posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (24)

20 กรกฎาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***************

โดยทั่วไป การทดสอบในคน หรือ การวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) จะดำเนินการโดย “องค์กรรับทำวิจัยทางคลินิก” (Clinical Research Organization : CRO) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน บริษัทยาจะทำหน้าที่เป็น “ผู้สนับสนุนการวิจัย” (Sponsor) การดำเนินการวิจัยจะเป็นหน้าที่ของ “ผู้วิจัย” (Investigator)

เพื่อให้การวิจัยทางคลินิก ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครอง สิทธิ (rights), ความปลอดภัย (safety) และสุขภาวะ (well-being) ของอาสาสมัครวิจัยอย่างถูกต้อง จึงมีหลักการสำคัญว่า “ทุกการศึกษาวิจัยทางคลินิกล้วนต้องมีการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาวิจัย” โดย “บาง” การศึกษาวิจัย “จำเป็น” ต้องตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย (Data and Safety Monitoring Board) หรือ ดีเอสเอ็มบี (DSMB) ขึ้นทำหน้าที่นี้

แนวทางเรื่องดีเอสเอ็มบีขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้การศึกษาวิจัยทางคลินิก 8 ประเภทที่ควรมี ดีเอสเอ็มบี โดยหลักการสำคัญข้อหนึ่งระบุว่า “ดีเอสเอ็มบีมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการศึกษาวิจัยที่มีการกำหนดให้ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการศึกษา (Interim analysis) เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของอาสาสมัคร

ข้อสำคัญ ดีเอสเอ็มบีจะเป็นผู้ “ให้คำแนะนำ” ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ว่าการวิจัยนั้นควรจะ “หยุดชั่วคราว” (Temporary pause) หรือให้ “ยุติการวิจัยทั้งโครงการ” (Termination of Study) ดังเช่น กรณีการวิจัยวัคซีนทดลองของแอสตราเซเนกา ที่พบมีอาสาสมัครรายหนึ่งเกิดภาวะ “ไขสันหลังอักเสบชนิดตัดขวาง” (Transverse myelitis) ซึ่งถือเป็น “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” (Serious adverse event) เพราะทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตท่อนล่าง ก็มีการ “หยุดพักชั่วคราว” ของการวิจัยในสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 4 วัน ก่อนที่ อย.ของสหราชอาณาจักรจะอนุญาตให้ศึกษาวิจัยต่อไปได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการดีเอสเอ็มบี คือผู้ที่จะทำการวิเคราะห์ผลระหว่างทาง และให้ข้อแนะนำในทางใดทางหนึ่งของทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ (1) ควรยุติโครงการหากปรากฏผลชัดเจนว่า ยาหรือวัคซีนที่ทดสอบนั้น ไม่มีประสิทธิศักย์ หรือมีประสิทธิศักย์ต่ำเข้าเกณฑ์ที่ไม่ควร “เดินหน้า” วิจัยต่อไป (2) ผลการศึกษายังสรุปไม่ได้ (inconclusive) หรือแม้จะสรุปผลบางอย่างได้ แต่ควรศึกษาวิจัยต่อจนเสร็จสิ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ก็จะแนะนำให้ทำการศึกษาต่อไปจนเสร็จสิ้น หรือ (3) ผลการวิเคราะห์ระหว่างทาง ปรากฏผลชัดเจนมาก สามารถนำผลนั้นไปใช้ประโยชน์ เช่น ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ก็อาจยุติการศึกษา หรือจะศึกษาต่อไปจนเสร็จสิ้นก็ได้ แล้วแต่กรณี

การที่กติกาสากลกำหนดให้ดีเอสเอ็มบีมีบทบาทหน้าที่สำคัญนี้ ทั้งๆ ที่หน้าที่ในการแต่งตั้งดีเอสเอ็มบีเป็นของ “ผู้สนับสนุนการวิจัย” เพราะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำงานทั้งปวงของดีเอสเอ็มบี แต่หลักเกณฑ์หรือ “แนวทางดำเนินการจัดตั้งและทำหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย” กำหนดให้ดีเอสเอ็มบี เป็น “คณะกรรมการอิสระ” (Independent board) ซึ่งต้องทำหน้าที่อย่างอิสระโดยแท้จริง และต้องไม่มีเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest : COI) หรือ จัดการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างถูกต้องตามหลักการ หรือกติกาสากล

กรณีวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ การทำหน้าที่ของดีเอสเอ็มบีในการวิเคราะห์ระหว่างทาง ดำเนินการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ 5 วันหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งวันนั้นผลการเลือกตั้ง “พลิกกลับ” เป็น โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ จากช่วงวันแรกๆ หลังวันเลือกตั้งที่คะแนนของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายนำ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ทำให้มี ผู้ลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์มากมายเป็นประวัติการณ์ และผู้ลงคะแนนทางไปรษณีย์ส่วนใหญ่นิยมโจ ไบเดน จึงเลือกวิธีลงคะแนนทางไปรษณีย์ตามหลักการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ผู้บริหารระดับสูงของไฟเซอร์บางคน มาร่วมกันรับฟังผล “ด้วยใจระทึก”

อีกกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายวิชาการ (Chief scientific officer) หัวหน้าฝ่ายพัฒนา (Chief development officer) , หัวหน้าฝ่ายกิจการบริษัท (Chief corporate affairs) , หัวหน้าฝ่ายบุคคล (Chief of staff) , ที่ปรึกษาใหญ่ (General counsel) , หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำมานานหลายเดือนในสำนักงานที่ริมแม่น้ำเพิร์ลในกรุงนิวยอร์ค กลุ่มนี้จะได้รับข่าวก่อนแล้วจะส่งข่าวไปให้กลุ่มผู้บริหารระดับสูง

คณะดีเอสเอ็มบี เริ่มประชุมเวลา 11.00 น. ทีมคณะผู้บริหารระดับสูงพยายามระงับความตื่นเต้นระทึกใจด้วยการพูดคุยกันเรื่องอื่น

จนใกล้บ่าย 2 ทีมคณะผู้บริหารระดับสูงได้รับเมสเสจ และทีมนักวิจัยที่สำนักงานริมแม่น้ำเพิร์ลขอประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทางเว็บเบกซ์ พอเชื่อมระบบได้ ทุกคนก็รู้ว่าเป็น “ข่าวดี” เพราะใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของทีมงานวิจัยที่สำนักงานริมแม่น้ำเพิร์ล และข่าวก็เป็นข่าวดีจริงๆ เพราะคณะดีเอสเอ็มบีมีข้อสรุปและให้ข้อเสนอแนะด้วยความมั่นใจอย่างสูง (Highly recommend) ให้นำผลไปขอขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

เพราะผลการวิเคราะห์ระหว่างทางพบว่าวัคซีนมีประสิทธิศักย์ในการป้องกันโรคสูงถึง 95.6% เป็นประสิทธิศักย์ที่สูงจนน่าตะลึง (stunning)

โบร์ลาถือว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เทียบได้กับความสำเร็จของสหรัฐที่สามารถส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ เรื่องราวความสำเร็จนี้จึงเป็นเสมือน “เรื่องราวการไปเหยียบดวงจันทร์” (moon-shot story)

ผลดังกล่าวนี้ เป็นผลการวิเคราะห์ระหว่างทางของการวิจัยในคนระยะที่ 3 ซึ่งวิเคราะห์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563

การวิจัยในคนระยะที่ 1 / 2 ของวัคซีนทดลองนี้ เริ่มดำเนินการในเยอรมนี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 และเริ่มดำเนินการในสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563

การทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการโดยยังไม่มีผลการวิจัยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์คือลิง แต่ได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบในมนุษย์ได้โดยให้ทำการวิจัยในลิง “คู่ขนาน” กันไปทั้ง อย. เยอรมนี และ อย.สหรัฐ อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ดำเนินการในอาสาสมัครจำนวนไม่มาก หลักสิบคน และน่าจะพิจารณาว่า ข้อมูลความปลอดภัยในห้องทดลองและในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กคือหนูนั้น น่าจะเป็นข้อมูลที่ “พอเพียง” (sufficient) ที่จะอนุญาตให้ดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบ “ชั่งน้ำหนัก” ระหว่างประโยชน์ที่จะพึงได้รับต่อวงวิชาการและมนุษยชาติ และความ “จำเป็น” ที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน คู่ขนานกันไป

ผลการศึกษาเบื้องต้น (Preliminary results) ของการวิจัยในคนระยะที่ 1 / 2 ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 2563 บ่งบอกว่าวัคซีนทดลองนี้มี “ศักยภาพ” เรื่องประสิทธิศักย์และความปลอดภัย (potential for efficacy and safety) และในเดือนนั้นเอง อย. ยุโรป เริ่มทำการทบทวนเป็นระยะ (periodic review) ของวัคซีนทดลองนี้

เพียง 10 วัน หลังผลการวิเคราะห์ระหว่างทางก็มีรายงานเรื่องนี้ ตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และ อย. สหราชอาณาจักรก็รับรองวัคซีนนี้เป็นประเทศแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563

*******************