posttoday

ออกใบอนุญาตไทยคม ไม่มีเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

21 กันยายน 2564

โดย...พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

*************************

จากกรณีที่สัญญาสัมปทานกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในส่วนสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 สิ้นสุดลงในวันที่ 10 ก.ย.64 นี้ ตามระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี หลังจากได้รับสัญญาสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2534 โดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาฯ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม (ปี 2566)

ทำให้ห้วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ประเด็นสัมปทานดาวเทียมไทยคม ตกเป็นที่สนใจมาโดยตลอด มีการเรียกร้องจากภาคประชาชนและภาคการเมือง ในการยึดคืน “สมบัติของชาติ” อีกทั้งยังมีการนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีนายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร), คณะรัฐมนตรี, กระทรวงไอซีที (ขณะนั้น), กสทช. และ กทค. กรณีการออกใบอนุญาตให้ไทยคม 7-8 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และล่าสุดประเด็นการต่อสัญญาสัมปทาน ยังถูกหยิบยกขึ้นมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใน รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ครั้งที่ผ่านมาด้วย

แน่นอนว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแล “กิจการโทรคมนาคม” ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “กิจการดาวเทียม” อย่างแน่นอน

คำถามมีว่า กสทช.มีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน?

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจหลายส่วน โดยต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม เมื่อเดือน ก.ย.2534 ครั้งนั้นเป็น “กระทรวงคมนาคม” ที่เป็นผู้กำกับดูแล (ก่อนเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงไอซีที และกระทรวงดีอีเอสในปัจจุบัน) และให้สัมปทานแก่ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ชินคอร์ป” ของคุณทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะเข้าสู่การเมือง โดยกำหนดให้ต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อบริหารงานตามสัญญาสัมปทาน เป็นที่มาของ บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในภายหลัง

ขณะนั้นยังไม่มีใครในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านดาวเทียม จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการคัดเลือก (Beauty Contest)

จากนั้นประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และมีการลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการรวมถึงการเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อทําข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี ทําให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดเสรีในบริการโทรคมนาคมให้กับประเทศสมาชิก ภายในปี 2549

ในรัฐธรรมนูญ 2540 จึงได้กําหนดนโยบายให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมมีการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมภายใต้ระบบการกํากับดูแล โดยเป็น “นโยบายแห่งรัฐ”

โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2543 ที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กทช.) เป็น “องค์กรด้านกิจการโทรคมนาคม” ขึ้น มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและกํากับดูแลการประกอบกิจการโทรโทรคมนาคม (อีกขาหนึ่งกำหนดให้มี “กสช.” ดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์)

อย่างไรก็ตามความพยายามในการสรรหา กทช.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ประสบความสำเร็จ จนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 47 ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในลักษณะเดียวกัน

โดยมีการออกกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ “พ.ร.บ.กสทช.” ขึ้น เพื่อให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิมและที่จะเกิดขึ้นภายหลังจาก พ.ร.บ.กสทช. 2553 มีผลใช้บังคับ สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบผูกขาดไปสู่ระบบการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ใน พ.ร.บ.กสทช. 2553 ได้มีการปรับปรุงกระบวนการสรรหาองค์กรกำกับดูแลที่มีชื่อใหม่ว่า “กสทช.” ให้มีความรัดกุมมากขึ้น กิจการโทรคมนาคมก็ส่งไม้ต่อจาก กทช. ส่งไม้ต่อมาถึง กสทช. และแยกเป็น “กสท.-กทค.”

จนเดือน ต.ค.2554 ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มี กสทช.สรรหาที่ถูกขนานนามว่า “11 อรหันต์” ชุดแรก และเพื่อความคล่องตัว จึงมีการแบ่ง “คณะกรรมการย่อย” ในบอร์ดของ กสทช.เป็น 2 คณะ เสมือน “มือซ้าย-มือขวา” ตามภารกิจที่กำกับดูแล

คือ “กสท.” หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำกับดูแล “กิจการกระจายเสียง-กิจการโทรทัศน์” (กสช.เดิม) และ “กทค.” หรือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม กำกับดูแล “กิจการโทรคมนาคม” (กทช.เดิม) ให้อำนาจ 2 บอร์ดย่อยกำกับดูแล และพิจารณาในส่วนภารกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกเรื่องต้องนำเข้า “บอร์ดใหญ่” พิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง

ตามท้องเรื่องสัมปทานไทยคมนั้น ผู้ที่ออกใบอนุญาตให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการโทรคมนาคม (กระบวนการสิ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2555) คือหน่วยงานที่ชื่อ “กทค.” 

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอแนะนำอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) เป็นองค์การเฉพาะทางพิเศษ ทำหน้าที่ออกมาตรฐานด้านโทรคมนาคม และคลื่นความถี่ มีศักดิ์เท่าองค์กรชื่อคุ้นหูอื่นๆ ทั้ง UNESCO, IMF, WHO หรือ FAO ที่อยู่ภายใต้ของสหประชาชาติ หรือ UN

ITU เป็นผู้คุมกฎดาวเทียมโลก (ปัจจุบันขยายคลอบคลุมการสื่อสารทั้งหมดทั้งโทรศัพท์ มือถือ อินเทอร์เน็ต การสื่อสารในช่วงภัยพิบัติ และอื่นๆที่เข้าข่ายการสื่อสาร)

ตามกติกาสากล พื้นที่ในอวกาศเป็นพื้นที่ซึ่งทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีประเทศใดมีกรรมสิทธิ์เด็ดขาด 

ทุกประเทศมีสิทธิขอส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แต่ต้องมีการประสานงานคลื่นความถี่มิให้มีการรบกวนกัน และ ITU จะเป็นผู้บันทึกและเผยแพร่ทะเบียนสิทธิในการใช้ประโยชน์นั้น ถือเป็นสิทธิที่ประเทศอื่นๆ รับรู้และยอมรับ (Right to International Recognition) ในการรับรองสิทธินั้น ITU มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ (Frequency Assignment) เพื่อให้ใช้ ณ ตำแหน่งวงโคจรที่ระบุด้วย

ITU ไม่ได้จัดสรรวงโคจรให้กับแต่ละประเทศ วงโคจรหนึ่งๆ อาจมีดาวเทียมหลายดวงจากหลายประเทศอยู่ที่องศาเดียวกัน แต่ใช้คลื่นความถี่ที่ไม่รบกวนกัน

สำหรับประเทศไทย การดำเนินการตามสัญญาสัมปทานไทยคมเมื่อปี 2534 (อายุสัมปทาน 30 ปี สิ้นสุด 10 ก.ย.2564) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

จนเกิดดราม่าครั้งแรก (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง) ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 ปี 2546 ขณะนั้น คุณหมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีการเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่หลังการรัฐประหาร 2549 ได้มีการดำเนินคดีกับ นพ.สุรพงษ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จนถูกพิพากษามีความผิดและถูกจำคุกในเวลาต่อมา

มาถึงเดือน ก.ย.2554 ในช่วงที่กำลังจะมี กสทช.ชุดสรรหาชุดแรก และดาวเทียมไทยคม 1 ปลดระวางไปเมื่อเดือน ม.ค.2554 ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงไอซีที ที่มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็น รมว.ไอซีที เป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2554 ให้ศึกษาขั้นตอนการรักษาตำแหน่งวงโคจรที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกที่ไทยได้จาก ITU และมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือ กสทช.

โดยจำเป็นต้องมีการยิงดาวเทียมขึ้นไปเพื่อรักษา “สิทธิวงโคจร” (Filing) ซึ่งมีการกำหนดว่า หากไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายใน 2 ปี ITU สามารถยกเลิกการรับรองวงโคจร และประเทศอื่นสามารถขอเข้าใช้วงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกแทนได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ

หากปล่อยให้ขาดจากสิทธิวงโคจร ต้องมาต่อคิวรอขอเข้าใช้สิทธิใหม่ ซึ่งใช้เวลาต่อครั้งหลายปี เพราะแต่ละประเทศมีคำร้องเข้าไปรอคิวที่ ITU จำนวนมาก ยิ่งช่วงหลังเปิดให้เอกชนยื่นคำร้องได้ด้วย แล้วหากได้สิทธิใช้วงโคจรแล้วยังต้องประสาน “ดาวเทียมเพื่อนบ้าน” ทั้งในวงโคจรเดียวกัน และวงโคจรข้างเคียง เพื่อไม่ให้การใช้คลื่นกระทบกันอีกด้วย ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาไม่น้อย และต้องมี “คอนเนคชัน” ในวงการพอสมควร

ทั้งนี้ ตำแหน่ง 120 องศาตะออก ถือเป็นตำแหน่งที่ดีและเหมาะสมกับประเทศไทย ครอบคลุมทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลียมหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเป็นตำแหน่งเดิมของดาวเทียมไทยคม 1 

เวลานั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการยิงดาวเทียมขึ้นไปเพื่อรักษาสิทธิวงโคจร

กระทรวงไอซีที จึงได้มอบหมาย บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาดาวเทียม เนื่องจากหน่วยงานของรัฐอย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom ในขณะนั้น ยังไม่มีศักยภาพในการดำเนินการ และเกรงว่าจะสูญเสียงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า

ขณะเดียวกันก็ประสานมายัง กสทช.ที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ที่ใช้ในขณะนั้นในการออกใบอนุญาตให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

เหตุที่ใช้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 เนื่องจากตีความว่า ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กสทช. 2553 เพื่อจัดประมูลคลื่นความถี่ในอวกาศ และจัดประมูลวงโคจรดาวเทียมได้ เพราะอาจเป็นการ “ขยายอำนาจตัวเอง” 

เจตนารมณ์ของการตรา พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ขึ้นใช้บังคับ และยกเลิก พ.ร.บ.โทรเลขและโทรศัพท์ 2477 อันเป็นการยกเลิกการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมโดยรัฐในอดีต ทำให้เอกชนมีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากองค์กรกำกับดูแลดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

สรุปแล้วการให้ใบอนุญาตแก่ “ไทยคม” ในครั้งนั้น เพื่อรักษา “สิทธิวงโคจร” โดยใช้เพียงการออกใบอนุญาตตามอำนาจที่ กสทช.โดย กทค.มีอยู่ 

ต้องย้ำว่า ใบอนุญาตที่ กสทช.อนุมัติให้ “ไทยคม” เป็นประเภทใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ตาม ตรา พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 เป็น “ใบอนุญาตประเภท 3” ให้กับ “ไทยคม” ในฐานะผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม

ขณะที่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตัวอย่าง คลื่น 3G-4G-5G ย่านต่างๆ อันนี้เข้ามาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กสทช. 2553 ที่ใช้ขณะนั้น ต้องใช้วิธีการ “ประมูล”

ส่วนของ “ไทยคม” นั้น กทค.แค่อนุญาตให้เอกชน ให้บริการ “โครงข่าย” ผ่านดาวเทียม ไม่ใช่การใช้ “คลื่นความถี่” แบบนี้ไม่เข้ามาตรา 45 ของ พ.ร.บ.กสทช. 2553 จึงไม่ต้องประมูล

อีกเรื่องที่มักสับสนกันคือประเด็น “ความมั่นคง” ที่ต้องย้ำชัดๆว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยของประเทศ เพราะวงโคจรและความถี่ในอวกาศเป็น “ทรัพยากรร่วมของมนุษยชาติ” ไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐใดรัฐหนึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิในตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก รวมทั้งตำแหน่งวงโคจรอื่นๆ ตามการจัดสรรของ ITU

ดังนั้นจะมา “เหมารวม” เชื่อมโยงเรื่องความมั่นคง กับเรื่องอธิปไตยของชาติ ในเรื่องใบอนุญาติดาวเทียมไม่ได้!!

ส่วนจะไปทวงถามทรัพย์สิน ไม่ว่าจะดาวเทียม หรือข้อมูลใดๆที่ได้ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานว่าเป็น “สมบัติชาติ” ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

“สิทธิดาวเทียม” เป็นสินทรัพย์ของกระทรวงดีอีเอส ส่วน “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจร” ทั้งดาวเทียม และคลื่นความถี่ กสทช. เป็นคนดูแล

ความสับสนที่เกิดขึ้นอาจมาจาก พ.ร.บ.กสทช.2553 กำหนดให้กิจการดาวเทียมสื่อสารอยู่ในคำจำกัดความของกิจการโทรคมนาคม ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงไม่มีบทบัญญัติในส่วนรายละเอียดว่า จะกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสาร “ในทางปฏิบัติ” อย่างไร

สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านจากระบบผูกขาดไปสู่ระบบการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกกำกับดูแลจาก กทช. ก่อจจะมาเป็น กสทช. โดย กทค.เป็นอย่างเดียวกัน

กรณีนี้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วในรัฐธรรมนูญ 2560 และต่อเนื่องไปถึงการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด

ดังนั้น กสทช.ได้อนุมัติให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 เมื่อปี 2555 นั้น เป็นไปตาม “เขตอำนาจ” และกฎหมายในขณะนั้น

อีกทั้งเมื่อย้อนไทม์ไลน์ลำดับขั้นตอนที่ กทค.ดำเนินการในห้วงเวลาหลังจากได้รับการประสานจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ก.ย.2554 นั้น เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และอำนาจที่มีอยู่อย่างรัดกุม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยสิ้นกระบวนการเมื่อเดือน มิ.ย.2555 หรืออีกกว่า 9 เดือนต่อมา

โดยมีห้วงเวลาสำคัญๆ ดังนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการรักษาตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก โดยให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ และให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ประสานให้ กสทช.พิจารณาออกใบอนุญาตให้กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ต่อไป

วันที่ 7 ธ.ค.2554 บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ในลักษณะให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม (Transponder) พร้อมชำระค่าคำขอใบอนุญาต 535,000 บาท

วันที่ 15 ก.พ.2555 และวันที่ 28 มี.ค.2555 กสทช.มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร

วันที่ 18 พ.ค.2555 หลังจากการประชุม 3 ครั้ง คณะอนุกรรมการฯได้มีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารแบบที่ 3 ของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และให้ฝ่ายเลขานุการพิจารณาภายใต้ประกาศ กสทช. เพื่อเสนอต่อ กทค. และ กสทช.ให้ความเห็นชอบต่อไป

วันที่ 12 มิ.ย.2555 กทค.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์ที่อนุกรรมการฯจัดทำขึ้นอาจเข้าลักษณะกีดกันผู้ประกอบการ จึงมอบหมายให้อนุกรรมการฯดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 

จนวันที่ 26 มิ.ย.2555 กทค.จะอนุมัติให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม โดยระบุด้วยว่า ต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลที่มีผลบังคับใช้ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาใบอนุญาต และการประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีความซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากสำนักงาน กสทช.มีอำนาจเพียงการออกใบอนุญาต แต่ Administrator ผู้ดูแลระบบดาวเทียมของประเทศไทย และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประสานงานกับ ITU คือ กระทรวงไอซีที (หรือกระทรวงดีอีเอสในขณะนี้)

การดำเนินการอย่างรัดกุมของ กสทช. โดย กทค.ครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลไทยยังต้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรต่อ ITU ด้วยซ้ำ

สะท้อนให้เห็นเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการของ กสทช.ในครั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ทุกประการ ไม่ตรงตามข้อกล่าวหาที่ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใด แต่อย่างใด