posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่17): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

22 กรกฎาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

ในตอนก่อนๆได้กล่าวถึงเงื่อนไขในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนอยู่บนเงื่อนไข “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” แต่หาใช่ราษฎรทั่วไป แต่หมายถึงที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี และกลุ่มคนที่ทรงอำนาจอิทธิพลในประชุมดังกล่าวนี้คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

ก่อนจะกล่าวถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมขอกล่าวถึงเรื่องราวหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลจากรัชกาลที่สี่ไปสู่รัชกาลที่ห้า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ ดิศ บุนนาคเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วราชอาณาจักร และรวมทั้งขุนนางสายตระกูลบุนนาคคนอื่นๆก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นการตอบแทน ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆอย่างเช่น กลาโหม สมุหนายก เมือง วัง คลัง นาล้วนมาจากขุนนางตระกูลบุนนาคหรือเกี่ยวข้องโดยการแต่งงานกับพวกบุนนาคทั้งสิ้น

และเหตุผลประการหนึ่งที่พวกขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนพระองค์ก็เป็นเพราะพระองค์ไม่ได้ทรงมีอำนาจบารมีทางการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองอะไรมากกับกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ เพราะก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงผนวชมาเป็นเวลานานราวสามทศวรรษ ทำให้พระองค์ไม่มีอำนาจต่อรองเท่าไรนัก

สถานะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ “ปรากฏชัดเจนจากประกาศของพระองค์ใน พ.ศ. 2397 เพื่อพระราชทานอำนาจหน้าที่เต็มแก่ขุนนางคนสำคัญในตระกูลบุนนาคโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (สมุหนายก: ว่าการมหาดไทย) และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยให้มีอำนาจบัญชาการเรื่องต่างๆได้โดยไม่ต้องรอพระบรมราชานุมัติ โดยพระองค์จะยินดีหากมีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงการตัดสินใจสำคัญใดๆเพื่อจะได้ปฏิบัติพระองค์ตามสมควร”

ส่วนตำแหน่งวังหน้า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชาร่วมพระมารดาให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะในขณะนั้น ยังไม่ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติในเศวตรฉัตร (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงประสูติ พ.ศ. 2396)

และในการแต่งตั้งนี้ถือเป็นการแต่งตั้งที่พิเศษ นั่นคือ “โปรดพระราชทานให้มียศยิ่งใหญ่กว่าแต่ก่อน” นั่นคือ ให้มียศยิ่งใหญ่กว่ากรมพระราชวังสถานมงคลและให้เสมอกันกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ถือเป็น “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง” และ “ให้รับพระราชโองการทั้ง2พระองค์..ผิดกันแต่คำนำหน้าที่ว่ารับพระราชโองการและรับพระบวรราชโองการเท่านั้น” และพระราชพิธีบวรราชาภิเษกก็ไม่แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

เหตุผลในการแต่งตั้งดังกล่าวนี้ สืบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชดำริเห็นว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชา “ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและการต่างประเทศ และขนบธรรมเนียมต่างๆ และศิลปศาสตร์ในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก พระบรมราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญู่ผู้น้อยก็นิยมยินดีนับถือมาก” ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง” นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพระนเรศวรที่ทรงแต่งตั้งพระเอกาทศรถ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องเผชิญกับภัยภายนอกคือพม่าและทำให้ไม่มีปัญหาในการสืบราชสมบัติ

ขณะเดียวกัน ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเชื่อตำราพยากรณ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจำต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเพื่อแก้เคล็ดคำพยากรณ์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่า การที่พระองค์ทรงต้องการให้ตำแหน่งวังหน้าที่ครองโดยพระราชอนุชามีสถานะที่เท่าเทียมพระมหากษัตริย์ก็เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพอพระทัยกับสถานะอันทรงพระเกียรติสูงสุดเพื่อที่จะไม่จำเป็นต้องคิดแย่งชิงบัลลังก์โดยคบคิดกับผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งก่อนหน้านี้ การมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ย้อนกลับไปถึง 261 ปีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่17): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

          เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์               พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ                      พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ในปลายรัชกาล ได้เกิดการควบรวมอำนาจทางการเมืองโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ในปี พ.ศ. 2398 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหมแทน ต่อมา พ.ศ. 2400 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นอาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย และในปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์องค์ที่สองและตำแหน่งวังหน้าสวรรคต ทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ภายใต้การนำของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แห่งตระกูลบุนนาคในสายของตนแต่เพียงผู้เดียว

อีกทั้งหลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ทำให้ตำแหน่งวังหน้าว่างลง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า แต่ด้วยอำนาจบารมีอันยิ่งใหญ่และการให้เหตุผลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระองค์จึงทรงประนีประนอมยอมแต่งตั้งให้พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศดำรงตำแหน่งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ

แม้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมีสิทธิ์สืบราชสมบัติเท่ากับตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ในทางปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จออกงานพิธีคู่กับพระองค์ แต่ในทางราชการ มิได้ “ทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ผิดกับแต่ก่อนอย่างไรไม่” นั่นคือ ในทางปฏิบัติทรงปฏิบัติให้ผู้คนเห็นว่าทรงปฏิบัติต่อกรมหมื่นบวรวิชัยชาญประดุจกรมพระราชบวรสถานมงคล แต่ในทางการ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญมิได้มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติอย่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ขณะเดียวกัน แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการออกประกาศต่างๆมากมายตลอดรัชสมัยของพระองค์ แต่กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ได้กล่าวว่า “ถึงแม้ประกาศฉบับต่างๆของพระองค์จะให้ภาพว่าทรงกระตือรือร้นในกิจการของรัฐ ทว่าบรรดาขุนนางผู้ใหญ่มิได้เข้าเฝ้าฯเป็นประจำทุกวัน ก็บ่งชี้ว่าพระองค์มิได้เป็นศูนย์กลางอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐพิธีและพระราชพิธีต่างๆกลายเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากขุนนางผู้ใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมพิธี

เมื่อต้องประกอบพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์จึงตรัสว่ามิได้คาดหวังให้ขุนนางมาช่วยงาน แต่หากผู้ใดมาช่วยงาน พระองค์จะสมนาคุณตอบแทนเมื่อถึงเวลาอันสมควร การเน้นย้ำผลประโยชน์ต่างตอบแทนเช่นนี้ทำให้พระองค์มิได้แสดงบทบาทพระมหากษัตริย์แบบจารีตในฐานะองค์อุปถัมภกสูงสุดอีกต่อไป พระองค์ทรงยอมรับอย่างเปิดเผยว่าทรงเห็นเป็นบุญคุณอย่างยิ่งที่บรรดาขุนนางสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นครองราชย์

เมื่อพระราชลัญจกรประจำรัชกาลถูกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงชราและไร้พระราชอำนาจ พระองค์ก็ได้ขอร้องให้เหล่าขุนนางเข้าเฝ้าฯและร่วมพิธีทำขวัญ ในความสัมพันธ์ระหว่างขุนนาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพยายามยืนยันพระราชอำนาจด้วยการเน้นย้ำให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯเฉพาะพระพักตร์ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯเพื่อรอรับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีด้วยตนเองแทนที่จะส่งผู้แทนมา พระองค์ยังเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและทรงริเริ่มการให้คำสัตย์สาบานว่าจะซื่อตรงต่อผู้ปกครอง

นอกจากนี้ พระองค์ยังลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านายด้วยพระองค์เอง ณ วังของเจ้านายนั้นๆ ทั้งยังส่งเสริมให้ขุนนางระดับล่างกราบบังคมทูลให้ทรงทราบหากจะจัดพิธีใดๆขึ้นมา เพื่อจะได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานโดยมุ่งหมายผลประโยชน์ต่างตอบแทนในภายหน้า แต่กระนั้น ทรัพยากรที่จะเสริมสร้างระบบอุปถัมภ์ของพระองค์ก็มีอยู่จำกัด ดังจะเห็นได้จากการเสนอให้ขุนนางใช้บริการนวดจากข้าราชบริพารของพระองค์”

จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจมากมายอะไร แต่อำนาจจะรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้นำ

ในช่วงปลายรัชสมัย ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงประชวรใกล้สวรรคต ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แล้วว่า ให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่จะเลือกเป็นพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดที่มีความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) ที่ยังทรงพระเยาว์ ขาดประสบการณ์และกำลังทรงพระประชวรหนักด้วย โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า

“ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

เหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริเช่นนั้น เพราะ “ในกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ แต่มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2171 พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐา ราชโอรส พระชันษา 14 ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้าย จะชำระเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ ชิงเอาราชสมบัติเสีย”

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่17): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

            เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์                           กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ                           เจ้าฟ้ามหามาลา

และเมื่อกล่าวถึงพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอที่เข้าข่ายสืบราชสันตติวงศ์มีใครบ้าง ?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “เจ้านายที่ฐานะอยู่ในฉายา อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาทมี 3 พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 13 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43 ปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา พระชันษา 46 ปี”

และเหตุใด เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสมบัติ ? โปรดติดตามตอนต่อไป

(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2,; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

********************