posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเก้า): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

29 กรกฎาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนอยู่บนเงื่อนไข “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” แต่หาใช่ราษฎรทั่วไป แต่หมายถึงที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี และกลุ่มคนที่ทรงอำนาจอิทธิพลในประชุมดังกล่าวนี้คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2411 ในช่วงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงประชวรใกล้สวรรคต ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่า ให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่จะเลือกเป็นพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดที่มีความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) ที่ยังทรงพระเยาว์ ขาดประสบการณ์และกำลังทรงพระประชวรหนักด้วย

โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า “ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

เหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริเช่นนั้น เพราะ “ในกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ แต่มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2171 พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐา ราชโอรส พระชันษา 14 ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้าย จะชำระเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ ชิงเอาราชสมบัติเสีย”

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเก้า): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

                เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์                        กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ                          เจ้าฟ้ามหามาลา

พระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอที่เข้าข่ายสืบราชสันตติวงศ์ได้แก่

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 15 ปี

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43 ปี

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา พระชันษา 46 ปี

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ห้า ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ได้มีการประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร ซึ่งเป็นพระวงศานุวงศ์ผู้อาวุโสที่สุดและเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดให้เข้าเฝ้าสามวันก่อนเสด็จสวรรคต ได้เสนอให้ยกให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) ซึ่งขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเก้า): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

                                                    กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร

ในที่ประชุมครั้งนั้น มีพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีที่มาประชุมและเลือกพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์และตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรวมทั้งสิ้น 36 พระองค์และคน ประกอบไปด้วยพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดี เป็นพระราชวงศานุวงศ์ 16 พระองค์และขุนนางเสนาบดี 20 คน

พระราชวงศานุวงศ์ 16 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ 7 พระองค์ คือ 1. กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ 2. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท 3. กรมหมื่นถาวรวรยศ 4. กรมหมื่นวรศักดาพิศาล 5. กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ 6. กรมขุนวรจักรธรานุภาพ 7. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ 6 พระองค์ คือ 1. กรมหมื่นภูมินทรภักดี 2. กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ 3. กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย 4. กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล 5. กรมหมื่นอักษรสารโสภณ 6. กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์

พระเจ้าบวรวงศ์เธอ 3 พระองค์ คือ 1. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ 2. กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ 3. กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ

นอกจากนี้ พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นใหญ่ที่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 พระองค์ คือ 1. พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร 2. พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล 3. พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ 4. พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ 5. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ 6. พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ 7. พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์

ส่วนขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าประชุม ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) คือ 1. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม 2. เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายก 3. พระยามหาอำมาตย์ (ลมั่ง สนธิรัตน) 4. พระยาราชภักดี (ช้าง เทพหัสดิน ณ อยุธยา) 5. พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) 6. พระยาเพชรพิชัย (หนู เกตุทัต) 7. พระยาสีหราชเดโช (พิณ) 8. พระยาสีหราชฤทธิไกร (บัว) 9. พระยาราชวรานุกูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) 10. พระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) 11. พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย ยมาภัย) 12. พระยาอนุชิตตตตชาญชัย (อุ่น) 13. พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ (วร บุนนาค) 14. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) 15. พระยาศรีเสาวราช (ภู่)

ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง (วังหน้า) 16. เจ้าพระยามุขมนตรี (เกต สิงหเสนี) 17. พระยามณเฑียรบาล (บัว) 18. พระยาเสนาภูเบศ (กรับ บุญยรัตพันธุ์) 19. พระยาศิริไอศวรรย์ 20. พระยาสุรินทราชเสนี (ชื่น กัลยาณมิตร)

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ห้า ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกได้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามที่ประชุมเรียงพระองค์เจ้านายและเรียงตัวข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ประชุมต่างเห็นพ้องตามที่กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรเสนอ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเก้า): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

                                 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ถ้าการตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) เป็นผู้สืบราชสมบัติอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และขุนนางตระกูลบุนนาคไม่ต่างจากกสองรัชกาลที่ผ่านมา คำถามคือ เพราะอะไร ? ในขณะที่เมื่อย้อนไปในสมัยที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค อย่าง ดิศ และ ทัต บุนนาค สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ด้วยเหตุผลทางการค้า

ส่วนครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความที่พระองค์สนพระทัยโน้มเอียงในการยอมรับอิทธิพลตะวันตก ที่ส่วนหนึ่งของขุนนางตระกูลบุนนาคต้องการทำสนธิสัญญาการค้าที่ติดค้างอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัชกาลให้สำเร็จลุล่วงไป และก่อนหน้าที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้เวลาผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา ทำให้พระองค์ไม่ได้สั่งสมอำนาจทรัพย์สินใดๆมากพอที่จะต่อรองได้

ในกรณีของเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) ยังไม่มีความโดดเด่นชัดเจนอะไรที่จะเป็นเหตุผลให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุน นอกไปจากความที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์และอยู่ในอาการพระประชวรหนัก !

ทำไมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังคงสนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ที่ยังทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ?

มีข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ดังต่อไปนี้คือหากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งๆที่ตระหนักดีว่า พระองค์ยังทรงพระเยาว์และขาดประสบการณ์ จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์เป็นเวลาถึง 5 ปีกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรลุนิติภาวะ และผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ไม่มีผู้ใดนอกจากเจ้าพระยาศรีสุริวงศ์ และในหนังสือของ David K. Wyatt ก็กล่าวไว้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเองก็ทรงเสนอว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นบุคคลเดียวที่จะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

และถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เลือกพระองค์อื่นให้สืบราชสมบัติ สมการทางการเมืองก็จะไม่ทำให้ท่านและเครือข่ายได้เปรียบมากเท่ากับการเลือกพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์และทรงประชวร !

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา หลังจากที่ประชุมเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็คือ ตำแหน่งวังหน้าที่ว่างลงตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งตามราชประเพณีที่ผ่านมา อำนาจในการแต่งตั้งวังหน้าอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์

ในสถานการณ์ขณะนั้นเกิดปัญหาทางเทคนิกขึ้น นั่นคือ ใครคือผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งวังหน้า ? ยุวกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์/ ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ?

ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งวังหน้า การถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็พอจะเกิดขึ้นได้แต่ถ้าสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้แต่งตั้ง อำนาจทางการเมืองก็จะตกอยู่ในมือของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างเบ็ดเสร็จ !

โปรดติดตามตอนต่อไป (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkor