posttoday

บทเรียนจากสองตุลา

07 ตุลาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************

วันที่ 6 ตุลา 19 เวียนมาครบอีกครั้งหนึ่ง สัปดาห์ต่อไปก็จะครบรอบเหคุการณ์ 14 ตุลา 16

ผู้อ่านหลายคนเกิดไม่ทันเหตุการณ์สองตุลาที่ว่า ส่วนใหญ่ได้อ่าน ได้ฟัง จากหนังสือและจากพ่อแม่ญาติพี้น้อง บางคนมองอย่างเสียดายว่า จากเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความสุขกลับจบลงด้วยเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความเศร้า จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 เพียงสามปีที่ผ่านไป ทำไมผลที่ออกมากลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่อดีตก็เป็นบทเรียนที่เราควรศึกษาไว้ โดยวางใจที่ตรงกลาง ไม่เอาจิตไปผูกพันกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 40 ปีที่ผ่านมา คนที่เกี่ยวข้องได้ตายไปแล้วหลายคน จากวัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชรา ที่ให้เวลาทบทวนตนเอง ทบทวนเหตุการณ์ผ่านมุมมองหลายด้าน มองทั้งเราและเขา แล้วหาบทสรุป แต่จะไม่มีบทสรุปอะไรที่ถูกใจเราเลย ถ้าใช้อารมณ์ ความเชื่อของตนแต่ฝ่ายเดียวเป็นสิ่งตัดสิน

ถ้าเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองแต่มุมมองของตนเอง ตุลาคมแต่ละปีก็จะยังคงเป็นตุลาคมที่เต็มไปด้วยวาทะความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากกลุ่มคนสองฝ่ายที่ส่งมอบมรดกความเกลียดชัง ความโกหกหลอกลวง ให้กับลูกหลานของตนต่อไป

เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่สูญเสีย แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี เมื่อ “ ความจริง “จากแง่มุมต่าง ๆ ถูกเปิดเผยมากขึ้น มุมมองต่อเหตุการณ์ก็ควรเปลี่ยนไปเพราะคู่กรณีได้ทำสิ่งที่ควรไม่ควรด้วยกันทั้งคู่ บางทีคนหนุ่มสาวก็ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของผู้มีอำนาจโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียนเรียนที่จุฬาฯ และอยู่ในรุ่นที่เขาพูดกันว่า รัฐศาสตร์กับวิศวะตีกัน ความจริงก็คือวิศวะตีรัฐศาสตร์ในวันไหว้ครู อารมณ์วัยรุ่นขณะนั้นที่เห็นเพื่อนฝูงถูกตีบาดเจ็บ จึงเกิดความรู้สึกชิงชัง โกรธแค้น อาฆาตแค้นว่าจะต้องเอาคืนให้ได้ จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

อาการขณะนั้นเรียกว่า “ขาดสติ” แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีกลับคืนมา ทำให้รู้ว่า ผิดด้วยกันทั้งคู่ พอได้ทำงาน บังเอิญไปเห็นข้อมูลที่ทำให้ตาสว่างขึ้น และรู้ว่า พวกเราตกเป็นเหยื่อของนายทหารใหญ่ที่มีอำนาจทางการเมือง สร้างสถานการณ์เพื่อหาเหตุผลเข้ามาดูแลสถาบันการศึกษาแห่งนี้แทนอธิการบดีจุฬาคนเก่า

นิสิตเด็ก ๆ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเหมือนจิ้งหรีดถูกปั่นหัว นำไปสู่เหตุวิวาทที่เรียกกันว่า วิศวะกับรัฐศาสตร์ตีกัน นิสิตบางคนได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬา ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด โชคดีที่ไม่มีคนตายสังเวยตัณหาของนักการเมืองการทหาร หลังจากนั้นไม่นาน นักการเมืองนายทหารใหญ่คนนั้นก็เข้ามาเป็นอธิการบดีแทนคนเก่าที่ถูกย้าย ผู้นี้เป็นอธิการบดีจุฬาอยู่หลายปี นอกจากนั้น ยังเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเปิดที่เพิ่งเปิดใหม่ด้วย เพื่อคุมเสียงจากคนหนุ่มสาวที่เพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาก็เพื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สองตุลา ตัวละครก็คือคนกลุ่มเดียวกัน คือ นายทหารนักการเมืองและนิสิตนักศึกษา แต่บทบาทที่แสดงบนเวทีในสองเหตุการณ์คือ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นักศึกษาเป็นพระเอก ส่วนทหารเป็นผู้ร้าย ในขณะที่ 6 ตุลาคม 19 นักศึกษาเป็นฝ่ายถูกกระทำ

ซี.ไอ.เอ. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้ทหารสูญเสียอำนาจ แต่ทหารจะยึดอำนาจกลับคืนมาได้ภายใน 3 ปี ซึ่งก็เป็นความจริง จากปี 2516 ถึงปี 2519 สามปีพอดี โดยทหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ที่มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อยู่เบื้องหลังทำการปฏิวัติโดยอ้างความไม่สงบเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

น่าเสียดายที่เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น สถานการณ์พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ พระเอกกลายเป็นหรือถูกทำให้เป็นผู้ร้ายแทน เปรียบเทียบแบบนี้เพื่อให้เห็นภาพความขัดแย้งขณะนั้น แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีใครเป็นพระเอกและผู้ร้าย

เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประชาชนให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นแกนนำในการต่อสู้กับทหารซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2501 กล่าวกันว่า หากทหารไม่แตกกัน แม้นิสิตนักศึกษาประชาชนเป็นฝ่ายชนะ แต่ประชาชนคงมีการสูญเสียมากกว่านี้

ที่สำคัญคือ หากไม่ได้พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มาช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไว้ให้ ประชาชนคงสูญเสียมากกว่านี้

ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ เพียงสามปีเท่านั้น ความนิยมต่อนิสิตนักศึกษาจากที่สูงสุดค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความเบื่อหน่าย เสรีภาพที่ทุกคนคลั่งไคล้ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ผู้สูญเสียอำนาจเก็บตัวลงต่ำปล่อยให้แกนนำนิสิตนักศึกษาสนุกกับ “ประชาธิปไตย” จนบ้านเมืองเกิดสภาพวุ่นวาย พอควร

เวลานั้น กระแสซ้ายมาแรงทั้งซ้ายคอมมิวนิสต์จีน ซ้ายเชกูวาร่า การแต่งกายเลียนแบบเช กูวาร่า และผู้นำซ้ายต่าง ๆ ดูเป็นเรื่องโก้เก๋ ผู้นำนักศึกษาบางคนยุค 14 ตุลา แต่งตัวเลียนแบบเช กูวาร่า อย่างโก้เก๋

ใครไม่ซ้าย กลายเป็น “ พวกล้าหลัง ” หรือเป็น “ พวกปฏิกิริยา” ไปโน่นเลย ตามร้านหนังสือและข้างถนนเต็มไปด้วยหนังสือฝ่ายซ้ายวางขายกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง ใครไม่อ่านสรรนิพนธ์เล่มแดงดูเชยมาก ใครไม่ติดเข็มดาวแดงดูตกยุค

ช่วงนั้นเป็นโอกาสดีที่สุดของ “ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) “ สายงานในเมืองสามารถเจาะเข้าถึงและชักชวนนักศึกษาหลายคนเป็น “เยาวชนของพรรค” หรือ ย. และหลายคนพัฒนาเป็นสมาชิกพรรค โดยมี “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ซึ่งถูกมองว่าเป็น ”แนวร่วม” ของ พคท.

เมื่อกระแสซ้ายขึ้นมาแรง กระแสขวาก็ออกมาต่อต้าน ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ คล้ายกับการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อลูกตุ้มแกว่งไปทางซ้ายมากขนาดไหน ก็แกว่งมาทางขวาเท่าๆ กัน เมื่อกระแสซ้ายเกิดและขยายตัว ก็เกิดกระแสขวาออกมาต่อต้านในปริมาณเท่ากัน หรือมากกว่า เพราะฝ่ายขวามีมากกว่า

ในสภาก็มีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพรรคฝ่ายซ้าย ที่นำโดย “ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ” ทางด้านกรรมกร มีศูนย์กลางอยู่ที่สหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น ด้านนักศึกษามี “องค์การนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ( อศนท.) และองค์การนักเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ

ส่วนฝ่ายขวาจัดนำโดย “ พรรคชาติไทย ” ภาคประชาชนก็มีกลุ่ม “กระทิงแดง” และ “ลูกเสือชาวบ้าน “ ส่วนด้านสื่อมวลชนก็มี “สถานีวิทยุยานเกราะ” ของทหาร และหนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม” เพลงที่ดังที่สุดขณะนั้น คือ “ เพลงหนักแผ่นดิน ” ที่ใช้ปลุกระดมคนให้ลุกขึ้นสู้กับฝ่ายซ้าย รัฐบาลมี พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายจัดการกับคนที่นิยมคอมมิวนิสต์

ในช่วงเวลานั้น เป็นที่ทราบกันว่า ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายคงปะทะกันสักวันหนึ่ง นัยหนึ่ง ฝ่ายขวาคงหาทาง “ พิฆาต “ ฝ่ายซ้าย หลายคนที่โตพอจะรู้ความในช่วงเวลานี้ตั้งคำถามว่า กระแสฝ่ายขวามาแรงมาก นักการเมืองฝ่ายซ้ายถูกลอบยิงเสียชีวิต ผู้นำแรงงานบางคนถูกลอบยิงกลางเมือง ฝ่ายซ้ายน่าจะลดกิจกรรมลง แต่กลับมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นและท้าทายมากขึ้น เพราะอะไร

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผู้นำ พ.ค.ท.ได้วิจารณ์กันเองว่า แกนนำในเมือง ( กทม. ) สุ่มเสี่ยงเกินไป จะทำให้เกิด เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพื่อนำนึกศึกษาหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พ.ค.ท. โดยคิดว่าจะไปแก้จุดอ่อนของ พคท. ที่มีแต่ผู้นำชาวนา ความคิดในพรรคส่วนหนึ่งต้องการสมาชิกที่เป็นปัญญาชนมากขึ้นเพื่อไปช่วยสร้างพรรค แต่ปรากฏว่า ผิดคาด เพราะในป่าเกิดการขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับผู้นำพรรครุ่นเก่า จนเกิด “ป่าแตก” เมื่อนักศึกษาทยอยออกจากป่าหลังจากรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ส่วนหนึ่งเกิดจากคนหนุ่มสาวอ่อนด้อยประสบการณ์ เปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาอ้างความชอบธรรมในการบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงละครที่มีการเขียนบท พล็อตการแสดงไว้ล่วงหน้า และถูกนำมาสร้างเหตุผลของฝ่ายขวาจนสถานการณ์ไปไกลเกินกว่าการควบคุม

กระแสขวาขณะนั้นแรงมาก ทั้งนักการเมืองฝ่ายขวา กลุ่มพลังฝ่ายขวาวางแผนที่จะจัดการเด็ดขาดกับแกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากนักศึกษาทบทวนตนเองในเวลาต่อมา ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ และคิดว่าตัวเองแน่ ขนาดที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งพอรู้ว่าอะไรจะเกิดขั้นและขอร้องให้นักศึกษาสาลายตัว นักศึกษายังไม่ยอม ซ้ำยังอวดดีว่า หากสลายตัว ตนเองจะได้อะไร ที่ลงทุนทำมาก็จะหายไปหมด

ผลสุดท้าย นอกจากพวกตนตกเป็นเหยื่อจนบาดเจ็บล้มตายติดคุกแล้ว ยังทำให้คนดี ๆ เช่น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษจนเสียชีวิตที่นั่น แม้มีความพยายามเลี้ยงกระแส 6 ตุลา 19 ไว้ แต่นักศึกษาต้องไม่ทำตนตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของนักการเมืองและนักวิชาการบางคนที่พยายามสร้างกระแสทางการเมืองขณะนี้

เราเรียนรู้จากประสบการณ์ และไม่ต้องไปหาว่าใครถูกใครผิด ทุกฝ่ายมีส่วนถูกผิดด้วยกัน ทั้งนั้น แต่เราจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ได้อย่างไร

ฉากวันที่ 6 ตุลา 19 ปิดไปแล้ว วันนี้เป็นฉากใหม่ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปหมด โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร จากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ กลายเป็นสื่อดิจิตัลที่ทุกคนสามารถติดต่อกันได้ทุกที่ ทุกเวลา กว้างไกล

วันนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายเช่นในสมัย 6 ตุลา 19 แต่มีความพยายามสร้างกระแสเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ภายใต้คำว่า “ปฏิรูป” ปั่นกระแส “เอาเจ้า” กับ “ไม่เอาเจ้า” เป้าหมายกลุ่มคนไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้น แต่ลงไปถึงนักเรียนมัธยม และ เริ่มล้างสมองกันตั้งแต่เด็กเล็ก การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เดิมพันแค่ซ้ายกับขวาหรือระบอบการปกครองประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ แต่เดิมพันด้วยสถาบันหลักของชาติ และขนบประเพณีวัฒนธรรมไทยกันเลยทีเดียว

หลังโควิด 19 สงบลง เราคงเห็นการออกมามากขึ้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกปลุกระดมให้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ประสานกับม็อบการเมืองและม็อบก่อกวนต่าง ๆ ต่อไปอาจเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนต่างรุ่นที่ความคิดทางการเมืองบางอย่างต่างกัน

สุดท้าย ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า อะไรที่เหมาะสมกับประเทศไทย

การต่อสู้ครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ รุนแรง ดุเดือด มากกว่าตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ( จบ )