posttoday

John Rawls กับพรจากนางฟ้าใจดี

27 สิงหาคม 2564

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

************

นับจากปี ค.ศ. 1971 ที่ A Theory of Justice ของ John Rawls ตีพิมพ์ออกมา ถึงปีนี้ก็ครบ 50 ปีพอดี การเขียนถึง Rawls เพื่อพินิจทบทวนข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมในทฤษฎีการเมืองของเขาในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาต้องยกให้ท่านผู้รู้ในทางปรัชญาการเมืองเป็นคนเขียน บทความนี้เป็นแต่เพียงบันทึกผลการเรียนออนไลน์จากกิจกรรมจำลองสถานการณ์ ที่คนสอนนำบางส่วนในข้อเสนอทางทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมของ Rawls มาเปลี่ยนเป็นเงื่อนไขใช้สร้างสถานการณ์สมมุติแบบง่าย ๆ เพื่อให้ผู้เรียนพิจารณาตัดสินใจก่อนเปิดประเด็นอภิปราย ขออนุญาตใช้ข้อเขียนไม่สั้นไม่ยาวนี้ระลึกถึงงานเล่มสำคัญของ Rawls แบบคนอยู่นอกแวดวง

จุดมุ่งหมายของการเรียนผ่านกิจกรรมสถานการณ์จำลองที่ว่านี้คือการทำความเข้าใจปัญหาการจัดระเบียบในสังคมการเมืองระหว่างรัฐ การดำรงอยู่ร่วมกันในความแตกต่างหลากหลายระหว่างรัฐที่เป็นสมาชิกในสังคมระหว่างประเทศมีปัญหาสำคัญคือ เมื่อแต่ละรัฐต่างยึดถือในอธิปไตยของตน การจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่ต่างฝ่ายต่างถืออำนาจอธิปไตยจะเป็นไปได้อย่างไร ระเบียบจะมาจากไหน และมีระเบียบแบบไหนบ้างที่เป็นไปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอธิปไตย คำถามอีกชั้นหนึ่งที่ลึกลงไปคือ อะไรคือเป้าหมายของระเบียบแต่ละแบบ หรือควรเลือกอะไรเป็นเป้าหมายของการสร้างและรักษาระเบียบระหว่างประเทศ

คุณค่าด้านหนึ่งที่หลายฝ่ายต้องการผลักดันขึ้นมาเป็นเป้าหมายของการจัดระเบียบระหว่างประเทศ ได้แก่คุณค่าเรื่องความยุติธรรม ซึ่งเป็นคุณค่าที่มีความหมายแตกต่างกันหลายแบบ และเหตุผลสนับสนุนความหมายของความยุติธรรมแบบหนึ่งว่าเหมาะสมกว่าความหมายแบบอื่นๆ ก็สร้างข้อโต้แย้งตามมาจำนวนมาก

นอกจากนั้น การพิจารณาความยุติธรรมกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมการเมืองภายในรัฐกับความยุติธรรมในสังคมการเมืองระหว่างประเทศก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ว่าจะเป็นระดับใด หรือในความหมายไหน การทำความเข้าใจปัญหาที่ซ่อนอยู่ในความหมายของแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมก็เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาการจัดระเบียบ ชั้นเรียนของเราจึงจำลองสถานการณ์จากข้อเสนอบางส่วนในงานของ Rawls มาให้นิสิตลองคิดตาม

เราเรียกสถานการณ์จำลองที่อิงข้อสมมุติเรื่อง “veil of ignorance” ของ Rawls เป็นแรงบันดาลใจ ว่า “การรับพรจากนางฟ้าใจดี” เราสมมุติสถานการณ์ขึ้นมาว่า ให้นิสิตในชั้นเรียนเป็นเทวดาที่ถึงเวลาหมดบุญต้องลงไปจุติในโลกมนุษย์ ในระหว่างรอยต่อเพื่อรอจุติลงไปนี้ ความทรงจำ ความจำได้หมายรู้เกี่ยวกับความชอบใจในคุณค่าหลักการที่เคยเชื่อเคยยึดถือมาแบบไหน ไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจแล้ว และไม่รู้ด้วยว่าเมื่อได้ลงไปเกิดในโลกมนุษย์ จะมีบุพกรรมแบบไหนตามรอส่งผลอยู่ นั่นคือไม่รู้ว่าตัวเองจะลงไปเกิดเป็นอะไร ในสถานะในฐานะแบบไหน ไม่รู้ว่าในชีวิตของตัวเองตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาสิ้นอายุขัยจะได้เจอกับดีหรือร้ายแบบไหน แค่ไหน

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่อยู่ในม่านเมฆของความไม่รู้นี้ เทวดาที่รอการจุติยังคิดด้วยเหตุผลได้ และรู้ว่าชีวิตมนุษย์นั้นอย่างน้อยที่สุดมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกัน นั่นคือการเข้าถึงปัจจัย 4 ที่มีคุณภาพ ต้องการหลักประกันสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง ต้องการเครื่องสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะขีดความสามารถส่วนบุคคลให้เต็มศักยภาพ และต้องการโอกาสในชีวิตที่จะใช้ความสามารถที่ตนมีไปสู่เป้าหมายที่ตนต้องการ

ในจังหวะนั้นเองที่นางฟ้าใจดีปรากฏตัวขึ้น และสอบถามเทวดาที่รอการจุติว่า มีผู้ใดอยากรับพรที่เธอเตรียมมามอบให้บ้างไหม พรนั้นคือการมีสิทธิได้เลือกก่อน และการได้เลือกก่อนก็เท่ากับว่ามีโอกาสพิจารณาทางเลือกและตัดสินได้ด้วยตนเองว่า จะเลือกรักษาผลประโยชน์ของตัวเองทางไหนจึงดีที่สุดเมื่อต้องลงไปเกิดเป็นมนุษย์

นางฟ้าใจดีเสนอสังคม 2 แบบให้เทวดารอการจุติเลือก สังคมแบบแรก นางฟ้าอธิบายว่ามีข้อดีด้านความยุติธรรมในแง่ที่ว่าเมื่อคำนึงถึงการตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐาน สมาชิกในสังคมนั้นจะได้รับการจัดสรรปัจจัย 4 ที่มีคุณภาพ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ระบบสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถ และโอกาสในการใช้ชีวิตตามเป้าหมายอย่างเสมอภาคเท่าๆ กัน ไม่ว่าใครจะไปเกิดอยู่ในกลุ่ม A กลุ่ม B กลุ่ม C หรือกลุ่มไหนก็ตาม และในสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่ม A กลุ่ม B กลุ่ม C และกลุ่มอื่นๆ ในสังคมแห่งแรกได้รับจัดสรรความต้องการพื้นฐานแต่ละด้าน 3 หน่วยเท่ากันหมด

ดังนั้น ถ้าเลือกจุติลงไปเกิดในสังคมนี้ ขอให้มั่นใจได้ในเรื่องความเสมอภาค และมั่นใจได้แน่นอนว่าในตลอดอายุขัยในโลกมนุษย์ จะได้รับจัดสรรคุณค่าพื้นฐานในแต่ละด้านจากสังคมนี้ไม่ต่ำกว่า 3 หน่วยอย่างแน่นอน พร้อมกันนั้นในชีวิตความเป็นอยู่ในมิติอื่นๆ สังคมนี้ก็อยู่กันอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ระบบมีวิธีคิดคำนวณและจัดสรรให้สมาชิกได้รับสิ่งมีคุณค่าเหล่านี้คนละ 3 หน่วยเท่าๆ กัน

นางฟ้าใจดีอธิบายถึงสังคมแบบที่ 2 ว่ามีความมั่งคั่งโดยรวมมากกว่าสังคมแบบแรก แต่สังคมนี้มีวิธีคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคต่างออกไป ในด้านหลักประกันที่จะจัดสรรคุณค่าที่เป็นความต้องการพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้นให้แก่พลเมือง สังคมนี้จัดสรรให้พลเมืองได้ 4 หน่วย นั่นคือมีหลักประกันเกี่ยวกับการได้รับคุณค่าพื้นฐานเหมือนกันกับสังคมแรกและจัดให้ได้มากกว่า 1 หน่วย

แต่ส่วนที่แตกต่างจากสังคมแรกอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ว่า ในสังคมแบบที่ 2 นี้อนุญาตให้มีความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม จากการจัดสรรในส่วนนี้ทำให้กลุ่ม A ได้รับประโยชน์ตามการคำนวณของระบบเพิ่มขึ้นมาเป็น 6 หน่วย กลุ่ม B ได้ 9 หน่วย และกลุ่ม C ได้ 12 หน่วย คนกลุ่มอื่นๆ ก็ขึ้นๆ ลงๆ ในพิสัยระหว่าง 4 หน่วยซึ่งเป็นระดับพื้นฐานขั้นต่ำที่ได้รับหลักประกันแน่นอน ไปจนถึง 10 หรือ 11 หน่วยตามแต่ความสามารถ สังคมแบบที่ 2 ให้เหตุผลอธิบายว่าถ้าความแตกต่างทำให้ความมั่งคั่งในสังคมมีพอที่จะกระจายให้คนที่มีน้อยที่สุดได้รับมากขึ้นได้ เช่นเพิ่มจาก 3 หน่วยเป็น 4 หน่วย ความแตกต่างนั้นก็เป็นความแตกต่างที่ยอมรับได้

นางฟ้าใจดีขอให้เทวดาที่ลังเลใจยังไม่รู้จะเลือกตัดสินใจรับพรนี้อย่างไรดี ลองคิดถึงผลประโยชน์ของตนเอง และคิดถึงความไม่แน่นอนในความไม่รู้ว่าตัวเองจะลงไปเกิดเป็นอะไร จะพบกับความผันผวนในชีวิตข้างหน้าอย่างไร น่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ไม่ยากถ้าเลือกว่าสังคมไหนจะช่วยโอบอุ้มตัวเราได้ดีที่สุดไม่ว่าจะในยามรุ่งหรือยามร่วง

เทวดา Garfinkel 1981 หนึ่งในเทวดาที่รอการจุติถามนางฟ้าใจดีว่า นอกจากคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองโดยพิจารณาจากหลักประกันที่ตัวเองจะได้รับการจัดสรรจากสังคมตามสิทธิว่าสังคมไหนให้ได้เท่าไร หรือเทียบทั้งในยามรุ่งหรือยามร่วงแล้วอยู่ในสังคมไหนจะได้รับผลจากการจัดสรรดีกว่ากัน เราน่าจะต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบความแตกต่างในสิ่งที่เราได้กับสิ่งที่คนอื่นๆ ได้ด้วยไหม เพราะน่าสงสัยว่า การไปอยู่ในสังคมที่ความแตกต่างระหว่างฐานะและสถานะของคนในสังคมมีสูง น่าจะดีไม่เท่าการไปอยู่ในสังคมที่ทุกคนเสมอภาคกัน ได้อะไรพอๆ กัน กระจายรายได้ออกมาแล้ว ฐานะไม่ต่างกัน สถานะทางสังคมก็ใกล้เคียงกัน

นางฟ้าใจดีตอบว่า ท่านลองคิดถึงคนที่มีความสามารถสูง คนที่พร้อมจะเสี่ยงลงทุนประกอบการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ คนที่ออกแรงปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ออกมาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนอื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของคนทั่วไปสุขสบายขึ้น ท่านคิดว่าคนเหล่านี้จะเลือกไปอยู่ในสังคมแรกที่มีระบบกระจายรายได้มารักษาฐานะและสถานะให้สมาชิกทุกคนได้เสมอๆ กัน หรือว่าในสังคมที่สองที่ระบบตอบแทนให้แก่คนที่พัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของคนในวงกว้างได้มากกว่า และผลประโยชน์ส่วนตัวของท่านเองที่แม้จะไม่รู้อนาคต แต่ท่านก็สามารถเทียบเคียงข้อเสนอในระหว่าง 2 สังคมนี้ได้ด้วยเหตุผลของท่านเอง และขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่การมาบังคับเลือก เป็นการให้พร ท่านจะเลือกรับพรข้อไหนก็ได้

ในขณะที่เทวดา Garfinkel 1981 กำลังจะถามข้อสงสัยต่อ เทพธิดา Georgiana 2002 ที่รอการจุติเช่นกันก็โพล่งขึ้นมาว่า แต่ทางเลือกไม่ได้มีเพียง 2 แบบ “Another world is possible!” การจัดให้เลือกแค่สอง ถ้าไม่ใช่อันนี้ก็ต้องเป็นอีกอัน ถึงไม่บังคับก็เหมือนบังคับ ดิฉันเชื่อว่าโลกข้างล่างมีความเป็นไปได้มากกว่า 2 ทางนี้

นางฟ้าใจดีตอบว่าในโลกข้างล่างนั้น ต่างจากบนสวรรค์นี้ก็ตรงที่ สิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ มีมากจนนับไม่ไหว แต่สังคมที่เกิดขึ้นมาจริงมีอยู่ไม่กี่แบบ ถ้าถามว่าในโลกข้างล่างมีสังคมมากกว่า 2 แบบไหม คำตอบคือ ใช่ มีมากกว่า 2 แบบ แต่สภาพจริงของสังคมแบบอื่นนอกจากสังคม 2 แบบนี้มันไม่ใช่สิ่งที่น่านำมาให้พร

แต่ถ้าท่านชอบและอยากลงไปเปลี่ยนสภาพจริงในสังคมที่ไม่อาจนำมามอบเป็นพรให้กัน เพื่อที่จะหาทางสร้าง “Another World” ให้เป็นไปได้ขึ้นมาในสังคมแบบนั้น ท่านจะไม่รับพรจากเราก็ได้ แต่เราเป็นนางฟ้าใจดี เรามีคำแนะนำว่า ให้ท่านคิดถึงผลประโยชน์ส่วนบุคคลของตัวท่านเองก่อน ถ้าท่านเลือกรับพรจากเราจุติลงไปในสังคมแบบแรกหรือแบบที่ 2 ท่านก็ยังทำงานช่วยสร้างโลกที่เป็นไปได้ให้แก่สังคมที่ไม่อาจนำมาเป็นพรให้แก่ใครได้เช่นกัน

เทวดา Garfinkel 1981 ได้จังหวะอีกครั้ง เปิดประเด็นว่า แม้สังคมแบบที่ 2 จะมีส่วนช่วยยกระดับความสะดวกสบายโดยรวมขึ้นมาได้จากแรงจูงใจที่ให้ผลตอบแทนงามแก่ผู้ปรับปรุงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มาแทนของเดิม แต่ผลเสียจากความแตกต่างในสังคมแบบที่ 2 จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งจะย้อนมาเป็นอันตรายแก่คนในสังคมนั้น ...

การอภิปรายของเทวดา Garfinkel 1981 ถูกตัดลงตรงนั้น เพราะเวลาการจุติมาถึงพอดี เมื่อมีโอกาสเลือกรับพร ท่านจะรับพรข้อไหนจากนางฟ้าใจดี หรือท่านจะไม่จำนนอยู่กับ 2 ทางที่ถูกเสนอมา แต่ยินดีจะลงไปเสี่ยงสร้าง Another World ที่เป็นไปได้ในสังคมที่ไม่อาจนำมาเป็นพร แล้วในเหตุผลที่ท่านเลือก ท่านฉุกใจคิดอะไรบ้างไหมในความพยายามจะทักท้วงของเทวดา Garfinkel 1981 เกี่ยวกับสังคมแบบที่ 2 ที่นางฟ้าใจดีบอกว่าเป็นพร

**************