posttoday

ตื่นเถิด ผู้บริหารจุฬา

29 กรกฎาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

****************

เพื่อนๆนิสิตเก่าจุฬาฯ ขอให้ช่วยเขียนความเห็นเกี่ยวกับผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าสมรู้ร่วมคิด หรือทันเกม “องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( อบจ.)” หรือไม่อย่างไร ทำไมยอมให้ อบจ.เชิญคนที่ทำผิดกฎหมายบางคนออกมาแสดงพฤติกรรมถ่อย เถื่อน ดูถูก ดูหมิ่น ข่มขู่ คุกคาม หยาบคาย ชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่เริ่มแรกการตั้งสถาบัน

เหตุเกิดในวันปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ซึ่งทำกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้กระทำเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีพิเศษที่เป็นการปฐมนิเทศน์ผ่านวิดิโอ คอนเฟอเรนซ์ นิสิตใหม่รุ่น 105 ปีนี้ ส่วนใหญ่เฝ้าดูและฟังการปฐมนิเทศอยู่ที่บ้าน ทราบว่า นิสิตใหม่หลายคนไม่รู้จักผู้รับเชิญมาพูดบางคน และหันไปถามผู้ปกครองว่า คนนี้คือใคร

จุดแข็งอย่างหนึ่งในสังคมจุฬา คือ นิสิตเก่าที่กระจายกันอยุ่ทั่วประเทศซึ่งรวมตัวกันเป็น “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นิสิตเก่าเหล่านี้แม้จบการศึกษาไปแล้วและแยกย้ายกันไปทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีบทบาทช่วยชาติบ้านเมืองตลอดมา หลายคนเกษียณอายุไปแล้ว แต่ก็ยังมีความผูกพันกับสถานศึกษาแห่งนี้ ได้ออกมาแสดงบทบาทช่วยชาติบ้านเมืองมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติบ้านเมืองที่ผ่านมา

ที่น่าสังเกตคือ นิสิตเก่าหญิงมีบทบาทที่แข็งขันและเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวในการรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและต่อต้านสิ่งชั่วร้ายทางการเมือง มากกว่านิสิตเก่าชายด้วยซ้ำ

นิสิตเก่าจุฬาฯ ที่กระจายอยู่ตามหน่วยราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกษียณอายุแล้ว ยังมีบทบาท ในสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการต่อต้านรัฐบาลและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลที่ทำความเสียหายให้กับประเทศ นิสิตเก่าเหล่านี้เป็นพลังการเมืองนอกสภาโดยออกมาร่วมกับประชาชนทั่วไปเมื่อชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ ในยามปกติ ก็แยกย้ายกันทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างสงบ แต่ยังสนใจติดตามความเป็นไปของบ้านเมืองตลอดเวลา

ดังนั้น การปรากฏตัวของกลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ เหล่านี้จึงมองข้ามไม่ได้ เพราะเป็น “ กลุ่มกดดันทางการเมือง ” ที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะถูกลูกหลานบางคนให้สมญาว่าเป็น “สลิ่ม” ก็ตาม ( อย่าไปตีโพยตีพายเมื่อลูกหลานเรียกเราว่า “สลิ่ม แต่ควรภูมิใจเพราะสลิ่มเป็นของหวานไทย เป็นเอกลักษณ์ไทย สีสันหลากหลายสวยงาม อร่อยจับใจ )สิ่งที่เกิดขึ้นในจุฬาฯครั้งนี้ กระทบต่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของจุฬาอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ เพราะนิสิตเก่าจุฬาฯ หลายคนได้ติดต่อสอบถามกันให้วุ่นวายไปหมดว่า เกิดอะไรขึ้นกับจุฬา และฝ่ายบริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่องมาก่อนหรืออย่างไร จึงทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน”

สำหรับครั้งนี้ เป็นเรื่องระหว่างสมาคมนิสิตเก่าจุฬา กับ ฝ่ายบริหารของจุฬา เป็นสำคัญ

การปฐมนิเทศนิสิตใหม่เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารจุฬาฯ ได้ทำตลอดมาเพื่อให้นิสิตใหม่ได้รู้จักสถาบันแห่งนี้ และการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอย่างน้อย 4 ปี ภายในรั้วจามจุรี เราเห็นด้วยที่ฝ่ายบริหารเชิญ อบจ.ในฐานะรุ่นพี่มาพูดคุยกับรุ่นน้อง เพื่อแนะนำประสบการณ์ทั้งการเรียนและการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยนักเรียนมัธยม

ปีเกิดการศึกษา 2564 นี้ ฝ่ายบริหารจุฬาฯ ร่วมกับ อบจ.ได้จัดการปฐมนิเทศ ดังกล่าว โดย อบจ.ได้เชิญศิษย์เก่า 3 คนมาพูดคุยกับนิสิตใหม่ด้วย คือ นายพริษฐ์ “เพนกวิน” ชีวารักษ์ น.ส.ปนัสยา “รุ้ง” สิทธิจิรวัฒนกุล ทั้งสองมาจากธรรมศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ปวิณ ชัชวาลพงษ์พันธ์ ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

แสดงว่า การเชิญบุคคลภายนอกมาพูดคุยกับนิสิตใหม่นั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการเป็นศิษย์เก่าจุฬา เพราะมีเพียงอาจารย์ ดร.ปวิณ เท่านั้นที่เป็นศิษย์เก่า คนเชิญคงมี “วาระซ่อนเร้นทางการเมือง” มากกว่า

เราเห็นด้วยที่ฝ่ายบริหารจุฬาฯ ร่วมมือกับ อบจ.ในการจัดพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เมื่อ อบจ.อยากเชิญคนภายนอกมาให้ความรู้ ความคิด บอกเล่าประสบการณ์ เราก็ไม่ว่ากัน และไม่อยากถูกกล่าวหาว่า คับแคบทางความคิด แต่นิสิตเก่าจุฬาที่อยู่ในแวดวงต่าง ๆ มีมากมาย ซึ่งน่าจะให้ความรู้และประสบการณ์แก่นิสิตใหม่ได้ดี หรือถ้าอยากเชิญคนนอก ก็มีบุคคลสำคัญอีกมากมายที่พร้อมจะให้ความรู้ ความคิด และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นสิตใหม่

มีการตั้งข้อสังเกตว่า อบจ.น่าจะมี “วาระซ่อนเร้นทางการเมือง” เพราะคนที่ได้รับเชิญมานั้น ล้วนแต่เจอคดีมาตรา 112

ปีที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่การปฐมนิเทศน์ปีนี้ มีเรื่องราวที่ไม่เพียงแต่คนในครอบครัวจุฬาฯ เท่านั้นที่รู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมและวาทกรรม “ถ่อย เถื่อน” ของนายพริษฐ์ “เพนกวิน” ชีวารักษ์ นอกจากชาวจุฬา รับไม่ได้แล้ว เชื่อว่า บุคคลภายนอกก็รับไม่ได้เช่นกัน ( อยากรู้ว่าพูดและแสดงอะไร ก็ไปค้นดูในสื่อโซเชียล )

เพียงแต่การสกรีนคำพูดบนอกเสื้อที่ใส่ ก็หยาบคายมาก ซ้ำยังชูนิ้วกลางฝากให้นิสิตใหม่เอาไปให้ครูอาจารย์ด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถ่อย เถื่อน หยาบคาย ซึ่งคงเป็น “ สันดาน”เฉพาะตัว “ ไม่เกี่ยวกับบุพการี หรือ สถานศึกษาแต่อย่างใด

มีคำถามมาว่า ในการปฐมนิเทศทางสื่อสังคมเช่นนี้ เมื่อมีการแสดงกิริยาอาการก้าวร้าว ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ( เราเชื่อว่า ผู้บริหารคงไม่รู้มาก่อน หรือพูดง่าย ๆ ว่า โดนเด็กหลอกนั่นเอง ) ทำไมเจ้าหน้าที่เทคนิคของสำนักกิจการนิสิตจุฬาฯ ซึ่งรับผิดชอบแพลตฟอร์มของจุฬาที่ออกอากาศปฐมนิเทศครั้งนี้ ไม่ปิดแพลตฟอร์มทันทีเพื่อไม่ให้ภาพและคำพูดอันไม่เหมาะสมเผยแพร่ไปสู่นิสิตใหม่และสาธารณะชนที่เข้ามาดู หรือว่า อบจ.เสนอภาพและเสียงผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าไปปิดแพลตฟอร์มของเขาไม่ได้ แต่ปิดการถ่ายทอดชั่วคราวเป็น “ทีวีจอดำ” ได้ หรืออาจเป็นเพราะไม่มีใครสั่ง

แสดงว่า ฝ่ายบริหารและสำนักกิจกรรมนิสิตฯ คิดไม่ถึง หรือไมคิด และไม่ได้เตรียมการรับมือหากมีการปล่อยคลิปหรือคำพูดถ่อย เถื่อน ฯลฯ ที่ไม่เกี่ยวกับปฐมนิเทศนิสิตใหม่ออกไป ( เรื่องนี้ ฝากให้รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต และสำนักงานกิจกรรมนิสิตฯ ไปหาคำตอบมาให้ด้วย )

หลังจากเกิดเหตุ บรรดาศิษย์เก่าจุฬาและเพื่อนฝูงจากสถาบันอื่น ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับจุฬา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ มีชื่อเสียง สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้สอบถามไปยังผู้บริหารจุฬาฯ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง และแสดงความห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสายตาของบุคคลภายนอกและศิษย์เก่า

ผู้บริหารที่เกี่ยวกับกิจการนิสิต ได้มีหนังสือชี้แจงต่อสมาคมนิสิตเก่า สรุปว่า ได้ร่วมมือกับ อบจ.ในการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ( ซึงเป็นเรื่องที่ดี ) และให้ “เสรีภาพ” ในการพูด แสดงความคิดเห็นในการปฐมนิเทศ แต่อ้างว่า ไม่ทราบมาก่อนว่า อบจ.จะกระทำการที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ตีความได้ว่า อบจ.ไม่เคยบอกและแสดงเทปคำปราศรัยของบุคคลภายนอกให้กับฝ่ายบริหารจุฬาฯ ให้ทราบล่วงหน้า

แน่ละ คำพูดและการกระทำที่ดูถูก ดูหมิ่น ก้าวร้าว หยาบคาย เช่นนี้ ใครเขาจะเอามาบอกฝ่ายบริหารก่อน แสดงให้เห็นชัดว่า ฝ่ายกิจการนิสิต “ ไม่ทันเกม” อบจ.

ถามว่า ฝ่ายบริหารจุฬาฯ รู้ก่อนล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะมีการพูดและแสดงพฤติกรรมถ่อยเถื่อนแบบนี้ คำตอบที่ได้มาในชั้นนี้ว่า ไม่รู้ ถามต่อไปว่า อบจ.ไม่ได้บอกหรือว่าจะเชิญคนนอกมาพูดด้วย ถ้าฝ่ายบริหารรู้แล้วทำไมไม่ถามว่า คนนอกเหล่านั้นคือใคร ถ้ารู้แล้วฝ่ายบริหารได้รับหลักประกันอย่างใดว่าจะไม่มีการพูดหรือแสดงในทางที่เสียหายต่อจุฬา หรือสร้างทัศนคติเชิงลบต่อนิสิตใหม่

ทราบว่า การเผยคำพูดของผู้ได้รับเชิญได้อัดเป็นเทป ไม่ได้เป็นการพูดสด ถ้าเป็นจริงเช่นนี้ ฝ่ายบริหารไม่ได้ขอฟังเทปนั้นก่อนหรือ หากฟัง ฝ่ายบริหารปล่อยให้ออกไปอย่างไรโดยเฉพาะการพูดของนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ถ้าฝ่ายบริหารบอกว่าไว้ใจและให้เกียรติ อบจ. เมื่อเรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้ ฝ่ายบริหารจะรับผิดชอบอย่างไร

ฝ่ายบริหารจุฬาก็ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ ศิษย์เก่าจุฬาไม่เชื่อว่า ฝ่ายบริหารจะขอดูเทปก่อน ถ้าไม่ขอดูก่อน แสดงว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายบริหารซึ่งต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ยังมีคำถามต่อไปว่า ทำไมฝ่ายบริหารมีความเกรงใจ อบจ. มากมายขนาดนี้ จะเกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้งฝ่ายบริหารหรือไม่อย่างไรเราไม่ทราบ (เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นมีระบบเลือกตั้งอธิการบดีที่ต้องนำคะแนนเสียงจากนิสิตนักศึกษามานับด้วย ทำให้เกิดความเกรงใจและหาเสียงจากนิสิต ) เรื่องนี้ ฝ่ายบริหารควรชี้แจงกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ให้ชัดเจน

ฝ่ายบริหารเน้นว่า เป็นการให้เสรีภาพแก่นิสิต ( ใน อบจ.) ในการพูดและแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ดี กลุ่มนิสิตเก่าไม่ได้ถามเรื่องเสรีภาพ และไม่ติดใจเรื่องเสรีภาพในการพูด แต่ที่ชาวจุฬาสงสัยคือ ผู้บริหารไม่รู้มาก่อนหรือว่า คนนอกที่ อบจ.เชิญมาพูดนั้น บางคนจะพูดและแสดงถ่อย เถื่อน หยาบคาย ข่มขู่ คุกคาม และกระทบต่อสถาบันจุฬาแบบนี้

เมื่อฝ่ายบริหารอ้างเรื่องเสรีภาพ จึงมีคำถามกลับไปว่า ฝ่ายบริหารไม่เข้าใจหรือว่า การใช้เสรีภาพต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไป ไม่ใช่ใช้เสรีภาพในการด่าใครได้ตามใจชอบ หรือใช้เสรีภาพในการหมิ่นประมาท แสดงพฤติกรรม่ถ่อย เถื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ในทางสากล การที่เขาให้ความสำคัญต่อการใช้เสรีภาพ ก็เพื่อให้ใช้เสรีภาพไปทำในสิ่งดี ๆ ไม่ใช่ใช้เสรีภาพในการทำสิ่งเลว สิ่งชั่วช้า ข่มขู่ คุกคาม คนอื่น หรือไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบครั้งนี้ได้ฝ่ายบริหารและศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ต้องช่วยกันปกป้องเกียรติภูมิของจุฬา โดยการทำเรื่องนี้ให้ขัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีงามเกิดขึ้นกับสถาบันแห่งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนรวมของ “ชาวจุฬา” ปัจจุบันและศิษย์เก่า

อีกคำถามหนึ่งทีคนจุฬาอยากรู้คือ กรรมการ อบจ.ทั้งหมดรู้เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หรือเป็นการกระทำของนายก อบจ.เอง

มี “สัญญานบอกเหตุ” ที่เป็น “เวคอัพ คอล” เตือน ให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยตระหนักมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง หากฝ่ายบริหารจะใช้ “ความสังเกต” สักนิดและเตรียมป้องกันไว้ ย้อนหลังไปเมื่อสองสามปีก่อนเมื่อนิสิตสองสามคนที่ผละออกจากพิธีไหว้อนุสาวรีย์สองกษัตริย์คือ ในหลวงรัชกาลที่ 5 และในหลวงรัชกาลที่ 6 พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ นิสิตจุฬาฯ มีประเพณีประจำปีแสดงความเคารพโดยกราบไหว้อนุสาวรีย์ในหลวงสองพระองค์ แต่คนที่เดินออกอ้างว่าประเพณีดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งอาจได้รับการชี้แนะมาจาก “ใครคนหนึ่ง”

เมื่อปีนี้หรือปีที่แล้ว มีนิสิตบางคนพยายามที่จะเอาธงชาติหน้าหอประชุมลง เพื่อชักธงสีดำขึ้นแทน แต่นักการภารโรงคนหนึ่งเห็นก่อนจึงไปขัดขวางไว้ได้ ( พฤติกรรมเลียนแบบซึ่งเคยมีการกระทำแบบนี้มาแล้วในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโดยนักศึกษาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ )

นอกจากนั้น ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีอาจารย์บางคนในบางคณะได้แสดงออกอย่างเปิดเผยในการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดยามสถาบันพระมหากษัตริย์ คนหนึ่งเสียชิวิตไปแล้ว อีกคนหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

กว่าจะถึงวันนี้ มี “สัญญานเตือน” มาแล้วหลายปี ที่ฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะตระหนัก และระแวดระวัง หาทางป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้อีก สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ น่าจะเป็นบทเรียนให้ฝ่ายบริหารจุฬาฯ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

จะอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ผู้ใช้ต้องตระหนักว่า ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น หรือไม่ละเมิดกฎหมาย เพราะคนอื่นก็มีเสรีภาพเช่นกัน เมื่อมีเสรีภาพ ก็ต้องมีหน้าที่ควบคู่กันไปด้วย

อาจารย์จุฬาฯ หลายท่านได้แสดงความอึดอัดใจ เมื่อมีการเผยแพร่ แนวคิดให้นิสิตมีส่วนในการประเมินผลงานของอาจารย์ซึ่งใช้การสอนแต่ละเทอมเป็นตัววัด โดยอ้างว่า นิสิตจ่ายเงินมาเรียน หรือจ้างอาจารย์มาสอน ดังนั้น นิสิตต้องมีส่วนประเมินการสอนของอาจารย์ด้วย อาจารย์หลายท่านแสดงความอึดอัดใจเมื่อมีอาจารย์บางพวกที่พยายาม “เอาใจ” นิสิตกลุ่มนี้ จนทำให้กฎ ระเบียบ วินัยของสถาบันการศึกษาเหล่านี้เสื่อมลง

ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปก็ขอมีส่วนร่วมในการประเมินอาจารย์และฝายบริหารด้วย เพราะเป็นคนจ่ายเงินให้กับลูกหลานไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

นอกจากนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และประชาชนที่เช่าที่ดิน อาคารของจุฬา ก็ต้องมีส่วนประเมินฝ่ายบริหารของจุฬาด้วย เพราะเงินเดือนที่ฝ่ายบริหารได้รับนั้นมาจากผลประโยชน์จากที่ดินที่ได้รับพระราชทาน

การเรียกร้องของ อบจ.ที่ให้นิสิตประเมินผลงานของอาจารย์ของอาจารย์ผู้สอน ก็มีส่วนดีเช่นกัน เพราะจะทำให้อาจารย์ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น อาจารย์ต้องทำงานหนักขึ้นในการค้นคว้าเพื่อมาสอนนิสิต และต้องระวังพฤติกรรมของตนเอง จะทำตัวเฉื่อยหรือคิดว่าสอนอย่างไรก็ได้ คงไม่ได้อีกแล้ว เพราะนิสิตสามารถไปค้นหาข้อมูลคู่ขนานได้จากช่องทางต่าง ๆ ในสื่อโซเชียล

อย่างไรก็ดี นิสิตเก่าจุฬา ได้ให้กำลังใจผู้บริหารจุฬาฯ และบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย อย่ายอมจำนน อย่าปล่อยให้สังคมจุฬาและผลผลิตจุฬาเป็นไปตามยถากรรม

จะมีการประชุม “สภามหาวิทยาลัย” ในไม่ช้านี้ นายกสมาคมนิสิตเก่าฯ และนิสิตเก่าหลายท่านก็อยู่ในสภานี้ เราเชื่อว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ครั้งต่อไป คงบรรจุเรื่องนี้ไว้ในวาระประชุมเร่งด่วน ที่สมาชิกสภาและผู้บริหารสามารถใช้เวทีนี้ในการสอบถามอธิการบดีและผู้รับผิดชอบได้ และผู้บริหารจุฬาก็ใช้เวทีนี้ในการชี้แจงข้อสงสัยของชาวจุฬาได้

นิสิตเก่าที่ยังติดใจ สงสัย ก็เตรียมคำถามไว้ส่งให้เพื่อนที่อยู่ในสภามหาวิทยาลัยถามผู้บริหาร นี่เป็นการประชุมเฉพาะชาวจุฬา ทุกฝ่ายสามารถพูดกันอย่างเปิดอกโดยถือเอาผลประโยชน์สูงสุดของจุฬาและของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ใครมีข้อมูลก็ส่งให้ศิษย์เก่าที่เป็นกรรมการอยู่ในสภามหาวิทยาลัย เพื่อนำไปซักถามผู้บริหาร่ต่อไป

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความรู้สึกของนิสิตเก่า ที่ยังภูมิใจใน “พระเกี้ยว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ เป็นสังคมที่เราอยู่กันด้วยความรัก ความเคารพ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติและของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้ง ( จบ )