posttoday

เปลี่ยนม้ากลางศึก: นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี ลาออก หรือ ยุบสภา ในช่วงวิกฤตโควิด-19

14 กรกฎาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

*******************

ก่อนหน้านี้ ทาง workpointTODAY (https://workpointtoday.com/covid-leaders-resign-01/) ได้นำเสนอตัวอย่างผู้นำบางประเทศที่ตัดสินใจลาออก หลังเผชิญวิกฤติศรัทธาจากประชาชน ผลจากโรคโควิด-19 ได้แก่ นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย รัฐมนตรีนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีสาธารณสุขเปรู รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรียุติธรรมจอร์แดน

ผู้เขียนขออนุญาตนำข้อมูลของ workpointTODAY มาจัดระบบโดยรวมกับข้อมูลที่ผู้เขียนเพิ่มเติมเข้าไป ทำให้ได้ข้อมูลดังต่อไปนี้คือ 

ต่อไปนี้ เป็นช่วงเวลาและรายชื่อของประเทศที่นายกรัฐมนตรีลาออกในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

มกราคม พ.ศ. 2564

อิตาลี: นายกรัฐมนตรีอิตาลี ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอิตาลี ถูกวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 85,000 ราย

มองโกเลีย: นายกรัฐมนตรีมองโกเลียลาออก หลังประชาชนออกมาประท้วงทางการที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นหญิงเพิ่งคลอดลูกใส่แค่ชุดนอนท่ามกลางอากาศหนาวจัดขณะเคลื่อนย้ายเข้าศูนย์ควบคุมโรค แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะสามารถจัดการกับโรคระบาดนี้ได้เป็นอย่างดีก็ตาม

มีนาคม พ.ศ. 2564

สโลวาเกีย: นายกรัฐมนตรีลาออก ภายหลังโดนวิจารณ์อย่างหนักถึงการรับมือโควิด-19 ในภาพรวมและการตัดสินใจซื้อวัคซีนสปุตนิกของรัสเซีย

ต่อไปนี้ เป็นรายชื่อของประเทศที่มีการยุบสภาในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

เมษายน พ.ศ. 2564 มอลโดวา: ยุบสภา แต่ไม่ได้มาจากสาเหตุโควิด-19

พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เนปาล: ยุบสภา แต่ไม่ได้มาจากสาเหตุโควิด-19

ซูดานใต้: ยุบสภา แต่ไม่ได้มาจากสาเหตุโควิด-19

ต่อไปนี้ เป็นรายชื่อประเทศที่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขและรัฐมนตรีตำแหน่งอื่นๆที่มีสาเหตุมาจากหรือเกี่ยวข้องกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นิวซีแลนด์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่งหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ โดยได้ขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวชายหาด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

อาร์เยนตินา: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก สาเหตุจากการให้อภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มลัดคิวฉีดวัคซีนโควิด-19

เปรู: รัฐมนตรีสาธารสุขเปรูลาออก สาเหตุจากการใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรี ลัดคิวการฉีดวัคซีนให้กับอดีตประธานาธิบดีเปรู

จอร์แดน: รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรียุติธรรมลาออก หลังทั้งสองคนถูกเปิดเผยว่า ละเมิดข้อกำหนดล็อกดาวน์ จากการเข้าร่วมงานปาร์ตี้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งสื่อท้องถิ่นของจอร์แดนระบุว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนร่วมงานปาร์ตี้ที่มีผู้เข้าร่วม 9 คน ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้รวมกลุ่มกันได้สูงสุด 6 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพที่เผยแพร่ออกมายังพบว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนไม่รักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

มีนาคม พ.ศ. 2564

บราซิล: เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นครั้งที่สี่ตั้งแต่เริ่มโรคระบาด

บราซิล: รัฐมนตรีต่างประเทศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลวทางการทูต จนทำให้บราซิลได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ปารากวัย: ประธานาธิบดีปารากวัยขอให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพราะประชาชนไม่พอใจจากความล้มเหลวในการรับมือกับโรคระบาด

เมษายน พ.ศ. 2564

สาธารณรัฐเช็ก: เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นคนที่สี่ในหนึ่งปี จากความล้มเหลวในนโยบายรับมือโรคระบาด

มิถุนายน พ.ศ. 2564

สหราชอาณาจักร: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก แต่ไม่ใช่มาจากสาเหตุรับมือโควิด-19 ไม่ได้ แต่เป็นเพราะหลังถูกแฉคลิปกอดจูบผู้ช่วยสาว ละเมิดมาตรการเว้นระยะห่าง

กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อินเดีย: รัฐมนตรีสาธารณสุขลาอออก เพื่อรับผิดชอบต่อความล้มเหลว ที่ไม่สามารถบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จนทำให้ผู้ติดเชื้อในระลอกสองพุ่งขึ้นถึงหลักแสน ซ้ำยังเตียงขาดแคลน ออกซิเจนไม่เพียงพอ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

หมายเหตุ: การยุบสภา จะเกิดขึ้นได้เฉพาะประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภา

การลาออก ทำได้ทั้งผู้ที่เป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี แต่จากข้อมูลข้างต้นมีแต่นายกรัฐมนตรีที่ลาออก เหตุผลคือ ในบางประเทศ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝายบริหาร แต่ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและไม่ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงต่อการบริหารประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องลาออกด้วยเหตุผลดังกล่าว

แต่บางประเทศ ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีประธานาธิบดีที่ทำหน้าที่ทั้งสองนี้ลาออก

ข้อสังเกตที่หนึ่ง:ถ้านับเชิงปริมาณ จะพบว่า จากสาเหตุโควิด-19 ประเทศที่มีผู้นำลาออกหรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีมีจำนวนน้อยกว่าประเทศที่ผู้นำไม่ลาออกหรือยุบสภาหรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

ส่วนการยุบสภาที่เกิดขึ้นในสามประเทศในช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19 อันได้แก่ มอลโดวา, เนปาล, ซูดานใต้ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุวิกฤตโควิด-19

ข้อสังเกตที่สอง: มีบางประเทศที่ผู้นำได้ประโยชน์จากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ ศรีลังกา ที่ต้องเลื่อนเวลาการเลือกตั้งทั่วไปออกไป ทำให้ผู้นำรักษาการอยู่ในอำนาจได้นานขึ้นกว่าปกติและได้เปรียบทางการเมือง จากการใช้กำลังทหาร-ตำรวจเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์โควิด-19

**********************