posttoday

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

13 กันยายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                 

********************

ผมได้ถ่ายทอดเนื้อหาบทสนทนาทางการเมืองระหว่างคอสุราสามคนจากนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government/ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2430) มาได้หลายตอน

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

ผู้อ่านที่ติดตามจะพบว่า ความคิดของ “สุภาพบุรุษ” (หนึ่งในตัวละคร) มุ่งไปที่การรักษาสันติภาพภายใต้หลักการเสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย  เขาเห็นว่า ประเทศเล็กๆและไม่เข็มแข็งอย่างญี่ปุ่น (เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป)  จะไม่มีวันรับมือการรุกรานของประเทศมหาอำนาจในยุโรปได้เลย  ดังนั้น ควรยกเลิกกองทัพไปเสีย และหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า และหากถูกรุกราน ก็ใช้สันติวิธีเข้ารับมือ และประเทศอารยะทั่วโลก รวมทั้งประเทศที่รุกรานก็จะไม่สามารถกระทำย่ำยีญี่ปุ่นได้อย่างไม่ต้องอับอายต่อตัวเองและชาวโลก

ส่วนตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ“นักสู้” ผู้มีวิถีซามูไรในหัวใจ  เขากลับเห็นว่า สงครามคือปรอทวัดอารยธรรมและความยิ่งใหญ่ แม่ทัพคือผู้ที่มีความปิติที่ได้นำการต่อสู้กับข้าศึก ไม่ว่ากำลังทหารของฝ่ายศัตรูจะมากหรือน้อย หากชนะ ก็จะสามารถครอบครองดินแดนของข้าศึก และพวกศัตรูจะต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำลงไป กองทัพของประเทศที่ชนะก็จะมีชื่อเสียงขจรขยายไปทั่วทุกสารทิศ แต่ถ้าแพ้และต้องตาย ความกล้าและห้าวหาญของเหล่าทหารนั้นก็จะเป็นตำนานที่ประวัติศาสตร์จะต้องจดจำ ความสุขของนักรบคือการทำสงคราม                                                                                                                                                         

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

 “นักสู้” เห็นว่า ตัวเขาและ “สุภาพบุรุษ” มีความสุขกันคนละแบบ  สุภาพบุรุษมีความสุขกับการขีดๆเขียนๆ ส่วน ความสุขของเขาคือ การทำสงคราม

หลังจากที่อาจารย์นันไค (ตัวละคร เจ้าบ้านที่เปิดบ้านให้ตั้งวงเหล้าเคล้าการเมืองได้ฟังการสนทนาระหว่าง “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้” มาเป็นเวลานานพอสมควร เขายิ้มและกล่าวว่า “ท่านทั้งสองยังหนุ่มแน่นแข็งแรง และยังแสวงต้องการแสวงหาความสุขตามวิถีของแต่ละท่าน แต่ความสุขของข้าพเจ้าก็เพียงนี่เอง” ว่าแล้ว อาจารย์นันไคก็กระดกแก้วเหล้าเข้าปากสองแก้วติดๆกัน และเอามือถูอกและส่งเสียงออกมาว่า “อ้า ช่างมีความสุข สนุกจริงๆ” 

“สุภาพบุรุษ” กล่าวกับ “นักสู้” ว่า “ท่านและข้าพเจ้ากำลังถกเถียงกันถึงนโยบายของประเทศของเรา ไม่ใช่เรื่องความสุขส่วนตัว ดูเหมือนท่านจะเบี่ยงประเด็นไปสักหน่อยนะ”

เมื่ออาจารย์นันไคเห็นว่า “สุภาพบุรุษ” ออกจะจริงจังเคร่งเครียดกับการสนทนาในวงเหล้าจนเกินไป อาจารย์นันไคเลยแก้ตัวให้ “นักสู้” ว่า “ ท่านนักสู้เขาสำรวจกลไกการทำงานภายในของธรรมชาติมนุษย์หน่ะ และก็อธิบายเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์ได้ดีทีเดียว เขาน่าจะไปศึกษามาจากนักจิตวิทยานะ”

แต่กระนั้น “นักสู้” ก็มีมารยาท และรีบขอโทษขอโพย “สุภาพบุรุษ” และยอมรับว่าเขาผิดพลาดไปเองที่เบี่ยงเบนประเด็น และจะกลับไปสนทนาในเรื่องนโยบายของประเทศต่อ

--------------

อันที่จริง ก็แปลกดีนะครับ แทนที่ “นักสู้” ผู้มีจิตวิญญาณของการเป็นนักรบและปิติยินดีมีความสุขกับการทำสงคราม ไม่น่าจะยอมรับขอโทษ “สุภาพบุรุษ” ง่ายๆ  แต่เขากลับเป็นสุภาพบุรุษมากกว่า “สุภาพบุรุษ” เสียด้วยซ้ำ  และในการสนทนา  “สุภาพบุรุษ” ผู้อ้างว่าเทิดทูนเสรีภาพความเสมอภาค ภราดรภาพและประชาธิปไตย ก็กลับชิงพูดเอาๆ  ส่วน “นักสู้” ก็พูดน้อย และยอมให้ “สุภาพบุรุษ” พูดตามที่อยากจะพูด

-------------

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

ภายใต้หัวข้อนโยบายของประเทศ  “นักสู้” ได้กล่าวว่า “ทุกวันนี้ ชาติต่างๆทั่วโลกต่างพากันแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางการทหาร

การค้นพบวิทยาการใหม่ๆถูกนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในการทำสงคราม ทำให้วิทยาการทางการทหารก้าวหน้าขึ้น นั่นคือ พัฒนาการความรู้ทางฟิสิกซ์ เคมี และคณิตศาสตร์ทำให้ปืนมีอานุภาพมากขึ้นและป้อมค่ายก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้น  ส่วนการเกษตร อุตสาหกรรมและการค้าก็ทำให้ประเทศมีรายได้มากพอที่จะใช้ไปในการพัฒนาอาวุธและกำลังทหาร ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผลจากการวิสาหกิจทั้งหลายต่างเทไปที่จุดเดียวกัน นั่นคือ สนับสนุนนโยบายทางการทหาร  ทำให้ทหารนับล้านและกองเรือรบหลายพันสามารถเคลื่อนตัวไปหาศัตรูได้ทันทีหรือเข้าโจมตีท่าเรือของศัตรูทันทีที่ออกคำสั่ง

จริงๆแล้ว ภายใต้การจับตาดูของเสือและหมาป่าที่กระหายหิวนับไม่ถ้วน คงไม่มีอะไรอื่นที่ผู้ปกครองประเทศ (ญี่ปุ่น) จะใช้ในการปกป้องผืนแผ่นดินของพวกเขาได้ นอกเสียจากการทำให้กองทัพพร้อมรบ กระนั้น ศัตรูอาจะมีกำลังทหารนับล้าน ในขณะที่เรามีเพียงหมื่น ศัตรูอาจจะมีเรือรบนับพัน ในขณะที่เรามีไม่เกินห้าสิบลำ ถ้ามันเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะฝึกฝนเตรียมตัวอย่างหนักเพียงใด แต่กำลังของเราก็เป็นแค่เด็กๆเมื่อเทียบกับของศัตรู ดังนั้น มันจึงเป็นความโง่เขลาและไร้สติที่จะพยายามปกป้องประเทศด้วยกองกำลังอันน้อยนิด ทุกวันนี้ เราเพียงแค่โชคดีที่น่านน้ำของเรายังไม่ถูกโจมตี และก็เป็นเรื่องของความบังเอิญเท่านั้นที่ป้อมปราการของเรายังไม่ถูกทำลาย  เพราะจริงๆแล้ว ศัตรูของเราไม่เคยกลัวเกรงเราเลย  เพียงแต่พวกเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะรุกรานเราเท่านั้น แต่ทันทีที่พวกเขาตัดสินใจที่จะรุกรานเรา พวกเขาจะลงมือทันที  น่านน้ำของเราจะถูกโจมตี ป้อมปราการถูกทำลาย ประเทศของเราจะแตกเป็นเสี่ยงๆ และเมืองหลวงของเรา....อ้า ในโลกทุกวันนี้ การที่ประเทศเล็กๆอย่างเรายังดำรงอยู่ได้ มันช่างมีค่าเสียเหลือเกิน  แม้กระนั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้ประเทศเราขยายใหญ่โตขึ้น หรือจะให้กลายเป็นประเทศร่ำรวยขึ้นทันที  รวมทั้งการขยายขนาดกองทัพและฝูงเรือรบอย่างทันทีทันใด เราอาจจะไม่มีประเทศของเราต่อไป  นอกเสียจากว่า เราจะเริ่มสร้างกองทัพ และพัฒนาเศรษฐกิจและขยายดินแดน  มันเป็นตรรกะทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ ท่านไม่เคยได้เรียนรู้จากกรณีของโปแลนด์และพม่าหรือ ?

โชคดี ที่เดี๋ยวนี้ เรามีหนทางที่จะสร้างชาติของแ และขยายกองทัพของเรา ทำไม เราไม่เริ่มลงมือเสียเดี๋ยวนี้ ?

ทำไมเราไม่จัดการกับประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่โต มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่กลับมีรัฐบาลที่ไม่ได้เรื่อง แม้ว่าจะมีกำลังทหารเป็นจำนวนมากมาย แต่ก็เป็นกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพและอ่อนแอ ประเทศดังกล่าวนี้ไม่ต่างจากวัวอ้วนรอถูกเชือด

นั่นไม่ใช่สิ่งที่สวรรค์ประทานให้ประเทศเล็กๆอย่างเราหรอกหรือ  ทำไมเราไม่ไปเอาดินแดนของประเทศแบบนั้นมาสักครึ่งหรือหนึ่งในสาม ?   ถ้าเราออกพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ ระดมคนที่เก่งกล้าสามารถในประเทศของเราสักสี่ห้าหมื่นคน ถ้าเราตั้งใจที่จะยอมใช้เงินคงคลังของเรา เราอาจจะสามารถซื้อเรือรบได้สักหลายร้อยลำ  เราส่งทหารไปรบ ส่งพ่อค้าไปทำการค้า ให้เกษตรกรเพาะปลูก ช่างฝีมือผลิตข้าวของ นักวิชาการสอนหนังสือ และถ้าเรายึดดินแดนครึ่งหรือหนึ่งในสามของประเทศนั้นมาเป็นของเราได้  ดินแดนของประเทศของเราจะขยายขึ้นทันที”                                                                                       

--------------------- 

วิธีคิดของ “นักสู้” ก็คือ แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศเล็กและอ่อนแอด้านการทหารเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป แต่ก็ถือว่ามีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่าประเทศใหญ่ๆบางประเทศในเอเชียหรืออัฟริกา ที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ กองกำลังก็มีแต่ปริมาณ ไร้ซึ่งคุณภาพ  ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องรีบสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่โดยจัดการกับ “วัวอ้วนที่รอถูกเชือด”

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด):  วัวอ้วนรอวันเชือด

และน่าจะด้วยวิธีคิดแบบของ “นักสู้” นี้เอง  ที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้าไปในประเทศต่างๆในเอเชียนดังต่อไปนี้ เช่น ไต้หวัน เกาหลี จีน ลาว ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย ฟิลลิปินส์ อีสอินดี้ สิงคโปร์ พม่า อีสติมอร์ กวม ฯลฯ

ประเทศเหล่านี้คือ “วัวอ้วนรอวันเชือด” ในสายตาของญี่ปุ่น และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

น่าสนใจว่า ทุกวันนี้ เราเป็น “วัวอ้วนรอวันเชือด” ในสายตาประเทศอะไรบ้าง ?