posttoday

ประชาชนได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

16 กันยายน 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ *************

ความห่วงใยเรื่อง “บ้านเมือง” ของแฟนรายการนี้ที่ได้พูดคุยด้วย สะท้อนถึงความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียง “การชิมลาง” เท่านั้น แต่ทำไมการลงคะแนนในวาระ 3 จึงมี ส.ส.และ ส.ว.ไปใช้สิทธิไม่มากเท่าที่ควร /////ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐสภาได้ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง “จำนวน ส.ส.”เลือกตั้งและบัญชีรายชื่อจากเดิม 350 ต่อ 150 กลับไปเป็นอย่างเก่า คือ 400 ต่อ 100 และมาตรา 91 เปลี่ยนแปลง “วิธีการเลือกตั้ง ส.ส.” จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบอย่างเก่า นัยหนึ่ง กลับไปเป็นแบบที่ใช้อยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หลังจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็ต้องตามไปแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

ประเด็นข้างต้นเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกประกาศใช้ พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคถือเป็น “นโยบายที่ไม่ประนีประนอม” โดยหาเสียงไว้ว่า หากได้รับเลือกตั้ง จะขอแก้ไขวิธีการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550

ข้ออ้างที่นักการมืองนิยมใช้เป็นเหตุผลในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2560 การเลือกตั้งแบบใหม่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ข้ออ้างสำคัญที่มักหยิบยกขึ้นมาคือ รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตย หรือต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2540 การเมืองไทยประกอบด้วยพรรคเล็กพรรคน้อย ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด การเมืองไทยจึงขาดเสถียรภาพและล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด นักคิดทั้งหลายจึงสุมหัวกันคิดว่า ทำอย่างไรเราจะให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพและเป็นสองพรรคใหญ่แบบอเมริกาและอังกฤษ ที่แบ่งเป็นพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านหลักชัดเจน

เมื่อเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคไทยรักไทยได้เสียงข้างมากเด็ดขาดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองมีเสถียรภาพตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ตามมาคือการทุจริตเชิงนโยบายอย่างกว้างขวางและรุนแรง และสิ่งที่เรียกว่า “ เผด็จการรัฐสภา “ เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หลังรัฐประหารปี 2549 คณะผู้ร่างจึงต้องปรับกันใหม่เพื่อป้องกันการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามากอบโกย ทุจริตคอรัปชั่น แต่ก็เกิดความวุ่นวาย จลาจลทางการเมือง และไม่อาจป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่ดูเหมือนจะยิ่งกว้างขวางและรุนแรงมากขึ้น

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ต้องมาพิจารณาหาแนวทางที่คิดว่าน่าจะดีที่สุดเท่าที่พอคิดได้ขณะนั้น เป็นการรักษาของดีที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ไว้

ส่วนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาก็เอามาทำให้ทันสมัย และเพิ่มสิ่งดี ๆ ที่คิดได้เพิ่มเติม มาให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง โดยเฉพาะการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับตัวแทน โดยเฉพาะ บัตรเดียว ซึ่งเน้นสิทธิ์ เสียง และบทบาทของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือองค์อธิปัตย์ การที่ ส.ส. ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดใจแต่อย่างใด

คราวนี้ ส.ส. ยังไม่แตะส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ว.ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรก เพราะต้องการเสียงสนับสนุน 1 ใน 3 (84 เสียง) จาก ส.ว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ขอแก้ไขจำนวน ส.ส.เลือกตั้งและบัญชีรายชื่อจาก 350: 150 กลับเป็น 400 : 100 แบบเดิมก่อน และวิธีการเลือกตั้งกลับไปเป็นแบบเดิม คือ ส.ส.เลือกตั้งและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ )

เป็นที่รู้กันว่า ยิ่งเขตเลือกตั้งไม่กว้างนัก หรือเล็กลง ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งสามารถซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น ผู้สมัครที่มีเงินเยอะได้เปรียบ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการเลือกตั้งก่อนใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงมี ส.ส.หน้าเดิม ๆ เป็นตระกูลผูกขาด จริงอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความนิยม แต่ถ้าไม่มีเงินสนับสนุน ความนิยมก็ลดลงไปหรือผันแปรไปนิยมคนที่มีเงินมากกว่า

เมื่อพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตมาก ก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นของแถมมากเป็นสัดส่วน หรือเรียกกันว่าได้สองเด้ง หาก ส.ว.ใช้วีธีเลือกตั้งแบบ ส.ส. จะเกิดตระกูลผูกขาด ส.ส.และ ส.ว.ประจำจังหวัดเพราะใช้ฐานเสียงเดียวกัน ดังที่กล่าวกันว่า ผัวเป็น ส.ส. เมียเป็น ส.ว. ลูกเป็น อบจ. ผูกขาดทั้งการเมืองและธุรกิจในพื้นที่

ระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมุ่งให้อำนาจแก่ประชาชนซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ จึงค่อนข้างเป็นที่รังเกียจของหลายคน เหมือนหมูเขาจะหามแต่มีใครไม่รู้เอาคานเข้ามาสอด ความพยายามที่จะแก้ไขเพื่อให้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.กลับไปแบบเดิมจึงเป็นที่ปรารถนาของนักการเมืองจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังมีอย่างน้อยสองพรรค คือ พรรคภูมิใจไทย (พรรครัฐบาล) และพรรคก้าวไกล (ฝ่ายค้าน) ที่ไม่สนับสนุนการกลับไปสู่ระบบเดิม โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคฝ่ายค้านที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยากไป “ไกลกว่านี้” โดยเฉพาะการงดใช้บทเฉพาะกาลเพื่อไม่ให้วุฒิสมาชิกชุดนี้ มีโอกาสเลือกรัฐบาลชุดต่อไป (ภายในห้าปีแรก) ซึ่งเป็น “ แต้มต่อ ” ให้กับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันหากต้องการสืบต่ออำนาจ แต่เพราะ ส.ส.ต้องการเสียงสนับสนุน 1 ใน 3 (84 เสียง) จากวุฒิสภา จึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน

แน่นอน คงมี ส.ส.บางกลุ่มที่อยากแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษว่าด้วยการทุจริตคอรัปชั่น เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ที่ทำให้นักการเมืองหลายรายที่ทุจริตคอรัปชั่นติดคุกหรือต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แม้ว่าจะกลับมาก็ได้ ก็ต้องติดคุกเสียก่อน

อีกทั้ง ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ และคดีไม่มีหมดอายุความ ไม่เช่นนั้น นักการเมืองและข้าราชการที่โกง สามารถไปหลบอยู่ต่างประเทศจนคดีหมดอายุความ แล้วเดินกลับมาอย่างสง่าผ่าเผยได้ บางคนพูดว่า ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงแก้ไขเพิ่มเติมยากเย็นนักหนา ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ยากเหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมจึงต้องยากกว่ากฎหมายธรรมดา ซึ่งเป็นหลักสากล ทุกประเทศก็ทำกันเช่นนี้ ส่วนจะยากมากน้อยแตกต่างกันเพียงใดเป็นอีกเรื่อง ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ดูเหมือนแก้ยาก อาจเป็นเพราะคนร่างรู้ทัน จึงมีมาตรการป้องกันการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะแก้ก็แก้ได้ตามใจ ที่สำคัญคือ ต้องถามประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก ว่าเห็นสมควรหรือถึงเวลาที่จะแก้ไขได้หรือยัง

อย่างไรก็ดี การแก้ไชเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปได้เร็ว เพราะเป็นขั้นลองเชิง และไม่ต้องการเสียเวลา จึงพยายามเหลีกเลี่ยงการขอแก้ไขบทบัญญัติใด ๆ เช่น หมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลหรือขององค์กรอิสระ หรือทำให้ศาลและองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของตนได้ ที่ถูกบังคับให้ต้องทำประชามติถามประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเสียก่อนว่าจะให้แก้หรือไม่ เมื่อประชาชนไม่ขัดข้อง หลังจากแก้ไขแล้ว ยังต้องไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นหรือไม่

เป็นการให้ความสำคัญต่อบทบาทของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือองค์อธิปัตย์ ประชาชนต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ หรือฝืนกับความรู้สึกของประชาชนที่เลือกเข้าไป โดยประชาชนนั่งมองดูตาปริบ ๆ

ที่ผ่านมา เมื่อนักการเมืองเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนเป็นประโยชน์กับตนและพวก ก็มักจะบอกว่า “ รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ” แต่ถ้าไม่ชอบใจรัฐธรรมนูญฉบับไหน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่า “ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ” คือ เอาความพอใจ หรือ ส่วนได้เสียของตนเป็นเครื่องวัดระดับประชาธิปไตย โดยไม่เคยถามประชาชนซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ หรือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เลือกพวกคุณเป็นตัวแทนกระทำการ

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงกำหนดเงื่อนไขไว้หลายกรณี หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวแทนต้องกลับไปถามประชาชนองค์อธิปัตย์ผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียก่อน ว่า ในกรณีนั้น ๆ ประชาชนจะอนุมัติในหลักการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อแก้ไขแล้ว ก็ต้องทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนอีกที

การตัดสินใจที่เป็นปัญหาประจำ ตัวแทนสามารถทำไปได้ แต่เรื่องใหญ่ต้องกลับมาปรึกษาหารือและขอความเห็นจากประชาชนซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ที่มอบอำนาจให้ ส.ส.ทำการแทน แต่ ส.ส.บ้านเรามักจะทึกทักเอาเองว่าประชาชนมอบอำนาจให้ทั้งหมด แล้วอีกสี่ปีค่อยมาคุยกัน แต่ประชาชนท้วงว่าไม่ใช่ บางเรื่องกฎหมายระบุให้ ส.ส.ต้องมาถามประชาชนก่อน บางเรื่องแม้กฎหมายไม่ได้ระบุ แต่เป็นเรื่องใหญ่ ส.ส.ก็ควรถามความเห็นของประชาชนก่อน

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องปรับวิธีคิด วิธีทำของตนเองด้วยเช่นกัน เมื่อได้ของดีมาแล้ว แต่กลับไม่ตระหนักถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้ กลับทำตัวเป็น “ พลังเงียบ “นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น ปล่อยให้คนที่ประชาชนเลือกทำในสิ่งที่ขัดความต้องการของเสียงส่วนใหญ่

ท่านผู้รู้ทั้งหลาย หากมีเวลาว่าง ลองเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไปอ่านทบทวนดู แล้วจะรู้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หาสิ่งดี ๆ มากมายมาให้ประชาชนเพิ่มเติมจากที่รัฐธรรมนญฉบับก่อน ๆ ได้ทำมาแล้ว อีกทั้งมุ่งเน้นบทบาทและความสำคัญของประชาชนที่เป็น “ศูนย์กลาง”

เวลานี้ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปมาก ประชาชนสามารถแสดงพลังของตนผ่านสื่อโซเชียลได้โดยตรงไปยังตัวแทนที่เราเลือกเข้าไป โดยไม่ต้องรอสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวแทนเช่นก่อน ขณะเดียวกัน ผู้แทนก็ถูกกดดันให้ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารจะมีส่วนทำให้ไทยพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เพิ่งผ่านไป เป็นเพียง “การโหมโรง” เท่านั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าเพื่อเข้าสู่อำนาจ แต่อาจต้องโหมโรงนาน เพราะรัฐบาลชุดนี้ทำท่าจะอยู่ครบวาระ หากฝ่ายค้านได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งที่กลับไปสู่แบบเก่า และได้อำนาจทางการเมือง เมื่อนั่นแหละ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะตามมาเป็นระลอก