posttoday

ความหมายของ AUKUS

24 กันยายน 2564

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**********************

ก่อนจะเขียนอื่นใดทั้งหมดต่อไป ขอส่งกำลังใจให้ฝรั่งเศสในวาระที่ได้ประจักษ์ความหมายในการเป็นพันธมิตรกับประเทศเจ้ามหาอำนาจและประเทศลูกคู่ที่พูดภาษาอังกฤษเออออกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ แม้พวกเขาจะพูดกันเป็นคนละสำเนียง และอยู่ห่างไกลกันคนละฟากสมุทร การประจักษ์แบบนี้จะทำให้ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปคิดอ่านกันอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการจัดการความมั่นคงและการจัดการอุตสาหกรรมภาคความมั่นคงของยุโรปภายหลัง Brexit และ AUKUS ก็น่าคิดและน่าติดตามอยู่มาก

การถอดความหมายของ AUKUS --ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงระหว่างพันธมิตร 3 ฝ่ายใหม่ล่าสุดระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา-- ทำได้หลายทาง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีท่านผู้รู้และชำนาญการให้ความเห็นไว้มากแล้ว ในที่นี้เลยจะขอหลบมาให้ความหมายแนวครูพักลักจำจากปรมาจารย์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ที่รุ่นเก่ารุ่นใหม่ชุมนุมคับคั่งอยู่ในสหรัฐฯ และอังกฤษมากหน้าหลายตา

เมื่อเป็นการเขียนแบบครูพักลักจำ ส่วนแสดงทฤษฎีจะมีน้อย จะหนักไปในส่วนเสนอทิฐิแทน ซึ่งบางทีก็เป็นทิฐิมานะ ท่านที่ไม่คุ้นภาษาพระ ทิฐิมานะคือการยึดมั่นในสถานะของตัวว่าอยู่เหนือคนอื่น ยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวว่าถูกต้องกว่าของใครหมด แต่จะเป็นมิจฉาหรือสัมมาแบบไหน หรือเป็นทิฐิมานะของใคร ภาษาการทูตท่านให้รักษาความแนบเนียนไม่กล่าวโทษหรือก้าวล่วงใครออกมาชัดแจ้ง ส่วนการปาดหน้าเค้กหรือหยิบชิ้นปลามันที่พวกเดียวกันถือไว้ไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่เจรจากับเขาดี ๆ อันนี้ต้องไปถามจากผู้เป็นเจ้ามหาอำนาจและบริวารว่ากลายเป็นแบบแผนพึงประพฤติมาแต่เมื่อใด

ท่านแต่ก่อนมาจนถึงรุ่น Susan Strange ปรมาจารย์ IR ฝั่งอังกฤษสายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศสอนว่า วิธีการตามหาความหมายของเรื่องใดก็ตาม อย่างง่ายที่สุดและควรทำก่อนอื่นใดถ้าหากทำได้ คือถามหาว่า ใครได้ประโยชน์? / cui bono? และการตามหาว่าใครได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดก็คือ การตามจากเงิน พอเห็นการโยกย้ายถ่ายเทของเงินจากไหนไปไหนโดยผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจให้ดีแล้ว ส่วนที่เป็นผลประโยชน์นามธรรมยิ่งกว่านั้นก็จะเห็นได้ง่ายเข้าและชัดขึ้น พอชัดแล้ว ทีนี้อยากพิจารณาความหมายแบบไหนต่อก็ทำได้ไม่ยาก และเราก็จะทำแบบนั้นกับการตั้งต้นหาความหมายของ AUKUS ในบทความไม่สั้นไม่ยาวนี้นะครับ

นั่นคือ ความหมายของ AUKUS ที่เกิดกับฝรั่งเศส เมื่อออสเตรเลียฉีกสัญญามูลค่ามหาศาลที่ตกลงกันในปี 2016 ทิ้ง คือสัญญาที่ออสเตรเลียตกลงสั่งซื้อเรือดำน้ำแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและดีเซลของฝรั่งเศสจาก Naval Group บริษัทผู้ผลิตที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มูลค่าที่หลุดลอยไปจากมือฝรั่งเศสตามรายงานข่าวหลายสำนักให้ไว้ไม่ตรงกันนัก แต่อยู่ในระหว่าง 50,000 - 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจแบบนี้ เพราะนี่เป็นการตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของออสเตรเลียเอง

นักวิชาการ IR สาย political realism ชอบใจเป็นพิเศษเวลาได้ฟังผู้นำบอกว่าการตัดสินใจเรื่องไหนทำไปในนามของผลประโยชน์แห่งชาติ เพราะจะเป็นโอกาสให้นำเรื่องนั้นมาตรวจสอบได้ถนัดว่า ผลประโยชน์แห่งชาติจะได้รับการรักษาไว้หรือขยับขยายได้จริงดังว่าหรือไม่ แต่ก่อนจะไปพิจารณาถึงผลประโยชน์แห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอ้างถึง เรามาดูกันก่อนว่าเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่หลุดลอยจากมือฝรั่งเศสแล้วไปที่อยู่ที่ไหน เมื่อออสเตรเลียตัดสินใจแน่วแน่แล้วที่จะหันไปเลือกเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แทนพร้อมกับรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นเลิศที่สหรัฐฯ ไม่ค่อยจะยอมถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ นอกจากอังกฤษแล้วก็มีออสเตรเลียเท่านั้นที่เพิ่งได้รับจากความร่วมมือ AUKUS คราวนี้

คำถามคือ เงินมูลค่ามหาศาลนี้ ใครได้ประโยชน์ และประโยชน์ที่ว่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับลักษณะและความสำคัญของอุตสาหกรรมอาวุธและเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการป้องกันทางทหารและด้านที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จนถึงกับทำให้พันธมิตรตะวันตกต้องมาแทงกันข้างหลังแตกร้าวกันกลางเวทีโลก

ปรมาจารย์ฝ่าย political realism ที่รู้จริงในเรื่องฐานอำนาจรัฐจะไม่แยกการจัดการความมั่นคงและการจัดการระบบการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในภาคความมั่นคงออกจากกัน เพราะนี่คือฐานอำนาจรัฐส่วนสำคัญที่สุดในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่ในสภาวะอนาธิปไตย ไม่มีใครดูแลผลประโยชน์ให้ใครได้นอกจากดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง

และท่านให้แยกพิจารณา ฐานอำนาจรัฐ ออกจากอิทธิพลระหว่างประเทศ ซึ่งอย่างหลังเป็นของมีขึ้นมีลงได้เป็นปกติ แม้จะเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 แต่ส่วนที่รัฐมหาอำนาจหรือรัฐที่คล้ายว่าเป็นมหาอำนาจจะต้องใส่ใจอยู่เสมอ คือส่วนที่เป็นขีดความสามารถของรัฐโดยเปรียบเทียบกับรัฐคู่แข่ง ในการพัฒนาฐานอำนาจด้านการทหารและเศรษฐกิจ อันเป็นอำนาจที่สามารถแปรไปใช้เป็นอิทธิพลจูงใจดึงใคร ๆ ให้เข้ามาหาในทางอื่น ๆ ต่อไปได้อีกมาก

บางคนเชื่อว่าขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจเป็นฐานขีดความสามารถด้านการทหาร ความจริงคือ ส่วนที่เป็นรากฐานทางวัตถุที่ทำให้ขีดความสามารถทั้ง 2 ด้านพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและเป็นฐานหนุนอำนาจรัฐให้เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งในระหว่างสันติและในยามสงคราม คือขีดความสามารถของรัฐทางเทคโนโลยี

และเหตุที่ต้องถือว่าเทคโนโลยีเป็นขีดความสามารถของรัฐ ไม่ใช่ของเอกชนเจ้าใดโดยลำพังก็เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหลายนอกจากจะมีต้นทุนสูง ยังมีความไม่แน่นอนสูงด้วย ว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาคุ้มกับที่ลงทุนไปไหม จะสำเร็จออกมาทันเข้าสู่ตลาดก่อนหน้าคู่แข่งไหม และรุ่นใหม่ที่ต้องคลำทางพัฒนาต่อไปให้พ้นจากขีดจำกัดเดิมที่มีอยู่จะหาแหล่งสนับสนุนด้านต่าง ๆ ได้จากไหน

ในความไม่แน่นอนแบบนี้ รัฐจึงต้องเข้ามาเป็นหลักสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และเมื่อเทคโนโลยีมีลักษณะเป็น dual-use คือใช้ในกิจการทหารก็ได้ ไปต่อยอดใช้นอกกิจการทหารก็ดี การที่รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนทั้งงบประมาณและการจัดโครงสร้างสถาบันเพื่อรวมหลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเป้าหมายใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง นอกจากจะเป็นเรื่องจำเป็นและเข้าใจได้เพราะความมั่นคงและการป้องกันประเทศเป็นงานของรัฐโดยตรงแล้ว

การพัฒนาเทคโนยียังส่งประโยชน์ทางตรงทางอ้อมกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ขยายต่อยอดพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศต่อออกไปได้อีกมากและในหลายทาง ยิ่งถ้าประเทศไหนมีระบบพัฒนานวัตกรรมดี ๆ ไม่จำกัดเสรีภาพในความรู้ ความคิดอ่านและการสร้างสรรค์ การส่งประโยชน์ก็ยิ่งขยายไปได้อีกหลายทอด

ถ้าจะให้เดาใจนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อท่านพูดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ท่านก็คงคิดถึงการขยายฐานอำนาจรัฐจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารที่ออสเตรเลียจะได้รับจากความร่วมมือกับสหรัฐฯ และอังกฤษตามกรอบ AUKUS ที่จะไปเพิ่มพูนขีดความสามารถของออสเตรเลียด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจสำหรับจะแปรไปเป็นอิทธิพลในทางต่าง ๆ ต่อไป สมัยนี้ใครอยากได้หูทิพย์ตาทิพย์ล่วงรู้กาย - ใจของคน หรืออยากดึงใจคนให้คิดให้ทำอะไร ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีหาอุปกรณ์และหาคำตอบให้ได้ ว่าแต่ออสเตรเลียเถิด ตั้งโจทย์ถูกหรือเปล่าว่าภัยคุกคามต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของตนที่จะทุ่มเงินพัฒนาเทคโนโลยีมาเป็นคำตอบนั้นคืออะไรแน่ ใช่จีนและการขยายอิทธิพลของจีนแน่หรือ?

จะดีกว่าหรือไม่ถ้าจะนำเงินจำนวนเท่ากันที่ออสเตรเลียจะใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อร่วมหัวจมท้ายช่วยพยุงอุตสาหกรรมความมั่นคงของสหรัฐฯ และอังกฤษ ไปลงทุนในเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยออสเตรเลียทั้งทวีปและช่วยโลกรับมือกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นับวันยิ่งมาก็ยิ่งรุนแรง และปฏิเสธไม่ได้ว่าออสเตรเลียเป็นทั้งต้นทางที่มา และเป็นผู้รับผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้โดยตรง

ที่กล่าวตามปรมาจารย์ว่ามาแบบ IR 101 ข้างต้นนี้ ยังไม่ได้ตอบคำถามที่อยู่เบื้องหลังการที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียตัดสินใจฉีกสัญญาย้ายเงินก้อนใหญ่ที่เคยตกลงไว้กับฝรั่งเศสในการผลิตเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานดีเซล แล้วโยกมามอบให้แก่สหรัฐฯ กับอังกฤษ หรือที่อยู่ข้างหลังอังกฤษและออสเตรเลียอีกทีก็คือบริษัทผู้ผลิตอาวุธและนวัตกรรมด้านความมั่นคงรายใหญ่ของโลกอย่าง BAE Systems และ BAE Systems Australia ซึ่งประกาศสนับสนุน AUKUS อย่างเต็มที่

ส่วนหนึ่งของการตอบคำถามนี้ให้แล้วใจต้องผสมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน การจัดคำตอบเพื่อให้พอเห็นภาพง่ายขึ้น อาจแบ่งเรื่องออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งอุปทาน กับฝั่งอุปสงค์ ใน สาขาความรู้ของ IR เราเรียนเกี่ยวกับฝั่งอุปทานที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตระบบอาวุธและการป้องกันประเทศจากวิชาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และเรียนฝั่งอุปสงค์ที่ว่าด้วยเรื่องการผลิตภัยคุกคามและเป็นตัวสร้างความต้องการของรัฐให้ออกแสวงหาเครื่องมือป้องกันมาเตรียมพร้อมจากวิชาการเมืองระหว่างประเทศ

ในฝั่งอุปทาน แต่เดิมมาในยุคสมัยที่การพิชิตดินแดนอื่นยังเป็นของปกติสำหรับการขยายอำนาจรัฐ มหาอำนาจและชาติที่ต้องการขึ้นสู่สถานะมหาอำนาจล้วนรับข้อแนะนำของอาดัม สมิธ ที่ว่า “If any particular manufacture was necessary, indeed, for the defence of the society, it might not always be prudent to depend upon our neighbours for the supply.” แต่การพึ่งตนเองเพื่อผลิตระบบอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและปฏิบัติการทางทหารแบบอื่นมาเปลี่ยนรูปไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การพิชิตดินแดนไม่อาจทำได้อีกแล้ว โจทย์ที่ตามมามีอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน

ด้านแรกคือจะรักษาการเข้าถึงวัตถุดิบและทรัพยากรยุทธศาสตร์ เช่น สินแร่และองค์ความรู้ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร และถ้าคิดแบบทฤษฎี IR แนว offensive realism คือจะสกัดหรือจำกัดรัฐคู่แข่งไม่ให้เข้าถึงฐานทรัพยากรยุทธศาสตร์แบบเดียวกันนั้นได้อย่างไร ความร่วมมือและการจัดความสัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรในรูปแบบไหนจึงเหมาะสมสำหรับรักษาความได้เปรียบของมหาอำนาจให้เหนือกว่าคู่แข่งได้ ถ้าหากว่ามหาอำนาจนั้นไม่ได้มีทรัพยากรยุทธศาสตร์ในเขตอำนาจรัฐของตนเอง

โจทย์ด้านที่ 2 ในฝั่งอุปทานมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะพึ่งตนเองของอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและปฏิบัติการทหารด้านอื่น ๆ ที่รัฐมหาอำนาจเคยใช้เป็นหลัก กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตจากที่เคยรวมขั้นตอนทุกอย่างไว้ในประเทศเดียวจนเสร็จสำเร็จเป็นสินค้า/ผลิตภัณฑ์แล้วส่งออก มาสู่การกระจายระบบการผลิตออกไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคเดียวกันหรือข้ามภูมิภาค โดยพิจารณาจากจุดเด่นความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของแต่ละพื้นที่ว่าเหมาะจะทำส่วนไหน ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและผลิตภาพของระบบการผลิตและการเข้าถึงตลาดเป้าหมายได้ดีที่สุด โดยบริษัทแม่ที่เป็นศูนย์กลางจะควบคุมส่วนสำคัญที่สุดที่รักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านนั้นไว้ในมือ

ในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ เมื่อการจะผลิตเองทั้งหมดไม่เหมาะอีกต่อไป การกระจายการผลิตข้ามชาติก็เป็นประเด็นให้ต้องพิจารณาว่าจะร่วมมือกับใคร ที่ไหนจะเหมาะทำอะไร จะใช้รูปแบบความร่วมมือและจัดทำข้อตกลงแบบไหน เจ้าของเทคโนโลยีกับเจ้าของเงินลงทุน ผู้มาร่วมทุนร่วมการพัฒนา ใครจะควบคุมและใครจะใช้ประโยชน์และได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตของเทคโนโลยีนั้นอย่างไร จึงกลายมาเป็นโจทย์ให้ต้องพิจารณาโดยเป้าหมายสำคัญไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและผลิตภาพ หรือความสามารถในการลดต้นทุนและรู้ความต้องการเฉพาะเพื่อเจาะตลาดเป้าหมาย แต่คือความสามารถของรัฐแต่ละฝ่ายที่จะรักษาความเหนือกว่า ทั้งในขีดสมรรถนะทางเทคโนโลยีของอาวุธยุทธศาสตร์และระบบการป้องกันประเทศแต่ละด้าน และความเหนือกว่าในสมรรถนะโดยรวมของสถาบันและระบบรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงต่อยอดออกไปได้ไกลกว่าคู่แข่ง

ถ้าเป็นระบบสำหรับอาวุธทั่วไปและเป็นเทคโนโลยีระดับธรรมดา (การจัดระดับเทคโนโลยีระบบอาวุธ เช่นระบบหนึ่งที่สหรัฐฯ เคยใช้ในการจัดการกระจายการผลิตออกไปต่างประเทศ แยกประเภทระหว่าง most pervasive technologies, enabling technologies, และ emerging technologies ต้องใช้หลายหน้ากระดาษบรรยาย ในที่นี้ จึงขอแยกแบบเข้าใจง่าย) การพิจารณาย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ก็ตัดสินใจได้ไม่ยากนัก และถือโอกาสใช้เป็นเครื่องตอบแทนแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันได้ด้วย รูปแบบการทำความตกลงอาจใช้ subcontracting หรือ co-production หรือ co-development แล้วแต่จะตกลงกัน

แต่ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีและประดิษฐกรรมใหม่สำหรับระบบปฏิบัติการอาวุธขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนที่รักษา “qualitative superiority” ให้เหนือกว่าและนำหน้าฝ่ายอื่น ๆ เป็นส่วนที่จะไม่มีการถ่ายทอดให้ใครโดยง่าย สงวนไว้แต่กับเฉพาะพันธมิตรที่ใกล้ชิดและไว้วางใจได้จริง ๆ ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ แต่เดิมมาคือ อังกฤษ และแคนาดา

ในการตอบโจทย์ข้อที่หลังนี้เองที่ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มกันขึ้นมา แม้ในระหว่างพันธมิตรในฟากตะวันตกด้วยกัน นั่นคือระหว่างยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศชั้นนำในยุโรปอย่างฝรั่งเศสยังคงต้องการรักษาอัตตาณัติทั้งในการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และในการพัฒนาและส่งออกระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยุโรปเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง โดยไม่พึ่งพาสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว

อีกทั้งรายได้จากการค้าระบบอาวุธและการป้องกันประเทศนั้นเป็นรายได้มหาศาล และนี่รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกันอย่างอุตสาหกรรมเครื่องบินโดยสารด้วย ซึ่งยุโรปและสหรัฐฯ ก็มีการแข่งขันกันพัฒนาและเป็นคู่แข่งในตลาดอย่างเข้มข้น ดังนั้น ในกระบวนการ regionalization หรือ internationalization of weapon production แต่ละฝ่ายซึ่งเป็นพันธมิตรกันอยู่ในกรอบของ NATO จึงมีทั้งความร่วมมือและการแข่งขันระหว่างกันอยู่ในที ยุโรปพัฒนาทั้งกรอบความร่วมมือในรูป consortium ที่ต่อมายกระดับเป็น PESCO หรือ Permanent Structured Cooperation และกำลังร่วมกันพัฒนา “Eurodrone” จัดเงินกองทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบอาวุธและนวัตกรรมด้านความมั่นคงในรูป European Defence Fund

ส่วนเยอรมนีกับฝรั่งเศสก็กำลังมีโครงการพัฒนา FCAS (Future Air Combat Air System) รวมทั้งเครื่องบินรบรุ่นใหม่ร่วมกันอยู่ คู่แข่งสำคัญของโครงการเหล่านี้ ก็คืออังกฤษที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว

Brexit จึงเป็นหมุดหมายสำคัญทั้งต่อสหภาพยุโรปและต่อสหราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการต่างประเทศ แต่ยังส่งผลต่อการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีการทหารและการป้องกันประเทศ ทั้งด้านวิจัยและพัฒนา ว่าใครจะได้อะไรออกมาเหนือใครสำเร็จเข้าสู่ตลาดก่อนกัน และการแข่งขันกันในตลาดค้าอาวุธ ที่สหภาพยุโรป และสมาชิกแต่ละประเทศมีข้อจำกัดด้วยกฎเกณฑ์พะรุงพะรังมากมายไม่เท่ากัน

ส่วนอังกฤษเมื่อหลุดจากยุโรปออกมา ไม่อาจจะคงสถานะมหาอำนาจได้ถ้าไม่สมานเข้ากับระบบความมั่นคงและอุตสาหกรรมความมั่นคงของสหรัฐฯ ดังนั้น ในแง่นี้ AUKUS อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมอาวุธอังกฤษหลัง Brexit ที่แสดงต่อฝรั่งเศส ประเทศชั้นนำของสหภาพที่ตัวเองเพิ่งถอนตัวออกมา

กล่าวด้านอุปทานมายืดยาว สรุปได้ว่าเป็นด้านพันธมิตรตะวันตกด้วยกันที่แข่งกันเข้มข้นมานานในการขายระบบป้องกันและขายอาวุธ อันที่จริง ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ถ้าใช้เงินซื้ออาวุธซื้อระบบจากตะวันตกให้ช่วยทำงานตอบผลประโยชน์แห่งชาติเป็น โดยไม่ปล่อยรั่วไหลไปเข้ากระเป๋าใคร ก็จะได้เครื่องมือชั้นดีที่มีอิทธิพลต่อประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้มากทีเดียว นายกรัฐมนตรีอังกฤษบางคนนั้นเวลาออกเดินสาย บทบาทหนึ่งของเขาก็คือนักขายของธรรมดา ๆ นี่เอง นินทากันว่าประธานบริษัทอาวุธสัญชาติอังกฤษรายใหญ่ถึงกับมีกุญแจไขเข้าสวนบ้านเลขที่ 10 ได้เลยทีเดียว

กล่าวถึงด้านอุปทานแล้ว มากล่าวถึงอุปสงค์บ้าง เมื่อด้านอุปทานเป็นของราคาแพงในการลงทุน ถ้าลงทุนแล้วไม่สำเร็จ หรือไม่มีคนซื้อ หรือมีแล้ว มีคนมาปาดหน้าไปต่อหน้าต่อตา แบบนี้ ไม่นานก็ม้วนเสื่อ ดังนั้น เมื่อมีผู้ผลิตของเข้าสู่ตลาด และลงเงินพัฒนารุ่นต่อไปของระบบอาวุธนั้นนู้นนี้ ของเรดาร์แบบนั้นนู้นนี้ (ออสเตรเลียเขาเด่นทางเรดาร์ ต้องยกย่องเขาหน่อย) เพื่อรักษาสถานะความเป็นเจ้าทางเทคโนโลยีและฐานภาพของมหาอำนาจ ก็เลยต้องหาทางรักษาอุปสงค์ ระบบการฝึกร่วมกันทางทหารที่เวียนมาเป็นระยะ ก็เป็นวิธีรักษาความสืบเนื่องของอุปสงค์แบบหนึ่ง

แต่แบบนั้น ไม่ดีเท่ากับการผลิตภัยคุกคาม เพราะเมื่อรัฐเห็นภัยคุกคามขึ้นมาเมื่อใด รัฐไหน ๆ ก็จะอยู่เฉยรอช้าอยู่มิได้ ยิ่งเมื่อได้แรงหนุนจากประเทศที่ทำหน้าที่หรือเสนอตัวเข้ามารับบทบาทถ่วงดุลจากนอกภูมิภาคข้ามฝั่งข้ามฟากมหาสมุทรมา ยิ่งต้องเด้งตัวขึ้นมาช่วยกันรับบทรับมือกับภัยคุกคามนั้นให้จงดีทีเดียวเชียว การผลิตภัยคุกคามหรือวาดอันตรายที่โลกต้องร่วมกันรับมือ สาขาการเมืองระหว่างประเทศมีความเชี่ยวชาญที่สุด

และความเชี่ยวชาญนั้นก็ชุมนุมกันอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ สมกับที่เขาว่า International Relations is an American Social Science ใครไม่เชื่อ จะลองถามเพื่อนหรือคนรู้จักที่เรียน IR แล้วขอให้เขาอธิบายวิธีคิดแบบ offensive realism ให้ท่านฟัง ก็จะได้ความกระจ่างใจ แต่ถ้ายังไม่ถึงใจ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชานี้ไปวาดภัยคุกคาม ข้าพเจ้าก็แน่ใจว่าเขา (หรือเธอ) ก็คงจะไม่ขัดข้อง

*****************