posttoday

เรื่องเล่าเยาวชนนอกระบบ

11 กันยายน 2564

โดย...โคทม อารียา

**************

หลายคนอาจเข้าใจว่า เยาวชนนอกระบบการศึกษาน่าจะหมายถึงนักเรียนที่อยู่ในการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่ทว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้นิยามว่าหมายถึงเยาวชนอายุ 2-21 ปีที่อยู่นอกระบบ หมายรวมถึงไม่อยู่ในระบบ กศน. ด้วย “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน” สสค. ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่า มีเด็กนอกระบบการศึกษา 1.7 ล้านคน ตัวเลขนี้น่าตกใจ ตัวเลขล่าสุดที่พอหาได้มาจากการสำรวจของ กสศ. ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในเดือนกันยายน 2562 พบว่า มีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่มีอายุระหว่าง 2-21 ปี เฉพาะใน 20 จังหวัด จำนวน 867,242 คน ถ้ารวมเยาวชนนอกระบบทั้งประเทศ น่าจะมีมากกว่าสองล้านคน

ในปี 2563 กสศ. ร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษา 66 เครือข่าย จัดทำโครงการ “สนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่” กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนนอกระบบกว่า 3.5 หมื่นคนทั่วประเทศที่จะได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ และมีครูนอกระบบอีก 3.7 พันคนทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง ครูเหล่านี้ไม่ใช่ครูในความหมายของผู้สอนหนังสือในโรงเรียน แต่เป็นอาสาสมัครที่ทำงานพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว และมีจิตวิญญาณเป็นครู คือผู้ยินดีชี้แนะให้เยาวชนทำในสิ่งที่เขาอยากทำให้สำเร็จ เพื่อให้มีรายได้และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาได้รับทุนสนันสนุน จาก กศส. ให้ดำเนินโครงการนี้ในภาคใต้ตอนล่างสี่จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และพัทลุง โดยมีเยาวชนนอกระบบเป็นกลุ่มเป้าหมาย 500 คน มีครูพี่เลี้ยง 60 คน ที่ช่วยกันดูแลเยาวชนในพื้นที่ของตน เยาวชนและครูพี่เลี้ยงรวม 560 คน ที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีเรื่องเล่ามากมาย เล่าว่าโครงการนี้ให้โอกาส ให้น้ำใจ และปลุกความฝันให้ชีวิตได้อย่างไร โครงการจึงได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “เรื่องเล่าเยาวชนนอกระบบ” เพื่อถ่ายทอดเรื่องเล่าบางเรื่องสู่กันฟัง ผมขอเก็บตกเรื่องเล่าบางเรื่องมาเขียนเป็นบทความนี้

ลม้าย มานะการ นักพัฒนาอาวุโสจากปัตตานีเล่าว่า “ดร. รุ่ง พัทธ์ธีรา ม.มหิดล อินบ็อกมาถามว่า พี่ลม้ายอยากทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาไหม บรา บรา บรา ... แต่ไม่มีค่าตอบแทนอะไรเลยนะคะ มีแต่เงินอุดหนุนเด็กหัวละ 3,000 บาท” “ตกลงซิคะ จะรออะไร”

... เราเริ่มต้นจากการค้นหาครูพี่เลี้ยง ... ให้เขามีหัวใจเพื่อเด็กนอกระบบเหล่านี้ก็พอ ... จากคนนี้ถึงคนนั้น จนครบ 20 คนในวันเดียว ... แล้วการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบก็เริ่มขึ้น แต่ใช้เวลาเกือบเดือน ... เด็กไม่มั่นใจพี่ เด็กลังเล เด็กกลัว เด็กไม่เชื่อ ... โอเคนะ แล้วมีเด็กที่ไว้วางใจเรา แล้วบอกว่าเราจะไปด้วยกันไหม มีพี่ ... เอาละ เราจะเริ่มทำงานกับคนกลุ่มนี้ มีเรื่องที่น่าห่วงกว่านั้นพี่ พ่อแม่เขาไม่เชื่อเรา ... บางคนเขาบอกว่าเงินแค่ 3,000 บาทจะทำอะไรได้ โอเค ... แล้วมีเด็กที่พ่อแม่สนับสนุนไหมคะ ... มีพี่ ... งั้นเราจะเริ่มจากเด็กปัตตานีกลุ่มนี้ ซึ่งมี 109 คน

เราเริ่มทำแบบสอบถาม เพื่อทราบความต้องการ/ความฝันของเด็ก อันนี้เป็นโอกาสที่ครูพี่เลี้ยงได้ใกล้ชิดเด็กมากขึ้น ... เราไม่ได้เป็นครูในตำแหน่งหน้าที่ แต่เราเป็นครูนอกระบบที่รู้จักฟังด้วยหัวใจ รู้จักพูดด้วยเมตตา นอกจากครูพี่เลี้ยง 20 คน มีใครอีกไหมที่จะแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และโอกาสอื่น ๆ ให้แก่ลูกศิษย์ของเรา เราเตรียมเป็นตัวต่อ ทาบทามให้ทันที แล้วเรา ... ปลื้มมาก มีคนอื่นอีกไม่น้อยที่อยากสนับสนุนเด็กและเยาวชนนอกระบบของเรา ... ดีใจจัง และอยากบอกสรุปสุดท้ายว่า ... ห้วงเวลา 10 เดือนนี้ ... ปลื้มทุกคน ... ปลื้มไปด้วยกันค่ะ”

เรื่องเล่าต่อไปเป็นของครูญาญ่า เมื่อเธอจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ ได้ไปสมัครงานหลายที่หลายแห่งแต่ไม่สำเร็จ เลยไปทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายบัญชีที่หาดใหญ่ ณ ที่ทำงานมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นมุสลิม เลยสนิทกัน เวลาผ่านไป 1 ปี ผู้จัดการคนเก่าย้ายไปอยู่สาขาอื่น มีผู้จัดการคนใหม่เข้ามา เธอบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการแต่งกายให้ทุกคนใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน เธอหันมาถามว่า “พวกเธอสองคนถ้าเกิดไม่ใส่ผ้าคลุมผมได้ไหม?” “ไม่ได้ค่ะพี่” เราตอบพร้อมกัน ผู้จัดการคนใหม่ทิ้งท้ายว่า “พี่ขอคำตอบตอนเย็นน่ะ” ญาญ่าถามเพื่อนว่า “มึงว่าไง” และทั้งสองคนพูดพร้อมกันว่า “กูจะลาออก”

ญาญ่ามาทำงานเป็นบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิดของ ม.อ. ปัตตานี อยู่ 5 เดือน โดยพี่ลม้ายเป็นที่ปรึกษา ระหว่างนี้ ด้วยความที่มีจิตวิญญาณเป็นแม่ค้าสูง จึงซื้อเสื้อผ้ามือสองและสินค้าตามกระแสมาขายออนไลน์ จนเป็นที่รู้จักและเริ่มมีตัวแทนจำหน่าย ทำให้ยอดขายดีขึ้น พอจบสัญญากับ ม.อ. ปัตตานี ได้รับการติดต่อจากพี่ลม้ายให้เป็นครูพี่เลี้ยง ดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับพี่ลม้ายอีกครั้ง รีบตอบรับโดยไม่ได้ถามถึงชื่อโครงการ วันแรกที่อบรมพี่เลี้ยง งงไปหมด ไม่รู้จักใครเลยนอกจากพี่ลม้าย พี่ลม้ายถามว่า “ใครอยากสอนน้อง ๆ เกี่ยวกับการขายออนไลน์บ้างค่ะ” ญาญ่ารีบยกมือโดยไม่ทันคิดว่าห่างเกินงานสอนมาสักพักแล้ว

ญาญ่ามีน้อง ๆ มาเรียน 5 คน ได้เรียนรู้ปัญหาของพวกเธอที่หลากหลาย บางคนตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 บางคนเป็นคุณแม่วัยใส บางคนเคยติดยา มีปัญหาครอบครัว เราเรียนกัน 4 วัน รวม 16 ชั่วโมง น้อง ๆ มาจากที่ต่าง ๆ และตั้งใจมากจนมาเรียนถึงบ้านญาญ่า ตั้งใจว่าพอเรียนจบจะเปิดขายออนไลน์ได้ทันที บางคนเลือกขายเสื้อผ้า กระเป๋า สินค้าแคมปิ้งมือสอง โดยญาญ่าช่วยแนะนำร้านสำหรับซื้อสินค้ามือสองให้น้อง ๆ หลังอบรม ได้ข่าวดีจากพี่น้องสองคนที่เปิดร้านออนไลน์ด้วยกัน ลงทุน 4,000 บาท คืนทุนหมดแล้วได้กำไรมา 8,000 บาท ถึงโครงการนี้จบไปแล้ว ญาญ่าตั้งใจจะดูแล ให้คำปรึกษา และคอยติดตามความสำเร็จของน้องทั้ง 5 คนต่อไป

มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจจากกลุ่มเยาวชนที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลทรายขาวมีประชากรประมาณ 4,100 คน เป็นมุสลิมประมาณ 59 % ชาวพุทธ 41 % ซึ่งเป็นสัดส่วนชาวพุทธที่สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับสัดส่วนของทั้งจังหวัด ที่ตำบลทรายขาวมีหมูพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง เรียกว่าหมู “ขี้พร้า” ทนต่อโรคและสภาพอากาศ หมูพันธุ์นี้เลี้ยงง่ายด้วยอาหารที่หาได้ในพื้นที่และมีเปอร์เซนต์การรอดสูง อีกทั้งเนื้อหมูพันธุ์นี้เริ่มมีราคาสูงขึ้น เยาวชนในโครงการพบพื้นที่เลี้ยงหมูที่ไม่รบกวนชาวบ้านในเรื่องกลิ่น เป็นคอกหมูร้างไม่มีหลังคาแต่โครงสร้างบางส่วนยังแข็งแรง เยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือ บ่อยครั้งไปรับจ้างเป็นผู้ช่วยงานก่อสร้าง ทำให้มีทักษะการก่อสร้างอยู่บ้าง จึงใช้เวลาว่างจากการเก็บน้ำยางหรืองานประจำอื่น มาซ่อมคอกหมูเรื่อย ๆ เป็นเวลา 1 เดือนจนเสร็จ ใช้เลี้ยงหมูขี้พร้าได้ 12 ตัว ให้อาหารเป็นปลายข้าว รำ ผักที่ชาวบ้านเหลือขาย บอน หยวกกล้วย เป็นต้น หลังจาก 4 เดือนหมูขายได้ มีกำไร ... แบ่งปันกัน

ขอย้ายจังหวัดมาเล่าเรื่องของเยาวชนที่อำเภอยี่งอ สุคีริน และจะแนะ จังหวัดนราธิวาสบ้าง เยาวชนสนใจฝึกอาชีพช่างเชื่อมโลหะ ช่างยนต์ ทำขนมเบเกอรี่และเครื่องดื่ม ทำการเกษตร นอกจากการพัฒนาทักษะอาชีพแล้ว ยังมีการนั่งล้อมวงคุยปรับทัศนคติ เพื่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต หลังการฝึกอบรม บางคนอยากเรียนรู้เพิ่มเติม บางคนไปร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น ไปช่วยแจกอาหารแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บางคนไปเป็นลูกจ้างช่างเหล็กกับเจ้าของกิจการในหมู่บ้านเรื่องเล่าจากยะลาที่ขอนำมาเล่ามีชื่อว่า “ผมรักไผ่” ผู้เล่าชื่อ “ตา” เขาเล่าว่า “ผมอยู่บ้าน ช่วยแม่ขายของในตลาด แต่ผมไม่ชอบ รู้สึกเขินเวลาอยู่กับคนเยอะ ๆ

ผมมีโอกาสไปเรียนทำเก้าอี้ไม้ไผ่กับครูเขียว รู้สึกชอบที่ได้ทำงานกับตัวเอง ได้คิดเอง ทำเอง ไม่ต้องเจอคนเยอะ ๆ ผมได้ทำเก้าอี้ ทำโต๊ะ ทำแคร่ พวกเราหัดทำถ้วยไม้ไผ่ ทำชุดดริปกาแฟ ทีแรกก็ไม่สวย พี่ ๆ ช่วยกันคิด ให้เราทำรูปใส่ลงบนถ้วย มีเพื่อนผู้หญิงออกแบบรูปให้ พี่ ๆ พาไปเลเซอร์ที่ร้าน จากถ้วยที่ไม่มีราคา พวกเราสามารถทำให้มีมูลค่าขึ้นมาได้ พวกผมได้ขายในหน้า Facebook มีตลาดออนไลน์ พวกเราทึ่งกับผลงานของตัวเอง ขอบคุณลุงที่ให้เครื่องเลเซอร์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปเยอะ ... พวกเราสัญญาว่าจะเป็นคนดีของสังคมตลอดไปครับ”

ที่จังหวัดพัทลุง ครูพี่เลี้ยงหลัก วรปรัชญ์ เพ็ชรจำรัส เล่าว่า “โครงการนี้ต้องการช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง การบ้านข้อใหญ่ คือค้นหาทีมครูพี่เลี้ยง ซึ่งตั้งชื่องานนี้ว่า “ค้นหาฮีโร่” รวม 12 คน ครูพี่เลี้ยงกระจายกันไปค้นหาเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ได้ทั้งหมด 125 คน เราให้พวกเขาระดมความคิดว่าสามารถทำอะไรได้บ้างจากต้นทุนที่มีอยู่ จนออกมาเป็นกลุ่มอาชีพ 15 กลุ่ม ได้แก่ 1) ช่างยนต์ 2) ช่างตัดผมชาย 3) ช่างเสริมสวย 4) ช่างทำเล็บ 5) ทำหัตถกรรม 6) เลี้ยงไก่ไข่ 7) เลี้ยงไก่ชน 8) เลี้ยงเป็ดไข่ 9) เลี้ยงปลา 10) แปรรูปปลา 11) ทำขนมและเบเกอรี่ 12) ปลูกผักปลอดสาร 13 ) ทำเครื่องสานกระจูด 14) เครื่องประดับวัวชน 15) ผลิตภัณฑ์กิ๊ฟช็อป

สรุปแล้ว งานนี้เป็นยาใจให้แก่ทั้งเด็กและพี่เลี้ยง เด็กนอกจากจะทำอาชีพหาเลี้ยงตัวเองแล้ว ยังส่งมอบสิ่งต่าง ๆ ให้แก่สังคม ให้แก่คนที่บางครั้งเขาไม่รู้จักด้วยซ้ำ ส่วนครูได้ผลตอบแทนที่ไม่ได้คาดหวังกลับมาในรูปแบบของความสุขใจ สบายใจที่ได้เห็นเด็ก ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นที่ยอมรับของคนรอบตัวมากขึ้น ที่สำคัญคือรอยยิ้มของพวกเขาที่เกิดจากความภาคภูมิใจในตัวเอง

โครงการนี้เพิ่งยุติลง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่อผู้ด้อยโอกาส กำลังมีการสรุปบทเรียนและประเมินผลกันอยู่ แต่พวกเราก็ดีใจที่ประธานคณะอนุกรรมการของ กสศ. ที่รับผิดชอบงานนี้ ได้มาฟังรายงานของโครงการในเขตพื้นที่ภาคใต้ และกล่าวว่า “โครงการนี้ไม่ใช่โครงการ 1 ปี ต้องดำเนินการรวม 3 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะตอบโจทย์ของ กสศ. ได้ชัดเจน และเป็นงานที่ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง”

***********