posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบ): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

19 กรกฎาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร          

********************

สำหรับท่านผู้อ่านที่เพิ่งอ่านเป็นครั้งแรก ขอเรียนเป็นข้อมูลว่า นวนิยายเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” หรือ A Discourse by Three Drunkards on Government เป็นผลงานของนากาเอะ โชมิน ส.ส.พรรคเสรีนิยมของญี่ปุ่น ปรากฏสู่สายตาคนญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2430 ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญสองปี และก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกสามปี  และต่อมาองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลก

ในเรื่อง สามบุรุษคอสุราชาวญี่ปุ่นตั้งวงสนทนาเรื่องการเมือง โดยมีอาจารย์นันไคเจ้าบ้านเป็นอาจารย์ใหญ่และเป็นเจ้าภาพให้ใช้บ้านเป็นสถานที่ ส่วนสุรากับแกล้มนั้น สองแขกผู้มาเยือนติดไม้ติดมือมาคารวะอาจารย์นันไค การที่คนมักชอบมาคุยกับอาจารย์นันไค เพราะเวลาแกได้ที่ แกจะมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองอย่างมหากาพย์เลยทีเดียว เพราะแกจะสามารถอธิบายอดีตย้อนกลับไปเป็นพันๆปีและมองไปในอนาคตแนว “Futuristic” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบ): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบ): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

หัวข้อที่สามคนคุยกันก็คือ “อนาคตทางการเมืองของญี่ปุ่น”  จุดยืนของแขกสองคนที่มากร่ำบรั่นดีตราขวานทองนั้นแตกต่างกัน คนหนึ่งออกแนวจารีตซามูไร ที่อาจารย์นันไคตั้งฉายาให้ว่า “นักสู้” ส่วนอีกคนหนึ่งคือ “สุภาพบุรุษ (ตะวันตก)” อันเป็นฉายาที่อาจารย์นันไคตั้งให้เช่นกัน 

“สุภาพบุรุษ” เป็นผู้สมาทานแนวคิดเสรีนิยมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ชอบระบอบกษัตริย์ อยากให้ญี่ปุ่นเป็นเสรีประชาธิปไตย ผู้คนจะได้มีเสรีภาพและความเสมอภาค อยากให้องค์พระจักรพรรดิญี่ปุ่นมีวิสัยทัศน์เข้าใจถึงแนวโน้มของวิวัฒนาการทางการเมืองของมนุษชาติ ที่เขาเชื่อว่าอย่างไรเสีย ทุกประเทศก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีสถาบันพระจักรพรรดิ ดังนั้น ถ้าองค์จักรพรรดิเข้าใจในวิวัฒนาการนี้ ก็ไม่ควรที่จะต้องรอจนกว่าวันนั้นมาถึง แต่ควรรีบลงมือปฏิรูปและก้าวไปสู่การสละราชสมบัติเสียเอง คนรุ่นต่อๆไปจะได้พากันจดจำเคารพยกย่องนับถือ

“สุภาพบุรุษ” ไม่ชอบพวกอภิชนเจ้านายที่ไม่ทำอะไร แต่อยู่ได้เพราะรัฐบาลให้เงินสนับสนุน โดยเงินเหล่านั้นมาจากภาษีประชาชน

เขายืนยันว่า การจ่ายภาษีเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าภาษีไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการที่ผู้คนไว้วางใจให้บริหารประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กลับต้องจัดสรรไปให้บรรดาอภิชนเหล่านี้ที่ไม่ได้ทำงานอะไร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้คนก็หาได้มีเสรีภาพที่แท้จริงไม่

“สุภาพบุรุษ” ตั้งคำถามอย่างดุดันว่า กษัตริย์และอภิชนมีสมองที่ใหญ่และหนักกว่าคนทั่วไปหรือ ? พวกเขามีน้ำย่อยและเม็ดเลือดมากกว่าคนทั่วไปหรือ ?  ถึงจะต้องได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากคนทั่วไป

“สุภาพบุรุษ” เสียดสีอภิชนชนชั้นสูงต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า มนุษยษเรานั้นมีพัฒนาการทางสมองส่วนหน้า (cerebrum) ที่สูงมาก  ส่วนสัตว์นั้นมีพัฒนาการทางสมอง (cerebellum) สูง”

ขอขยายความให้ “สุภาพบุรุษ” หน่อยนะครับ คือ สมองส่วนหน้านั้นมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน และควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ ส่วนสมอง cerebellum หรือที่ภาษาไทยเรียกว่าสมองน้อย ซึ่งในศตวรรษปลายศตวรรษที่สิบเก้า วงการแพทย์สมัยนั้นเชื่อว่า สมองน้อยมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการที่สัตว์มีพัฒนาการทางสมองน้อยสูง ก็หมายความว่า สัตว์มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีกว่าคน แต่คนจะมีความสามารถในการแก้ปัญหา วางแผนและแสดงออกและควบคุมด้านอารมณ์ได้ดีกว่าสัตว์

“สุภาพบุรุษ” กล่าวต่อไปว่า แม้คนจะต่างจากสัตว์ “แต่กษัตริย์หรืออภิชนต่างจากคนธรรมดาหรืออย่างไร ? ตอนที่พวกเขาเกิดมา ไม่ได้ตัวเปลือยเปล่าเหมือนคนอื่นๆหรือ ? เขาเกิดมาพร้อมกับเสื้อผ้าที่ทอถักทอด้วยไหมทองเลยหรืออย่างไร ?  ยามที่พวกเขาตาย เลือดเนื้อกระดูกของพวกเขาไม่เน่าเปื่อยหรืออย่างไร ?  จริงๆแล้ว ทั้งเขาและเราต่างก็เป็นก้อนเนื้อที่ผสมด้วยเคมีต่างๆ แต่เมื่อมาเจอกัน ก้อนเนื้ออย่างเราๆก็ต้องโค้งคำนับและประสานมือให้เขา ส่วนก้อนเนื้ออย่างพวกเขาก็ยังคงยืนตรง และอาจจะเพียงแค่พยักหน้าเล็กน้อย  และเมื่อเราพูดกับพวกขา ก้อนเนื้ออย่างเราๆแสดงความเคารพต่อก้อนเนื้อนั้นโดยใช้ราชาศัพท์ แต่เมื่อก้อนเนื้อนั้นพูดกับเรา.....มันไม่เป็นการดูหมิ่นดูแคลนอย่างถึงที่สุดเลยหรือไร ? มันไม่ใช่สิ่งน่าละอายที่สุดจะรับได้หรอกหรือ ? และพวกอภิชนมักจะคิดว่า ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปี เป็นเดือนหรือวันหรือ มีบุรุษผู้หนึ่งที่ทรงปัญญาและคุณธรรม มีอัจฉริยภาพ เฉลียวฉลาด กล้าหาญและปรีชาสามารถ และด้วยเหตุผลเหล่านี้นี่เอง ที่ บุรุษผู้นี้ได้กลายเป็นเจ้านาย ขุนนาง อภิชน และเพราะเขาเป็นคนที่มีคุณสมบัติอันเลอเลิศเหล่านั้น บรรดาลูกหลานเหลนโหลนและทายาทที่สืบสายโลหติของพวกเขานับเป็นสิบๆชั่วคนจึงมีคุณสมบัติเหล่านั้นด้วย และเป็นคนพิเศษกว่าคนธรรมดาสามัญ และมีสถานะของการเป็นเจ้านายที่จะส่งต่อไปยังลูกหลานอีกหลายชั่วคนจากนี้ไปถึงอนาคตด้วย ระบบนี้ดำเนินไปตามกฎการสืบสายโลหิต และมันไม่มีทางจะยุติธรรมไปได้เลย....’”

ที่จริง “สุภาพบุรุษ” ยังวิพากษ์ระบบเจ้าและอภิชนอย่างถึงพรึกถึงขึง และรวมทั้งโจมตีค่านิยมจารีตของชายญี่ปุ่นสมัยนั้นที่ชอบสักเพื่อแสดงความเป็นชายชาตรีด้วย

หลังจาก “สุภาพบุรุษ” จบภาคแรกของการร่ายยาวความคิดทางการเมืองของเขา  อาจารย์นันไคได้ยกแก้วบรั่นดีขึ้นซดประมาณหนึ่งหรือสองอึกใหญ่แล้วกล่าวว่า “ความคิดของคุณสุภาพบุรุษนี้ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ แต่น่าเสียดายที่มันไม่ค่อยจะปะติดปะต่อและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน”

“สุภาพบุรุษ” ได้กล่าวตอบอย่างนอบน้อมว่า “ท่านอาจารย์เป็นผู้มีความรู้สติปัญญาอันสูงส่ง ได้โปรดพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์ในความคิดอันต่ำต้อยของข้าพเจ้าด้วยและโปรดสั่งสอน และหากข้าพเจ้าจะไล่ไปตามกฎแห่งตรรกะ ข้าพเจ้าก็จะต้องเริ่มต้นจากจุดที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งอาจจะไม่คู่ควรที่ท่านจะต้องทนรับฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้น”

อาจารย์นันไค: “ท่านอย่าได้กังวลไป ข้าพเจ้าอยากให้ท่านกล่าวไปตามกฎแห่งตรรกะไปเลย วันหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะรวบรวมคำของท่านเป็นหนังสือเล่มเล็กๆสักเล่มเหนึ่งเลยด้วยซ้ำ”

“สุภาพบุรุษ” กล่าวต่อไปว่า “เอาละ ถ้าท่านดูสถานการณ์ของยุโรปในขณะนี้ จะมีสี่ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุด นั่นคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีและรัสเซีย   งานวรรณกรรมของพวกเขางดงามมาก ความรู้วิทยาศาสตร์ก็ชัดเจนแม่นยำ การเกษตร การอุตสาหกรรม การค้าเจริญรุ่งเรือง มีข้าวของเครื่องใช้มากมาย ในทางการทหาร ประเทศเหล่านี้มีกองกำลังทหารบกที่แข็งแกร่งหลายหมื่น ในทางทะเล พวกเขาก็อวดว่ามีเรือรบที่มีแสนยานุภาพหลายพันลำ กำลังของพวกเขาประดุจมังกรและเสือที่พร้อมจะขย้ำ และตั้งแต่โบราณกาลมา เราไม่เคยได้เห็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้มาก่อนเลย”

“แน่นอนว่า มีสาเหตุมากมายหลายประการที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นมหาอำนาจและมั่งคั่งอย่างยิ่ง แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ หลักการอันยิ่งใหญ่แห่งเสรีภาพที่เป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างอันอลังการนี้ แม้ว่าจริงอยู่ที่อังกฤษมั่งคั่งและมีอำนาจมากเพราะความพยายามของพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่หลายพระองค์ในอดีต  แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้อังกฤษประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นก็คือในช่วงรัชสมัยพระเจ้าชารล์สที่หนึ่ง (เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภาที่ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา) ที่กระแสแห่งเสรีภาพได้ถาโถมและทำลายปราการแห่งจารีตประเพณีที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน และการพังทลายของจารีตประเพณีของอำนาจเก่านี้คือการบรรลุผลพวงที่เกิดมาตั้งแต่ครั้งมหากฎบัตร (Magna Carta การตรากฎบัตรจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษในปี ค.ศ. 1215)”

“ฝรั่งเศสก็เช่นกัน ตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ประเทศฝรั่งเศสก็มีชื่อเสียงด้านกองกำลังทหารและงานวรรณกรรมที่เหนือกว่าประเทศใดๆ แต่กระนั้น มันก็ไม่ใช่อะไรมากกว่าเพียงเชื้อราที่เติบโตในห้องเล็กๆของสังคมเผด็จการ   เพราะพลังอันแท้จริงของฝรั่งเศสนั้นเป็นผลพวงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789”

“ส่วนประเทศเยอรมนี นับแต่สมัยพระเจ้าฟรีดริคที่สอง วีรกษัตริย์แห่งปรัสเซียในศตวรรษที่สิบแปด ได้แสดงความสามารถทางการทหารของพระองค์ต่อรัฐข้างเคียง ชาติเยอรมันได้เติบโตเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และเมื่ออุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสเข้าสู่เยอรมนี ส่งผลให้เยอรมนีแตกแยกออกเป็นส่วนต่างๆมากมาย เต็มไปด้วยความระส่ำระสาย แต่เมื่อนโปเลียนได้ยกทัพเข้ากรุงเวียนนาและเบอร์ลินในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดแห่งสาธารณรัฐพร้อมด้วยธงปฏิวัติที่โบกไสว  นั่นเป็นครั้งแรกที่คนเยอรมันได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพและได้ลิ้มชิมรสชาติแห่งภราดรภาพ หลังจากนั้น สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ขวัญกำลังใจของผู้คนได้ฟื้นขึ้นอย่างเต็มที่ และทุกวันนี้ ก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  และสำหรับรัสเซีย  เป็นประเทศที่มีดินแดนใหญ่โตและมีกองกำลังทหารขนาดใหญ่ ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่วัฒนธรรมและการปกครองยังล้าหลังอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีอยู่มาก เป็นเพราะการปกครองเผด็จการยังมีอิทธิพลอยู่มาก”                                                                                                                                                        

       

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบ): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

“กิจการทั้งหลายแหล่ในสังคมมนุษย์เปรียบได้กับแอลกอฮอล์ ส่วนเสรีภาพคือยีสต์  ถ้าท่านหมักไวน์หรือเบียร์โดยไม่ใส่ยีสต์ ส่วนผสมอื่นๆ ไม่ว่าจะดีสักปานใด ก็จะจมลงไปนอนก้นอยู่ใต้ถัง และความพยายามทั้งหลายแหล่ที่ลงแรงไปก็จะสูญเปล่า ชีวิตในสังคมเผด็จการก็เหมือนกับการหมักที่ไม่ใส่เชื้อส่า กิจการทั้งหลายแหล่ก็จมลงกลายเป็นตะกอน  ลองพิจารณาวรรณกรรมของประเทศเผด็จการดู จะเห็นว่า บางครั้ง ผลงานบางชิ้นดูจะมีค่า แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า มันไม่ได้ให้อะไรใหม่ๆ แต่มันย่ำอยู่กับที่นับพันปี งานนับพัน ไม่มีงานชิ้นไหนโดดเด่น ปรากฎการณ์แบบนี้ในสังคมเผด็จการก็ไม่ต่างจากแค่เศษตะกอนนอนอยู่ก้นถัง ที่ผู้แต่งต่างลอกปรากฎการณ์เดิมๆซ้ำๆด้วยจิตวิญญาณแบบตกตะกอน ซึ่งมันไม่เป็นธรรมชาติเลยที่ศิลปะไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

โอ้ !  ฟังความคิดของ “สุภาพบุรุษ” แล้ว   ทำให้นึกถึงทัศนะทางการเมืองของกลุ่ม“สามนิ้ว-ปลดแอก”

อดใจคอยฟังความเห็นของ “นักสู้” นะครับ อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรไป