posttoday

โควิดสร้างจุดเปลี่ยน 5 อิ่ม พลิกโฉมอาหารยั่งยืน

02 สิงหาคม 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

************************

การผลิตและบริโภคอาหาร เป็นเรื่องท้าทายระดับโลก อย่างที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรเพิ่มถึง 9,000 ล้านคน โจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ก็คือ จะผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรอย่างทั่วถึงได้อย่างไร โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติของโลก และ จะผลิตและจัดการอาหารอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้โลกจะพัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การพัฒนาต่างๆ ถดถอยลง โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 2 : No Hunger ที่พบว่า ประชากรโลกยังคงประสบภาวะ อดอยาก เป็นจำนวนมากกว่า 800 ล้านคน

องค์การสหประชาชาติ เล็งเห็นว่า ระบบอาหารจะเป็นกลไกลสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมีแนวคิด ที่จะระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหารือแนวทางแก้ไข และยกระดับการพัฒนาระบบอาหารผ่านเวที UN Food Systems Summit 2021 ที่จะขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้  เพื่อเรียกร้องให้ประเทศผู้นำและรัฐมนตรีเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือ และจัดทำนโยบาย แผนงานการปฏิรูประบบอาหาร และการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และบรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030

เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาออนไลน์ “บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อขยายการรับรู้ถึงความสำคัญของระบบอาหารในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวปฏิบัติ 5 ประการที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้น ให้กับภาคธุรกิจของไทย ทั้งที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนของประเทศไทยที่จะเข้าร่วมการหารือระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้น มาร่วมรวบรวมแนวทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวล รวมถึงข้อสังเกตต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบภาพรวมการดำเนินงานของประเทศ เพื่อเตรียมนำเสนอในเวที Food Systems Summit 2021 ต่อไป

ในเวที Food Systems Summit 2021 ที่จะเกิดขึ้น ได้แบ่งการดำเนินงานเรื่องนี้ออกเป็น 5 Action Track หรือ หัวข้อหลัก 5 ข้อ ที่ควรจะปรับแนวทางปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืนทั้งต่อสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของโลก ดังนี้

1. Ensure access to safe and nutritious food for all/ ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์

2. Shift to sustainable consumption patterns/ รูปแบบการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

3. Boost nature-positive production/ กระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

4. Advance equitable livelihood/ ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร

5. Build resilience to vulnerabilities, shocks and stress/ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 Action Track นำไปสู่แผนปฏิบัติการในระยะยาว ที่เรียกง่ายๆ ว่า 5 อิ่ม คือ อิ่มถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มรักษ์โลก อิ่มทั่วถึง และอิ่มทุกเมื่อ ซึ่งมีเป้าหมายต่างกันไป คือ

อิ่มถ้วนหน้า : ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ มีเป้าหมายหลัก คือ 1) เร่งดำเนินการเพื่อลดการขาดอาหาร/ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรอาหาร 2) ทำให้อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมีแพร่หลายและราคาถูกลง และ 3) ยกระดับความปลอดภัยของอาหาร 

อิ่มดีมีสุข : เปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น มีเป้าหมายหลัก คือ 1) สร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย และคำนึงถึงหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพ 2) ปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น และสร้างแรงจูงใจของผู้บริโภค และ 3) ลดขยะอาหารในระดับครัวเรือน การบริการด้านอาหารและร้านค้าปลีก

อิ่มรักษ์โลก : ส่งเสริมกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ มีเป้าหมายหลัก คือ 1) ปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติจากการดัดแปลงใหม่สำหรับการผลิตอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ 2) บริหารจัดการระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ต่อธรรมชาติและมนุษย์ และ 3) ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและฟื้นฟูดินเพื่อความยั่งยืนในการผลิตอาหาร

อิ่มทั่วถึง : ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหาร มีเป้าหมายหลัก คือ พัฒนาระบบอาหารที่หลากหลายและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย บรรเทาความยากจน เสริมความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ สร้างงานที่ดี เพิ่มรายได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอาหาร ปกป้องและเสริมความเข้มแข็งของสังคมและวัฒนธรรม ลดความเสี่ยงของกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย กระจายผลตอบแทนจากระบบอาหารอย่างเป็นธรรม

อิ่มทุกเมื่อ : เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของระบบอาหาร มีเป้าหมายหลัก คือ เสริมสร้างความมั่นคง (Resilience) ของระบบอาหาร ให้สามารถเผชิญสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ความขัดแย้ง ปัจจัยสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยยังสามารถปฏิบัติงานผลิตสินค้าและให้บริการได้ และเมื่อสถานการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ระบบอาหารจะต้องสามารถ ฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกคนหันกลับมามองว่า ควรมีการทบทวนระบบอาหาร(Food Systems) อย่างไร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงในอาหาร และลดภาวะประชากร อดอยากหิวโหย ซึ่งประเทศไทยในฐานะ “ครัวของโลก” ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการยกระดับความยั่งยืนของระบบอาหาร เพื่อพลิกโฉมประเทศและโลก ส่วนรายละเอียดของการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในสัปดาห์หน้า