posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบแปด): กลุ่มการเมืองสยามในต้นรัชกาลที่ห้า: การสังเคราะห์และตีความใหม่

30 กันยายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

หากนำการแบ่งกลุ่มการเมืองตามที่หมอสมิธได้เริ่มไว้ในในช่วงต้นรัชกาลที่ห้า (ปี ค.ศ. 1843/ พ.ศ. 2416) รวมทั้งการวิเคราะห์นักวิชาการท่านอื่นๆ อได้แก่ เดวิด วัยอาจ (David K. Wyatt), ชัยอนันต์ สมุทวนิช, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร มาพิจารณา จะพบว่า การแบ่งกลุ่มการเมืองโดยพิจารณาการรับอิทธิพลตะวันตกอย่างเดียวเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะอย่างที่ยอมรับกันว่า ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลและสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริวงศ์ต่างรับอิทธิพลตะวันตกด้วยกันทั้งสิ้น และถ้าจะกล่าวว่ากลุ่มสยามหนุ่นรับและนิยมอิทธิพลตะวันตกมากกว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญก็ไม่ใช่

อีกทั้งบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็มิได้มีแต่เฉพาะผู้ที่รับอิทธิพลตะวันตกเท่านั้น อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีพระชนมายุ 54 พรรษาในขณะนั้น และไม่ได้ผ่านการศึกษาแบบตะวันตกเหมือนอย่าง “คนรุ่นลูก” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน คนรุ่นลูกของสมเด็จเจ้าพระยาฯที่ได้รับการศึกษาหรือผ่านประสบการณ์ในต่างประเทศก็มิได้มาอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่ม แต่ยังคงอยู่กับฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ หากจะใช้เกณฑ์รุ่น (generation) ในการแบ่งกลุ่มการเมืองก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะบุคคลในฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมิได้มีแต่เจ้านายและขุนนางรุ่นหนุ่มเท่านั้น ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของบุคคลรุ่นอาวุโสที่อยู่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

แต่ครั้นจะแบ่งกลุ่มการเมืองตามที่ธิษณาได้แบ่งออกเป็น กลุ่มวังหลวง กลุ่มตระกูลขุนนาง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แม้ว่าใกล้เคียงกับการแบ่งของผม แต่ก็ดูจะละทิ้งเกณฑ์ในเรื่องการรับอิทธิพลตะวันตกและรุ่น (generation) ที่พอจะมีความสำคัญอยู่บ้างไปเสียเลย

ดังนั้น ในการแบ่งของผม ผมจึงเห็นว่าควรจะผสมผสานปัจจัยต่างๆเข้าด้วยกันและจัดแบ่งกลุ่มการเมืองในช่วงเวลานั้นโดยนำความเห็นของวัยอาจที่ว่า กลุ่มสยามหนุ่มและกลุ่มสยามอนุรักษ์นิยมต่างรับอิทธิพลตะวันตก แต่มีเป้าหมายที่ต่างกันมาขยายเป็นว่า เป้าหมายที่แตกต่างกันนี้คือเป้าหมายเฉพาะหน้า นั่นคือ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรับความรู้และเทคนิกของตะวันตก (ตามการวิเคราะห์ของวัยอาจ) มาใช้เพื่อปรับสมการสมพันธภาพแห่งอำนาจ โดยมุ่งหวังที่จะดึงอำนาจกลับมาและเป็นฝ่ายครองอำนาจนำ ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายต้องการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้ และฝ่ายรัชกาลที่ห้าเองก็มีสมาชิกที่มาจากคนทุกรุ่น และมีทั้งที่รับและไม่รับตะวันตก

ส่วนฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯต้องการใช้ความรู้และเทคนิกของตะวันตกเท่าที่จะรักษาสมการการเมืองที่ตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ และจะต่อต้านการใช้ความรู้และเทคนิกในการปรับเปลี่ยนสมการสมพันธภาพแห่งอำนาจของฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และแม้ว่าฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯจะตระหนักว่าการคุกคามของชาติตะวันตกเป็นภยันตรายร่วมกันต่อสยามและเห็นความจำเป็นในการใช้ความรู้และเทคนิกตะวันตกในการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าวเช่นกัน แต่เนื่องจากของสองสิ่งนี้แยกจากกันไม่ออก จึงทำให้ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯต้องทัดทานการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยหรือถ้าไม่ได้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ต้องการให้รีบเร่งจนเกินไป เพราะฝ่ายตนจะเสียประโยชน์

ดังเห็นได้จากกรณีที่สมเด็จเจ้าพระยาฯคัดค้านระบบการเก็บภาษีใหม่จากการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ (ดังจะได้กล่าวในตอนต่อไป) โดยเฉพาะในกรณีภาษีฝิ่น แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว เพราะสมเด็จเจ้าพระยาฯเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ภาวะการเงินแผ่นดินอยู่ในสภาวะวิกฤตร้ายแรง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการดูแลกิจการสาธารณะและความเป็นอยู่ของราษฎร ที่อาจเป็นจุดอ่อนให้ชาติตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซง แต่กระนั้นการปรับบระบบภาษีใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้เพียงทำให้รายได้เข้าแผ่นดินมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อรายได้ส่วนพระองค์ด้วยในเวลาเดียวกันด้วย

แต่เป้าหมายร่วมกันที่เป็นทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของทั้งฝ่ายนี้คือ การรักษารูปแบบการปกครองผสมระหว่างราชาธิปไตยและอภิชนาธิปไตยไว้ เพราะรูปแบบการปกครองนี้จะคงยังประโยชน์สูงสุดให้แก่ทั้งสองฝ่าย เพียงแต่แต่ละฝ่ายต้องการให้ฝ่ายตนเป็นผู้ครองอำนาจนำ

ส่วนฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯนั้นเป็นผู้ที่รับและนิยมตะวันตกอย่างโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด แต่แม้ว่าจะมีเป้าหมายร่วมกันกับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯในกรณีภัยคุกคามจากชาติตะวันตกต่อสยาม ซึ่งหนทางในการป้องกันภยันตรายดังกล่าวคือ การปฏิรูประบบการคลังและกำลังคนและการบริหารราชแผ่นดินโดยใช้ความรู้และเทคนิกตะวันตก แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปดังกล่าวไม่ใช่จะเป็นประโยชน์เพียงต่อแผ่นดินเท่านั้น แต่จะทำให้ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีอำนาจเข้มแข่งขึ้นมาก อันเป็นการลดทอนอำนาจของฝ่ายตน

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบแปด): กลุ่มการเมืองสยามในต้นรัชกาลที่ห้า: การสังเคราะห์และตีความใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ดังนั้น เป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้าของกรมพระราชวังบวรฯจึงไม่ต่างจากฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั่นคือ ทัดทานและต่อต้านการปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะนโยบายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของฝ่ายตน แต่ในขณะที่เป้าหมายหลักที่เป็นทั้งเป้าหมายระยะสั้นและยาวของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ คือการรักษาสมการของสัมพันธภาพทางอำนาจที่ฝ่ายตนครองอำนาจนำอยู่ แต่เป้าหมายเฉพาะหน้าของฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯคือมุ่งที่จะหาโอกาสและจังหวะที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะน่าจะทรงมีความคาดหวังมาตั้งแต่ครั้งที่ทรงคาดหวังจะได้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯมาตั้งแต่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคตแล้ว

และเมื่อสิ้นรัชกาลที่สี่ เป็นครั้งแรกในการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์และทรงพระประชวรหนักอยู่ด้วย กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงมีความคาดหวังสูงที่จะมีโอกาสได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แม้ว่าจะพลาดโอกาสไปเมื่อที่ประชุมเสนาบดีและพระราชวงศ์พร้อมใจเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

แต่กระนั้น ความหวังดังกล่าวนี้ก็ยังคงอยู่ เมื่อหลังจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินใช้อำนาจอิทธิพลให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีใช้อำนาจพระมหากษัตริย์แต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯ และความคาดหวังของพระองค์ยังคงอยู่ตราบเท่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยหวังการสนับสนุนจากฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ ส่วนภยันตรายจากชาติตะวันตกนั้น พระองค์คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เนื่องจากพระองค์มีความสนิทสนมอย่างแนบแน่นกับเซอร์โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษที่สนับสนุนพระราชบิดาและพระองค์ตลอดมา

เซอร์โทมัส น๊อกซ์ กงสุลอังกฤษ เป็นนายทหารอังกฤษที่เดินทางมาสยามและรับราชการในสมัยรัชกาลที่สี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2394 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฝึกทหารวังหน้าภายใต้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เขาได้แต่งงานกับปราง สตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทานให้เป็นภรรยา และมีลูกด้วยกันสามคน ต่อมาเมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้งกงสุลในกรุงเทพฯ และด้วยความรู้การเมืองและภาษาไทย จึงทำงานเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งจนได้เป็นกงสุลเยเนอราล มีบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ อีกทั้งยังสนิทและคุ้นเคยกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และได้เป็นกงสุลใหญ่อังกฤษกับอภิรัฐมนตรีในสมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯยังทรงพระชนม์ชีพ น็อกซ์สนับสนุนพระองค์อย่างชัดเจน หลังพระองค์สวรรคต น็อกซ์หันมาสนิทสนมกับวังหลวงมากขึ้นและติดต่อกับวังหลวงมาตลอด แต่ฝักฝ่ายในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ) โดยคาดหวังว่าพระองค์จะได้เป็นใหญ่ในกาลข้างหน้า เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญได้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในสมัยรัชกาลที่ห้า น็อกซ์ก็ฝักฝ่ายในกรมพระราชวังบวรฯและรวมทั้งสมเด็จเจ้าพระยาฯด้วย

ดังนั้น กรมพระราชวังบวรฯจึงหวังให้น็อกซ์ในฐานะกงสุลอังกฤษสนับสนุนพระองค์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อโอกาสอำนวยด้วย และถ้าพระองค์ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ก็จะมีจุดยืนและเป้าหมายไม่ต่างจากฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอยู่ดี นั่นคือ พยายามดึงอำนาจกลับคืนแลปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบแปด): กลุ่มการเมืองสยามในต้นรัชกาลที่ห้า: การสังเคราะห์และตีความใหม่

                                                  เซอร์โทมัส น็อกซ์

ส่วนบรรดาข้าราชการขุนนางอื่นๆในระดับรองๆลงมาที่วัยอาจเรียกว่าเป็นพวก “สยามเก่า” นั้น ผมเห็นว่า จากเงื่อนไขของสถานะเครือข่ายและคุณสมบัติ ทำให้ผมจัดคนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มของขุนนางที่ “เพิกเฉย ไม่เลือกข้างและฉวยโอกาส” ซึ่งนอกจากจะอยู่อย่างเป็นกลางแล้ว ก็อาจจะอยู่กับฝ่ายวังหน้า เพราะจากที่วัยอาจกล่าวไว้ว่า คนเหล่านี้จะเกรงผลกระทบที่เกิดจากทั้งนโยบายปฏิรูปของฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและจากอำนาจอิทธิพลของเครือข่ายขุนนางตระกูลบุนนาค แต่อย่างไรก็ตาม ในฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีกลุ่มที่แข็งขันในการต่อสู้เพื่อปรับสมการทางการเมือง นั่นคือ กลุ่มเจ้านายและขุนนางรุ่นหนุ่มที่มาจากหลากหลายตระกูลที่เป็นคนหัวสมัยใหม่เปิดรับวิทยาการความรู้ตะวันตก

การรวมกลุ่มทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ครั้งเสด็จประพาสอินเดียในปี พ.ศ. 2414 จากการคัดเลือกกลุ่มผู้ตามเสด็จ เพื่อเป็นการเตรียมตัวไว้ให้เป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางรุ่นหนุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงอำนาจกลับคืนพระมหากษัตริย์และปฏิรูประบบราชการแผ่นดินเพื่อปกป้องประเทศจากภัยคุกคามจากชาติตะวันตก ขณะเดียวกันก็เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวด้วย นั่นคือ ความคาดหวังที่จะได้ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญที่ถูกผูกขาดและจำกัดคับแคบอยู่แต่ผู้อาวุโสกว่าในเครือข่ายภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

(แหล่งอ้างอิง: David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn; ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนการรัฐไทย; ธิษณา วีรเกียรติสุนทร,

“ดรุโณวาท: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๘๕),” ใน ๑๐๐ เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๑, สยาม ภัทรานุประวัติ, ศุภการ สิริไพศาล, อรพินท์ คำสอน และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร; ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2416-2435): ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค; ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 2; สุภาสินี ขมะสุนทร, แนวคิดทางการเมืองของกลุ่มผู้นำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. 2411-2436, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2528)

*****************