posttoday

วงโคจรดาวเทียม ไม่ใช่อธิปไตยของประเทศใด

04 ตุลาคม 2564

โดย...พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

*********************************

ช่วงที่ผ่านมาเกิดข้อสงสัยมากมายว่าวงโคจรดาวเทียมที่อยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศใดประเทศหนึ่งจากการได้รับการจัดสรรจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)แล้ว จะถือว่าประเทศนั้นมีอธิปไตยเหนือวงโคจรที่ได้รับการจัดสรรหรือเปล่า ต้องบอกว่าจริงๆแล้ว เรื่องนี้อยู่ภายใต้สนธิสัญญาการใช้งานอวกาศร่วมกัน (The Outer Space Treaty) Article II ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ 27 มกราคม 2510(1967) ปรากฏข้อความ  “Outer space, including the moon and other celestial bodies, is not subject to national appropriation by claim of sovereignty, by means of use or occupation, or by any other means.” 

หมายความว่า ในห้วงอวกาศ ซึ่งรวมไปถึงดวงจันทร์, บรรดาดวงดาวต่างๆ เทหวัตถุ (space object หรือสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น)ทั้งหมดที่อยู่ในห้วงอวกาศ ไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยหรือการครอบครองโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง  รวมไปถึงวงโคจรของดาวเทียมพ้องคาบโลก/วงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกไปเป็นระยะทางมากกว่าสามหมื่นห้าพันกิโลเมตรไม่สามารถให้การจัดสรรโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าที่ 120 หรือ 78.5 องศาตะวันออกที่ประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ใช้งานจากความเห็นร่วมกันของชาติสมาชิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่มีมากกว่าร้อยประเทศ มิได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย

ดังนั้น การใช้งานวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าจึงอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐาน “ใครมาก่อนได้รับการพิจารณาก่อน (First come First Serve)” เริ่มต้นด้วยการที่ประเทศที่มีความต้องการใช้งานวงโคจรใด จะต้องให้หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เป็น ITU Admin เข้าสู่กระบวนการ Filing โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มต้นด้วยการ A (Advance Publication Information) C (Coordination) และ N (Notification) โดยกระบวนการที่สำคัญจะต้องมีการประสานงานความถี่กับชาติที่มีวัตถุอวกาศที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบเมื่อจะส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไป การดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 7 ปี นับแต่วันที่เริ่มต้นส่งเอกสารในขั้นตอน A โดยเมื่อกระบวนการ Filing เสร็จสมบูรณ์ ประเทศที่ดำเนินการจะได้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรตามที่ขอไว้ได้ แต่มิได้หมายความว่าสิทธิในวงโคจรนั้นเป็นสิทธิการครอบครองเป็นเจ้าของ หรือปิดกั้นการใช้งานของชาติสมาชิกอื่น ๆ ได้ ดังนั้นถ้าชาติสมาชิกอื่น ๆ มีความต้องการทำกิจกรรมอวกาศต่าง ๆ ณ วงโคจรนั้นและไม่กระทบสิทธิการใช้งานของชาติสมาชิกที่มีวัตถุอวกาศในวงโคจรเดียวกันย่อมสามารถกระทำได้ 

ส่วนเรื่องการประมูลเกี่ยวกับดาวเทียมที่ผ่านมาของประเทศไทย มีข้อสงสัยว่าเป็นการประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศไทยได้สิทธิเป็นเจ้าของครอบครองอยู่ ที่ถูกจัดสรรโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศใช่หรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ตามหลักการสนธิสัญญาการใช้งานอวกาศร่วมกัน (The Outer Space Treaty) ไม่ได้ให้สิทธิประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือวงโคจรดาวเทียม ดังนั้นวงโคจรดาวเทียมไม่ได้อยู่ใต้สิทธิการครอบครองของประเทศไทย/รัฐบาลไทย ด้วยหลักการดังนี้ ประเทศไทย/รัฐบาลไทยไม่สามารถนำวงโคจรดาวเทียมมาประมูลเพื่อหารายได้ให้แก่รัฐ

ดังนั้น การประมูลในกิจการดาวเทียมเมื่อ 2534 เป็นการประมูลเพื่ออนุญาตให้ผู้ชนะได้รับคุ้มครองการผูกขาดเป็นเวลา 8 ปี (ก.ย. 34 – ก.ย. 42) และการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นเวลา 30 ปี (ก.ย. 34 – ก.ย. 64) ทั้งนี้ในช่วงเวลานั้นกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในบริบทแห่งการแข่งขันเสรี แต่ยังอยู่ภายใต้กำกับของภาครัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีการดำเนินการดังนี้ ทำข้อเสนอผลประโยชน์ด้านตัวเงิน (Revenue Sharing) จัดเงินประกันรายได้ขั้นต่ำแก่รัฐจำนวน  1,415 ล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน รัฐใช้วงจรดาวเทียมในย่านความถี่ C-Band 1 ทรานสพอนเดอร์ ตลอดอายุสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

โดยการประมูลในกิจการดาวเทียม กันยายน 2564 เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ได้มีการดำเนินการก่อนภายใต้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเมื่อ 10 กันยายน 2564 โดยทั้งนี้ลักษณะจัดชุด (Package) จะประกอบไปด้วยสถานะของสิทธิการเข้าใช้วงโคจร (Filing) ที่ทั้งอยู่ในขั้นตอนสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทั้งนี้ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการในการนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรให้เรียบร้อยตามเวลาที่กำหนด

แล้วประเทศไทยเหมาะกับการประมูลในกิจการดาวเทียมหรือไม่ สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้หรือเปล่า ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องผลประโยชน์ของประเทศในบริบทการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากผลประโยชน์ของประเทศภายใต้การผูกขาดโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมุ่งเน้นให้ประโยชน์ที่จะเกิดกับรัฐเป็นหลัก ดังนั้นประโยชน์ของประเทศในกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลทั้งประโยชน์ของรัฐ ประโยชน์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประโยชน์ของผู้บริโภค

การประมูลในกิจการดาวเทียมเดือนกันยายน 2534 อาจสร้างผลกระทบต่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม และประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะในการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลที่เน้นการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐสูงสุด แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมเนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในระยะเวลาที่กำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เช่น วงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ที่สถานะสิทธิการใช้งานของประเทศไทยอยู่ในขั้นสมบูรณ์แล้ว และต้องนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในระยะเวลาที่เหลือน้อยกว่าสองปี ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ สิทธิการพิจารณาจะย้ายไปอยู่กับประเทศอื่นๆ และถ้าประเทศไทยต้องการกลับมาขอใช้สิทธิวงโคจรนี้อีกครั้งหนึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายและเวลาในการดำเนินการ Filing ใหม่

ดังนั้น ด้วยถูกจำกัดวิธีการจัดสรรโดยวิธีประมูล ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ กสทช.จัดให้มีการประมูลขึ้นแต่ได้รับความสนใจน้อยมาก มีเพียงผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว ทั้งที่มีชุดวงโคจรและความถี่ถึง 4 ชุด รวมทั้งเวลาที่จะต้องรีบนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรตามกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ดังนั้น มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ประเทศไทยอาจสูญเสียสิทธิ Filing ที่มีอยู่ และจะส่งผลกระทบตามพ.ร.บ.กสทช. 2562 ที่กำหนดให้ กสทช. ดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ และดำเนินการให้มีการใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้น ในบริบทกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้การเปิดเสรี การแข่งขันจะมีความสำคัญต่อประโยชน์ของผู้บริโภค การลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดการแข่งขันย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการดำเนินการเพื่อให้ได้สิทธิการใช้งานวงโคจรควรเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นในตลาด นอกเหนือสิทธิ Filing ที่ค้างอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดไปสู่การเปิดเสรี ถ้าผู้ประกอบการพิจารณาเห็นว่าวงโคจรอื่นมีความเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของตนเองก็สามารถมาเริ่มดำเนินการ Filing ด้วยหลักการ “First Come, First Serve” ที่สอดคล้องกับวิธีการดำเนินการของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ