posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

04 ตุลาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                   

*******************

นอกจากปีนี้ จะครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร 19 กันยายนแล้ว ยังครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วย เมื่อสักสองสัปดาห์มานี้ ผมได้หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯมาเล่มหนึ่ง ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2521 สองปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ  หนังสือเล่มนี้ชื่อ “เบื้องหลัง 6 ตุลา: วิเคราะห์ปัญหาการก่ออาชญากรรมของชนชั้นปกครองปฏิกิริยากับสมุนบริวารและจักรพรรดินิยมอเมริกา: กรณีบุกฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙”   จัดทำโดย “แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

ถ้า “แนวร่วมฯ” ที่ว่านี้ พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็นับว่าจักรพรรดินิยมอเมริกาเลวร้ายแต่ในทางนโยบายต่างประเทศ แต่ภายในประเทศ รัฐบาลจักรพรรดินิยมที่ว่านี้ยอมรับให้คนไทยที่เป็นปฏิปักษ์กับตนสามารถพำนักอาศัยในประเทศได้และให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหวตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารโจมตีรัฐบาลสหรัฐฯที่ให้วีซ่าเดินทางเข้าประเทศและพำนักอาศัยได้

ในช่วง พ.ศ. 2519 นโยบายต่างประเทศอันเลวร้ายของจักรพรรดินิยมอเมริกาคือ การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ) และสนับสนุนร่วมมือกับชนชั้นปกครองและสมุนบริวารในการ “บุกฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”                                              

ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ (จักรวรรดินิยมอเมริกา) มีส่วนในการ “บุกฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อนฯ” ก็แปลว่าขณะนั้น รัฐบาลสหรัฐฯเห็นว่า ขบวนการนักศึกษาและกิจกรรมต่างๆเป็นปฏิปักษ์กับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ความเป็นปฏิปักษ์ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษามีต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯคือ การต่อต้านการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ควรให้สหรัฐฯมาตั้งฐานทัพเพื่อส่งเครื่องบินไปทั้งระเบิดโจมตีประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชาและเวียดนาม

สหรัฐฯมีผลประโยชน์อะไรที่ต้องรักษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ถึงกับต้องมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ?

ขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั่วโลกอยู่ภายใต้ยุคสงครามเย็น อันเป็นการประชันขันแข่งกันระหว่างกลุ่มประเทศทุนนิยมที่มีสหรัฐฯและยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำ และกลุ่มประเทศสังคมนิยมที่เป็นโซเวียตรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ของทั้งสองค่ายนี้ทำให้เกิดศึกแย่งชิงประเทศต่างๆในโลก  เมื่อทั้งสองฝ่ายแย่งชิงการครองอำนาจนำในประเทศต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่ายของผู้คนภายในประเทศนั้นๆ โดยแต่ละฝ่ายสนับสนุนแต่ละอุดมการณ์และได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจแต่ละฝ่าย ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สงครามตัวแทน” (proxy war) คือ คนแต่ละฝักฝ่ายในประเทศต่อสู้กันและกันภายใต้อุดมการณ์และการได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยที่ประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งไม่ได้ทำสงครามกันและกันเอง และมี “ตัวแทน” ของแต่ละฝ่ายต่อสู้กันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างกองกำลังใต้ดินหรือกองกำลังในป่ากับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล หรือการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ฝักฝ่ายอุดมการณ์ต่างกัน                                

ปรากฎการณ์ “สงครามตัวแทน” เกิดขึ้นในประเทศเกิดใหม่ทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่างอยู่ในสภาพด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา และสถาบันทางการเมืองภายใต้ประชาธิปไตยที่ยังเพิ่งเริ่มก็ยังไม่ตั้งมั่น  แม้ประเทศไทยจะไม่ถือเป็นประเทศเกิดใหม่ เพราะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น แต่กระนั้นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยก็ยังไม่ตั้งมั่น เพราะก่อนหน้า พ.ศ. 2519  เกิดรัฐประหาร 4 ครั้งและการก่อกบฏ 9 ครั้ง   ซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเกิดใหม่อย่างลาว กัมพูชาและเวียดนามเสียอีก  โดยก่อน พ.ศ. 2519 ลาวมีรัฐประหาร 2 ครั้ง กัมพูชา 1 ครั้ง ส่วนเวียดนามมีรัฐประหาร 4 ครั้งและการก่อการกบฏ 3 ครั้ง                                                      

รัฐประหารครั้งแรกในลาวเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2502  และถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ “สงครามตัวแทน”  โดยรัฐประหาร พ.ศ. 2502 นำโดยนายพลภูมี หน่อสวรรค์ (หลานของเขาคือ ภูสมิง หน่อสวรรค์ นักร้องนักดนตรีโฟลค์ซองที่เคยเป็นที่นิยมในหมู่แฟนเพลงชาวไทยในช่วงทศวรรษ 2520)                           

ความเป็นมาของนายพลภูมี หน่อสวรรค์ เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2463  ที่สะหวันนะเขต (ติดกับจังหวัดมุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญและอุบลราชธานีของไทยโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเขตแดน) ซึ่งตอนนั้นยังเป็นดินแดนลาวในอารักขาของฝรั่งเศส  และถ้านับสายญาติในไทย  ภูมี หน่อสวรรค์เป็นหลานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยจอมพลสฤษดิ์มีศักดิ์เป็นน้า

ภูมีเริ่มต้นทำงานเป็นข้าราชการในระบบบริหารราชการของฝรั่งเศสในลาว และในช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และเขาได้ลี้ภัยจากลาวในช่วงพ.ศ. 2489-2492 ที่ฝรั่งเศสกลับมาปกครองลาวในฐานะอาณานิคมอีก                                    

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2489 ได้เกิดสงครามอินโดจีน เป็นการต่อสู้ระหว่างกองกำลังฝรั่งเศสกับ “เวียดมิน” หรือ “กลุ่มสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในฐานะเป็นแนวร่วมแห่งชาติในเวียดนาม  แม้ว่าความขัดแย้งของสองฝ่ายนี้จะครอบคลุมไปทั่วประเทศและขยายไปถึงดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสในลาวและกัมพูชา แต่การสู้รบระหว่างกองกำลังฝรั่งเศสกับ “เวียดมิน” เกิดขึ้นบริเวณตังเกี๋ยทางตอนเหนือของเวียดนาม                                                                              

ในปี พ.ศ. 2493 ภูมี หน่อสวรรค์ได้เข้าเป็นทหาร และเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน   จนกระทั่งเมื่อสงครามอินโดจีนได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2497 โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ส่งผลให้ลาวได้เป็นเอกราชในปีนั้น  และมีการร่างรัฐธรรมนูญ และมีการปกครองประเทศภายใต้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ในเวลาต่อมา            

ในปี พ.ศ. 2498  เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหาร   ต่อมาในปี พ.ศ.  2500 เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสโดยเป็นนายทหารลาวคนแรกที่ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยการสงครามของฝรั่งเศส (École de Guerre)  และในช่วงที่เขาศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศสนี้เอง ที่เขาได้มีโอกาสรู้จักนายจอห์น เฮซีย์ หรือ “แจ๊ค”  (John F. "Jack" Hasey)  เจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อ “ซีไอเอ”                                                                                                                          

           

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

ปี พ.ศ. 2501 เขาได้เดินทางกลับลาว และได้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งหน่วยงาน “คณะกรรมาธิการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ”  (the Committee for the Defense of National Interest/ CDNI)  หน่วยงานดังกล่าวนี้เริ่มก่อตั้งเป็นทางการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 จากการที่กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาต้องการจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านคอมมิวนิสต์  โดยมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลที่พวกคอมมิวนิสต์ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤษภาคม ผู้ที่ร่วมก่อตั้ง CDNI คือ นักการเมืองและนายทหารที่เป็นคนรุ่นหนุ่ม โดยคนเหล่านี้ต้องการให้ CDNI เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการเมืองลาว นอกเหนือไปจากกลุ่มการเมืองเดิมที่ครองอำนาจอยู่ ซึ่งมีนักการเมืองรุ่นเก่าและนายทหารอาวุโส                                                             

ขณะเดียวกัน CDNI ก็ประกาศจุดยืนในฐานะที่เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นในรัฐบาลด้วย

ผู้ให้การหนุนหลัง CDNI คือ สถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในลาว  การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่ม CDNI ปรากฏชัดเจนในการให้คำแนะนำปรึกษาทางการเมืองและกิจกรรมพลเมือง ซึ่งกิจกรรมพลเมืองที่ทางสหรัฐฯให้การสนับสนุน คือ Operation Booster Shot เป็นโครงการให้การช่วยเหลือแก่คนในพื้นที่ชนบทในลาว ที่มีการดำเนินการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ. 2501  โดยมีเป้าหมายที่จะมีอิทธิพลทางการเมืองต่อคนในชนบทในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 4 เดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น

การเลือกตั้งที่ว่านี้ ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป แต่เป็นการเลือกตั้งพิเศษที่เกิดขึ้นจากการกำหนดเขตเลือกตั้งเพิ่มจากที่มีอยู่  อันนำไปสู่การเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 21 คนในสภาฯ

โดยแต่เดิมสภาฯของลาวมี ส.ส. 39 คน  ดังนั้น หลังการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใหม่ สภาผู้แทนราษฎรของลาวก็จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 60 คน  

จากการที่กระแสคอมมิวนิสต์กำลังเติบโตทางการเมืองในขณะนั้น  สหรัฐฯจึงต้องหาทางลดอิทธิพลกระแสคอมมิวนิสต์ โดยให้การสนับสนุนผ่าน CDNI ในการทำทุกวิถีทางที่จะทำให้คนชนบทที่อยู่ในเขตเลือกตั้งใหม่ไม่เลือกนักการเมืองที่เป็นแนวคอมมิวนิสต์ และเลือกผู้สมัครที่สหรัฐฯต้องการ  ก่อนเลือกตั้ง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501   พรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดคือ พรรคแนวชาติก้าวหน้า (National Progressive Party) มี ส.ส. 22 คน  รองลงมาคือ พรรคอิสระ (Independent Party) มี 7 คน ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค 5 คน  พรรคประชาธิปัตย์ (Democratic Party) 3 คน พรรคเอกภาพชาติลาว (Lao National Union Party)  2 คน                                                                                                                     

พรรคแนวชาติก้าวหน้าจัดเป็นพรรคที่มีจุดยืนกลางๆ ไม่ซ้ายไม่ขวา โดยมีหัวหน้าพรรค คือ เจ้าสุวรรณภูมา                                                                                                                                           

ผมจะยังไม่เปิดเผยผลเลือกตั้งเพิ่มในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ว่าตกลงแล้ว โครงการ CDNI ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน                                                        

แต่ขอบอกว่า หลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้นอีกประมาณปีกว่า ได้เกิดรัฐประหารในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังจากลาวได้เอกราชและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาเป็นเวลา 12 ปี 

ผู้นำการทำรัฐประหารคือ นายพลภูมี หน่อสวรรค์ ผู้มีโอกาสได้สัมพันธ์ติดต่อกับนายจอห์น เฮซีย์ หรือ “แจ๊ค”  (John F. "Jack" Hasey)  เจ้าหน้าที่ซีไอเอในครั่งที่เขาศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส  นายพลภูมีเป็นสมาชิกก่อตั้ง CDNI หน่วยงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในโครงการ Booster Shot ที่มีนายเจมส์ แกรแฮม พาร์สันส์ (James Graham Parsons)  อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำราชอาณาจักรลาวเป็นผู้วางแผนให้โครงการนี้ (เขาหมดวาระการเป็นเอกอัครราชทูตที่ลาววันที่  8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501) และมีนายรูฟูส ฟิลลิปส์ (Rufus Phillips) เจ้าหน้าที่ซีไอเอและนายโฮเรซ แฮริสัน สมิธ (Horace Harrison Smith) ผู้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตต่อจากนายพาร์สัน) เป็นผู้ควบคุมโครงการ

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่หนึ่ง: ว่าด้วยสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน)

ส่วนนักการเมืองลาวฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติหรือไม่ ?  โปรดติดตามตอนต่อไป