posttoday

ถึงเวลาเร่งเครื่องรวมพลัง สู้วิกฤตโลกร้อน

06 ตุลาคม 2564

โดย...ธันยพร กริชติทายาวุธ

*****************************

เมื่อวิกฤติโควิด 19 เริ่มทุเลาลง โลกยังต้องเผชิญวิกฤติขนาดใหญ่และร้ายแรงที่รออยู่ นั่นคือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นประเด็นเร่งด่วนและท้าทายที่สุดประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสถิติต่างๆ ล้วนยืนยันว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้น

ในขณะที่ข้อตกลงปารีสพยายามยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้เพิ่มไปกว่า 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังที่นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้ว่า “There is no Plan B because there is no Planet B.” กล่าวคือ เราต้องร่วมกันแก้ไขสถานการณ์รุนแรงนี้ อย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เพราะเราไม่มีโลกอื่นสำรองไว้เราจึงต้องรักษาโลกนี้ไว้ให้ดีที่สุด และนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกผลการประเมินล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Inter-governmental Panel on Climate Change) ว่า “Code Red” แสดงถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ขั้นสูงสุด

ถึงเวลาเร่งเครื่องรวมพลัง สู้วิกฤตโลกร้อน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อผลกระทบของเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศไทยของเราไม่สามารถหลบหนีจากผลกระทบอันรุนแรงเหล่านี้ได้ โดยผลกระทบในเรื่องนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่จะเพิ่มความถี่และความรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้น และผลกระทบอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง ระบบอาหารหยุดชะงัก น้ำท่วมเมืองชายฝั่งทั่วโลก โรคระบาด  และอาจทำให้โลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด 10% ภายในปี 2593 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจลดลงถึง 20% หากเราไม่ดำเนินการใด ๆ

ในปีนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จึงได้หยิบยกวิกฤตโลกร้อน หารือกับสมาชิกกว่า 80 องค์กร พร้อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในไทย เพื่อร่วมหาทางออก (solutions-oriented) ในการบรรเทาและป้องกันปัญหา อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีภาคเอกชนเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนที่สำคัญ  และกำหนดให้การรับมือกับ มหันภัยโลกร้อนเป็นประเด็นหลักในงานใหญ่ประจำปีของสมาคม GCNT Forum : Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอความคืบหน้าของ การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์กรสมาชิก ที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ไว้ ในงาน GCNT Forum ครั้งแรกเมื่อปี 2563  และนำเสนอสถานะล่าสุดว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย รวมทั้งนำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในส่วนความรับผิดชอบของภาคเอกชนไทย ตลอดจนระดมความมุ่งมั่นและการปฏิบัติจากภาคส่วน ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

GCNT Forum: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions หรือ การประชุมสุดยอดผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด มิติใหม่ของการเร่งลงมือทำ จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 นี้ เวลา 9.00 – 16.30 น. บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) สอดคล้องกับแนวทางของสานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยนายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญ โภคภัณฑ์ คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมด้วย ผู้นำจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  ธนาคาร เอชเอสบีซี  บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด  บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส)  บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

โดยจะมีการเสวนาในประเด็นสำคัญ ตั้งแต่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย การหารือถึงทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มเกษตร/อาหาร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป  บทบาทของภาคการเงินและการลงทุนในการป้องกันแก้ปัญหาการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และการหาข้อสรุปร่วมกันในร่วมพลังสู้วิกฤตโลกร้อน

ผู้สนใจร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ด้วยการร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ https://gcntforum2021.globalcompact-th.com  หรือแสกน QR Code