posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน20): พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ

05 สิงหาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************************

ผมได้ชี้ให้เห็นพร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์แล้วว่า นับแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นภายใต้หลักการ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” มากกว่าจะตามหลักการสืบสายโลหิตของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ความหมายตรงตัวของ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ คนทั่วไปมารวมตัวกันสมมุติให้คนๆหนึ่งเป็นพระราชา ซึ่งข้อความนี้มาจากอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎก อันเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยกำเนิดราชาหรือผู้ปกครอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาจารึกในพระสุพรรณบัฏเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

ผมเข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงต้องการจะสื่อว่า พระองค์มิได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักปัญจราชาภิเษกที่เป็นคติการปกครองของไทยที่มาแต่ครั้งอยุธยา และการเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ถือเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลก่อนหน้าแล้ว แต่เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความรอบรู้ในพระพุทธศาสนา พระองค์จึงทรงเลือกเทียบเคียงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์กับหลักการการกำเนิดผู้ปกครองในอัคคัญญสูตร

แม้ว่าความหมายของ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” จะหมายถึงคนทั่วไปก็ตาม แต่ในความเป็นจริงตามบริบททางการเมืองของไทยตั้งแต่ครั้งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม คนทั่วไปหมายถึงที่ประชุมของพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ และภายในที่ประชุมนั้น กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคคือกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2411

เหตุผลของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคในการสนับสนุนผลักดันผู้สืบราชสันตติวงศ์ในแต่ละรัชกาลนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทั้งผลประโยชน์ของกลุ่มเองและทั้งเงื่อนไขและทิศทางทางการเมืองของประเทศที่กลุ่มคาดหวังจะให้เกิดขึ้น

เหตุผลในการสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ การเป็นพันธมิตรร่วมทำการค้ากันมาก่อน และกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคต้องการพระมหากษัตริย์ที่สนับสนุนแนวทางการค้าของพวกตน รวมทั้งการทำสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศ แต่กระนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็มีข้อจำกัด เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ได้ทรงมีเวลาที่จะศึกษาภาษาและความรู้วิทยาการของตะวันตก ทำให้พระองค์ทรงระแวงพวกฝรั่ง

แม้ว่าจะมีการทำสนธิสัญญาการค้ากับตะวันตกสองฉบับในรัชสมัยของพระองค์ นั่นคือ สนธิสัญญาเบอร์นีย์กับอังกฤษ และสนธิสัญญาโรเบิร์ตกับอเมริกา ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เสมอภาคกัน อีกทั้งนักวิชาการบางท่านเห็นว่า ไทยได้เปรียบฝรั่งเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ในปลายรัชกาลที่สาม อังกฤษต้องการทำสนธิสัญญาที่ตนได้รับความเป็นธรรมในสายตาของอังกฤษ แต่เป็นสนธิสัญญาได้อังกฤษเอาเปรียบในสายตาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯและขุนนางตระกูลบุนนาครุ่นอาวุโส สนธิสัญญาที่ว่านี้คือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ติดค้างอยู่ในตอนปลายรัชกาลที่สาม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯสวรรคต ที่ประชุมเพระราชวงศ์และเสนาบดีได้ตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลที่ว่า พระองค์ทรงศึกษาภาษาและวิทยาการความรู้ตะวันตกเป็นอย่างดี เข้าใจและเห็นข้อดีของอารยธรรมตะวันตก พูดง่ายๆตามภาษาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือ “นิยมฝรั่ง จำพวกสมัยใหม่”

กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเห็นว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ควรที่รู้เท่าทันและมีทีท่าเป็นมิตรกับตะวันตก อีกทั้งเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้เวลาในการผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา ไม่ได้สั่งสมอำนาจบารมีทางการเมืองที่จะเป็นอุปสรรคหรือจะลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนาง แต่ทรงสั่งสมบารมีจากการผนวชและมีความเคร่งครัดในพระวินัยจะเป็นที่เคารพยกย่องของประชาชนทั่วไป เหตุผลที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลกรณ์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะ หนึ่ง ยังทรงพระเยาว์อยู่ จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้ที่จะทำหน้าที่นี้คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สอง ในขณะนั้น พระองค์ทรงประชวรมาก และ สาม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้ใช้เงื่อนไขนี้เป็นเหตุผลในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า

หมายความว่าอย่างไร ? ตามราชประเพณี อำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าหรือ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” คือพระมหากษัตริย์ และผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าถือเป็น “พระมหาอุปราช” ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หากราชบัลลังก์ว่างลง (แล้วทำไม ในครั้งที่รัชกาลที่สองหรือรัชกาลที่สามและรัชกาลที่สี่สวรรคต จึงไม่ให้วังหน้าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ? คำตอบคือ ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสามพระองค์เสด็จสวรรคต ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า ทำไมไม่มี ? ผมได้เขียนอธิบายไปในตอนก่อนๆแล้วครับ)

ในกรณีการแต่งตั้งวังหน้า หลังจากที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้เลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสันตติวงศ์แล้ว ตามราชประเพณี อำนาจจึงเป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เป็นตำแหน่งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับเลื่อนขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ)

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ อำนาจในการแต่งตั้งอยู่ที่ผู้ใด ระหว่าง พระมหากษัตริย์ กับ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ?

แต่ปัญหานี้ยุติลงที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเป็นผู้ลงมติแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า คำถามคือ ใครเป็นคนกำหนดให้ที่ประชุมมีอำนาจนี้ ในเมื่อตามราชประเพณี อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ?

คำตอบคือ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นคนกำหนด ดังที่ผมจะนำข้อมูลประวัติศาสตร์ตามที่ปรากฎในพระราชพงศาวดารมานำเสนอดังต่อไปนี้

หลังจากที่ที่ประชุมได้ตัดสินใจให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามต่อไปในที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระวิตกเกี่ยวกับพระชันษายังทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรได้ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดิน ที่ประชุมอนุมัติเห็นสมควรพร้อมกัน

จากนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เสนอให้มีการเลือกวังหน้าขึ้น ด้วย “แผ่นดินที่ล่วงแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน” และได้ถามต่อที่ประชุมว่าควรจะเลือกผู้ใด และกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ได้เสนอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามซ้ำต่อที่ประชุม และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีต่างเห็นพร้อมต้องกันให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นวังหน้า

และจากแหล่งอ้างอิงที่ไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแต่ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่ว่า หนึ่งวันก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมอันมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม

เพราะกรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าปราโมช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา) ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ” กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า “ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม” ต่อมา ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน20): พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ

                                                  กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ต้นราชสกุล ปราโมช)

ในกรณีเดียวกันนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 ที่ในปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรวจชำระจากฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯที่เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ. 2412 ซึ่งฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์นี้เกิดขึ้นจากการโปรดเกล้าฯโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ในฐานะผู้อาวุโสที่สุดในบรรดาพระวงศานุวงศ์ทั้งหลายได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) พระราชโอรสพระอง์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิ

และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามซ้ำถึงความเห็นของที่ประชุมต่อข้อเสนอของกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ที่ประชุมต่างก็เห็นพ้องต้องกัน และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้กล่าวต่อไปว่าเมื่อ “มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน..ครั้งนี้จะควรแก่ท่านผู้ใด ที่จะเป็นที่อุปราชฝ่ายหน้า”

กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรได้เสนอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามที่ประชุมโดยเรียงไปตามบุคคล ส่วนใหญ่เห็นสมควรหรืออนุมัติโดยการไม่คัดค้าน แต่กรมขุนวรจักรฯไม่เห็นด้วยและตรัสว่า “ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุราช” และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ซักถึงเหตุผลที่กรมขุนวรจักรฯขัดขวาง กรมขุนวรจักรฯได้ชี้แจงว่าเป็นราชประเพณี ด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่งจนถึงรัชกาลที่สี่ว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน20): พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ

                เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)                                             สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

และข้อความต่อไปนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง หรือกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์สรุปพระดำรัสของกรมขุนวรจักรธรานุภาพที่ทรงตรัสไว้ในที่ประชุม นั่นคือ การกล่าวว่า พระราชวงศ์และเสนาบดีไม่มีอำนาจหน้าที่เลือกพระมหาอุปราช แต่

“มีหน้าที่ที่จะเลือกแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว เพราะถ้าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองจะเป็นจลาจล แต่ส่วนพระมหาอุปราชหามีความจำเป็นเช่นนั้นไม่ โดยจะทิ้งว่าไว้ก่อนก็ได้ เยี่ยงอย่างเช่นเมื่อในรัชกาลที่ 3 ว่างพระมหาอุปราชอยู่ตั้ง 10 ปีก็เคยมี แม้พระเจ้าแผ่นดินจะสวรรคตลง ก็ประชุมปรึกษากันเลือกได้อีกเหมือนหนหลัง และเวลานั้นก็มีเจ้าฟ้าพระราชอนุชาอยู่ถึง 2 พระองค์ ไม่สิ้นไร้เจ้านายซึ่งจะรับรัชทายาท ที่อ้างในคำปรึกษาว่าถ้ากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช จะได้ทรงควบคุมผู้คนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดูเหมือนจะชวนให้เข้าใจว่ามีคนหมู่ใหญ่อีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าผู้อื่นไปบังคับบัญชาคนพวกนั้นอาจจะกำเริบขึ้น แต่ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น พวกข้าราชการวังหน้าก็คนร่วมสกุลกันกับข้าราชการวังหลวงนั้นเอง เป็นแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบ่งพระราชทานขึ้นไปรับราชการวังหน้า ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็กลับลงมาสมทบรับราชการวังหลวงโดยเรียบร้อยมาถึง 3 ปี จึงสิ้นรัชกาลที่ 4 หามีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ควบคุมขึ้นใหม่ไม่

อนึ่งพระมหาอุปราชในรัชกาลก่อนๆมา ล้วนเป็นเจ้าฟ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชอันร่วมพระบรมราชชนนีกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงศักดิ์เพียงชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ซึ่งยกข้ามเจ้าฟ้าและพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นพระมหาอุปราช เป็นการผิดพระราชประเพณีอีกประการหนึ่ง ความที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีความประสงค์จะติเตียนส่วนพระองค์กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพ และได้ทรงร่ำเรียนรอบรู้ นับว่าเป็นอย่างดีในเจ้านายสมัยนั้น พระองค์หนึ่ง การที่ได้เป็นพระมหาอุปราช ก็มิใช่เพราะพระองค์ทรงเอิบเอื้อมขวนขวายเอง เป็นเพราะพระยาศรีสุริยวงศ์ท่านปรารถนาจะให้เป็น”

และกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ว่า “ไม่มีผู้ใดนอกจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมจะกล้าขัดขวาง (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์/ผู้เขียน) เท่านั้น” นั่นคือ กล้าขัดขวางไม่ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เสนอให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเลือก ซึ่งเป็นการผิดราชประเพณี รวมทั้งการเสนอให้เลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า

พระดำรัสของกรมขุนวรจักรฯทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจและว่ากล่าวกรมขุนวรจักรฯต่างๆจนท้ายที่สุดได้ถามว่าการที่กรมขุนวรจักรฯขัดขวางเพราะต้องการจะเป็นเองหรือไม่ ทำให้กรมขุนวรจักรฯตอบว่า “ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม” เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่จะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในที่สุด

สมการการเมืองที่เกิดขึ้นคือ พระมหากษัตริย์ทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ การมีตำแหน่งวังหน้าที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อาจจะช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการฯ ผู้นำแห่งขุนนางตระกูลบุนนาค แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกลับฟันธงให้อำนาจแก่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญผู้มีความสนิทสนมกับตนให้เป็นวังหน้า

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน20): พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ

               เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์                                   เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์                            กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ

อำนาจจึงตกอยู่แก่ผู้สำเร็จราชการฯอย่างเบ็ดเสร็จ และมีเกร็ดเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หนึ่งในหลานสาวของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามว่า “ปู่ ทำไมปู่ถึงไม่เป็นกษัตริย์ ?” เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบว่า “ทำไมปู่จะต้องไปเป็นให้ลำบาก ? ปู่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนๆหนึ่งอยากได้แล้ว”

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากจะทิ้งทายไว้ก็คือ เมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการฯที่เป็นผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเบ็ดเสร็จ แล้วเหตุไฉนนักวิชาการทั้งไทยและเทศจำนวนมากก็ดี อีกทั้งในความเข้าใจของผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก็ดี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ? และการสืบราชสันตติวงศ์ต่อมาในสมัยรัชกาลที่หก จึงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้หลักการ “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2367-2411 ?

(แหล่งอ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑-๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค); พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, “Family Politics in Nineteenth Century Thailand,” Journal of Southeast Asian History, 1968; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)

*************************************