posttoday

คิง เมคเกอร์ คืนชีพ

09 กันยายน 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*************

เชื่อว่าหลายคนได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 ซึ่งไฮไลต์น่าจะอยู่ที่การลงมติในวันที่ 4 กันยายน 2564 ท่ามกลางกระแสข่าวที่ก่อให้เกิดความระทึกใจ แม้รัฐบาลคุมเสียงในสภาด้วยจำนวนตัวเลขมากกว่าฝ่ายค้านพอสมควร แต่นอกสภา ได้เกิดข่าวลือ และปฏิบัติการต่อต้านข่าวลือ มากมาย จนทำให้แฟนการเมืองที่พอจะรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังใจเต้นระทึก

อย่างไรก็ดี ในฐานะคนดูและในฐานะประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งขององค์อธิปัตย์ ที่ให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมของผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนในสภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนมีข้อสังเกตสามประการ คือ

หนึ่ง การเล่นการเมืองนอกสภาจนไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายของชาติต่อ “ความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ” ทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติโดยส่วนรวม เมื่อคนบางกลุ่มมุ่งแต่จะเอาชนะหรือชิงความได้เปรียบทางการเมืองเพียงอย่างเดียว การเมืองแบบนี้ไม่ใช่วิถีการเมืองที่ควรจะทำทั้งในและนอกสภา

สอง ความพยายามของคนที่อยากเป็น “คิง เมคเกอร์” ที่สำคัญตนว่าจะตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพราะมีเสียงทั้งในรัฐบาลและมี “งูเห่า” ในฝ่ายค้านร่วมด้วย ถ้าหากเทไปฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็ชนะ

สาม “ยุทธการเปิดโปง” ความลับแผนการของฝ่ายตรงข้าม ให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยผู้เลือกคนเหล่านี้เข้าไปนั่งเป็นผู้แทนในสภา ได้รู้ว่า ผู้แทนกลุ่มหนึ่งที่ตนเลือกเข้าไปนั่งในสภา และแนวร่วมนอกสภากำลังเดินเกมสกปรกอะไรบ้าง การสร้าง “แนวร่วมเฉพาะกิจ “ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้าน นักการเมืองในประเทศกับนอกประเทศ

ความห่วงใย ประการแรก นั้น คนไทยหลายคนไม่สบายใจที่ ส.ส.และคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ชอบรัฐบาลประยุทธ์ เล่น “การเมืองวัคซีน” จนกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยความพยายามด้อยค่าวัคซีนจากจีน แต่ชื่นชมวัคซีนจากสหรัฐ บางคนทั้งพูดและเขียนกล่าวหาวัคซีนจีนอย่างไร้เหตุผล ทั้งที่วัคซีนจีนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และรักษาคนจีนซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในโลกมาแล้ว

จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะมีคนจีนโพสต์ทำนองน้อยใจว่า คนไทยไม่สำนึกบุญคุณจีนที่อุตส่าห์เจียดวัคซีนมาขายให้ไทยเป็นประเทศต้น ๆ ทั้งที่คนจีนยังขาดแคลน ทำให้คนไทยบางคนได้โพสต์ขออภัย และยืนยันว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่เป็นเพียงการกระทำของคนกลุ่มเล็ก ๆ นี่เป็น “การทูตภาคประชาชน” ในขณะที่ สถานทูตจีนในไทย ได้ออกแถลงการณ์ทำนองตัดพ้อคนไทย “บางคนและบางองค์กร” ที่พยายามด้อยค่าวัคซีนจีน

คนที่นั่งกระดิกเท้าหัวเราะชอบใจที่ทำให้คนจีนกับคนไทยระแวงกันได้ มีอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ (1) อเมริกา ที่เห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งออกมาช่วยด่าจีน และช่วยกดดันรัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้คำบงการของอเมริกา (2) นักลงทุนไทยบางราย ที่ต้องการปั่นหุ้นวัคซีนอเมริกันตัวนี้เพราะนอกจากได้กำไรเรื่องหุ้นแล้ว หากได้รับอนุญาตให้เอกชนซื้อมาฉีดให้ประชาชนได้โดยตรง ก็จะได้กำไรมหาศาล

เดือดร้อนถึง ดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ถูกอภิปรายในครั้งนี้ แต่จำเป็นต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพราะถูกฝ่ายค้านพาดพิงด้วย “ข้อความที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”

ดอน สรุปว่า กระทรวงต่างประเทศแต่ผู้เดียวเป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลในการจัดหาวัคซีน ทั้งการซื้อและการบริจาค และช่วยทำความเข้าใจกับคุณภาพของวัคซีนซิโนแวค ว่าเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว และมี 39 ประเทศในโลกที่รับรองและนำไปฉีดให้กับประชาชนของตน ได้ผลในการระงับยับยั้งการติดเชื้อโควิดได้ดีตามเป้าหมาย โดยมีผลข้างเคียงน้อยและมีความปลอดภัยสูง จนเวลานี้มีการใช้อย่างแพร่หลายกว่า 90 ประเทศทั่วโลกยกเว้นสหรัฐ ซึ่งผลิตวัคซีนของตนเอง

คนไทยบางกลุ่มเล่น “การเมือง” จนไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อ “บ้านเมือง” เราหวังว่า คำชี้แจงของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลจีนและประชาชนจีนเข้าใจ

ประการที่สอง จากการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายครั้งนี้ ทำให้นึกถึงนักการเมืองคนหนึ่งที่ประกาศตนว่าเป็น “คิง เมคเกอร์” โดยคุยว่า เป็นผู้ “ปั้น”นายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ได้สะท้อนให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า การเมืองไทยคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะก้าวข้ามคำว่า “การเมืองน้ำเน่า” ทั้งที่ ส.ส.จำนวนมากต้องการพัฒนาให้การเมืองไทยดีขึ้น

การขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นเรื่องปกติในระบบการเมืองรัฐสภา แต่ความพยายาม ” ล้ม “ พลเอกประยุทธ์โดยนักการเมืองฟากรัฐบาลด้วยกันเอง โดยอ้างว่าขออะไรไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ แทนที่จะเป็นประเด็นการบริหารบ้านเมือง กลับกลายเป็นประเด็น”ขอแล้วไม่ได้”

หลายคนสงสัยว่า “ขออะไรมักไม่ได้” นั้น คนขอต้องการขออะไร แล้วที่ไม่ได้นั้นเป็นเพราะเหตุใด และที่ขอมานั้น “ถูกกฎหมาย” หรือไม่อย่างไร หากฟังเสียงผู้นำที่พูดภายหลังทำนองว่าจะพิจารณาให้ถ้าเรื่องนั้นไม่ผิดกฎหมาย แสดงว่า สิ่งที่เคยขอมานั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ได้

คนที่จะเป็น “คิง เมคเกอร์” ได้นั้น ต้องมีข้อมูลละเอียด ถูกต้อง วิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมได้อย่างแม่นยำ และต้องมี “บารมี” ที่สำคัญคือ คิง เมคเกอร์ “ตัวจริง” ยังอยู่ และเป็นผู้สร้างนายกรัฐมนตรีคนนี้ซึ่งอยู่ยงคงกระพันมาแล้ว 7 ปี คำพูดที่ตอกกลับไปว่า “ จะให้กูทรยศน้องหรือ? ” อาจถือได้ว่าเป็น “วาทะแห่งปี 2564”

ลูกสมุน “กองเชียร์” ที่อยากยกระดับจากรัฐมนตรีช่วย เป็นรัฐมนตรีว่าการ คงฝันร้ายไปตามๆกัน

นักการเมืองหรือทหารรุ่นใหม่อาจไม่รู้ แต่บรรดาทหารรุ่นเก่ารู้กันดีถึงความสัมพันธ์ ความสนิทสนม ความไว้วางใจระหว่าง “พี่น้องสามคน” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” ซึ่งร่วมเป็นร่วมตายในสนามรบกันมาหลายสิบปี พี่สองคนรู้ตัวดีว่า ภาระนายกรัฐมนตรีนั้นหนักเกินกว่าตนเองจะรับได้ จึงชี้นิ้วมาที่น้องคนสุดท้ายแล้วบอกว่า “มึงน่ะแหละเป็น” และยังไม่เปลี่ยนจนกระทั่งบัดนี้ คนที่อยากเป็นคิง เมคเกอร์รุ่นใหม่ต้องคิดให้รอบคอบ

ประการที่สาม ต้องขอชื่นชมแผน “ ยุทธการเปิดโปง “ ผ่านสื่อโซเชียลล่วงหน้าประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้เขียนเจอหน้าใครก็ถูกถามว่า จริงไม๊ สิ่งนี้สะท้อนว่า การหาข่าว “ลับที่สุด”ซึ่งเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เมื่อได้ข่าวมา ต้องใช้ข่าวนั้นให้เป็นประโยชน์ในการป้องกัน ป้องปราม สกัดกั้น ซึ่งมีหลายวิธี สำหรับครั้งนี้ ผู้ได้ข่าวได้ใช้ “ยุทธการเปิดโปง” ที่ต่อมามีการโพสต์ส่งต่อกันอย่างกว้างขวางในสื่อโซเชียล

สิ่งใดที่เป็นแผนลับที่สุดเมื่อถูกเปิดโปงออกมาแล้ว โอกาสความสำเร็จก็เหลือน้อย เพราะอีกฝ่ายรู้และเตรียมตัวตอบโต้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นโชคดีของประเทศไทยที่แผนนี้ไม่สำเร็จ

ไม่ทราบว่าบรรยากาศในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกหลังการอภิปรายจะเป๋นอย่างไร โดยเฉพาะในพรรคแกนหลักของรัฐบาล อาจเกิดอาการมองหน้ากันไม่ติดไประยะหนึ่ง

ในสังคมไทย ผู้ใหญ่เป็นคน “ไม่พยาบาท” แต่ “ความจำดีเยี่ยม”