posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (21)

18 กันยายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ขุนแผนกับพลายงามชนะศึกเชียงใหม่ แต่ยังไว้พระเกียรติยศของกษัตริย์เชียงใหม่ไม่ให้เสื่อมเสีย

ดังที่ได้เล่ามาว่า เสภาคือเรื่องของคนคุก มีคนคุกเป็นพระเอก ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงให้รายละเอียดในเรื่องของคนคุกไว้ในตอนยกทัพไปรบเชียงใหม่นี้ไว้มาก ทั้งคุกอยุธยาและคุกเชียงใหม่ คือคุกอยุธยานั้นเป็นที่ขังขุนแผนกับพวก

ที่ขุนแผนให้เบิกตัวออกไปร่วมทัพจำนวน 35 คน ส่วนคุกเชียงใหม่คือคุกที่ขังพระยาท้ายน้ำกับทหารไทยจำนวน 500 คน ที่ไทยส่งไปชิงตัวนางสร้อยทอง พระธิดาในพระเจ้าล้านช้าง ที่พระเจ้าเชียงใหม่ได้ไปแย่งชิงมา ในระหว่างทางที่ทางล้านช้างจะส่งนางสร้อยทองไปถวายพระพันวษา กษัตริย์อยุธยา ซึ่งสภาพคุกที่เชียงใหม่นั้นแย่กว่าคุกที่อยุธยามาก แต่ในที่สุดขุนแผนกับพลายงามก็ใช้เวทย์มนตร์เอาตัวพระยาท้ายน้ำกับทหารทั้ง 500นั้นออกมาจากคุกได้

เมื่อเอาทหารไทยออกมาได้ทั้งหมดแล้ว ขุนแผนก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ แต่เมืองเชียงใหม่มีประตูคูรบแข็งแรงมากและมีกำลังทหารมากกว่า ทหารไทยก็ยังไม่เข้าโจมตี ส่วนทางเชียงใหม่ก็เกรงกลัวในเวทย์มนตร์ของแม่ทัพไทย มีครั้งหนึ่งที่ส่งแสนตรีเพชรกล้าที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่เก่งเวทย์มนตร์ที่สุดของเชียงใหม่ออกไปรบ ก็แพ้แก่พลายงามที่มีอายุแค่18 ปี จึงไม่กล้าออกไปสู้รบอีก

ดังนั้นในคืนหนึ่ง ขุนแผนจึงสะกดทัพทั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วบุกเข้าไปถึงห้องบรรทมของพระเจ้าเชียงใหม่ แล้วคลายมนตร์ให้พระเจ้าเชียงใหม่ตื่นขึ้นและยอมแพ้แก่อยุธยาเสีย ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่แม้จะตกพระทัยและหวาดกลัวมากเพียงใด ก็ไม่ได้แสดงอาการเหล่านั้นออกมา ทำให้ขุนแผนเกิดความยำเกรง แล้วจึงใช้วิธีเจรจาให้พระเจ้าเชียงใหม่ให้ทรงทราบถึงผลเสียหายที่จะตกแก่คนเชียงใหม่ พร้อมกับรับปากว่าจะกราบทูลพระพันวษาให้อภัยโทษ เพราะทางเชียงใหม่ไม่ได้ขัดขืน ไม่มีการเสียชีวิตทหารอะไรเลย ทั้งพระเจ้าเชียงใหม่และคนเชียงใหม่ก็ยังจงรักภักดีและยินดีที่จะสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์อยุธยาต่อไป ที่สุดพระเจ้าเชียงใหม่ก็ทรงยอม พร้อมกับคืนนางสร้อยทองให้ด้วย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การสงครามในสมัยโบราณไม่ได้มุ่งเอาบ้านเอาเมืองหรือยึดดินแดนเหมือนสงครามในสมัยต่อมา แต่มุ่งกวาดต้อนเอาผู้คนมาเป็นเชลยเพื่อใช้แรงงานนั้นมากกว่า

“สงครามในสมัยนั้นสำหรับภาคพื้นเอเชียอาคเนย์นี้ จึงเป็นสงครามชิงคน ไม่ใช่สงครามชิงแผ่นดิน และเมื่อมีการยึดถือต่อกันมาหลายศตวรรษเช่นนี้ พอฝรั่งเริ่มทำสงครามชิงแผ่นดินเข้า ก็ทำอะไรไม่ถูก และแพ้ฝรั่งไปตาม ๆ กัน... การกวาดต้อนผู้คนจากบ้านเมืองของเขามาสู่ประเทศของผู้ชนะนั้น ได้ประโยชน์สองทาง ประการที่หนึ่ง บ้านเมืองของผู้แพ้สงครามจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนถูกกวาดต้อนไปหมด จะกอบกู้เอกราชของตนในเวลาอันรวดเร็วก็คงไม่ได้ และกว่าจะกลับมาเป็นศัตรูกับประเทศผู้ชนะสงครามนั้นได้อีก ก็คงจะต้องใช้เวลาอันยาวนาน ประการที่สอง ประเทศที่ชนะสงครามนั้น จะได้แรงงานกลับมาเพื่อใช้ในบ้านของตน ในรูปของทาสเชลย ซึ่งก็คงจะเก็บไว้เป็นของหลวงบ้าง และแจกจ่ายกันไปในระหว่างแม่ทัพนายกอง เป็นบำเหน็จรางวัลบ้าง”

พระเจ้าเชียงใหม่พร้อมพระมเหสีและพระธิดา(ชื่อว่านางสร้อยฟ้าที่ต่อมาได้เป็นภรรยาของพลายงาม) รวมถึงข้าราชบริพาร ขุนนาง และไพร่พล ตลอดจนราษฎรคนเชียงใหม่อีกจำนวนมาก ก็ถูกกวาดต้อนลงมายังอยุธยา ระหว่างทางแวะมาพักที่เมืองพิจิตรเหมือนเมื่อตอนขามา พระยาพิจิตรนี้เป็นเกลอเก่าที่เคยช่วยขุนแผนไว้ไม่ให้ต้องโทษประหารชีวิตตอนที่หนีเวรครั้งเป็นมหาดเล็ก

ส่วนพลายงามก็ได้เจอนางศรีมาลา ธิดาพระยาพิจิตรที่เคยต้องใจกันมาตั้งแต่ขามานั้นแล้ว โดยได้มีนัดหมายที่จะตบแต่งกันต่อไป ภายหลังจากที่เสร็จการพาเชลยไปอยุธยานี้แล้ว จากนั้นก็ล่องเรือบรรทุกเชลยทั้งหมดลงมาจนถึงอยุธยา พระพันวษาก็พระราชทานอภัยโทษให้พระเจ้าเชียงใหม่พร้อมพระราชญาติกับขุนนางจำนวนหนึ่ง ส่วนไพร่พลและราษฎรให้เอาไปใช้งานหลวงทั้งหมด

สำหรับพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่คือนางสร้อยฟ้า แต่แรกพระพันวษาจะให้คุมตัวไว้เป็นตัวประกันในฐานะนางใน แต่ต่อมาเห็นว่าพลายงามยังไม่มีภรรยา(ด้วยไม่ทรงทราบว่าได้หมั้นหมายกับนางศรีมาลาแล้ว) จึงพระราชทานให้เป็นภรรยาของพลายงาม ซึ่งการได้นางสร้อยฟ้ามาเป็นภรรยานี่เอง ทำให้ชีวิตของพลายงามยุ่งเหยิงวุ่นวายมาก ไม่แพ้ชีวิตของขุนแผนผู้เป็นบิดา

สังคมไทยในสมัยนั้นเป็นสังคมของ “หน้าตา” อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วสัปดาห์ก่อนนี้ โดยทั่วไปก็คือการโอ้อวดตนแสดงความมั่งคั่งร่ำรวยสำหรับคนทั้งหลาย แต่ถ้าเป็นขุนนางก็จะมีการอวดหน้าตาอย่างอื่นอีกด้วย นั่นก็คือ “การอวดภรรยาน้อย” ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้บรรยายไว้ว่า “ภรรยาของข้าราชการในสมัยก่อนนั้น เมื่อถึงคราวที่จะต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก็ต้องเข้าไปถือน้ำเช่นเดียวกับสามี ชั่วแต่ว่าภรรยาข้าราชการนั้น ไปถือน้ำกับข้าราชการฝ่ายใน ส่วนตัวข้าราชการเอง ก็ไปถือน้ำกับข้าราชการฝ่ายหน้า มิได้ไปด้วยกัน ภรรยาที่จะเข้าไปถือน้ำได้นั้น จะต้องเป็นเอกภรรยา คือเมียหลวง

... ภรรยาน้อยทั้งหลายทั้งปวงไม่มีสิทธิ์ที่จะถือน้ำพิพัฒน์สัตยาได้ แต่มีหน้าที่ต้องตามเมียหลวง ไปเป็นบริวารของท่านที่เป็นเอกภรรยา มีหน้าที่ถือหีบหมาก กระโถน และของใช้อื่น ๆ แล้วเข้าไปคอยรับใช้เอกภรรยา ซึ่งเป็นเสมือนนายของตน เมื่อก่อนจะถึงพิธีถือน้ำ ถ้าจะว่าไป ก็เป็นการแสดงนิทรรศการภรรยาน้อยของท่านผู้หญิง คุณหญิง และบรรดาภรรยาหลวงข้าราชการทั้งปวง รู้สึกว่าจะประกวดประชันกันมากกว่า ภรรยาน้อยของใครมีความงามมากน้อยอย่างไร การแต่งตัวของภรรยาน้อยนั้น ของใครจะแต่งตัวดีกว่าใคร บางท่านก็ให้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณอันงดงาม และไว้ใจให้ใส่เครื่องประดับกายที่เป็นทองฝังอัญมณีต่าง ๆ และประกวดกันลงไปตนถึงกิริยามารยาทของผู้ที่เป็นภรรยาน้อยทั้งหลายเหล่านั้น การดูแลภรรยาน้อยให้อยู่ในมาตรฐานขั้นสูง จึงเป็นภาระและหน้าที่ของสมาชิกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยบ้าง กลาโหมบ้าง ในสมัยนั้น”

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อกษัตริย์ตรัสแล้วจะคืนคำไม่ได้ ว่ากันว่าจะทำให้เสียพระเกียรติยศ อย่างที่เรียกด้วยภาษาชาวบ้านว่า “เสียหน้า” นั่นเอง ดังนั้นแม้ขุนแผนจะอ้อมแอ้มเพ็จทูลว่า พลายงามได้มั่นหมายกับนางศรีมาลา ธิดาพระยาพิจิตรไว้แล้ว พระพันวษาก็ทรงตบพระเพลา แล้วตรัสออกไปว่า

 “ อ้ายพลายงามเป็นถึงหมื่นไวย     จะมีเมียสักเท่าใดก็ควรที่”

ตอนนั้นพลายงามได้เลื่อนยศเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรฝ่ายขวา ถือว่ามีตำแหน่งใหญ่โตพอสมควร แล้วก็เป็นไปตามค่านิยมของผู้คนสมัยนั้น เมื่อเป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้วก็ต้องมีเมียเยอะ ๆ และนี่เองก็เป็น “ทุขลาภ” ที่นำความอลหม่านมาสู่ชีวิตของพลายงามในเวลาต่อมา

ถ้าเมียสองต้องห้าม อย่างนี้มีสักสามจะได้ต้องตามตำรา โบราณว่าอย่างนั้น

******************************