posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบหก): พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

16 กันยายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********

การเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าประกอบไปด้วยกลุ่มการเมืองสามฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือวังหน้า (พระองค์เจ้าจอร์จวอชิงตัน หรือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้นำกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

แต่ถ้านับต่างชาติด้วย ก็จะพบว่า โทมัส นอกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษขณะนั้นถือเป็นการเมืองฝ่ายที่สี่ ที่สนับสนุนฝ่ายวังหน้า [ดู ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบสอง)]

ในสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งสาม ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอำนาจน้อยที่สุดและอยู่ระหว่างกลุ่มอำนาจสองกลุ่มที่กลุ่มสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจมากที่สุด

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบหก): พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

               โทมัส นอกซ์                สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบไปด้วยพระอนุชาและขุนนางรุ่นหนุ่มที่มีหัวสมัยใหม่มีความรู้ตะวันตก และได้ตั้งกลุ่มของตนขึ้นในนามของกลุ่มสยามหนุ่ม (โดยเรียกทับศัพท์ว่า “ยังไซยามโซไซเอตี” /the Young Siam Society)

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสยามหนุ่มนี้ มีสมาชิกที่แข็งขันคือ พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ผู้ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า ทำไมคนในตระกูลของท่านช่วง บุนนาคจึงมาอยู่กับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แถมยังแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯอย่างชัดเจนด้วย ?

พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นน้องคนเล็กสุดของสมเด็จพระยาฯ เมื่ออายุได้ 15 ปี สมเด็จเจ้าพระยาฯได้ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนแบลกฮีท ใกล้กรุงลอนดอน ศึกษาอยู่ 3 ปี พอมีความรู้พูดภาษาอังกฤษได้ และอ่านหนังสืออังกฤษเข้าใจความก็ต้องถูกถอนตัวออกจากโรงเรียน เนื่องจากในปี พ.ศ. 2409 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นราชทูตออกไปยุโรป ได้พากลับมารับราชการในประเทศไทยในราว พ.ศ. 2410 และมารับตำแหน่งราชเลขานุการสำหรับเชิญพระกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างประเทศแทนหม่อมราโชทัยที่ถึงแก่อนิจกรรม

แม้ว่าจะเป็นน้องชายแท้ๆของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่เขาก็มาเข้าร่วมกลุ่มสยามหนุ่มของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมวิเคราะห์ว่า น่าจะด้วยเหตุผลห้าประการที่ทำให้พระยาภาสกรวงศ์ไม่เป็นอยู่ในฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ประการแรก พระยาภาสกรวงศ์เป็นน้องคนเล็กสุดของสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอายุห่างกันถึง 41 ปี มีช่องว่างระหว่างวัยมาก

ประการที่สอง แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯเองจะสนใจและเปิดรับความรู้ตะวันตกและไม่เคยไปศึกษาต่างประเทศ ดังนั้น ความสามารถในภาษาอังกฤษ ความรู้และการรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงไม่เข้มข้นเท่าพระยาภาสกรวงศ์ที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึงสามปีและไปในช่วงสำคัญของวัยด้วย นั่นคือ ในช่วงอายุ 15 ปี จึงมีช่องว่างระหว่างกันตรงนี้อยู่

ประการที่สามความเป็นตัวของตัวเองของพระยาภาสกรวงศ์ หลังจากเปลี่ยนรัชกาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษายังเยาว์วัย และสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คนที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ย่อมจะถูกตั้งข้อสงสัยระแวงจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่พระยาภาสกรวงศ์กลับไม่เกรงกลัวและกล้าที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดและกราบบังคมทูลความต่างๆอย่างไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด และ “ให้ทรงใช้สอยโดยความสามิภักดิ์มิได้ครั่นคร้าม จึงได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย และได้ทรงใช้สอยเป็นประโยชน์มากแต่นั้นมา” และในขณะนั้น พระยาภาสกรวงศ์เป็นคนเดียวที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะให้ค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแบบแผนต่างประเทศได้

และความเป็นตัวของตัวเองและความมั่นใจในตัวเองของพระยาภาสกรณ์นี้ เป็นคุณสมบัติที่มีผู้สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เขาอยู่ในวัยเด็ก และดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจที่ตนจะแปลกแยกกับมิตรหรือญาติพี่น้อง

ดังที่มีผู้กล่าวถึงพระยาภาสกรวงศ์ไว้ว่า “ในพวกบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่ได้เล่าเรียนสำนักเดียวกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงไม่ปรากฎว่าใครเชี่ยวชาญในวิชาหนังสือ ถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในชั้นนั้นก็ไม่ปรากฏว่ารู้วิเศษกว่าเพื่อน แต่ทว่าอุปนิสัยของท่านรักเล่าเรียนปรากฏมาแต่ในชั้นนั้น ข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อนเรียนของท่าน คือพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) และพระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) เป็นต้น เล่าให้ฟังว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น ‘ชอบวางตัวเป็นนักปราชญ์มาแต่เด็ก’ ไม่ใคร่ถูกกับเพื่อนฝูง จึงมักถูกเขารังแก ยกตัวอย่างดังเช่น เวลาตามสมเด็จเจ้าพระยาฯไปเที่ยวตามหัวเมือง เวลาจะเดินป่าแต่เช้า พวกเพื่อนมักแกล้งทิ้งเจ้าพระยาภาสฯให้มัวหลับไปไม่ทัน ท่านก็มีปัญญาป้องกันตัว เอาเชือกผูกเท้าโยงขวางประตูไว้ ใครออกประตูห้องไปต้องสะดุดเชือกๆก็ปลุกท่ารนให้ตื่นดังนี้แสดงอุปนิสัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งมีมาแต่ยังเยาว์”

ประการที่สี่ เชื่อมโยงกับประการที่สาม ด้วยความเป็นคนรุ่น (generation) เดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่มีวัยใกล้เคียงกัน อายุห่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้พระยาภาสกรวงศ์มีความสนิทสนมและความเข้าใจกันและกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มากกว่าระหว่างเขากับสมเด็จเจ้าพระยาฯที่วัยห่างกันถึง 41 ปี

ประการที่ห้า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะมิได้ไปศึกษาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากครูชาวต่างชาติและเรียนรู้วิชาการตะวันตกพอสมควร และเมื่อเชื่อมกับประการต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้ว พระองค์จึงเป็นบุคคลที่พระยาภาสกรวงศ์เข้าด้วยได้มากกว่า

และด้วยอุปนิสัยในประการที่สาม อาจทำให้พระยาภาสกรวงศ์ไม่คิดจะต้องอาศัยญาติพี่น้องในการขึ้นสู่อำนาจ แต่จะใช้วิธีการและช่องทางของตัวเอง โดยบทบาทและการกระทำของพระยาภาสกรวงศ์จะปรากฎให้เห็นชัดเจนในการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มสยามหนุ่ม (Young Siam) และกิจกรรมของสมาคมสยามหนุ่ม (Young Siam Society)

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบหก): พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

  พระภาสกรวงศ์                       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี                (พร บุนนาค)                                                                                                  ( ท้วม บุนนาค)

ขณะเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นประธานสมาคมสยามหนุ่ม ด้วยเหตุผลที่ผมได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้คนจากตระกูลบุนนาคทั้งสองเข้ามาอยู่ฝ่ายพระองค์ เป็นได้ทั้งเป็นการท้าทายอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้คนที่อยู่ห่างวงออกไปเห็นว่า พระองค์ทรงโปรดคนในตระกูลบุนนาค โดยไม่ได้รังเกียจหรือสร้างความแปลกแยกระหว่างพระองค์กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจได้ว่า พระองค์ทรงแสดงความต้องการมีไมตรีอันดีต่อตระกูลบุนนาคด้วย

แล้วเราจะพบว่า พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มสยามหนุ่มและการออกหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “ดรุโณวาท” ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯและของฝ่ายวังหน้า และดึงอำนาจกลับคืนมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะนั้น พระยาภาสกรวงศ์มีอายุได้เพียง 24 ปี แต่บทบาทการต่อสู้ของเขาถือได้ว่า “แรงทะลุเดือด” ทีเดียว แต่ไม่ใช่การใช้กำลัง แต่ด้วยสติปัญญาล้วนๆ

(แหล่งอ้างอิง: ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, เจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาบางท่านในสกุลบุนนาค, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต๋า บุนนาค) ท.ม., ว.ป.ร., ต.จ.ว.; กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 1)