posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบสอง):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

02 สิงหาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร            

********************

“สามขี้เมาคุยการเมือง” เป็นนวนิยายที่เขียนโดยชาวญี่ปุ่นที่ชื่อนากาเอะ โชมิน เขาเป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.ถึงสองสมัย โดยสมัยแรกนั้นเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนสยามจะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ห้า และคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเมืองญี่ปุ่นจะพัฒนาก้าวหน้าไปมากกว่าของเรา ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น รับอิทธิพลความรู้ตะวันตกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี การศึกษาของเขาผสมผสานระหว่างตะวันตกและแนวการศึกษาแบบขงจื่อ กลุ่มคนที่มุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้คือพวกซามูไร อีกทั้งมีการส่งสามัญชนคนธรรมดาไปศึกษาต่อในหลากหลายประเทศในยุโรป และหลากหลายสาขา หนึ่งในนั้นก็คือ นากาเอะ โชมิน ที่รัฐบาลส่งไปเรียนปรัชญา ประวัติศาสตร์และวรรณคดีที่ฝรั่งเศส ทำให้เขาได้รับรู้แนวคิดตะวันตกและได้ศึกษานักปรัชญาสำคัญๆของโลก ดังที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องดังกล่าวนี้ และเขาก็เป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่แปลงานของนักคิดทางการเมืองคนสำคัญของฝรั่งเศสและของโลก นั่นคือ รุสโซ

หลังจากนวนิยายเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government) ปรากฏสู่สายตาคนญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2430 ต่อมาองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลก

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบสอง):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบสอง):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

การเขียนเป็นนวนิยาย ทำให้โชมินสามารถสอดแทรกความคิดทางการเมืองเสรีนิยมตะวันตกที่ถือว่าก้าวหน้าและรุนแรงในขณะนั้นโดยให้ตัวละครในเรื่องเป็นกระบอกเสียง ตัวละครที่ว่านี้รู้จักกันในฉายาว่า “สุภาพบุรุษ (ตะวันตก)”  ที่ผมได้นำเสนอแนวคิดทางการเมืองของเขามาหลายตอน

การคุยของเขานั้นเป็นการคุยในวงเหล้า บรรยากาศน่าจะครี้มกรึ่มอยู่พอสมควร โดยมีเจ้าบ้านคือ อาจารย์นันไคและผู้ร่วมสนทนาอีกคนหนึ่งที่ได้รับการตั้งฉายาว่า “นักสู้ (ซามูไร)”

“สุภาพบุรุษ” เชื่อในกฎวิวัฒนาการที่สรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และเขาก็เอากฎวิวัฒนาการนี้มาประยุกต์อธิบายการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และสังคมมนุษย์ด้วย และเชื่อว่า มนุษย์และสังคมจะเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์แบบในที่สุด ระบอบการเมืองการปกครองก็ตกอยู่ภายใต้กฎวิวัฒนาการด้วยคือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์หรืออภิชนชนชั้นสูงก็เป็นเพียงฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไม่มีทางอยู่ค้ำฟ้าได้ ดังนั้น คนที่เข้าใจในกฎวิวิฒนการและมองเห็นภาพอนาคต ก็ควรจะร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงเสีย และการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังความรุนแรงปฏิวัติจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดเหมือนอย่างที่เกิดในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าเสียดาย

“สุภาพบุรุษ” เห็นว่า ประเทศใหญ่ๆหลายประเทศดูจะโง่เขลา เพราะไม่เพียงแต่จะเชื้อเชิญให้เกิดความหายนะแก่ประเทศตัวเองโดยการยึดติดอยู่กับการปกครองแบบราชาธิปไตยแล้ว แต่ยังนำความหายะมาสู่กษัตริย์หรือจักรพรรดิของตนด้วย  เมื่อเป็นดังนี้ ทำไมประเทศเล็กๆ (น่าจะหมายถึงญี่ปุ่น) ไม่รีบรับประชาธิปไตยเสีย เพื่อที่จะไม่ทำให้ทั้งประเทศและจักรพรรดิต้องเสียหาย  อีกทั้ง ประเทศที่แข็งแกร่งหลายประเทศกลับเป็นประเทศที่ขี้ขลาด กลับกลัวกันและกัน และคงไว้ซึ่งกองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งกลับทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอันตราย ประเทศเล็กๆควรที่จะรีบยกเลิกกองกำลังและเลือกที่ดำเนินนโยบายสันติภาพ

นอกจากนี้ “สุภาพบุรุษ” ยังเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและเคร่งครัดในการใช้ตรรกะและเหตุผลต่อเรื่องศีลธรรมอย่างยิ่ง เป็นอย่างไรหรือ ? ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามพิจารณาตามเนื้อหาที่ผมจะเล่าต่อไป

“นักสู้” นั่งฟัง “สุภาพบุรุษ” มาเป็นเวลานาน เขาเคยพยายามจะโต้แย้ง แต่อาจารย์นันไคขอให้เขาฟัง “สุภาพบุรุษ” พูดให้จบเสียก่อน แต่คราวนี้ เขาคงทนฟังต่อไปไม่ไหว เขาจึงกล่าวขึ้นว่า

“ที่ท่านสุภาพบุรุษกล่าวมานี้ ช่างเป็นวิชาการเสียจริง  คำของนักวิชาการเอาเป็นเขียนเป็นตำรา แต่นำมาปฏิบัติจริงไม่ได้  ท่านสุภาพบุรุษเดินทางไปลอนดอน ปารีส เบอร์ลินหรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และแสดงความเห็นอันคงแก่เรียนออกมาอย่างเต็มที่  พวกนักหนังสือพิมพ์ของประเทศเหล่านั้นคงตีพิมพ์ทรรศนะของท่านในหน้า “ปกิณกะ” ส่วนหนึ่งก็เพื่อความหฤหรรษ์ แต่นักการเมืองคงจะ.....”

ยังไม่ทันที่ “นักสู้” จะพูดจบประโยคนั้น “สุภาพบุรุษ” ก็กลับขัดจังหวะขึ้นว่า “นักการมืองจะหาว่าข้าพเจ้าบ้า แต่ข้าพเจ้าจะภูมิใจมากที่สุดหากนักการเมืองจะหาว่าข้าพจ้าบ้า ! เพราะสำหรับนักวิชาการบางคน ทุกวันนี้ คนที่เรียกกันว่า นักการเมือง ล้วนแต่สิ้นหวังไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง  สังคมต้องการนักวิชาการ อย่างที่คนโบราณ (เพลโต) ได้กล่าวไว้ว่า ‘นอกเสียจากผู้รักในความรู้จะได้บริหารบ้านเมืองแล้ว อย่าได้หวังว่าจะเกิดสันติสุขได้จริง’ คำกล่าวนี้เป็นสัจธรรม”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบสอง):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

“นักสู้” สวนกลับว่า “ข้าฯเข้าใจนะ ท่าน แต่ข้าฯอยากจะถามท่านสักเรื่องหนึ่ง ท่านแนะนำให้ประเทศเล็กๆและอ่อนแอรีบรับประชาธิปไตยและยกเลิกกองกำลังอาวุธทั้งหลาย ที่ท่านแนะนำแบบนั้น เพราะว่า ท่านคาดหวังว่า ประเทศมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอเมริกาและฝรั่งเศสจะชื่นชมประทับใจกับการที่ประเทศเล็กอ่อนแอเป็นประชาธิปไตยและยกเลิกกองกำลัง และจะยื่นมือมาช่วยประเทศเล็กอ่อนแอนั้น” 

สุภาพบุรุษรีบพูดขึ้นว่า “ไม่เลย เมื่อไรก็ตามที่ตัดสินใจในนโยบายสำคัญของประเทศ และคิดพึ่งพาหรือคาดหวังเช่นนั้น ถือเป็นสาเหตุหลักแห่งความล้มเหลวเลย ข้าฯเห็นว่าหลักศีลธรรมมีความสำคัญในตัวมันเอง  อเมริกาหรือฝรั่งเศสจะชื่นชม จะช่วยหรือไม่ช่วยเราหรือไม่นั้น ไม่เป็นประเด็นสำคัญ  เยอรมนี รัสเซี หรืออังกฤษจะมาช่วยเราเพราะต้องการสมดุลอำนาจระหว่างประเทศหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องของข้าฯ”

“นักสู้”: “แล้วท่านจะทำอย่างไร หากมีประเทศที่เลวร้ายหาประโยชน์จากการยกเลิกกองกำลังของเรา และส่งกองกำลังทหารมาโจมตีเรา ?”

“สุภาพบุรุษ”: “ข้าฯมั่นใจอย่างยิ่งว่า จะไม่มีประเทศเช่นนั้น แต่ถ้าสมมุติว่ามี เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหามาตรการรับมือของเราเอง  มันเป็นความหวังของข้าฯที่จะไม่มีการเกณฑ์ทหารหรือใช้อาวุธใดๆ แต่เราจะกล่าวอย่างสุขุมต่อพวกเขาว่า ‘เราไม่แคยทำอะไรป่าเถื่อนต่อท่าน ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะกล่าวหาเรา  เราไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่ท่านจะต้องมาห่วงใยยื่นมือเข้ามาช่วย ขอให้ท่านจงกลับไปโดยทันที’  ถ้าพวกเขาไม่สนใจรับฟังเรา และเตรียมที่จะใช้อาวุธกับเรา เราก็จะตะโกนให้โลกได้ยินว่า ‘ทำไมพวกท่านจึงแสนจะป่าเถื่อนและไร้ความเป็นมนุษย์ !’  แล้วเราก็จะถูกยิงตาย ข้าฯไม่มีวิธีการพิเศษอื่นใดนอกจากที่กล่าวมานี้”

เมื่อได้ฟังคำตอบแบบนี้  “นักสู้” ก็ไม่สามารถกลั้นหัวเราะได้อีกต่อไป (แม้แต่ตัวผมเอง ผมยังขำเลยครับ !)  และได้กล่าวออกไปว่า

“ความคิดปรัชญานี่ช่างทำให้ปัญญาคนมืดบอดได้อะไรขนาดนั้น ! ท่านสุภาพบุรุษ ท่านได้ใช้เวลาหลายชั่วโมง (จริงๆเลยครับ สุภาพบุรุษพล่ามมานานมากๆ นี่ขนาดตอนก่อนๆ ผมตัดออกไปเยอะแล้วนะครับ !) อภิปรายสภาพการณ์ของโลกและชำแหละประวัติศาสตร์การเมือง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ท่านเห็นว่า สิ่งสุดท้ายที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งหลายในประเทศเราก็คือยอมจำนนและยอมเป็นเหยื่อกระสุนของศัตรู ช่างเป็นนิทานที่แสนจะตื้นเขิน นี่หรือคือพลังแห่งเทพเจ้าแห่งวิวัฒนาการ ?  โชคดีนะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีทางเชื่อในเทพเจ้าของท่าน”                                                                                                                                                  “สุภาพบุรุษ”: “ในบรรดานักวิชาการผู้รู้ของยุโรป ผู้ที่ต่อต้านสงครามชี้ว่าความก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม แต่การป้องกันตัวถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ทรรศนะดังกล่าวนี้คือความพยายามที่จะประยุกต์หลักการการปกป้องตัวเองของปัจเจกบุคคลมาใช้กับรัฐ แต่ในความเห็นของข้าฯ วิธิคิดดังกลาวนี้สวนทางกับสัจธรรม ทำไมหละหรือ ? เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การฆาตกรรมเป็นสิ่งชั่วร้าย มันทำลายชีวิต ดังนั้น ถ้ามีใครที่จะฆ่าท่าน ท่านไม่ควรฆ่าเขาแม้ว่าเขาจะเป็นโจรหรือพวกนอกกฎหมายก็ตาม ถ้าคุณฆ่าใคร เพราะเขาคนนั้นจะฆ่าคุณ ตรรกะที่ตามมาก็คือ เพราะมีคนที่ประสงค์ร้ายต่อคุณ คุณก็มีสิทธิ์ประสงค์ร้ายต่อเขาได้  มันคือหลักการหรือกฎแห่งการปกป้องตัวเองที่ผู้คนทั่วไปมักใช้อ้าง  บางคนอาจะกล่าวว่า ‘ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด กระนั้น โจรผู้นี้พยายามที่จะเอาชีวิตคุณโดยปราศจากเหตุผล  ฉันจะฆ่าเขาเพื่อรักษาชีวิตอันมีค่าของฉัน’  ต่อการให้เหตุผลแบบนี้ ข้าฯจะตอบว่า จริงที่ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า แต่ถ้าชีวิตของคุณมีค่า ชีวิตของศัตรูของคุณก็มีค่าด้วย เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นชีวิตของใคร ต่างก็มีค่า....”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบสอง):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

โอ้ ! คุณสุภาพบุรุษผู้นี้ช่างอุดมคติและเคร่งครัดในหลักการการใช้เหตุผลอย่างยิ่ง แต่ก็น่าสงสัยว่า หากมีคนที่เขาไม่เห็นว่าชีวิตของเรามีค่า และจะเอาชีวิตเรา ทำไมเราจะต้องเห็นชีวิตของเขามีค่าด้วย ?!!

แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิธิคิดที่ว่า เมื่อมีคนจะฆ่าคุณ หรือฆ่าญาติพี่น้องคุณ แล้วคุณมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองโดยฆ่าเขาก่อน หรือฆ่าเขาเพื่อล้างแค้น  มันก็จะกลับไปที่กฎหมายโบราณที่เราคุ้นเคยกัน นั่นคือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” นั่นเอง

การสนทนาตอบโต้ระหว่าง “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้” ยังไม่จบลงเพียงแค่นี้ เขาทั้งสองยังมีประเด็นโต้แย้งที่น่าสนใจอีกพอสมควร  อีกทั้งเรายังไม่ได้ฟังว่า ตกลงแล้ว อาจารย์นันไคคิดอย่างไร ?