posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

26 กรกฎาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร           

********************

นวนิยายเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government) นี้ ปรากฏสู่สายตาคนญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2430 ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญสองปี และก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกสามปี  เป็นผลงานของนากาเอะ โชมิน ส.ส. พรรคเสรีนิยมของญี่ปุ่น  และต่อมาองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลก

การสนทนาในนวนิยายเรื่องนี้น่าจะให้ข้อคิดที่ดีไม่น้อยสำหรับผู้อ่านบ้านเรา เพราะตัวละครในเรื่องนี้มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน คนหนึ่งนิยมตะวันตก และต้องการให้ญี่ปุ่นดำเนินไปตามเส้นทางของประเทศตะวันตก นั่นคือ รับเอาอุดมการณ์เสรีนิยมและพัฒนาระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นยังเห็นว่าคุณค่าตามจารีตประเพณีของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับคนญี่ปุ่น

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างจากข้อถกเถียงในสังคมไทยขณะนี้ ที่มีฝ่ายหนึ่งต้องการให้สังคมไทยรับอุดมการณ์เสรีภาพ ความเสมอภาพและภราดรภาพและเจริญรอยตามแนวการปกครองของตะวันตก ส่วนอีกฝ่ายนั้นต้องการรักษาคุณค่าและประเพณีวัฒนธรรมแบบไทยและถ้าหากจะเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ตัวละครที่นิยมเสรีนิยมตะวันตกในเรื่องได้รับฉายาว่า “สุภาพบุรุษ (ตะวันตก)” ส่วนตัวละครที่นิยมคุณค่าดั้งเดิมของญี่ปุ่นถูกตั้งฉายาว่า “นักสู้ (ซามูไร)” ส่วนในบ้านเรา ฝั่งที่เป็นฝั่งเดียวกับ “สุภาพบุรุษ” เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” และตั้งฉายาฝั่งตรงข้ามว่า “สลิ่ม” บ้าง “ไดโนเสาร์เต่าล้านปีบ้าง” “ศักดินา” บ้าง

ส่วนในบ้านเราที่เป็นฝั่งเดียวกับ “นักสู้” ก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าอะไร อาจจะยังนึกไม่ออกว่า ตัวเองเป็นอะไรแน่ ? (5555 !) เพราะไม่เห็นมีใครในฝั่งนี้แอ่นอกยอมรับว่าเป็น “อนุรักษ์นิยม”  และก็ไม่ชอบให้ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” หรือ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” ด้วย แต่ก็เรียกฝ่ายตรงข้ามว่า “สามกีบ” เพราะชอบชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์

ส่วนตัวละครตัวที่สามในเรื่องเป็นเจ้าบ้านที่เปิดที่ให้ดื่มและสนทนา เขาคือ อาจารย์นันไค ผู้รักในการดื่มและการสนทนาเรื่องการเมืองเป็นชีวิตจิตใจ และได้ชื่อว่า เมื่อเมาแล้ว ปัญญาจะแล่นโลด !

คนที่นำเสนอความคิดของตัวเองในวงสุราก่อนใครคือ สุภาพบุรุษ และคราวนี้ก็จะนำเสนอความคิดที่เขากล่าวในวงเหล้าต่อไป

“สุภาพบุรุษ” : “มักมีคนกล่าวว่า การที่ประเทศหนึ่งๆร่ำรวยและมีอำนาจขึ้นได้นั้น เป็นเพราะมีผลิตภาพผลิตผลที่สูง โดยผลิตภาพที่ว่านี้เป็นผลมาจากความเป็นเลิศในทางวิชาความรู้  อันเป็นผลจากการค้นพบความรู้วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกซ์ เคมี สัตววิทยา พฤษศาสตร์ และประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น รวมทั้งความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการอุตสาหกรรมและการค้า ทำให้ประหยัดเวลาและแรงงานไปได้มาก และผลผลิตที่ได้ก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลและเหนือกว่าการผลิดด้วยแรงงานมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่มีคนมักจะบอกว่า มันเป็นหนทางที่จะสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองมั่งคั่ง และเมื่อชาติร่ำรวยแล้ว ก็จะสามารถรักษากำลังแสนยานุภาพทางการทหารอันยิ่งใหญ่ไว้ได้  และถ้ามีโอกาส ก็สามารถส่งกองกำลังไปขยายและยึดดินแดนไกลๆในเอเชียและอัฟริกาได้   และส่งคนของตนไปในอาณานิคมเหล่านั้น สร้างตลาดเพื่อขยายการค้าและซื้อวัตถุดิบในราคาถูกและมาผลิตเป็นสินค้าในราคาแพง  ได้กำไรมหาศาล

และเมื่ออุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรือง ตลาดขยายตัว กองกำลังทหารทั้งทางบกและทางทะเลก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย  และการเติบโตที่ว่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการสมาทานในหลักการแห่งเสรีภาพ”

จากข้างต้น “สุภาพบุรุษ” ต้องการกล่าวถึงความเชื่อของคนจำนวนหนึ่งที่ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจ คือ มีพัฒนาการความรู้ และนำความรู้นั้นไปใช้ในการผลิต การอุตสาหกรรม การค้า ส่งผลให้ประเทศมั่งคั่งร่ำรวย เมื่อร่ำรวยก็สามารถสร้างกองกำลังทิ่ยิ่งใหญ่ได้ และเมื่อมีกองกำลังที่ยิ่งใหญ่ได้ก็สามารถขยายดินแดนมีอาณานิคม ขยายตลาด กว้านซื้อวัตถุดิบและแรงงานราคาถูกและนำมาผลิตเป็นสินค้าที่ให้กำไรมหาศาลส่งเสริมความมั่งคั่งและแสนยานุภาพได้มากยิ่งขึ้น

แต่เขาไม่เห็นด้วยกับชุดคำอธิบายดังกล่าวนี้ เพราะ “การให้เหตุผลเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้และการมองอะไรอย่างตื้นเขิน เพราะกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันและมีสาเหตุเกี่ยวข้องกัน หากพิจารณาให้ดี เราจะพบสาเหตุที่แท้จริง ดังที่จะไล่ตรรกะให้เห็นดังต่อไปนี้ ความมั่งคั่งของประเทศเกิดจากความเป็นเลิศในทางวิชาการความรู้ และความเป็นเลิศทางวิชาการความรู้ก็มาจากความมั่งคั่งด้วย แต่อะไรเล่าที่เป็นต้นธารของความเป็นเลิศทางวิชาการความรู้  ความมั่งคั่งหรือ ? มันจะกลายเป็นปัญหาที่ว่าไข่กับไก่ อะไรเกิดก่อนกัน ?!!

จริงๆแล้ว การเรียนรู้ที่เป็นเลิศเกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์มีความก้าวหน้าในความรู้  แต่ทันทีที่ความรู้ก้าวหน้า ผู้คนก็ย่อมจะตาสว่างไม่เพียงแต่ในเรื่องวิชาการความรู้เทานั้น แต่ยังรวมไปถึงความเข้าใจในระบบการเมืองด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ยุคโบราณมา ช่วงเวลาที่มีความก้าวหน้าในวิชาการความรู้อย่างรวดเร็วมากที่สุดในประเทศใดๆก็ตามจะเป็นช่วงที่ความคิดทางการเมืองเจริญเฟื่องฟูด้วย

วิชาการความรู้และความคิดทางการเมืองเปรียบได้กับกิ่งก้าน ใบ ดอก และผลที่งอกออกมาจากต้นไม้เดียวกัน โดยความรู้เปรียบได้กับลำต้น และทันทีที่ความรู้ก้าวหน้า และความคิดทางการเมืองเฟื่องฟู การบรรลุถึงเสรีภาพจึงเป็นเป้าหมายของกิจกรรมทุกอย่างทันที  และไม่ว่าจะเป็นใคร อาชีพอะไร  นักวิชาการ ศิลปิน ชาวนา ผู้ผลิต พ่อค้า ผู้ประกอบการ ล้วนจะมีความคิดอย่างหนึ่งที่อยูในใจพวกเขาตลอดเวลา นั่นคือ ความต้องการที่จะพัฒนาความคิดของตัวเองและบรรลุเป้าหมายทางความคิดโดยไม่มีอะไรมาจำกัด

และถ้าบรรดาคนที่อยู่ในอำนาจมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเข้าใจถึงแนวโน้มแห่งยุคสมัย และมีความเข้าใจในความรู้สึกของมนุษย์ และก้าวไปไกลกว่าแค่ความปรารถนาในอำนาจ พวกเขาก็จะส่งเสริมให้ภาวะผู้นำแก่บรรดาพลเมืองที่มีความแข็งขันทางการเมือง  และเปิดประตูให้กระแสลมแห่งเสรีภาพได้พัดผ่านเข้ามา และกลไกทางสังคมก็จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มสมรรถภาพ อันจะส่งผลให้ส่วนที่เน่าเสียของสังคมถูกจำกัดไปโดยปริยาย และความเจริญก้าวหน้าใหม่ๆก็จะเข้ามาแทนที่

นักวิชาการจะพยายามที่จะพัฒนาทฤษฎีต่างๆให้แม่นยำชัดเจนมากขึ้น  ศิลปินก็จะพยายามที่ปรับปรุงแนวความคิดของพวกเขา และประชาชนทุกสาขาอาชีพก็จะอุทิศในสายงานของตัวเอง  และจากบนลงล่าง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากนโยบายเช่นนี้ และความมั่งคั่งก็จะอุบัติขึ้นส่วนคนที่เบาปัญญาที่อะไรเพียงผิวเผินจะไม่มีทางเข้าใจผลพวงอันยิ่งใหญ่นี้ได้เลย

นอกจากนี้ เรื่องราวความเป็นไปของโลกจะเดินไปข้างหน้าเสมอ ไม่มีถอยหลัง มันเป็นกฎตายตัวที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นที่ นักปราชญ์กรีกโบราณที่ชื่อ เฮราไคลตัสได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีใครแหย่เท้าลงบนสายน้ำอันเดิมในแม่น้ำได้ เพราะสายน้ำมันไหลอยู่ตลอดเวลา เขาเข้าใจกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างถ่องแท้ แม้ว่าสมัยนั้น วิธีคิดในแบบประจักษ์นิยมยังไม่พัฒนาเต็มที่และวิทยาศาสตร์ก็ยังบรรพกาลอยู่ก็ตาม ดังนั้น ในสมัยนั้น ความคิดในแบบของเฮราไคลตัสดูจะเกินจริงไปสำหรับผู้คน แต่ในศตวรรษที่สิบแปด นักคิดฝรั่งเศสอย่างดิเดโรต์ (Diderot) และมาคี เดอ กองดอร์เซต์ (Condorcet) ต่างยืนยันว่า กฎวิวัฒนาการนี้ปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์

ลามาร์ค (Lamarck) นักพฤษศาสตร์และสัตววิทยาผู้มีชื่อเสียง เป็นคนแรกที่นำเสนอทฤษฎีที่ว่า สปีชี (species) ต่างๆทุกสปีชีล้วนแต่เปลี่ยนแปลงในทุกรุ่น และไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมไปได้ตลอดกาล จากนั้น เกอเธอร์ (Goethe) แห่งเยอรมนี และจอฟฟรัว(Étienne Geoffroy Saint-Hilaire นักทฤษฎีเพื่อนร่วมงานของลามาร์ค) ได้พัฒนาทฤษฎีวิวัฒนาการของลามาร์คให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น การทดลองของเขาได้นำไปสู่ผลที่แม่นยำยิ่งขึ้นและเขาได้ค้นพบกฎแห่งการกลายพันธุ์ หลังจากที่เขาได้สืบค้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (human species) และเปิดเผยให้เห็นถึงการวิวัฒนาการ เขาก็ทำให้ผู้คนในโลกตาสว่าง                                                  

  

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

                                                  

ดังนั้น จึงไม่ต้องมีข้อกังขาอะไรอีกว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลต่างตกอยู่ภายใต้กฎแห่งวิวัฒนาการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ แม่น้ำ ทะเล ภูเขา สัตว์ พืช แมลง สังคม มนุษย์ ระบบการเมืองและแม้แต่ศิลปะวรรณคดีก็ตาม สรรพสิ่งล้วนแต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา และการวิวัฒนาการนี้คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์ไปสู่ความสมบูรณ์แบบ เปลี่ยนแปลงจากความไม่บริสุทธิ์ไปสู่แบบอันบริสุทธิ์…”

จากข้างต้น “สุภาพบุรุษ” เชื่อว่า การตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้ต้องมาก่อน และการจะเปิดตาหาความรู้ ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ นั่นคือ การมีเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งเสรีภาพคือ ความคิดทางการเมืองที่ไม่จมปลักอยู่กับซากเดนของเก่า

เข้าใจได้ว่า ในศตวรรษที่สิบเก้าที่โชมินแต่งนวนิยายเรื่องนี้ กำลังเป็นยุคทองของอุดมการณ์เสรีนิยมที่เชื่อในอานุภาพของเสรีภาพ และเชื่อในกฎวิวัฒนาการของสรรพสิ่งต่างๆ และเชื่อว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยจะเจริญก้าวหน้าและมั่งคั่งกว่าประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง

ความเชื่อดังกล่าวดำเนินเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ยี่สิบ และถูกท้าทายโดยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อันนำพาให้ประเทศต่างๆในโลกเข้าสู่สภาวะสงครามเย็นที่แบ่งออกเป็นสองขั้วมหาอำนาจ  และต่างพยายามแข่งขันโชว์ผลงาน ผลิตภาพผลิตผลรวมทั้งความสามารถของผู้คนไม่ว่าจะในทางวิทยาการความรู้ การเดินทางไปอวกาศ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ฯลฯ                                                                  

       

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบเอ็ด): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

              

และทุกวันนี้ เราก็ยังไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า ตกลงแล้ว ความเชื่อของ “สุภาพบุรุษ” คือคำอธิบายที่ถูกต้องแท้จริง เพราะปัจจุบัน จีนเป็นตัวอย่างของประเทศมหาอำนาจที่น่าเกรงขามที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ทั้งทางการค้า วิทยาการ และแสนยานุภาพทางการทหาร ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเสรีประชาธิปไตย ?!! และเริ่มพูดกันมากขึ้นว่า มหาอำนาจตะวันตกกำลังเข้าสู่ช่วงตกต่ำ