posttoday

เปลี่ยนขยะพลาสติก มาสร้างมูลค่าจนเกิดเป็นธุรกิจได้

17 สิงหาคม 2564

โดย....ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

*****************************

ขยะพลาสติกกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่นับวันจะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีมาตรการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการส่งเสริมให้ใช้ถุงผ้า กระเป๋าผ้า หรือใช้ถุงพลาสติกแบบ ย่อยสลายได้กับการซื้อของตามห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านค้า ต่างๆ

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าว ไม่ได้ช่วยอะไรได้มากมาย เพราะปริมาณขยะพลาสติกในปี 2563 นี้ มีปริมาณสูงขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เอาแค่ในกรุงเทพฯ ปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด 3,440 ตัน/วัน (37 % ของปริมาณขยะทั้งหมด 9,370 ตันต่อวัน) ในเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (2,120 ตันต่อวัน) โดยเพิ่มขึ้น 1,320 ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ 62%) ประกอบด้วย ขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ 660 ตัน/วัน (19 %) และขยะพลาสติกปนเปื้อน 2,780  ตัน/วัน (81 %)

เปลี่ยนขยะพลาสติก มาสร้างมูลค่าจนเกิดเป็นธุรกิจได้

ข้อมูลจากทางมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) ระบุว่าในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (Covid – 19) มีปริมาณขยะพลาสติกปนเปื้อนเพิ่มขึ้นจากช่วงสถานการณ์ปกติ อาจมีสาเหตุมาจากมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ (Work from home) การสั่งสินค้าออนไลน์ รวมถึงการสั่งซื้ออาหาร Delivery ที่เพิ่มขึ้น และขยะที่นำไปรีไซเคิล มีสัดส่วนที่ลดลงจากปกติ ประมาณ 27 %

หากพฤติกรรมของเราในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการสั่งซื้ออาหาร Delivery ยังเป็นแบบนี้อยู่ปริมาณขยะพลาสติก ทั้งหมด ใน กรุงเทพฯ อย่างเดียวก็ 1,255,600 ตัน ต่อปี ซึ่งจะมีขยะพลาสติกปนเปื้อนประมาณ 81% หรือ ประมาณ 1 ล้านตัน เราจะทำอย่างไรดี กับเรื่องนี้?

ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ประเทศสิงคโปร์ เขาก็มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติก เช่นเดียวกัน

ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกในสิงคโปร์ ในปี 2019 มีปริมาณถึง 930,000 ตัน ต่อปี มีเพียง 37,000 ตัน หรือ ประมาณ 4% ของขยะพลาสติกเท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อไปได้ และด้วยการมาของโควิด 19 ทำให้ปัญหาเรื่องปริมาณขยะพลาสติก สูงมากขึ้น หากไม่มีมาตรการหรือไม่มีวิธีการมารองรับ ในอีกไม่ช้า ประเทศสิงคโปร์คงต้องออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อ ลดปัญหาที่เกิดจากปริมาณขยอย่างแน่นอน

“ขยะที่ดูเหมือนไม่มีค่า แทนที่จะทิ้ง หากเอากลับมาสร้างมูลค่า ก็อาจจะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้”

บริษัท Start-up จากประเทศสิงคโปร์ชื่อ Magorium ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาวัสดุในการก่อสร้างถนนที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถนำขยะพลาสติกเหลือทิ้งมาแปรรูปมาใช้เป็นวัสดุทดแทน (บางส่วน) ในการทำ ถนน ได้

ด้วยเทคโนโลยีของล่าสุดของ Magorium ที่ผ่านการพัฒนามาเกือบ 4 ปี สามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกเหลือทิ้งได้ถึง 6 ประเภท ซึ่ง Magorium บอกว่า เทคโนโลยีล่าสุดของพวกเขาทำได้ดีกว่าเทคโนโลยี Plastic-Waste-to-Road ของรายอื่น อาทิเช่น MacRebur จากประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถทำได้แค่ 4 ประเภทเท่านั้น

“เทคโนโลยีล่าสุดของ Magorium น่าจะช่วยแก้ปัญหาของขยะพลาสติกโลกได้”

เทคโนโลยีของ Magorium สามารถแยกขยะพลาสติกเหลือทิ้ง เช่น ถุงก๊อบแก๊บ ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติกก้านสำลีพลาสติกออกเป็น ผง เม็ด ชิ้น ก่อนที่จะนำไปผสมกับบิทูเมน (เรียกว่า Plastic-Bitumen Mix) เพื่อนำไปทำเป็นยางมะตอยที่ใช้ในการลาดผิวหน้าถนนนั่นเอง

ผู้บริหารของ Magorium ธุรกิจ Start-up บอกว่า การนำขยะพลาสติกเหลือทิ้ง มาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีของพวกเขา เพื่อนำไปใช้ทำถนน (Plastic-Waste-to-Road) สามารถช่วยลดปริมาณการใช้บิทูเมนที่ต้องกลั่นมาจากน้ำมันดิบได้ราวๆ 10-20% นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ความทนทานของผิวถนนดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ด้วยนวัตกรรมล่าสุดของ Magorium ธุรกิจ Start-up นี้เอง ส่งผลทำให้ Magorium ครองตำแหน่งแชมป์ล่าสุดของงาน Singapore’s inaugural waste-tech startup competition “WASTE 20/20”

“ปริมาณขยะพลาสติก คือ ปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ”

เพราะเรื่องปริมาณขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ หนทางในการแก้ปัญหาจะหวังพึ่งแค่การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้บริโภค หรือจะออกกฏหมายมาบังคับเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะ เราก็เห็นแล้วว่า ปริมาณขยะพลาสติกไม่ได้มีทีท่าลดลงเลย

ดังนั้น ทางภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ จำเป็นต้องลงมาสนับสนุนภาคเอกชน เช่นบริษัท หรือ องค์กร หรือ กลุ่มธุรกิจ Start-up ในส่งเสริมการคิดค้นการหานวัตกรรมเพื่อมาแปรรูปหรือเพื่อรีไซเคิล กลุ่มขยะพลาสติกเหลือทิ้งให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ให้กับงานในด้านอื่นๆ หรือในอุตสาหกรรมอื่นๆ

การทำแบบนี้ ถือเป็นวิธีการที่ช่วยการแก้ปัญหาในหลายด้าน เช่น เป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากของ เหลือทิ้ง (ขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง) ลดปริมาณขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง สามารถไปทดแทน หรือ ลดการใช้วัสดุที่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดเรื่องของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่เกิดจากการกระบวนการกำจัดขยะพลาสติก เป็นต้น

ต้องยอมรับกับวิสัยทัศน์ของภาครัฐของประเทศสิงคโปร์ที่ให้การสนับสนุนกับธุรกิจ Start-Up ในการคิดค้นหาทาง หานวัตกรรม เพื่อมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม

นอกจากนี้ ตัวอย่างของ Magorium ธุรกิจ Start-up ของคนรุ่นใหม่ ที่ทนไม่ได้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศ ของพวกเขา อันเนื่องจากปริมาณขยะพลาสติกที่นับวันก็มีปริมาณมากขึ้น ทำให้พวกเขาอยากจะลุกขึ้นมาสร้าง การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างเป็นธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับบ้านเรา ดูแล้วอาจจะยังอีกยาวไกล เรื่องปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่มาก การเราจะหวังพึ่งพาทางภาครัฐอย่างเดียว คงไม่ได้อาจจะต้องหาความร่วมมือจากภาคเอกชน หรือองค์กรที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มาร่วมมือกัน เพื่อหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาเรื่องขยะ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ สร้างอาชีพใหม่ และสร้างรายได้ เพื่อที่จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

Reference:

https://www.channelnewsasia.com/news/climatechange/start-up-make-roads-with-plastic-waste-singapore-13684514 

https://www.macrebur.com/#environment 

http://www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=51