posttoday

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเก้า):ผู้ฝืนกฎวิวัฒนาการ

27 กันยายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                   

*******************

สามขี้เมาคุยการเมือง เป็นนวนิยายญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2430)  ขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเดินไปทางไหนภายใต้การรุกคืบเข้ามาในเอเชียของชาติมหาอำนาจตะวันตก  นั่นคือ การปฏิรูปบ้านเมืองของญี่ปุ่นจะไปในทางเส้นทางไหน ? ผู้แต่งได้ใช้นวนิยายของเขาเป็นเวทีสื่อการถกเถียงถึงทิศทางอนาคตของบ้านเมือง โดยให้มีตัวละครสามคนสนทนากัน ได้แก่ “สุภาพบุรุษ” ผู้นิยมหลักการเสรีนิยมที่มีความเป็นอุดมคติมาก และ “นักสู้” ที่มีความคิดออกแนวชอบต่อสู้ มีคติที่ว่าใครแข็งแรงกว่าก็ได้ไป  และความยิ่งใหญ่ของประเทศคืออารยธรรมที่แยกไม่ออกจากการทำสงคราม

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเก้า):ผู้ฝืนกฎวิวัฒนาการ

ส่วนอาจารย์นันไคคือเจ้าบ้านที่ให้ตั้งวงสุรา เขาเป็นคนที่รอบรู้ในประวัติศาสตร์ และสามารถมองไปถึงอนาคต  แต่คนจะได้ยินความคิดอันบรรเจิดของเขาก็ต่อเมื่อเขาต้องเมาก่อน !

หลังจากที่แขกทั้งสองได้สาธยายความคิดของตนออกไป   พวกเขาก็ได้ขอร้องให้อาจารย์นันไคแสดงความเห็นต่อสิ่งที่พวกเขาได้กล่าวไป

อาจารย์นันไคกล่าวว่า เขายอมรับกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือกฎวิวัฒนาการตามที่ “สุภาพบุรุษ” เชื่อ  แต่เขาเห็นว่า ไม่ควรจะต้องรีบเปลี่ยนแปลงอย่างที่ “สุภาพบุรุษ” เร่งเร้า  เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า “สุภาพบุรุษ” ได้ชี้ว่า สงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1642-1649 เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับชนชั้นนำของประเทศต่างๆที่ควรจะรีบเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศของตน หาไม่แล้วก็อาจจะต้องเจอกับการปฏิวัติเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสไม่เรียนบทเรียนจากสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ทำให้ต้องเผชิญการปฏิวัติที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความสูญเสียอย่างมากมาย เกิดยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวที่ทั่วโลกต้องจดจำและกล่าวถึง

อาจารย์นันไคชี้ว่า ประวัติศาสตร์มนุษย์ภายใต้กฎวิวัฒนาการ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเดินเป็นเส้นตรงก้าวหน้าเสมอ ขณะเดียวกัน หากพิจารณาประวัติศาสตร์ให้ดี จะพบว่า บางครั้งการเปลี่ยนแปลงมันเดินถอยหลังตกต่ำก็มี  หรือบางทีก็เบี่ยงไปทางซ้ายหรือขวา ดังนั้น เราจึงไม่ควรจะผลีผลามกระโจนรับการเปลี่ยนแปลง แต่ควรจะก้าวย่างอย่างระมัดระวังและหนักแน่น

อาจารย์นันไคเห็นด้วยว่า กฎแห่งวิวัฒนาการส่งอิทธิพลพัฒนาการก้าวหน้าทางการเมืองทุกขั้นตอน นั่นคือ พัฒนาจากราชาธิปไตยไปสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย  จากกษัตริย์ ประธานาธิบดี เหล่าอภิชน และสามัญชน จากเรือที่ใช้ใบไปสู่เรือรบกลจักรไอน้ำ จากปืนธรรมดาไปสู่ปืนใหญ่ พุทธศาสนา ลัทธิขงจื่อ และคริสต์ศาสนา  ร่องรอยทั้งหลายทั้งปวงของวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ล้วนดำเนินไปภายใต้สิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า เส้นทางของวิวัฒนาการ

แต่กระนั้น เกี่ยวกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ อาจารย์อาจารย์นันไคยกตัวอย่างการยกเลิกโทษประหารชีวิตในบางประเทศในยุโรปว่าเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งของยุโรป แต่ในเวลาเดียวกันที่ยุโรปเริ่มยกเลิกโทษประหารชีวิต เผ่าบางเผ่าในอาฟริกายังกินเนื้อคนอยู่  และหากคิดตาม “สุภาพบุรุษ” ที่ว่า วิถีชีวิตของมนุษยชาติล้วนตกอยู่ภายใต้กฎวิวัฒนาการ การกินเนื้อคนก็ย่อมถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนวิวัฒนาการของชนเผ่าดังกล่าว  ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตในยุโรปเป็นวิวัฒนาการความก้าวหน้า แต่การกินเนื้อคนไม่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการความก้าวหน้า  เพราะก่อนหน้าจะกินเนื้อคน ชนเผ่านั้นอาจจะกินอะไรอย่างอื่นมาก่อนหน้า  แต่การวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปสู่การกินเนื้อคนจะถือว่าก้าวหน้าหรือไม่ ? ถ้าไม่ ก็แปลว่ากฎวิวัฒนาการไม่มีพลังครอบคลุมอย่างแท้จริงตามที่ “สุภาพบุรุษ” อ้าง

แต่ถ้าใช่ ก็แปลว่า การวิวัฒนาการไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรง และ “ก้าวหน้า” แต่ถอยหลังลงคลองได้เหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ประเมินว่า “ก้าวหน้า” หรือ “ถอยหลัง”  เราจะเห็นว่าวิวัฒนาการนั้นส่งผลให้เกิดสิ่งที่แตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง

อาจารย์นันไค ถาม “สุภาพบุรุษ” ว่า ยามที่เขากล่าวว่า กฎวิวัฒนาการต้องการให้เกิดการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และปฏิเสธการปกครองตามอำเภอใจ เขากำลังบอกว่า ตุรกีหรือเปอร์เซียไม่อยู่ภายใต้กฎวิวัฒนาการหรืออย่างไร ? หรือยามที่เขากล่าวว่า  กฎวิวัฒนาการให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์  แล้วในตอนที่ฌ้อปาอ๋อง (Xian Yu/ แม่ทัพจีนที่มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่สามปีก่อนคริสตกาล) บุกเมืองเสียนหยาง และสั่งเผาและฝังทั้งเป็นทหารฉินถึง 200,000 นาย ทั้งๆที่ทหารเหล่านั้นยอมแพ้แล้ว กฎวิวัฒนาการหายไปไหน ?  เราจะอธิบายการทำงานของกฎวิวัฒนาการอย่างไร ? 

   

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเก้า):ผู้ฝืนกฎวิวัฒนาการ

ในแง่นี้ ดูเหมือนว่า ในยุคศักดินา กฎวิวัฒนาการก็ยอมรับระบบศักดินา (feudalism)  นั่นคือ กฎวิวัฒนาการจะยอมรับสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น ยอมรับให้ประเทศดำเนินนโยบายอยู่อย่างลำพัง (isolationism) ในช่วงเวลาที่ประเทศนั้นๆกำลังใช้นโยบายนี้อยู่  และยอมรับนโยบายการค้าในช่วงที่ประเทศแข็งขันทางการค้า  อีกทั้งยังยอมรับอาหารนานาชนิดอย่างที่มันได้เกิดขึ้นบนโลก ยอมรับศิลปะทุกชนิด  จริงๆแล้ว กฎวิวัฒนาการยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างสุดจะพรรณนา

แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนัก นั่นคือ สิ่งที่ฝืนกฎวิวัฒนาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักการเมืองทั้งหลายควรจะต้องรู้ เพราะถ้าพวกเขาไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ฝืนกฎวิวัฒนาการ และพยายามขับเคลื่อนสิ่งที่ฝืนกฎวิวัฒนาการ  สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความหายนะอันสุดจะจินตนาการ

หากนักการเมืองไม่รู้เรื่องนี้ ประชาชนจำนวนนับล้านๆจะต้องเป็นผู้รับกรรม ! และนี่คือสิ่งที่เราควรต้องจะต้องกลัวอะไรเล่าคือสิ่งที่ฝืนกฎวิวัฒนาการ ?

อาจารย์นันไคชี้ว่า การพูดและทำโดยไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขของ เวลา และ สภาพการณ์ในที่นั้น หรือีกนัยหนึ่งก็คือ บริบททางสังคม ณ เวลานั้น ถ้าผู้ที่เป็นนักการเมืองออกนโยบายอะไรที่ฝืนกับเงือนไขประวัติศาสตร์ ประชาชนนับล้านๆคนจะต้องทุกข์ทรมานกับผลที่เกิดขึ้น

และแน่นอนว่า ผู้ที่เชื่อในกฎวิวัฒนาการก็จะอ้างว่า ความทุกข์ทรมานของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงตามกฎวิวัฒนาการ จำเป็นต้องเกิด หลีกเลี่ยงไม่ได้ ! แต่บทเรียนในประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นอยู่ โดยอาจารย์นันไคได้กล่าวถึง หวังอันฉือ (Wang Anshi อัครมหาเสนาบดีชาวจีนในศตวรรษที่สิบเอ็ด) ที่พยายามปฏิรูปบ้านเมืองด้วยนโยบายที่ก้าวหน้าเกินที่ผู้คนจะยอมรับได้ ทำให้การปฏิรูปของเขาต้องล้มเหลวและลงเอยถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเก้า):ผู้ฝืนกฎวิวัฒนาการ

หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณจนปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นตามกฎวิวัฒนาการทั้งสิ้น แล้วอะไรเล่าที่ไม่ได้เกิดตามกฎวิวัฒนาการ ? เพราะดูเหมือนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นก็เป็นผลพวงจากวิวัฒนาการทั้งสิ้น !

แต่จริงๆแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นผลพวงของการวิวัฒนาการ แต่เกิดจากการฝืนกฎวิวัฒนาการมากกว่า การฝืนที่ว่านี้ ไม่ได้มีแค่เพียงไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ที่คนมองข้ามก็คือ การพยายามทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำให้เกิดผลดีได้ เพราะเงื่อนไขของสังคมยังไม่เอื้อให้เกิดผลดี  พูดง่ายๆก็คือ “คนที่มาก่อนกาลเวลา” 

และถ้าเปรียบกฎวิวัฒนาการเป็นเทพเจ้า “คนที่มาก่อนกาลเวลา” นี้คือ ผู้ท้าทายเทพเจ้า ! และคนเหล่านี้ที่อาจารย์นันไคเรียกว่า “นักการเมือง” คือ คนที่ทำให้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อในการท้าทายเทพเจ้าแห่งวิวัฒนาการของพวกเขา คนจำนวนมากต้องสังเวยชีวิต บาดเจ็บล้มตายหรือทุกข์ทรมานเพื่อบวงสรวงเทพอีกองค์หนึ่ง ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเทพแห่งวิวัฒนาการ