posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (12)

17 กรกฎาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

ใครอยากรู้ว่าชีวิตที่เป็นจลาจลเป็นอย่างไร ขอให้มีเมียสักสองคนอย่างขุนแผนนี้

ในช่วงหนึ่งของข้อเขียนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ว่า “เพราะถ้าหากชีวิตขุนแผนไม่เป็นจลาจลแล้ว เราก็ไม่มีเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนฟังกัน” โดยได้ให้อรรถาธิบายว่า “คนไทยนั้นมีลักษณะแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ หาความบันเทิงได้จากการประคารมของคนอื่น และจากการทะเลาะเบาะแว้งของคนอื่น ตลอดจนเห็นสนุกตอนที่ผู้หญิงหึงผัวกันแล้วด่ากัน” ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในเฉพาะเสภา

แต่ยังมีในบทโขนและละครนอกอีกด้วย “แม้แต่การแสดงโขน ก่อนจะปะทะทัพ ก็จะต้องมีการพูดจาท้าทายและลำเลิกกันระหว่างแม่ทัพทั้งสองฝ่าย โขนตอนนี้คนชอบดูชอบฟังกันมาก และมีการพากย์ที่เรียกว่าพากย์กระทู้ ... ในละครนอกเรื่องไกรทอง มีอยู่สองตอนที่คนนิยมดูกันมาก เรียกว่าหึงล่างตอนหนึ่ง คือตอนที่ชาละวันคาบผู้หญิงจากเมืองพิจิตรเอาไปไว้ในถ้ำ แล้วได้เป็นเมีย เกิดการหึงหวงระหว่างเมียชาละวันทั้งสองฝ่าย

ต่อมาไกรทองลงไปปราบชาละวัน ไปได้กับนางวิมาลา เมียชาละวัน ก็เอาขึ้นมาบนบกด้วย ส่วนลูกสาวสองคนของเศรษฐีพิจิตร เศรษฐีก็ยกให้เป็นเมียไกรทอง เกิดการหึงหวงกันอีก ตอนนี้เรียกว่าหึงบน คนดูสนุกสนานกันมาก ... เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เมื่อขุนแผนเป็นคนมีเมียมาก ตลอดจนถึงลูกชาย คือพลายงาม ก็เกิดมีเมียสองคนขึ้นมาอีก การหึงหวงระหว่างเมียขุนแผนผู้เป็นพ่อ ไปจนถึงการหึงหวงระหว่างเมียของพลายงามซึ่งเป็นลูก ก็เกิดขึ้นในเรื่อง และมีการให้ขับเสภาก่อความบันเทิงให้เกิดแก่คนฟังได้มาก”

ผู้เขียนเคยอ่านข้อเขียนเรื่องคำอธิบายเกี่ยวกับการหึงหวง ที่มีมุมมองที่น่าสนใจแม้จะฟังดูแปลก ๆ อยู่บ้าง ซึ่งท่านที่เขียนน่าจะชอบวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่ด้วย ท่านบอกว่า การหึงหวงคือการแสดงความเป็นเจ้าของ เริ่มจากแม่หวงลูก คู่รักหวงกันและกัน ไปจนถึงผู้ปกครองหวงผู้ใต้ปกครอง โดยคนที่เป็นแม่อาจจะสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อปกป้องลูกน้อยของตน และสภาพจิตใจของมนุษย์ที่ยึดติดอยู่กับของรักของหวงนี้ก็ติดอยู่กับตัวมนุษย์เรื่อยมา จนเมื่อได้ประสบกับของรักอะไรเข้าแล้ว ก็จะเพิ่มความรู้สึกจากความรักนั้นเป็นความหวงแหนขึ้นมาทันที

และความหวงแหนนี้คือจุดกำเนิดของความหึงหวง เพราะความหวงแหนแสดงออกด้วยการปกป้องคุ้มครอง แต่เมื่อมีผู้รุกรานมาแก่งแย่งก็ต้องเข้าต่อสู้รบรากัน ซึ่งก็คือความหึงหวง ดั่งนี้เมื่อคนเรามีคู่รักหรือของรัก เราก็จะยึดติดเหมือนกับเป็นสมบัติส่วนตัวของเราเอง เริ่มต้นก็ต้องแสดงความหวงแหนคอยปกป้อง แต่เมื่อมีคนอื่นที่คิดจะเข้ามาแย่ง ก็จะเกิดอาการหึงหวงขึ้นมาทันที บางทีก็ถึงขั้นโกรธแค้นคุ้มคลั่ง

อย่างที่เราเห็นผัวเมียแสดงความหึงหวงช่วงชิงกันนั้น ไม่ต่างอะไรกับในทางการเมือง ที่ผู้ปกครองนึกว่าตนเองเป็นพ่อแม่หรือเจ้าของของผู้ใต้ปกครอง พอรัฐประหารหรือเลือกตั้งเข้ามาได้ ก็กกกอดประชาชนไว้ดั่งว่าเป็นสมบัติที่ล้ำค่ายิ่ง โดยหวังจะให้ประชาชนภักดีแต่กับตนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อประชาชนคิดนอกใจและเปลี่ยนใจ เช่น ในการเลือกตั้งที่จะต้องมีการเปลี่ยนผู้ปกครอง หรือเมื่อประชาชนออกมาประท้วงผู้เผด็จการ ผู้นำที่อยู่ในอำนาจเหล่านั้นก็จะแสดงอาการคุ้มคลั่งออกมาทันที ซึ่งท่านผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่างนี้จะเรียกว่าพวกบ้าอำนาจเกิดอาการหึงหวงช่วงชิงประชาชนขึ้นแล้วหรือไม่”

ก่อนที่จะเข้าไปสู่เรื่องชีวิตที่เป็นจลาจลของขุนแผน อันเนื่องมาจากความหึงหวงช่วงชิงของบรรดาเมีย ๆ ที่จะเชื่อมโยงไปถึงการปกครองบ้านเมืองในสมัยอยุธยาในส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย อยากจะขอย้อนไปพูดถึงขุนแผนตอนที่เข้ารับราชการใหม่ ๆ ที่ได้รับแนะนำสั่งสอนจากนางทองประศรีผู้เป็นแม่ ถึง “วุฒิสี่” เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะข้ารับราชการ อันมีอยู่ 4 ประการ ดังนี้

“แต่ทว่าราชการงานเมือง             และสามารถปราดเปรื่องยากหนักหนา

โบราณท่านจึงตั้งคติมา               ว่าวุฒิมีสี่ประการ

หนึ่งเป็นผู้ดีมีเชื้อชาติ                  กิริยามารยามส่งสัณฐาน

หนึ่งให้ศึกษาวิชาชาญ                 เป็นแก่นสารคือคุณอุดหนุนตัว

หนึ่งว่าอายุเจริญวัย                    เข้าใจผิดชอบประกอบทั่ว

หนึ่งปัญญาว่องไวไม่มีมัว              จึงจะรู้ดีชั่วในทางงาน”

นอกจาก “วุฒิสี่” ข้างต้นนี้แล้ว หลักสำคัญของการเป็นราชการที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะข้าราชการคือการรับใช้พระมหากษัตริย์ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า“ราชสวัสดิ์” ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ คือ

“โบราณว่าจะเป็นข้าจอมกษัตริย์          ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา

ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา                  มีมาแต่โบราณช้านานครัน

หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร                 ไม่ปิดไว้ใหท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์

หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น              มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา

หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ                    ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา

หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรม์จรรยา                 เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง

หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ                เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเพ้อหลง

หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์                  ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา

หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์                  ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา

หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา                 ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ

หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว                  เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน

หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล                 ถึงภูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน”

พออ่านราชสวัสดิ์จบแล้ว 10 ประการนี้แล้ว จึงนึกถึงว่าบรรดาข้าราชการ รวมถึงนักการเมืองในประเทศไทย หลายคนทำไมได้ดิบได้ดี และหลายคนทำไมจึงย่อยยับอับจน (รวมถึงที่หนีคดีไปต่างประเทศ) ก็เพราะการวางตน ว่ารู้จัก “ที่ต่ำที่สูง” อะไรเพียงใดหรือไม่ อย่างนี้นี่เอง

******************************