posttoday

การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส (2)

14 กรกฎาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*****************

ในช่วงปีที่สี่ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1791 ผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญบางประการไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ฉบับ 13 กรกฎาคม 2564 ฝรั่งเศสภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ยังไม่ได้เป็นสาธารณรัฐ แต่เป็นราชอาณาจักร เพราะยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้พระมหากษัตริย์ยังทรงใช้อำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์จะบังคับใช้ได้ต่อเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดยเจ้ากระทรวงในรัฐบาล โดยสรุป รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 กำหนดให้ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

แต่รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 มีอายุได้เพียง 341 วัน ด้วยเกิดจลาจลในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1792 จนเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 สิ้นสภาพไป

การจลาจลนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม “the Insurrection of 10 August 1792”

ความเป็นมาของ “การจลาจล 10 สิงหาคม 1792” คือ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกกับสภานิติบัญญัติไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมีสามสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์

หนึ่งคือ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกและพระนางมารี อังตัวเนตและพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายซ้ายทั้งหมดต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ แม้ว่าใน พวกเขาจะไม่ได้มีจุดยืนเช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม

สอง พวกนักบวชที่ไม่ยอมสาบานตนต่อธรรมนูญสงฆ์ ค.ศ. 1790 ที่มีผลให้ศาสนจักรคาธอลิกอยู่ภายใต้รัฐบาล

สาม คือ พวกลี้ภัยที่ถือเป็นภัยคุกคามจากต่างแดน

เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้น บรรดาผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ อภิชนและประชาชนจำนวนหนึ่งได้พากันลี้ภัยไปที่คอบเบลนซ์ (Koblenz) ที่ตั้งอยู่หนือแม่น้ำไรน์ ห่างจากปารีส 413 กิโลเมตร ในตอนกลางปี ค.ศ. 1791 บรรดาผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ในคอบเบลนซ์ได้เตรียมการที่จะยกทัพไปฝรั่งเศสเพื่อฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะในสายตาของพวกเขาเห็นว่า พระเจ้าหลุยส์ฯและพระราชินีถูกทำให้เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

พวกลี้ภัยนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจากชาติ และมีการส่งจารชนเดินทางไปมาระหว่างคอบเบลนซ์และพระราชวังทุยเลอรีเพื่อรับการสนับสนุนและการเงินจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก และมีคณะกรรมการลับที่รวบรวมอาวุธและกำลังคนและนายทหารจากปารีส และเมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1792 มีข้อมูลว่า พวกลี้ภัยสามารถระดมกำลังคนพร้อมอาวุธได้ถึง 60,000 คนและพร้อมที่จะปฏิบัติการ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 ฝรั่งเศสตัดสินใจทำสงครามกับกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งเกิดจากการรวมกันเป็นพันธมิตรระหว่างพวกลี้ภัย ออสเตรียและปรัสเซียที่สนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติในฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังที่รบชนะอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยฝ่ายพันธมิตรสามารถไล่กองทัพฝรั่งเศสและรุกเข้าไปในดินแดนของฝรั่งเศสได้

ดังนั้น ในการรับมือกับข้าศึกต่างชาติ ฝรั่งเศสจำต้องปรับปรุงกองทัพ ในช่วงเวลาดังกล่าว สภานิติบัญญัติได้ผ่านร่างกฎหมายสามฉบับ ได้แก่ หนึ่ง เนรเทศพระที่กระด้างกระเดื่อง สอง ยกลิกกองทหารรักษาพระองค์ สาม เกณฑ์กำลังทหารเป็นจำนวน 100,000 คนและจัดตั้งค่ายทหารใกล้กรุงปารีส

ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก หากไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายนั้นจะถูกพักไว้เท่านั้น แต่หลังจากสมัยประชุมสภานิติบัญญัติผ่านไปสองสมัยหลังจากสมัยแรกที่มีการเสนอร่างกฎหมายนั้น สภานิติบัญญัตินั้นยังคงเสนอร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีการแปรญัตติใดๆ ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ

ต่อร่างกฎหมายทั้งสามฉบับนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกทรงให้ความเห็นชอบต่อการยกเลิกกองกำลังรักษาพระองค์ แต่ใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายอีกสองฉบับ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าคนฝรั่งเศสจำนวนมากยังคงเคารพพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย แต่มีกลุ่มคนที่ส่งเสียงออกมาในนามของมติมหาชนแสดงความไม่พอใจการคัดค้านร่างกฎหมายของพระเจ้าหลุยส์ฯ และออกมาประท้วงต่อต้านพระองค์ และสภานิติบัญญัติปฏิเสธที่จะกระทำการใดๆ

แต่กลุ่มจาโคแบง (กลุ่มการเมืองที่ต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์) พยายามที่ข่มขู่พระเจ้าหลุยส์ฯให้ยอมรับร่างกฎหมายและปลดรัฐมนตรีของพระองค์ โดยวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1792 ได้มีกลุ่มประชาชนติดอาวุธบุกเข้าไปในห้องประชุมสภาและพระราชวังตุยเลอรี ทำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีตกอยู่ในภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง แต่กระนั้น พระเจ้าหลุยส์ฯก็ทรงไม่ได้ให้สัญญาอะไรต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น

เมื่อฝูงชนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ก็ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาของกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนพระมหากษัตริย์ขึ้น นั่นคือ มีประชาชนชาวปารีสจำนวนราวสองหมื่นคนได้พากันลงชื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพระเจ้าหลุยส์ฯ และยังมีจากพื้นที่และจังหวัดอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก

กลุ่มเฟอแยต์ (Feuillant) ที่แตกตัวออกจากกลุ่มจาโคแบง เพราะต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ภายใต้เงื่อนไขที่พระราชอำนาจต้องถูกจำกัด ซึ่งก็คือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 นั่นเอง และได้ออกเอกสารแผ่นพับประท้วงแผนการของกลุ่มจาโคแบงที่จะเข้าร่วมกับมวลชนในการประท้วงต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ฯ

และมีผู้นำทางการเมืองบางคนอย่าง ลาฟาเยต (Lafayette) พยายามที่จะระดมกลุ่มก้อนในการปกปักรักษารัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปกปักรักษาระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสไว้ แต่พระเจ้าหลุยส์ฯและพระราชินีทรงเลี่ยงที่จะรับการสนับสนุนดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา ทั้งสองพระองค์ไม่ไว้วางพระทัยและไม่ทรงโปรดลาฟาเยตและกลุ่มเฟอแยต์ (Feuillant) แต่ทรงคาดหวังความช่วยเหลือจากกองทัพต่างชาติ โดยเฉพาะกองกำลังจากออสเตรีย เพราะพระนางมารี อังตัวเนตเป็นพระราชธิดาของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค)

กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มจิรองแดง (Girondin) (ในตอนแรก กลุ่มนี้ก็ต้องการให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ต่างจากกลุ่มจาโคแบง แต่ต่อมาก็ไม่เห็นด้วยกับกระแสการปฏิวัติและเห็นว่าควรเก็บสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เป็นหุ่นเชิด เพื่อเลี่ยงการลุกฮือของฝ่ายนิยมกษัตริย์ จึงทำให้ขัดแย้งกับกลุ่มจาโคแบง) ได้ยื่นข้อเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือต่อพระเจ้าหลุยส์ฯในการปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องยอมแต่งตั้งให้พวกเขาเป็นรัฐมนตรี

แต่เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธ ก็ส่งผลให้กลุ่มจิรองแดงเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มจาโคแบงในการใช้กำลังโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่มปฏิวัติขึ้นใหม่ โดยมีการผนึกกำลังทั้งพลเรือนและทหารในวงกว้างในการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์และรับมือกับกองกำลังต่างชาติที่รวมกันเป็นพันธมิตรซึ่งนำโดยดุ๊กแห่งบรันสวิค (Duke of Brunswick) ที่เขาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1792 ว่า กองกำลังพันธมิตรจะกรีฑาทัพเข้าฝรั่งเศสเพื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจให้กลับคืนมาและจะเดินทางไปยังสภาและปารีสโดยพร้อมจะปฏิบัติการทางการทหารหากมีการก้าวล่วงใดๆต่อพระเจ้าหลุยส์ฯ แถลงการณ์ดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันรุนแรงที่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงฝรั่งเศสให้เป็นสาธารณรัฐ

การก่อการปฏิวัติโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือฉีกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 จึงเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม กลุ่มปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลคณะปฏิวัติแห่งปารีสขึ้น และยื่นกำหนดเส้นตายให้สภานิติบัญญัติประกาศยุติสถานะความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าหลุยส์ฯเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อสภาไม่ปฏิบัติตาม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้กำลังเข้าจู่โจมพระราชวังและได้เกิดการจลาจลขึ้น พระเจ้าหลุยส์ฯและพระราชินีทรงเสด็จไปยังสภาเพื่อความปลอดภัย

สภาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องทำตามความต้องการของคณะปฏิวัติออกประกาศยุติสถานะของพระเจ้าหลุยส์ฯ และต่อมา สภาได้ตกอยู่ในสภาพที่หมดอำนาจใดๆ และรัฐบาลคณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาแห่งชาติ (National Convention) ที่จะทำการพิพากษาพระเจ้าหลุยส์ฯและทำการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ฝรั่งเศสปกครองในระบอบสาธารณรัฐ

และวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 ถือเป็นการปฏิวัติของฝรั่งเศสครั้งที่สองต่อจากการปฏิวัติ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และเป็นการสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1814 ได้มีการรื้อฟื้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลับคืนสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง

ตกลงแล้ว จากข้างต้น ตอบได้ไหมว่า ใครคือผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ?

แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร กี่คน กี่ฝ่ายก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หลังการปฏิวัติวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ฝรั่งเศสจะต้องผ่านความไร้เสถียรภาพ ความรุนแรงทางการเมือง การนองเลือดแบบที่เรียกได้ว่าเป็น“ซีรีย์ส” ที่แสนจะยาวนานเป็นเวลาร้อยกว่าปีจะลงตัวได้รูปแบบการปกครองที่มีเสถียรภาพความมั่นคง

ซึ่งต่างจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนในปี ค.ศ. 1809 และของเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1849 และนั่นน่าจะเป็นเพราะสวีเดนและเดนมาร์กได้บทเรียนจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

********************