posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่21): ยุวกษัตริย์ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

12 สิงหาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

ในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดังนั้น พระองค์จึงมิได้มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์จะมาจากความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีตามหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม แต่ก็อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่เริ่มต้นโดย ดิศ บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ผู้เป็นบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าก็อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แม้ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโดยที่ประชุมเดียวกันกับที่ตัดสินให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมที อำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งนี้อยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่ด้วยอำนาจอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ให้ที่ประชุมมีอำนาจนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งขัดต่อราชประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ และที่ประชุมก็ได้เลือกกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ให้เป็นวังหน้า

การเลือกนี้ก็เป็นไปตามความต้องการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพราะพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศมีความสนิทสนมกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว กรมหมื่นบวรวิไชยชาญทรงรักษากิจวัตรมั่นคง2ประการคือ เวลาเช้าคงเสด็จข้ามไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่บ้านเพื่อศึกษาราชการ และช่วยทำการงานให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เช่นตกแต่งบ้านเรือน เป็นต้น”

ขณะนั้น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญมีพระชันษาไม่ถึง 30 ปี การเสด็จไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์หลังพระราชบิดาสวรรคต ก็น่าจะสื่อถึงการเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรง “หาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ” ด้วย แต่เสด็จไปตอนค่ำและก็ดูจะเป็นกิจวัตรเช่นเดียวกัน ดังที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ต่อจากความข้างต้นว่า “ครั้งถึงเวลาค่ำเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นนิ ไม่ขาดเลยจนตลอดรัชกาลที่ 4 …”

น่าคิดว่า การ “เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่” ของกรมหมื่นวิไชยชาญนั้น พระองค์มีเป้าประสงค์อะไร ?

ประการแรก หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ตำแหน่งวังหน้าจึงว่างลง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งผู้ใด และจะปล่อยให้ว่างไว้ แต่เจ้าพระยาศรีสุริยงวงศ์ยืนยันว่าควรต้องตั้ง และควรตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจำต้องประนีประนอม โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ทรงให้เกียรติเท่ากับตำแหน่งวังหน้า แต่ก็ไม่มีสถานะของพระมหาอุปราชที่จะสืบราชสันตติวงศ์เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง

ดังนั้น ในการ “เข้าหาผู้ใหญ่ทั้งสอง” จึงสามารถอธิบายได้ดังนี้คือ

การเข้าหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า ก็เพราะเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนพระองค์อย่างชัดเจน และกรมหมื่นบวรวิไชยชาญก็คงหวังให้ท่านเจ้าพระยาฯสนับสนุนตลอดไป เพราะเจ้าพระยาฯเป็นผู้มากบารมี โดยหวังว่า อาจจะได้รับการผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเปลี่ยนพระทัย แต่งตั้งพระองค์ให้เป็นวังหน้า

ส่วนการเสด็จไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทุกค่ำ ก็ตีความได้สองอย่าง อย่างแรกคือ ไปบ้านท่านเจ้าพระยาฯทุกเช้า แต่ไม่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ถูกต้องแน่ๆ อย่างที่สองคือ ก็หวังจะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเปลี่ยนพระทัยตั้งพระองค์ให้เป็นวังหน้า

และการปรารถนาที่จะเป็นวังหน้า ก็เป็นไปได้ว่าจะโยงไปถึงการปรารถนาจะได้รับการเลือกจากที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีให้สืบราชสันตติวงศ์หากราชบัลลังก์ว่างลง และภายใต้อำนาจบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์อยู่มากและมีพระชันษาอ่อนกว่ากรมหมื่นบวรวิไชยชาญถึง 15 ปี

และก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะเสด็จสวรรคต ก็ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า “ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

ดังนั้น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญจึงเข้าข่ายที่จะได้รับการเลือกจากที่ประชุมด้วย แต่เมื่อที่ประชุมเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ห้าทั้งที่ยังทรงพระเยาว์และประชวร กรมหมื่นวิไชยชาญก็ย่อมคาดหวังว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นเป็นวังหน้า ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น

ตามธรรมเนียมปฏิบัติก่อนสมัยรัชกาลที่สาม ผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นวังหน้าคือ ผู้ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชอนุชา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งพระปิตุลาเป็นวังหน้าเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น พระราชวงศ์ที่เป็นพระปิตุลาก็มีความคาดหวังเกิดขึ้นตลอดมา

หากอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำถามคือ ในขณะนั้น บุคคลใดบ้างที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ? แน่นอนว่า คงต้องตัดประเด็นพระอนุชาหรือพระราชโอรสไป เพราะในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองยังทรงพระเยาว์ พระชันษาเพียง 15 ปีเท่านั้น พระอนุชาก็ยิ่งจะพระชันษาน้อยกว่าที่จะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งวังหน้า ดังนั้น จึงต้องพิจารณาไปที่ผู้เป็นพระเชษฐาและพระปิตุลา

พระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) และพระปิตุลา (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงประสูติในเศวตรฉัตร) ที่ยังทรงพระชนม์ชีพในปี พ.ศ. 2411 ได้แก่

พระภาดา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชันษา 30 ปี

พระปิตุลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นถาวรวรยศ พระชันษา 59 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระชันษา 56 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระชันษา 54 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระชันษา 52 ปี

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่21): ยุวกษัตริย์ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ(ต้นราชสกุล ปราโมช)    กรมหลวงวรศักดาพิศาลฯ (ต้นราชสกุลอรุณวงศ์)   กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (ต้นราชสกุลกปิตถา)

จากรายพระนามและสถานะของพระราชวงศ์ข้างต้น บุคคลที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้นก็คงไม่พ้นพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศอยู่ดี ด้วยพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีศักดิ์เป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ของพระองค์และทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบรมวิไชยชาญที่แต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ทรงพระชันษา 30 ปี และมีคุณสมบัติโดดเด่นอันได้แก่ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและทรงมีความสามารถด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอาจจะไม่ทรงเลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ด้วยเหตุที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญสนิทสนมกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่จะเลือกพระองค์อื่นที่จะทำให้อำนาจของพระองค์เข้มแข็งถ่วงดุลได้มากขึ้นกว่าการมีผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เป็นพันธมิตรกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

แต่หากอำนาจการแต่งตั้งอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ย่อมต้องใช้อำนาจแทนพระองค์ไปในการเลือกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญให้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ดี ดังนั้น แม้การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะเป็นการผิดราชประเพณี แต่ถ้าให้อำนาจการเลือกอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

ท้ายที่สุด ถ้าพิจารณาตามสถานะแล้ว บุคคลที่เหมาะสมที่สุดก็น่าจะได้แก่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะพระปิตุลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพผู้คัดค้านการให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีมีอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็อยู่ในสถานะที่เป็นตัวเลือกในตำแหน่งดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบโต้โดยถามกรมขุนวรจักรฯว่าที่คัดค้านเพราะกรมขุนวรจักรฯอยากจะได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้เสียเอง

ซึ่งกรมขุนวรจักรฯนี้ก็คาดหวังเช่นนั้นจริงๆ ตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีความตอนหนึ่งว่า “....การที่ตั้งวังหน้าคนนี้ (กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ/ผู้เขียน) ขึ้นนั้นเพราะเห็นว่า เมื่อแรกหม่อมฉันก็ยังเจ็บแล้วก็เป็นเด็กอยู่ มีเจ้านายที่มุ่งหมายจะเป็นวังหน้าวังตาเหมือนกรมขุนวรจักร..”

จากที่กล่าวมา กล่าวได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ห้า การกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นอำนาจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีมากกว่าจะเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน ในกรณีของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต

แม้ว่า อำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง และแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจจะทรงต้องการให้จะพระราชโอรสของพระองค์เป็นองค์รัชทายาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์ในตำแหน่งวังหน้าได้เสมอไป นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ พระองค์ทรงปล่อยให้ตำแหน่งดังกล่าวนี้ว่างลง อันแสดงให้เห็นว่า ในการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหากษัตริย์ทรงตกอยู่ภายใต้ปัจจัยต่างๆดังที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่21): ยุวกษัตริย์ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

            เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์                              เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์                           กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ

ที่กล่าวมานี้ ทำให้เราได้เห็นว่า คำว่า ราชาธิปไตย หรือ การปกครองภายใต้พระมหากษัตริย์ ของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามเป็นอย่างน้อย พระมหากษัตริย์หาได้มีพระราชอำนาจอันล้นพ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่สามารถใช้พระราชอำนาจอย่างเป็นอิสระตามความต้องการของพระองค์ได้

(พระราชพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

********************