกิดขึ้นพราะด้วยความบังเอิญที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมักจะสวรรคตไปก่อนที่จะถึงช่วงเปลี่ยนรัชกาล และพระมหากษัตริย์มักจะปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่างไปจนสิ้นรัชกาล

แต่กระนั้น สิ่งที่เป็นปรากฎการณ์ใหม่คือ มีการตั้งพระราชปิตุลาขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่สาม ทำให้เกิดความคาดหวังจากผู้ที่เป็นพระราชปิตุลาที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากผู้ที่เป็นพระราชอนุชา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใดหลังจากที่พระราชปิตุลาที่ดำรงตำแหน่งวังหน้าสิ้นพระชนม์ จึงเกิดกระแสกระด้างกระเดื่องจนเกือบเกิดการกบฏขึ้นจากพระราชปิตุลาพระองค์อื่นที่คาดหวังจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในสมัยรัชกาลที่สี่ พระมหากษัตริย์ได้แต่งตั้งพระราชอนุชาให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าและให้อยู่ในสถานะที่เทียบเท่าพระมหากษัตริย์และโปรดให้ทรงให้เรียกเสมือนพระเจ้าแผ่นดิน นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่รับรู้ในฐานะ “พระมหากษัตริย์องค์ที่สอง” และก็ไม่ต่างจากวังหน้าพระองค์อื่นๆในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรคตไปเสียก่อนจะสิ้นรัชกาล และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงโปรดที่จะแต่งตั้งผู้ใด

แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคได้กดดันให้มีการตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระจอมแกล้าฯทรงประนีประนอมโดยการแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้าที่เป็นตำแหน่งทางการที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติได้หากราชบัลลังก์ว่างลง แต่การครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ขุนนางมีอำนาจอิทธิพลในการกดดันให้พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งบุคคลที่ตนต้องการให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า

และเมื่อสิ้นรัชกาลที่สี่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังทรงพระเยาว์ สมเด็จเจ้าพระยาฯได้ใช้อำนาจอิทธิพลกดดันให้ที่ประชุมเจ้านายและเสนาบดีแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถือเป็นการผิดราชประเพณีที่ผ่านมาที่อำนาจในการแต่งตั้งอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ อันแสดงให้เห็นการขึ้นถึงจุดสูงสุดของผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอำนาจอิทธิพลในการกำหนดตัวทั้งผู้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พร้อมกับแต่งตั้งบุคคลในตระกูลและเครือข่ายลงในตำแหน่งเสนาบดีสำคัญ

สี่ ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญจำต้องรักษาอำนาจและทัดทานอำนาจของวังหลวงเพื่อสร้างศักยภาพในการเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์หากเงื่อนไขอำนวย จึงจำต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับขุนนางตระกูลบุนนาคที่ทรงอำนาจอิทธิพลตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อหนึ่ง แต่หากได้ขึ้นครองราชย์ ก็จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ไปอย่างที่เกิดขี้นในสมัยรัชกาลที่สาม

ห้า ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงตกอยู่ในสถานะที่ต้องรักษาอำนาจและทัดทานอำนาจกับอีกสองกลุ่ม นั่นคือ วังหน้าและกลุ่มขุนนาง

หก กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคได้ประโยชน์ในการดำรงสถานะเป็นตัวกลางระหว่างวังหลวงและวังหน้า โดยสองกลุ่มนี้จะต้องพึ่งพาอาศัยตนในการทัดทานอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่ออยู่ในสถานะของการเป็นตัวกลาง ทำให้สามารถเล่นการเมืองในลักษณะที่ทำให้ตนมีแต้มต่อต่อสองกลุ่มที่คัดง้างกัน และตนจึงมีอำนาจเหนือกลุ่มการเมืองทั้งสองกลุ่มนี้

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเก้า):เงื่อนไขทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้า: ก่อน พ.ศ. 2416

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ดังนั้น จากเงื่อนไขทั้งหกข้อนี้ นำมาสู่สมการทางการเมืองดังต่อไปนี้คือจากข้อหก ซึ่งเป็นเงื่อนไขหรือลักษณะของการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยผสมราชาธิปไตยที่อภิชนหรือคณะบุคคลมีอำนจเหนือพระมหากษัตริย์และวังหน้า อันนำมาซึ่งสมการทางการเมืองหลักที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม

กลุ่มขุนนางบุนนาคต้องการรักษาสมการนี้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องช่วงชิงขึ้นไปเป็นพระมหากษัตริย์เอง เพราะตนมีอำนาจอิทธิพลและผลประโยชน์สูงสุดภายใต้สมการนี้อยู่แล้ว

พระมหากษัตริย์และกลุ่มวังหลวงต้องการปรับเปลี่ยนสมการนี้มากกว่าจะทำลายไปเสียเลย นั่นคือ ต้องการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการครองอำนาจนำและผลประโยชน์โดยปรับเปลี่ยนสมการให้เป็นการปกครองราชาธิปไตยผสมอภิชนาธิปไตย โดยให้ราชาธิปไตยมีอำนาจหนืออภิชนาธิปไตย และหาทางที่จะทำให้วังหน้าไม่สามารถมีสถานะที่สามารถท้าทายหรือสั่นคลอนเสถียรภาพของพระมหากษัตริย์ได้อย่างที่ผ่านมา

ส่วนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าก็จะไม่ทำลายสมการนี้เช่นกัน เพราะสมการดังกล่าวนี้จะช่วยให้ตนมีสถานะที่สามารถท้าทายอำนาจของวังหลวงผ่านการสนับสนุนของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค แต่เมื่อตนได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และเป็นวังหลวงเอง ก็จะหาทางปรับเปลี่ยนสมการเหมือนอย่างที่กล่าวไปข้างต้นในส่วนของพระมหากษัตริย์และวังหลวง นั่นคือ ปรับเปลี่ยนให้เป็นราชาธิปไตยผสมอภิชนาธิปไตย โดยราชาธิปไตยมีอำนาจนำ และหาทางที่จะทำให้วังหน้าไม่สามารถมีสถานะที่สามารถท้าทายหรือสั่นคลอนเสถียรภาพของพระมหากษัตริย์ได้

แน่นอนว่า วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ตำแหน่งวังหน้าไม่เป็นอันตรายต่อพระมหากษัตริย์ ก็คือ พระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า และแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า แต่ทั้งนี้ย่อมต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของพระชันษาและอำนาจบารมีของพระราชโอรสด้วย ซึ่งเรื่องพระชันษาและการมีพระราชโอรสนี้ เป็นปัจจัยที่กำหนดได้ยาก

แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาการแบ่งกลุ่มการเมืองของหมอสมิธและนักวิชาการที่ตามหมอสมิธ จะพบว่า เกณฑ์การแบ่งกลุ่มทั้งสามเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการรับอิทธิพลตะวันตกเป็นสำคัญของคนแต่ละรุ่น (generation) และกล่าวได้ว่า กลุ่มการเมืองทั้งสามกลุ่ม อันได้แก่ คนรุ่นหนุ่มในทุกกลุ่มการเมืองรับอิทธิพลตะวันตกมากกว่าคนรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นหนุ่มในฝ่ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเองและเจ้านายและข้าราชการในวังหลวง คนรุ่นหนุ่มในกลุ่มขุนนางบุนนาค และตัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงมีความโดดเด่นในภาษาและองค์ความรู้ตะวันตกและคนรุ่นหนุ่มในฝ่ายวังหน้า แต่ระดับของความเข้มข้นนิยมในวิถีตะวันตกของจะแตกต่างกันระหว่างคนรุ่นหนุ่มกับคนรุ่นก่อนในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการใช้องค์ความรู้ตะวันตกในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง

ขณะเดียวกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับอิทธิพลตะวันตก นอกจากเรื่องวิทยาการความทันสมัยต่างๆแล้ว ยังมีปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันได้แก่ การทำสนธิสัญญาต่างๆและการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งในส่วนของการทำสนธิสัญญาการค้านั้นส่งผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์และฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาค

ประเด็นการสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นอาณานิคมนั้นย่อมถือเป็นภัยอันตรายร่วมกันของทุกกลุ่ม ซึ่งการล่าอาณานิคมในฐานะภัยคุกคามตะวันตกต่อไทยได้เริ่มขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่สาม โดยอังกฤษมีอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังต่อไปนี้คือ บริเวณที่เรียกว่า บริติชมาลายา อันได้แก่ “นิคมช่องแคบ” (Straits Settlements) ที่เริ่มเกิดขึ้น พ.ศ. 2369 (ค.ศ. 1826) อันประกอบไปด้วย ปีนังที่ตกเป็นอาณานิคมตั้งแต่ ค.ศ. 1786 (พ.ศ. 2329) สิงคโปร์ ค.ศ. 1819 (พ.ศ. 2362) มะละกา ค.ศ. 1824 (ค.ศ. 2367) พม่าเสียดินแดนจากการพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษ ค.ศ. 1826 (พ.ศ. 2369) บริติชบอร์เนียว ได้แก่ ลาบวน ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) พ.ศ. 2396 พม่าพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สอง เสียดินแดนทางตอนใต้ทั้งหมด รวมทั้งต้องเสียเมืองท่าสำคัญ อันได้แก่ ร่างกุ้ง เมาะตะมะ และพะสิม และหงสาวดีถูกรวมเข้าเป็นแคว้นที่สามของบริติชพม่า (British Burma)

ภัยจากมหาอำนาจตะวันตกถือเป็นโจทย์สำคัญสำหคับชนชั้นสยามทุกกลุ่ม ที่จำเป็นต้องหาทางรักษาความเป็นเอกราชของสยามและผลประโยชน์ของกลุ่มของตนไว้ให้มากที่ที่สุด แต่ปัญหาคือ การประเมินระดับความเข้มข้นของภยันตรายและความเร่งรีบในการปฏิรูปบ้านเมืองที่แตกต่างกันในกลุ่มการเมืองทั้งสาม อันได้แก่ กลุ่มสยามหนุ่มภายใต้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มอนุรักษ์นิยมภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ต่างรับวิทยาการความรู้ตะวันตกด้วยกันทั้งสิ้น แต่อย่างที่กล่าวไป แต่ละกลุ่มประเมินระดับความเข้มข้นของภยันตรายและความเร่งรีบในการปฏิรูปบ้านเมืองแตกต่างกัน