posttoday

เสียงของเหตุผล

30 กรกฎาคม 2564

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**************

คนศึกษานโยบายกับคนตัดสินใจกำหนดนโยบาย อยู่ในบริบทการทำงานที่ต่างกัน ฐานคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์กับฐานคิดที่ใช้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาสำหรับการตัดสินใจก็แตกต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บางที 2 ฝ่ายนี้จะมีข้อสรุปต่างกันว่าอะไรน่าทำ หรือว่าเมื่อไรควรทำอะไรแบบไหนในการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าความแตกต่างนี้ ถ้ามีวงให้ฝ่ายวิเคราะห์นโยบายเสนอทางเลือกที่คิดว่าดีกว่า และฝ่ายปฏิบัติที่เป็นผู้ตัดสินใจมีความรับผิดชอบที่จะต้องตอบคำถามข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ว่าที่ทำไปแบบนั้นมีเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้อธิบายได้อย่างไร หรือถ้าพบว่าที่ทำไปนั้นใช้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ความแตกต่างไม่ลงรอยกันแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะ

อย่างไรก็ดี ย่อหน้าข้างต้นเขียนจากสมัยเมื่อโลกยังเป็นโลกที่ทำงานสอดคล้องกับการใช้เหตุผลเชิงวิเคราะห์มาทำความเข้าใจ เป็นโลกที่ยังมีเวลาตามระยะและทิ้งระยะให้แก่กระบวนการนโยบาย ที่จะดำเนินไปเป็นขั้นๆ จากขั้นการเห็นปัญหา ต่อด้วยการหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานั้นจนกระจ่าง แล้วขยับมาในขั้นตั้งประเด็นเป็นวาระทางสังคมเพื่อผลักดันนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีอยู่ ส่งเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจให้ฝ่ายวิเคราะห์วางแผนพิจารณาหาทางเลือกโดยใช้เหตุผลมาคำนวณอรรถประโยชน์ระหว่างทางเลือกต่างๆ และความสำเร็จผลที่น่าจะบรรลุได้แน่นอนเพียงใดถ้าเลือกทำแบบใดแบบหนึ่งเมื่อเทียบกับความเสี่ยงและต้นทุนต่างๆ ของทางเลือกแต่ละแบบ แล้วจัดส่งขึ้นไปให้ฝ่ายการเมืองพิจารณาตัดสินใจ

โลกแบบที่ว่าจะมีอยู่จริงตอนไหน มาถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ไม่สู้แน่ใจเสียแล้ว หรือจะมีแต่เฉพาะในตำราพื้นฐานด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้คนเรียนฝึกการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ก่อนที่พวกเขาจะต้องออกไปเผชิญกับโลกที่ไม่ได้ทำงานด้วยเหตุผลเชิงวิเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียวตลอดเวลา และเหตุผลในส่วนการคิดวิเคราะห์ยังอาจถูกกลบลบหายไปได้มากจากกระแสความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกที่ปัจจุบันนี้ได้โซเชียลมีเดียแบบใหม่ๆ มาเป็นสื่อกลางและเป็นสนามขนาดใหญ่สำหรับการแสดงออก ทั้งของคนที่มั่นใจในแสงเจิดจ้าในตัวเอง แล้วไหนจะดาวบริวารที่ตามอยู่นับแสน จะว่ากล่าวอะไรก็มีคนพร้อมเอออวยดีงาม ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือดาวหาง ผีพุ่งไต้ หรือจำพวกถูกเหยียดหยามว่าหิวแสงอย่างน่าสงสาร

ทั้งปฏิกิริยาส่วนบุคคลและการตอบสนองแบบรวมหมู่เพราะถูกการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียกระตุ้นเร้ามีอยู่หลายแบบหลายลักษณะ ที่รอการบัญญัติศัพท์และจัดประเภทกลุ่มอาการจากนักจิตวิทยาสังคมอยู่ก็คงมีไม่น้อย อย่าง “ทัวร์ลง” จะมีศัพท์วิชาการว่าอย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่ที่พอจะแน่ใจก็คือในสมัยก่อนนั้น การแสดงออกของมติมหาชนยังมีเครื่องรับและเครื่องพักดักกรองอยู่หลายชั้น เพื่อเปลี่ยนมันออกมาเป็นข้อเสนอสำหรับป้อนเข้าสู่ระบบการตัดสินใจ ให้ระบบทำงานได้อย่างมีเหตุผลและตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น

กลไกอย่างเช่น การจัดทำการสำรวจความคิดเห็นอย่างที่เรียกว่าโพลล์ จดหมายคำร้องทุกข์หรือแจ้งปัญหาจากผู้อ่านที่หนังสือพิมพ์คัดมาลง หรือการนำเสนอข่าว การวิเคราะห์ข่าว และข่าวเจาะเชิงลึกที่นำปัญหาหลากหลายแง่มุมมาสะท้อน นำความเห็นของหลายฝ่ายมารายงาน คือกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องรับและเครื่องพักดักกรองความคิดเห็นของประชาชน

แต่เมื่อเครื่องมือเหล่านี้ลดบทบาทและลดประสิทธิภาพลงในการทำหน้าที่เป็นปากเสียง“แทน”ประชาชน หรือเมื่อกลไกเหล่านี้เปลี่ยนมารับบทเป็นเครื่องขยายเสียงให้แก่เจ้าของทุนที่มีวาระส่วนตัวของเขา หรือให้แก่เรื่องหรือให้แก่คนที่คิดว่าจะมียอดผู้ติดตามมาก โดยไม่ต้องลงทุนหาข่าว หาข้อมูลติดตามข้อเท็จจริงมาประกอบข่าว เสียงของประชาชนที่ดังฟังชัดขึ้นมาในโซเชียลมีเดียโดยไม่มี “ตัวแทน” มาเป็นเครื่องรับและพักคัดกรองความคิดเห็นไว้อีกต่อไป จะส่งเสียงของเหตุผลที่ช่วยให้กระบวนการนโยบายเป็นไปอย่างมีเหตุผลดีขึ้นหรือไม่

หรือไม่ควรถือเหตุผลมาเป็นเกณฑ์ เพราะขึ้นชื่อว่าเสียงประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงแบบไหน เสียงประชาชนย่อมเป็นเสียงสวรรค์ และเสียงสวรรค์ย่อมมีเหตุผลและสมบูรณ์อยู่ในตัวเสมอ ใครค้านผู้พูดโดยอาณัติสวรรค์นี้ จะต้องถูกตามไล่ล่าเพื่อสาปส่งลงนรกกันเลย

หรือว่าเมื่อมาถึงปลายสมัยใหม่ เราไม่อาจ/ไม่ควรปล่อยประชาชนส่งเสียงโดยลำพังกันเองโดยไม่มีกลไกทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” เป็นเครื่องรับและพักคัดกรองความคิดเห็นที่มาจากความรู้และไม่รู้ต่างกัน/ไม่เท่ากันสุดแต่จะเป็นเรื่องไหน และต้องเป็น “ตัวแทน” ที่ทำงานอย่างเป็นสถาบันในความหมายของการมีกฎเกณฑ์กติกา มีจริยธรรมจรรยาบรรณโดยถือประโยชน์ของสาธารณชนเป็นที่ตั้งกำกับไว้ เช่นเดียวกับที่ประชาชนมี “ผู้แทนราษฎร” ทำงานอย่างเป็นสถาบันในการใช้เหตุผลพิจารณาออกกฎหมายแทนพวกเขาและเพื่อพวกเขา โดยมีกฎเกณฑ์ มีจริยธรรมจรรยาบรรณกำกับไว้

แต่สถานการณ์ของสภาวะปลายสมัยใหม่ก็ได้มอบสมรรถนะกระทำการส่วนบุคคลแก่คนแต่ละคนได้มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมาส่งเสียงและฟังเสียงของตัวเองอยู่เช้าค่ำโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนอีกต่อไป และเมื่อเขารู้สึกว่าเขากำลังพูดในฐานะประชาชน จะเอาจริยธรรมข้อไหน จะเอาศีลธรรมจรรยาจากที่ไหนมาเหนี่ยวรั้งเขาไว้ ... ได้หรือ

เราจึงเห็นคนชำนาญกลวิธีเดินตามหลังและคอยรุนหลังเสียงประชาชนให้ดังก้องไป ท่านฟังได้ยินไหมครับ